2 กรกฎาคม ได้ ส.ว.ชุดใหม่? คณะก้าวหน้าเปิดแคมเปญ ส.ว.ประชาชน ทวงคืนประชาธิปไตย จับตาอำนาจเก่า ยื้อต่อเวลาที่ใกล้หมด!

เริ่มเห็นความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มากขึ้น หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2567 อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ…. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการให้ดำเนินการเลือกสมาชิก ส.ว. ตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากอายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง

ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 269(4) บัญญัติให้อายุของ ส.ว.ตามมาตรานี้ มีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และได้มีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2562

อายุของ ส.ว.จึงครบกำหนด 5 ปี และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2567

แต่ยังอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีสมาชิก ส.ว.ขึ้นใหม่

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2567 ที่พรรคก้าวไกล นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า แถลงเปิดตัวแคมเปญ ส.ว.ประชาชน ของคณะก้าวหน้า เชิญชวนประชาชนให้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้ โดยเป็นหนึ่งในผู้สมัครรับเลือกตั้ง

พร้อมระบุว่าที่ผ่านมา คณะก้าวหน้าได้มีการรณรงค์แคมเปญนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ข้อมูลประชาชนได้เข้าใจการเลือกตั้ง ส.ว.มากยิ่งขึ้น

นายธนาธรกล่าวว่า ประเทศไทยพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 โดยเฉพาะเรื่องการปิดสวิตช์ ส.ว.อยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเดียวที่ได้รับการแก้ไขนั้น คือเรื่องระบบการเลือกตั้งและบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2564

จึงสะท้อนว่าแม้ปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ระบอบการรัฐประหารยุคนั้นยังอยู่ ด้วยเหตุนี้ โอกาสที่จะทำให้ ส.ว.เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะต้องได้รับความเห็นชอบ 1 ใน 3 ของเสียง ส.ว.ทั้งหมด

นายธนาธรยกตัวอย่างถึงกระบวนการต่างๆ ที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยหยิบยกเรื่องการเปลี่ยนแปลงสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขึ้นมาด้วยว่า สองกรณีนี้ไม่สามารถทำให้เราหลุดพ้นจากการสืบทอดอำนาจรัฐประหารออกได้ เพราะไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกันในการตัดสิน

ขณะเดียวกันทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. กสทช. และ กกต. คณะกรรมการหลายท่านก็ถูกแต่งตั้งขึ้นโดย ส.ว.

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าเหตุใด ส.ว.ถึงมีความสำคัญ เพราะปัจจุบันสังคมเราอยู่กันแบบสองมาตรฐาน ฉะนั้น หากทำให้ทุกองค์กรกลับมายืนอยู่ในความยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ เชื่อว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประเทศไทยอยู่กันอย่างสมานฉันท์และปรองดองได้แน่นอน

จึงคิดว่าระบอบรัฐสภาและการเลือกตั้ง ส.ว. น่าจะเป็นกระบวนการที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อคลายปมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนจึงอยากจะขอแรงจากทุกท่านช่วยกันผลักดัน ส.ว.ของประชาชน ให้เข้าไปดำรงตำแหน่งในรัฐสภา เพราะหากไม่สามารถผลักดันได้สำเร็จ จะต้องรอไปอีก 5 ปี จนกว่า ส.ว.ปี 2567 จะหมดวาระ

ฉะนั้น หากใครสนใจจะสมัคร สามารถเข้าไปกรอกข้อมูลและตรวจสอบคุณสมบัติได้ที่เว็บไซต์ www.senate67.com

 

ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่ง นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวเรียกร้องให้ กกต.เริ่มปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับและดูแล ให้การเลือกกันเองของ ส.ว.ชุดใหม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

เนื่องจากขณะนี้มีคณะบุคคล และตัวแทนของพรรคการเมือง มีกระบวนการรณรงค์ให้ประชาชนสมัครเข้าไปเป็นผู้เลือก ส.ว. ซึ่งส่อว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาของ ส.ว.ที่กำหนดให้ผู้ประสงค์เป็น ส.ว.เข้าสมัคร

หาก กกต.ปล่อยผ่านไปก่อน แล้วสอยทีหลัง อาจจะเกิดกรณีที่ทำให้มีปัญหากระทบต่องานสภา และทำให้เกิดสุญญากาศได้

“เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต่อการได้มาของ ส.ว. คือต้องเป็นผู้ประสงค์จะเป็น ส.ว. ไม่ใช่เข้าไปเป็นผู้เลือก ส.ว. ซึ่งกรณีดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายฮั้วในกระบวนการเลือกกันเองของ ส.ว. หาก กกต.ไม่ดำเนินการ เชื่อว่าจะมีปัญหาในกระบวนการได้มาของ ส.ว. และมีผู้ไปร้องเรียนในกระบวนการ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้”

นายสมชายกล่าว

 

ด้านนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาเสนอเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย กรณีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 40, 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 หรือไม่

นายธีรยุทธกล่าวว่า เจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ที่บัญญัติว่า “มาตรการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อให้การเลือกกันเองเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม” ต้องบัญญัติมาตรการเพื่อป้องกันผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภามีการสมยอมกันในการเลือกกันเอง แต่ไม่เลือกตนเอง ต้องสันนิษฐานว่ามีการสมยอมกันในการเลือก และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม จึงบัญญัติไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 94(7) มาตรา 95(7) และมาตรา 96(4)

แต่ปรากฏว่ามาตรา 40(1) ถึง (8) การเลือกกันเองระดับอำเภอ มาตรา 41(1) ถึง (8) การเลือกกันเองระดับจังหวัด และมาตรา 42(1) ถึง (6) การเลือกกันเองระดับประเทศ กลับไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันผู้สมัครรับเลือก ส.ว.มีการสมยอมกันในการเลือกกันเองโดยไม่เลือกตนเอง ต้องสันนิษฐานว่ามีการสมยอม จึงเป็นการบัญญัติที่อาจทำให้การเลือก ส.ว. เฉพาะในขั้นตอนผู้สมัครเลือกกันเอง ไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม มีผลให้บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวตราขึ้นโดยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107

เมื่อถามว่ากระบวนการเลือก ส.ว. ควรชะลอไว้ก่อน รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ให้แล้วเสร็จก่อนหรือไม่ นายธีรยุทธกล่าวว่า ส่วนตัวได้เร่งทำคำร้องขึ้น เพื่อหวังเป็นกระบวนการป้องกันความเสียหายต่อประเทศ โดยเฉพาะงบประมาณที่ต้องสูญเสียไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเมื่อมีข้อบกพร่องหรือได้บัญญัติไว้ อาจเข้าข่ายขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ การป้องกันเสียก่อนจะเซฟบ้านเมืองไว้ได้ หากขยับไปอีกสักนิดเพื่อรับคำวินิจฉัยก็คงจะดี

เมื่อถามว่าจะเป็นการช่วยยื้อเวลาให้ ส.ว.ชุดนี้อยู่ต่อหรือไม่ นายธีรยุทธกล่าวว่า ไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า ประชาชนหรือปวงชนชาวไทยมีสิทธิเมื่อพบความไม่ชอบธรรม มีอำนาจอย่างเต็มที่ในการเสนอเรื่องต่อหน่วยงานรัฐ ทุกหน่วยงาน และหน่วยงานรัฐจำเป็นที่จะต้องฟังเสียงสะท้อนปัญหา ซึ่งตนก็เป็นเพียงคนหนึ่งที่เสนอความเห็น ผู้ตรวจการฯ จึงควรวินิจฉัย

เมื่อถามว่า กระแสข่าวที่ว่า ส.ว.จะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะอยู่ต่อ นายธีรยุทธกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเห็นควรจะดำเนินการเลือกไปพลางก่อน หรือจะชะลอไว้ ดังนั้น หากคำร้องของตนมีความน่าเชื่อถือเพียงพอ และมีความน่าจะเป็นได้ว่าบทบัญญัติ มาตรา 40, 41 และ 42 ไม่ได้กำหนดมาตรการในการป้องกันการสมยอมกันไว้จริง ก็ควรที่จะแก้ไขกฎหมายเสียก่อน

ซึ่งการแก้ไขกฎหมายก็จำเป็นที่จะต้องเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่วมกัน เพราะการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ ส.ว.ก็ควรอยู่ด้วย หากจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมหรือตัดทอน ส.ว.ก็ควรต้องอยู่

จึงไม่ได้คิดว่าจะมาช่วยเพื่อให้ ส.ว.ได้อยู่ทำงานต่อหรือไม่ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่า ตราบใดที่ยังไม่มี ส.ว.ชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่ ชุดเดิมก็คงต้องรั้งการทำงานไว้อยู่

 

ทั้งนี้ สำหรับไทม์ไลน์ของการเลือกตั้ง ส.ว.นั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คาดว่า พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก ส.ว. จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ประกาศกำหนดวันเลือกและวันรับสมัคร ในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2567

กำหนดวันเลือก ส.ว.ระดับอำเภอ ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2567 กำหนดวันเลือก ส.ว.ระดับจังหวัด ในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2567 กำหนดวันเลือก ส.ว.ระดับประเทศ ในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2567 และกำหนดวันที่จะประกาศผลการเลือกสมาชิก ส.ว. ในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2567

ต้องรอลุ้นว่าสุดท้ายแล้ว หน้าตาของ ส.ว.ชุดใหม่ ที่มาจากสูตรเลือกตั้งพิสดารนี้ จะออกมาอย่างไร?

และ ส.ว.ใหม่ จะเป็นความหวังที่จะนำพาประเทศไปสู่เส้นทางประชาธิปไตยได้หรือไม่?