จุดจบที่หักมุม ของ ปลาแซลมอนยักษ์เขี้ยวดาบง

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

จุดจบที่หักมุม ของปลาแซลมอนยักษ์เขี้ยวดาบง

ในเดือนมีนาคม ปี 1972 ในวารสาร Bulletin No.18 of the Museum of Natural History ของมหาวิทยาลัยโอเรกอน (University of Oregon) มีรายงานผลการศึกษาฟอสซิลปลาแซลมอนยักษ์สูญพันธุ์ที่เคยดำรงชีวิตอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และรัฐโอเรกอนในสหรัฐอเมริกาในยุคไพลโอซีน (Pliocene) หรือราวๆ 5.3-2.6 ล้านปีก่อน

ปลาดึกดำบรรพ์พวกนี้ มีขนาดตัวที่ใหญ่โตมหึมา มีลำตัวยาวได้ถึงเกือบ 2 เมตร และมีน้ำหนักได้ถึงราว 200 กิโลกรัมเลยทีเดียว

ถือได้ว่าบิ๊กเบิ้มมาก จนติดอันดับปลาแซลมอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ปลาแซลมอนชนิดนี้มีความแปลกประหลาดไปจากปลาแซลมอนทั่วไปที่เรารู้จักกันในปัจจุบันอยู่หนึ่งอย่าง นั่นคือ มันมีเขี้ยวคู่ใหญ่ยาวโง้งอยู่หนึ่งคู่ ขนาดเขี้ยวเรียวงามมีความยาวถึงเกือบสองนิ้ว

แต่ปัญหาก็คือเขี้ยวที่ยาวเรียวงุ้มโง้งของปลายักษ์ตัวนี้ดันหลุดร่วงออกมาอยู่นอกกะโหลก

ประเด็นเรื่องเขี้ยวปลาที่หลุดออกมานี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เท็ด คาเวนเดอร์ (Ted Cavender) จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ (Ohio State University) และโรเบิร์ต มิลเลอร์ (Robert Rush Miller) จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) คู่หูนักวิจัยฟอสซิลปลาแซลมอนประหลาดชนิดนี้ต้องปวดเศียรเวียนเกล้า เฝ้างุนงงสงกาว่าตำแหน่งที่มาของเขี้ยวนี้ควรจะงอกออกมาจากที่ส่วนไหนของกันแน่ในตัวปลา

หลังจากตรึกตรองอยู่นาน ในเมื่อไม่มีหลักฐานอื่นใดมาช่วยบ่งชี้ตำแหน่ง เท็ดและโรเบิร์ตก็เลยต้องตัดสินใจตีความเอาแบบกำปั้นทุบดินเอาเขี้ยวไปวางไว้ตรงที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด นั่นก็คือที่ปาก

ซึ่งผลที่ได้คือปลาแซลมอนที่มีเขี้ยวสองเขี้ยวงอกยาวย้อยห้อยลงมาจากปากแบบเดียวกันเลยกับ “เสือเขี้ยวดาบ (saber-toothed tiger)”

และเพื่อให้เห็นภาพชัด สองนักชีววิทยา เท็ดกับโรเบิร์ตก็เลยเรียกแซลมอนดึกดำบรรพ์นี้ว่า “แซลมอนเขี้ยวดาบ (saber-toothed salmon)”

ปก Bulletin No.18 ของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยโอเรกอน นำเสนอการค้นพบแซลมอนเขี้ยวดาบ

เรื่องนี้ไม่แปลก “ในตอนที่คุณจะเอาเขี้ยวประกอบกลับเข้าไปในตัวปลา มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาอยู่แล้ว ที่จะอนุมาน (เหมา) เอาง่ายๆ ว่าตำแหน่งที่เขี้ยวนี้น่าอยู่มากที่สุด ก็คืออยู่ในปากนั่นแหละ” เคริน แคลสัน (Kerin Claeson) นักบรรพนิเวศวิทยาจากวิทยาลัยการแพทย์ออสทีโอพาธีแห่งฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia College of Osteopathic Medicine) กล่าว

ในรายงาน เท็ดและโรเบิร์ตแนะนำให้ตั้งจีนัสใหม่สำหรับพวกมันโดยเฉพาะ โดยเสนอให้เรียกว่า Smilodonichthys

Smilodon มาจากภาษากรีกแปลว่า “เขี้ยวดาบ” โดยทั่วไปจะใช้เรียกจีนัสของเสือเขี้ยวดาบ ichthys มาจากภาษากรีกเช่นกัน แปลว่า “ปลา”

คำว่า Smilodonichthys จึงแปลว่า “ปลาเขี้ยวดาบ” แบบตรงตัวเป๊ะๆ

ภาพฟอสซิลแซลมอนเขี้ยวตัน (ภาพ : University of Oregon)

การค้นพบปลาแซลมอนยักษ์ดึกดำบรรพ์ที่มีเขี้ยวเหมือนเสือเขี้ยวดาบเป็นอะไรที่แปลกประหลาด แต่ก็กระตุ้นความสนใจของนักบรรพนิเวศน์ให้เริ่มหันมาตั้งคำถามที่ว่า “เขี้ยวที่ยาวโง้งออกมาจากปากของพวกมันนั้นมีประโยชน์อะไรกับพวกมันในเชิงวิวัฒนาการ?” เอาไว้ใช้เพื่อป้องกันตัว หรือประหัตประหารกันเพื่อแย่งเพศตรงข้าม หรืออาจจะแค่เอาไว้ขุดเพื่อสร้างรัง

ไม่มีใครตอบได้ แต่สิ่งหนึ่งที่พวกนักวิทย์เริ่มคาดเดาก็คือตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ แซลมอนพวกนี้น่าจะดุร้ายใช่เล่น…แหม! ก็เขี้ยวโง้งยาวงอกออกมาให้เห็นเด่นชัดซะขนาดนั้น ไม่ดุก็แปลกแล้ว…และด้วยเขี้ยวคมที่เป็นเอกลักษณ์ แซลมอนเขี้ยวดาบกลายเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำดึกดำบรรพ์ที่มีเอกลักษณ์มากที่สุดตัวหนึ่งในวงการบรรพชีวินวิทยามานานเกือบครึ่งศตวรรษ

แต่เรื่องราวทุกอย่างมันมาโป๊ะเอาในช่วงปี 2014 เมื่อซากฟอสซิลชุดใหม่ถูกค้นพบและถูกขุดขึ้นมาในโอเรกอน สภาพของฟอสซิลชุดนี้ดูดี สมบูรณ์ ไม่ค่อยบุบสลาย มีทั้งตัวผู้และตัวเมียครบ ที่สำคัญ เขี้ยวอันโง้งงอนทั้งสองยังคงยึดติดอยู่กับจมูกของมันอยู่อย่างแนบแน่น

เพื่อให้เข้าใจโครงสร้างในฟอสซิลแซลมอนดึกดำบรรพ์ชุดนี้อย่างถ่องแท้ เครินตัดสินใจจับมือกับเอ็ดเวิร์ด เดวิส (Edward Davis) นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยโอเรกอนเพื่อทำซีทีสแกน (CT Scan) ของฟอสซิลปลาทั้งตัว

ภาพการ์ตูนแสดงหน้าตาของแซลมอนเขี้ยวตันวาดโดยศิลปิน Ray Troll

ผลที่ได้ออกมาน่าตื่นเต้นมาก เพราะตำแหน่งของเขี้ยวของแซลมอนโบราณนั้น ดูเหมือนอยู่ผิดที่ผิดทาง เพราะแทนที่จะห้อยโง้งออกมาจากปากเหมือนเสือ Smilodon นั้น เขี้ยวของพวกมันกลับไปยึดติดอยู่ตรงบริเวณจะงอยแถมยังยืดบานออกไปทางด้านข้างอีก ดูละม้ายคล้ายกับเขี้ยวของพวก “หมูป่า”

ฉายา “แซลมอนเขี้ยวดาบ” จึงหายไป กลายเป็นแซลมอนเขี้ยวหนาม (spike-toothed salmon) แต่ส่วนตัวถ้าดูจากรูปแล้ว น่าจะเรียกแซลมอนเขี้ยวตันมากกว่า เพราะลักษณะและตำแหน่งของเขี้ยวนั้นเหมือนกันกับเขี้ยวหมูป่าจริงๆ

ธรรมชาติน่าอัศจรรย์เสมอ ใครจะนึกว่าแซลมอนที่มีเขี้ยวงอกออกมาเหมือนหมูป่าจะเคยมีชีวิตอยู่จริงบนโลกใบนี้

โครงสร้างกำหนดหน้าที่…การที่เรารู้โครงสร้างที่ชัดเจนของเขี้ยว (ที่งอกออกมาด้านข้าง) บางทีเราอาจจะบอกได้ว่าฟังก์ชั่นของเขี้ยว แท้จริงคืออะไร คำถามก็คือหลังจากที่ได้ข้อมูลใหม่ๆ เหล่านี้มาหมดแล้ว ตอนนี้รู้หรือยังว่าเขี้ยวที่งอกออกมาข้างๆ นี้มีประโยชน์อะไรกับการอยู่รอดของปลาแซลมอน?

มันต้องมีเหตุผล

 

เอ็ดเวิร์ด เดวิส (Edward Davis) นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยโอเรกอน หนึ่งในทีมนักวิจัยแซลมอนเขี้ยวตันเชื่อว่าบางทีอาจจะใช้ในการป้องกันตัว หรือขุดดินเพื่อสร้างรัง หรือต่อสู้แย่งเพศตรงข้าม หรือไม่ก็อาจจะแค่เอาไว้สำหรับปักยึดดินหรือหินใกล้ขอบลำธารหรือแม่น้ำเวลาอยากพักเหนื่อย จะได้ไม่ไหลไปตามกระแสน้ำอันเชี่ยวกราก ตอนที่กำลังว่ายทวนน้ำคืนถิ่นในยามฤดูผสมพันธุ์ก็เป็นได้

เหตุผลยกมาได้ร้อยแปด แต่ถ้าถามจริงๆ ว่านี่คือคำตอบสุดท้ายจริงๆ ใช่มั้ย คำตอบก็ยังคงเป็น “ไม่”

ตราบใดที่ยังไม่มีใครสามารถฟื้นชีพปลาแซลมอนเขี้ยวตันขึ้นมาได้จริงๆ และตามศึกษาพฤติกรรมการใช้เขี้ยวในธรรมชาติของพวกมันอย่างละเอียด โอกาสที่จะตอบคำถามที่ว่าเขี้ยวนี้มีไว้ทำอะไร คงจะเป็นไปได้ยาก

แต่แม้จะยังไปไม่ถึงไหน แต่การได้เห็นข้อมูลใหม่ๆ ในการสังเกตการณ์และศึกษาความเป็นไปของโลกใบนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ยังไงก็ยังเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น

 

ผมย้อนกลับไปอ่านเปเปอร์ของเท็ดกับโรเบิร์ตอีกครั้ง และถ้าอ่านดีๆ เท็ดและโรเบิร์ตไม่ได้เคลมว่าพวกเขาคือผู้ค้นพบแซลมอนเขี้ยวดาบนี่เป็นคนแรก แต่ที่จริง สิ่งที่พวกเขาทำคือวิเคราะห์ฟอสซิลที่พิพิธภัณฑ์เก็บเล็กผสมน้อยมากว่า 50 ปี แต่พวกเขาคือทีมที่สรุปได้เป็นครั้งแรกว่าแซลมอนพวกนี้มีเขี้ยว แม้จะวางผิดที่ไปหน่อยก็ตาม

สำหรับผม นักวิทยาศาสตร์คือผู้ที่ศึกษาและสังเกตการณ์ความเป็นไปของธรรมชาติ และเพื่อให้เข้าใจธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์จึงต้องเปิดใจให้กว้าง เป็นกลาง ไม่ยึดติด และคิดให้รอบด้าน เพราะทฤษฎีถูกลบล้างได้ หากมีทฤษฎีใหม่ที่ดีกว่า…

“นี่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์” เอ็ดเวิร์ดกล่าว “คุณมีไอเดีย คุณได้ข้อมูลใหม่ๆ มันเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนเราให้รู้ถึงการถ่อมตัวในฐานะนักวิทยาศาสตร์”

ประโยคของเอ็ดทำให้ผมย้อนกลับไปนึกถึงประโยคเด็ดในจดหมายของนักฟิสิกส์ชื่อดัง เซอร์ไอแซ็ก นิวตัน (Sir Isaac Newton) ได้เขียนจดหมายถึงโรเบิร์ต ฮุก (Robert Hooke) ในปี 1675 ที่เขียนว่า “ถ้าผมมองไปได้ไกลกว่าคนอื่น ก็เพียงเพราะผมยืนอยู่บนไหล่ของยักษ์ (If I have seen further it is by standing on the shoulders of Giants)”

ในวันที่เราเข้าใจภาษาแห่งชีวิตมากพอจะเริ่มออกแบบสิ่งมีชีวิตใหม่จากฝีมือมนุษย์ แต่ถ้ามองย้อนเข้าไปในธรรมชาติ ก็ยังมีอะไรอีกมากมายที่เรายังไม่รู้ บางทีถ้าเราเข้าใจว่าทำไมแซลมอนเขี้ยวตันถึงได้สูญพันธุ์ ไม่แน่เราอาจจะหาวิธีปกปักรักษาสายพันธุ์แซลมอนและปลาอื่นๆ ที่ยังเหลืออยู่ไม่ให้สูญหายไปจากภาวะโลกร้อน โลกรวน ภูมิอากาศวิปริตก็เป็นได้…

องค์ความรู้มีประโยชน์เสมอ บางทีองค์ความรู้ที่บางคนอาจจะมองว่าเป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง หากรู้ว่าจะเอาลงจากหิ้งมาใช้ประโยชน์อย่างไร อาจจะสร้างคุณประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับมวลมนุษยชาติก็เป็นได้…