ประชาธิปไตยของคนอีสานจึงบังเกิด เมื่อ ‘ผี’ มีอำนาจ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ประเด็นสุดท้ายผมมองว่าเป็นอิทธิพลของการปฏิบัติที่มากับเศรษฐกิจตลาดในระบบทุนนิยมทำให้ค่านิยมและความคาดหวังในสังคมเปลี่ยนไป

คำลือให้สะสมกรวดหินไว้ทำพิธีจะกลายเป็นทอง ส่วนเงินทองจะกลายเป็นกรวดหิน เป็นปฏิกิริยาต่อการสะสมเงินตราเพื่อกำไรที่เริ่มทำกันในพื้นที่นั้น ชาวบ้านตกเป็นฝ่ายถูกกระทำและพร้อมจะตอบโต้

สรุปในขั้นนี้คือกระบวนการดัดแปลงโลกทัศน์และชีวทัศน์ของคนอีสานได้รับการตอกย้ำผ่านความขัดแย้งในโครงสร้างอันเริ่มซับซ้อนของระบบศักดินานิยมที่มีมิติของระบบอาณานิคมและทุนนิยมรอบนอกอย่างเป็นวิภาษวิธี

มีผลทำให้ลักษณะท้องถิ่นของความเป็นลาวและอีสานได้รับการดัดแปลงให้เป็นสมัยใหม่ในรัฐชาติไทยที่ปฏิเสธความเป็นท้องถิ่นที่ตรงข้ามกับความเป็นไทย

เช่นนี้เองที่ความขัดกันระหว่างโลกของคนอีสานกับกรุงเทพฯ จึงไม่ใช่เรื่องของความหลงผิด เชื่อไสยศาสตร์ มักใหญ่ใฝ่สูงและไร้การศึกษา ล้าหลัง ฯลฯ

ตรงกันข้ามหลายปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปร่วมกับระบบทุนโลกและโลกาภิวัตน์ ความคิดและอุดมการณ์ของคนอีสานเรียกรวมๆ ว่า “วัฒนธรรมอีสาน” กลับยิ่งมีพลังและน้ำเสียงภาษาของความเป็นลาวอีสานประกาศออกมาอย่างเต็มที่ กลายเป็นหมอลำโกอินเตอร์ เป็นอีสานดิจิทัลที่เข้าถึงคนทั่วทั้งโลกได้

ทั้งหมดนี้ทำได้เพราะอีสานไม่ยอมถูกทำให้เป็นไทยอย่างเซื่องๆ หากแต่รักษาอัตลักษณ์ของอีสานไว้อย่างมีความภาคภูมิใจ

การแสดงออกทางการเมืองของคนอีสานภายใต้บริบทของการเมืองสมัยใหม่ที่มากับการปฏิรูปยุคแรก ดำเนินไปอย่างซับซ้อน ทั้งในรูปแบบของจารีตและคติความเชื่อแบบพื้นบ้านที่เป็นลัทธิผี บรรพบุรุษผสมกับคติพุทธศาสนาที่ส่วนกลางจัดตั้งและบังคับผ่านระบบโรงเรียนและวัดหลวง แต่ก็เป็นพุทธแบบอีสานที่ “แม้เมื่อตายไปแล้ว ผีก็ยังไร้ซึ่งอำนาจ” (ขอยืมจากภู กระดาษ)

การลุกขึ้นต่อสู้ครั้งแรกนั้นประชาชนถูกปราบ กองกำลังจากศูนย์กลางจากกรุงเทพฯ พุ่งตรงไปสู่หัวเมืองทุกที่ จากเหนือ จากอีสาน ลงไปถึงภาคใต้

เพราะฉะนั้น ถ้ามองจากประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวการต่อสู้นั้นประชาชนถูกปราบจากศูนย์กลางตลอดเวลา ประชาชนหัวเมืองอย่างดีที่สุดก็แค่ประท้วงส่งเสียงมา แล้วก็ถูกกองกำลังส่วนกลางออกไปปราบเขาด้วยเครื่องมือที่เหนือกว่าทุกอย่าง

“ได้มีการใช้วิธีการที่รุนแรงมากขึ้นในการปราบการกบฏในภาคอีสานและภาคเหนือ ทหารประจำการถูกส่งไปเสริมกำลังทหารเกณฑ์ในถิ่นนั้นและตำรวจภูธรของจังหวัด และได้มีการประกาศกฎอัยการศึกในบริเวณทั้งสอง ในเดือนเมษายน พ.ศ.2445 กำลังของรัฐบาลซึ่งได้รับการทำให้เข้มแข็งขึ้นด้วยกองร้อยปืนสนาม ได้ขับไล่กลุ่มพวกผู้มีบุญกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดให้แตกกระจัดกระจายไปด้วยลูกปืน ณ หมู่บ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอุบลราชธานี…การปฏิบัติการเหล่านี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าได้ผลเพราะประชาชนยุติการสนับสนุนพวกผู้มีบุญและพวกฉาน และเจ้าหน้าที่สามารถจับพวกนี้ได้โดยไม่ยุ่งยากมากนัก กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ทรงตัดสินประหารชีวิตพวกผู้มีบุญจำนวนมาก และพิพากษาตัดสินจำคุกคนอื่นๆ ในระยะเวลาต่างๆ กัน” (เตช บุนนาค, 2532)

หลังจากการปราบด้วยกำลังอาวุธและข่มขู่ด้วยการประหารชีวิตพวกกบฏ กรุงเทพฯ ได้เร่งปฏิรูปการปกครองในท้องถิ่นเป็นการใหญ่ การบริหารนครที่มีเจ้า (ท้องถิ่น) ปกครองในทุกด้านและทุกระดับถูกโยงเข้าสู่ส่วนกลาง มีการส่งผู้ว่าราชการคนใหม่ที่กรุงเทพฯ ไว้ใจไปแทนที่ ระบบเสนาและผู้ช่วยทุกตำแหน่งได้เลิกไป

“การปกครองได้รับการปฏิรูปตามรูปแบบของหัวเมืองชั้นใน และข้าราชการถูกส่งไปประจำตำแหน่งทุกตำแหน่ง การปฏิรูปการปกครองเมืองแพร่ได้กระทำอย่างละเอียดลออมาก จนกระทั่งแม้แต่ภารโรงก็ยังถูกส่งไปจากที่ใดที่หนึ่งเพื่อดูแลสำนักงานในท้องถิ่น” (พระยาศรีสหเทพกราบทูลกรมพระสมมติอมรพันธุ์ อ้างในเตช บุนนาค, 2532, หน้า 209 การเน้นเป็นของผู้เขียน)

การใช้เครื่องมือสมัยใหม่ในการจัดการความขัดแย้ง สำหรับการปราบการกบฏคือกองกำลังทหารสมัยใหม่ในมณฑลนครราชสีมาและบูรพา การติดต่อสั่งการอย่างรวดเร็วผ่านการใช้เครื่องโทรเลข กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ทรงรีบโทรเลขถวายรายงานให้รัชกาลที่ 5 ทรงทราบโดยในทางกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยส่งกองกำลังขนาดใหญ่พร้อมอาวุธหนักคือ ปืนใหญ่สมัยใหม่ 2 กระบอก มีร้อยเอก หลวงชิตสรการ (จิตร มัธยมจันทร์) ผู้บังคับกองทหารปืนใหญ่กับทหาร 100 คน และมีกำลังจากขุนนางเมืองอุบลอีกหลายร้อยคน

นั่นคือความเหนือกว่าของเครื่องมือในการปราบปรามของส่วนกลาง

ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2556 ของมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ภายใต้หัวเรี่อง “อีสาน ลาว ขแมร์ศึกษาในกรอบประชาคมอาเซียน” ที่จังหวัดอุบลราชธานี มีหัวข้อย่อยเรื่อง “การเมืองเรื่องสีเสื้อกับคนอีสาน” เป็นครั้งแรกในเวทีวิชาการเช่นนี้ที่มีการนำเสนอความคิดเห็นของคนอีสานในพื้นที่ด้วย นายพิเชษฐ์ ทาบุดดา ผู้เสนอเป็นหัวหน้าของคนเสื้อแดงอีสานและถูกจับหลังการปราบปรามใหญ่เดือนพฤษภาคม ต่อไปนี้คือคำพูดของเขา

“…คนอีสานเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ คนอีสานกระจายอยู่ 20 จังหวัด เกือบ 22 ล้านคน แต่ว่ามื้อนี้หลายๆ ภาคส่วนเฮ็ดกับคนอีสานกลายเป็นคนส่วนน้อย แม้แต่เว่าภาษาอีสานก็ยังพากันอาย เฮาสามารถไปเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส แต่บ่เคยมีใครมาเรียนรู้ภาษาอีสาน เวลาเว่าต้องเว่าภาษาภาคกลาง ผมว่าต่อไปต้องเปลี่ยนใหม่ เพราะอีสานเป็นคนส่วนใหญ่

ผมเองติดคุก 15 เดือนกับ 3 มื้อ ข้อกล่าวหาที่เขาตั้งคือ หัวหน้าผู้ก่อการร้าย เอาผมไปขังไว้ในคุก 15 เดือน พอมื้อหนึ่งปล่อยผมออกมาบอกผมบ่ผิด ถามว่าผมผิดเพราะอิหยัง ผิดเพราะว่าผมคิดต่างจากเขา เรื่องชนชั้นในสังคมมีบ่ มีครับ แต่ว่าเป็นเรื่องอดีตเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้วมา คนอีสานถูกล้อมฆ่าอยู่อำเภอตระการพืชผล กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์พากองทหาร 300 คนเข้าไปล้อมฆ่าเฮาตายไป 400 คน ทหาร 400 กองร้อยใช้อาวุธสมัยใหม่และ 1 ในคนที่ตายคือ ปู่ ย่า ตา ยายของผม นามเอิ้นว่ากบฏผีบุญ

แล้วหนึ่งในกบฏผีบุญซึ่งเป็นอาจารย์ผมตอนนี้คือสมเด็จหงส์ อยู่ศรีเมืองใหม่ ตอนนี้ยังบวชครับ ผ้าสีแดงที่ผมเอามาใส่คอผมไว้ ได้สืบทอดมาร้อยกว่าปีผ่านมาแล้ว ถามมาทุกมื้อมันเรื่องชนชั้นอย่างเดียว อำมาตย์นี่ย่าน ย่านพวกเฮานี่เสมอหน้าเสมอตาเขา ร้อยกว่าปีเขาฆ่าเฮามา ร้อยกว่าปี แล้วก็มาฆ่าผมอีก

กลุ่มผมเริ่มเมื่อปี 2551(2008) แล้วมาจับพวกผมไป 52 คนไปขังคุกไว้ 500 คนออกหมายจับ ทุกมื้อ 4 คน 33 ปี 4 เดือนยังอยู่กรุงเทพฯ ถามว่าความเป็นธรรมอยู่ใส ผมว่าบ้านเมืองเฮาอยู่ในสังคมตอแหล นักวิชาการบ่มีไผเป็นหัวหลักให้ได้เลยครับ มีแต่หัวตอครับ

อธิการบดีของ ม.อุบลฯ ถูกกล่าวหาว่าทุจริตแล้วไปเป็นเหลืองแจ๋ อธิการฯ ของราชภัฏก็ถูกกล่าวหาว่าทุจริต อธิการฯ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เลวพอๆ เหมือนกัน มีแต่บักชั่ว เอาคนอย่างสิมาเป็นหลักให้บ้านให้เมือง

ผมถามนะครับ กฎหมายดี แต่ว่าเฮาจะเชื่อผู้ใดได้ ผู้นี่ก็อาจารย์ ผู้นี่ก็อาจารย์ เว่าเข้าข้างตัวเองกัน หลักของบ้านของเมืองมันบ่มีครับ อย่างเดียวที่ความปรองดองจะเกิดขึ้นในเรื่องสีเสื้อ คือเรื่องยุติธรรมอย่างเดียว พวกผมทุกข์มาเป็นร้อยปีก็ยังทุกข์ได้ เพราะฉะนั้น เรื่องชนชั้นบ่ต้องไปเว่า มื้อหนึ่งเว่าสิเกิดสีเสื้อ เฮาฮักพ่อ พ่อแม่มีลูก 2 คน บักหนึ่งใส่เสื้อเหลือง บักหนึ่งใส่เสื้อแดง บักแดงเฮ็ดหยังผิดหมดบักเหลืองเฮ็ดพ่อแม่พี่น้องอุ้มเอาหมด แล้ว…ที่ออกมาน่าทุเรศบ่ เจ้าอยู่ดีไม่ว่าดี มาชี้หน้าว่าบักแดงผิด…

ปี 2553 ผมรับเงินบริจาคด้วยการต่อสู้นี้ 430,000 ผมไปต่อสู้ ไปนอนอยู่ 3 เดือน นอนอยู่ 2 เดือนกลุ่มผมถูกยิงอยู่ตรงสะพานมัฆวานฯ 4 คน ถูกยิงอยู่ศาลากลาง 5 คน ถูกแทงทะลุปอด 4 คน แล้วถามว่าผมเป็นสูญเสีย…ผมอยากให้เอาคนผิดมาลงโทษ อยากให้บ้านเมืองสงบ ให้เอาความจริงมาเว่าสิล่ะ

ผลสุดท้ายบอกว่าผมบ่ผิด อยู่บ้าน ผมมีอาวุธอย่างเดียวคือหนังสติ๊กกับลูกแก้วลูกนึง เอาไว้ยิงหมาเวลามันมาเซิงกระเซบ้านผมแค่นั้นแหละครับ แล้วที่ผิดอีกอย่างหนึ่งคือคนไปกินข้าวบ้านอยู่บ้านผมเกิน 10 คน ประกาศ พ.ร.บ. มา คนไปกินข้าวอยู่บ้านผม แต่ละมื้อมันหลายคน มันมีอคติแท้ๆ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯ สมัยนั้น เขาไปจับผมเอากองทหารหนึ่งกองร้อยไปลากผมมาจากบ้าน เอาไปขังอยู่ในกรมทหาร…ผมเชื่ออย่างเดียวคือความเป็นธรรม คืนความเป็นธรรมมา ฆ่าพวกผมมาตั้งร้อยกว่าปีมาแล้ว…”

(ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และกาญจนี ละอองศรี บก. 2556)

 

ร้อยปีก่อนโน้นคนอีสานที่ปฏิบัติการทางการเมืองในแบบของตนที่ต้องการความเป็นอิสระและเสรีภาพในการแสดงออกตามวัฒนธรรมอีสาน ไม่สามารถสรุปบทเรียนและประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวต่อสู้ได้ ด้วยข้อจำกัดทางการเมืองและเศรษฐกิจ

บัดนี้มีโอกาสและเครื่องมือยุคโลกาภิวัตน์ในการแสดงออกที่เป็นคุณต่อพวกเขาแล้วในการเคลื่อนไหวต่อไป

ที่สำคัญคือการประยุกต์ “ซอฟต์เพาเวอร์” ให้การเคลื่อนไหวตลอดเวลาของคนอีสานกลายเป็นพลังประสานอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจสังคมของประเทศไว้ได้

ทำให้การเคลื่อนไหวในอัตลักษณ์ของอีสาน สามารถเข้ามาแสดงบทบาทในระบอบเลือกตั้งที่ไร้ความหมาย จากการเคลื่อนไหวเข้ามามีส่วนร่วมของคนเสื้อแดงจำนวนมหาศาล

ทำให้การเลือกตั้งต่อมา ซึ่งส่วนใหญ่ประชาชนจะพ่ายแพ้ สู้อิทธิพลท้องถิ่นอิทธิพลเมืองหลวงไม่ได้ ในอนาคตจะต้องสามารถได้รับชัยชนะอย่างแท้จริง

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของคนอีสานจึงบังเกิดเมื่อ “ผี” มีอำนาจ


บรรณานุกรม

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และกาญจนี ละอองศรี บก. (2556) อีสาน ลาว ขแมร์ศึกษาในกรอบประชาคมอาเซียน กรุงเทพฯ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

เตช บุนนาค (2532) การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศไทย พ.ศ.2435-2458 ภรณี กาญจนัษฐิติ แปล กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.