คำ ผกา : กับดักที่ “แท้”

คำ ผกา

หัวข้อข่าวเขียนไว้อย่างนี้ “ถกเถียงเสียงแตก แสงสีเสียง ไร่เชิญตะวัน เหมาะสมหรือไม่”

ในข่าวมีคลิปงานแสดงแสงสีเสียงชุด พุทธ The Truth ให้เข้าไปดูด้วย เข้าใจว่า เพื่อให้เราได้ช่วยคิดว่า เออ…มันเหมาะหรือเปล่า?

ไร่เชิญตะวันเป็นสถานที่จัดกิจกรรมของพระ ว.วชิรเมธี ซึ่งเป็นพระที่มีชื่อเสียง

ในรสนิยมส่วนตัว ฉันเห็นว่า พระ ว.วชิรเมธี ก็ไม่ต่างจากพระอื่นๆ ที่เป็นที่พึ่งของคนชั้นกลาง

นั่นคือมีคำสอนที่เข้าใจง่ายและสอนในสิ่งที่สอดคล้องกับอุดมคติของคนชั้นกลางไทยอยู่แล้ว

เช่น อย่ามัวแต่ก่นด่าประเทศชาติ แต่จงลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง (ภาพ ตูน บอดี้สแลม ผุดขึ้นมาทันที ไม่ต้องด่านู่น นั่น ไม่ต้องกังวลว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะถูกยุบ ลุกขึ้นวิ่งเล้ย!)

หรือคำสอนที่คลาสสิคมากๆ ของ ว.วชิรเมธี ในช่วงที่มีการปราบปรามประชาชนที่ออกมาประท้วง ท่านก็ออกมาพูดว่า “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน”

คูลมากๆ ณ ตอนนั้น

จะบอกว่าชนชั้นกลางไทยชอบพระแบบ ว.วชิรเมธีก็พูดได้ไม่เต็มปาก

ฉันว่าชนชั้นกลางไทยเกือบทั้งหมดชอบ “ทำบุญ” ชอบเข้าวัด ชอบให้มี “พระ” ที่มีลักษณะเป็น “ตนบุญ” มีบุคลิก ภาษา มีกิจกรรมในวัด อะไรก็ได้ที่เมื่อได้ลงมือทำแล้วรู้สึกว่า เราได้เป็นคนดีขึ้น เรารักพ่อรักแม่มากขึ้น เราอยากทำความดีมากขึ้น เราสงบมากขึ้น

วัดและการทำบุญ และกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิ จึงเป็นการ “ถอนพิษ” detox ให้กับคนชั้นกลางที่ลึกๆ ก็รู้ว่าตนเองไม่มีวันหย่าขาดจากบาป กิเลส ตัณหาสารพัดในชีวิตได้ เลยต้องบำบัดตัวเองด้วยเอาใจไปดีท็อกซ์กับกิจกรรมทางศาสนาเหล่านี้อยู่เนืองๆ

ยิ่งมีโซเชียลมีเดีย ชนชั้นกลางก็ยิ่งได้มีเวทีสำแดงกิจกรรมทำบุญ ทำทาน เดินจงกรมในสถานที่ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ สวยงาม อะไรก็ว่าไปนู่น

โพสต์รูปทีคนก็เข้าสาธุๆๆ อนุโมทนาบุญ มีความสุขจะตาย

ทำไปเยอะเข้าก็จะนึกว่าตนเองคือเนื้อนาบุญไปอีกคน สามารถแผ่บุญ แบ่งบุญให้คนอื่นได้ด้วย

การไปวัดป่าสงบๆ หรือการไปไร่เชิญตะวันที่มีการออกแบบอย่างดี และอ่านรสนิยมคนชั้นกลางได้เป๊ะ

อยากได้แฟนตาซีอะไร ไม้ไผ่ พระอาทิตย์ตก ภูเขา (แค่คำว่า เชิญตะวัน นี่ก็สะท้อนแฟนตาซีที่โหยหาบูชาธรรมชาติของชนชั้นกลางที่ปกติมีชีวิตอันดาษดื่นในป่าคอนกรีต คอนโดฯ กรงกระต่าย ทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม และบ้านจัดสรรนานา) ก็เป็นพร็อพอีกอย่างหนึ่งของคนชั้นกลางที่มีไว้แสดงรสนิยมของตนให้โลกประจักษ์ ว่าชั้นไม่ใช่พวกงมงายไปวัดที่ตีฉิ่งตีฉาบ เอะอะมะเทิ่ง ปลุกเสกของขลัง พุทธเทียม พุทธปลอม

นี่พุทธแท้ สมถะ เรียบง่าย งดงาม กลับไปหาคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่พุทธเปลือก พุทธพีธีกรรมชาวบ้านที่รังแต่จะมีเรื่องราวฉาวโฉ่ แบบพระเมาเหล้า พระเสพยา พระเซ็กซ์แชตกับผู้ชาย โอ๊ยย เสื่อม

นี่ๆ พุทธแท้ที่งดงามเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่พุทธมอมเมาแบบพุทธจานบินด้วยนะ

ถามว่าวัดในเมืองไทย แบ่งออกเป็นกี่ประเภท

ฉันคิดว่า แบ่งใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท คือ วัดแบบ old school เช่น บ้านฉันก็ต้องวัดสันคะยอม คือเป็นวัดที่คนในหมู่บ้านหรือใกล้เคียงไปกันเป็นประจำทุกๆ วันพระ

ไปกันกึ่งๆ หน้าที่ กึ่งๆ ผูกพันว่า เออ นี่วัดประจำหมู่บ้าน ต้องเกื้อกูล ดูแล จะวัดเก่า วัดใหม่ วัดเหล่านี้มีวัตรปฏิบัติ กิจกรรมตามรูทีน คือ ออกบิณฑบาต ปฏิบัติพิธีในวันพระ รับนิมนต์ไปงานต่างๆ ดูแลวัดในฐานะที่เป็นสถานที่จัดงานศพ

อีกประเภทหนึ่งคือ วัดทางเลือก (คล้ายๆ โรงเรียนทางเลือก) เช่น วัดป่าต่างๆ หรือวัดแบบของแม่ชีศันศนีย์ รวมถึงวัดแบบไร่เชิญตะวันของ ว.วชิรเมธี

และอย่างที่บอก วัดทางเลือกเหล่านี้ได้ตอบโจทย์ความต้องการและรสนิยมของคนชั้นกลางที่มีความฉูดฉาด อึกทึกแบบวัดชาวบ้าน ไม่ชอบทองคำมลังเมลือง ไม่ชอบจะมีแตรวงแห่กฐิน ผ้าป่าแล้วมีขี้เหล้าฟ้อนอยู่หน้าขบวนแห่ และมีเสียงชาวบ้านคอยโห่ฮิ้วโห่

แต่จะชอบท่วงทำนองของไลฟ์สไตล์แบบที่ฝรั่งเรียกว่า well being ผสานภาษาจิตวิญญาณแบบนิวเอจ บวกแม็กโครไบโอติก บวกพุทธ บวกจิตใจรักโลกรักสิ่งแวดล้อม รักสันติภาพแบบ ติชท์ นัช ฮัน หน่อยๆ มีกลิ่นอายของปัญญาชน

วัดทางเลือกจึงมีทั้งแบรนด์ สไตล์ การออกแบบ ภูมิสถาปัตย์ สถานที่ อาคาร กิจกรรม ให้สอดคล้องกับความต้องการของญาติโยม

และดูเหมือนว่า ในช่วงสิบปีให้หลัง วัดในแถบภาคเหนือ ได้ established สไตล์ของวัดออกมาได้ไกลกว่าการเป็นวัดทางเลือกแบบเดิมที่เน้นความกลมกลืนกับธรรมชาติและความสมถะเรียบง่าย

นั่นคือ มีการจัดการ “แสดง” ที่บอกว่าเป็น “ประเพณีล้านนา” เพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจและความประทับใจแก่ผู้มาทำบุญ (สำหรับผู้สนใจประเด็นนี้ สามารถอ่านได้จากบทความเรื่อง “ครูบาคติใหม่ : ในฐานะสินค้าทางความเชื่อโดย ณัฐพงษ์ ดวงแก้ว)

ประเพณีล้านนานี่มีตั้งแต่การห่มจีวรหรือมีพัดมีลูกประคำแบบครูบาศรีวิชัย ไปจนถึงการมีขบวนแห่ ขบวนฟ้อนที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดีจากทีมงานมืออาชีพ เพื่อให้ได้บรรยากาศความเป็นล้านนาแบบที่คนกรุงรู้จักผ่านละครหลังข่าว มีเสื้อผ้าคอสตูมที่โอ่อ่าอลังการชนิดที่คนล้านนาแท้ๆ เห็นแล้วมึนไปเลย เพราะไม่เคยเห็นใครๆ ใส่เสื้อผ้าแบบนี้ในชีวิตจริงมาก่อน

เท่าที่เคยเห็นรูปและสไลด์ อีกทั้งสามารถเข้าไปดูในเฟซบุ๊กของวัดแนวนี้ ต้องยอมรับว่ามัน “ยิ่งใหญ่” จริงๆ

งานแห่ งานเสื้อผ้า งานดอกไม้ ล้วนอยู่ในสเกลแบบที่ภาษาอังกฤษต้องใช้คำว่า extravagance – ซึ่งทั้งหมดนี้ญาติโยมผู้อุปถัมภ์วัดเขาชอบ เหมือนได้มาทำบุญแล้วยังได้ชม performance ดีๆ

แถมยังมีความศักดิ์สิทธิ์อีก มีเนื้อนาบุญให้เก็บเกี่ยวกลับบ้านอีก คุ้มจนไม่รู้จะคุ้มยังไง

เพราะฉะนั้น การแห่พระ ว.วชิรเมธี ขึ้นเสลี่ยง พร้อมขบวนพาเหรดแบบที่เราเห็นโซเชียลมีเดีย

หรือการจัดที่นั่งราวกับโรงละคร พร้อมการออกแบบแสง สี เสียง ในวาระโอกาสต่างๆ

ไปจนถึงการแสดงพุทธะ The Truth ที่เป็นประเด็นครั้งล่าสุด

มองจากบริบทนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาวี้ดว้ายกระตู้วู้แต่อย่างใด

เนื่องจากทำกันหลายวัด หลายสไตล์ ในระดับที่ใกล้เคียงกับงานแสง สี เสียง ของโรงละครดีๆ ที่บรรดาฆราวาสมืออาชีพทำ

ถามว่าเหมาะสมไหม?

ก็ต้องถามต่อไปว่า วัดเปิดให้เข้าพักเป็นโรงแรมเหมาะสมไหม

เคยเห็นข่าวพระทำขนมปังขาย เปิดขายกาแฟในวัด ถามว่าเหมาะสมไหม?

วัดขายเครื่องรางของขลังต่างๆ นานา และดูจะมีนวัตกรรมการขายที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เช่น กระเป๋า เพิ่ม พูล ลาภ ที่ออกแบบได้ร่วมสมัยหลากสไตล์ของหลวงพี่นั้นหลวงพี่นี้ ถามว่าเหมาะสมไหม?

วัดเปิดดูดวง สะเดาะเคราะห์ ขายสังฆทาน มีตู้บริจาคเงินทุกจุด ตามโจทย์ปีชง และอื่นๆ ถามว่าเหมาะสมไหม?

วัดพุทธมีการบูชาราหู เหมาะสมไหม?

วัดเปิดรับเลี้ยงสัตว์ป่า เหมาะสมไหม?

มีคนเอาสัตว์ต่างๆ ไปทิ้งที่วัด วัดรับเลี้ยง กลายเป็นสวนสัตว์ย่อมๆ เหมาะสมไหม? ฯลฯ

นึกออกไหม ถ้าเราเริ่มตั้งคำถามเหมาะสมไหม เราจะถามได้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

ในขณะเดียวกัน ในฐานะนักท่องเที่ยว เราก็รู้ว่าที่เกาหลี ญี่ปุ่น มีวัดที่เปิดเป็นกิจการโรงแรม บริหารโดยพระด้วย จุดขาย เช่น เป็นวัดเซนอายุหลายร้อยปี

คนที่ไปพักจะได้สัมผัสประสบการณ์การกิน อยู่แบบพระเซน ได้ชมสวน ชมอาคาร มีกิจกรรมสวดมนต์ นั่งสมาธิ (โดยไม่ต้องชักจูงให้เลื่อมใสในศาสนา ไปสัมผัสเพื่อเป็นประสบการณ์เฉยๆ)

หรือบางวัดก็เปิดบริการอาหารกลางวันสำหรับนักท่องเที่ยว เช่น อาหารแบบเซนในมื้อกลางวันแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งพระก็ปลูกข้าว ปลูกผัก หมักเหล้า หมักไวน์ ทำอาหารออกมาเสิร์ฟ ได้มืออาชีพเหมือนร้านอาหารมืออาชีพทุกประการ

คนไปกินก็อิ่มใจ ไม่ใช่เพราะอิ่มบุญ แต่รู้ว่าเออ ได้กินอาหารสด สะอาด ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ (เคยไปกินมะเขือเทศต้มไวน์ขาวที่วัดแห่งหนึ่งในเกียวโตยังประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้)

หรือที่โตเกียว โอซากา ก็มีพระไปเปิดบาร์ เล่นดนตรีร็อกด้วย เพียงแต่ประยุกต์เอาพระสูตรมาใส่ในท่วงทำนองร็อก บาร์ก็ตกแต่งคล้ายๆ วัด บาร์เทนเดอร์ก็ใส่ชุดพระ (เพราะเป็นพระจริง) ซึ่งก็ทำได้ ไม่มีใครว่าอะไร พระท่านก็บอกว่านี่ก็ทำให้พุทธศาสนาเป็นมิตรกับผู้คนมากขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น

ทำไมวัดและพระที่เกาหลี และญี่ปุ่นถึงทำอะไรได้หลายอย่างและไม่มีใครมานั่งกุมขมับว่าเหมาะสมหรือไม่?

เรื่องนิกาย และข้อบังคับก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือความเป็น “รัฐโลกวิสัย” ของทั้งสองประเทศ

เมื่อรัฐกับศาสนาแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง ทั้งรัฐและพลเมืองต่างก็ไม่เห็นว่าเป็น “หน้าที่” ของตนจะไปตรวจสอบความถูกต้อง จริงแท้ของศาสนา ลัทธิ ความเชื่อไหน ตราบเท่าที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย (ทางโลก)

ในขณะที่ประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่รัฐศาสนา แต่ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับ “วัฒนธรรม” ของเรามีจริง เราคือประเทศที่เป็นรัฐศาสนา โดยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

ไม่เพียงเท่านั้น ในโลกแคบๆ ของคนไทย เรายังยึดมั่นถือมั่นอย่างยิ่ง (ปากก็บอกว่าปล่อยวาง) ว่าในโลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่า “พุทธแท้” เชื่อว่ามีพุทธที่ถูกต้องอยู่แบบเดียว และพุทธจะต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ เท่านั้น

ผิดไปจากนี้ไม่ใช่พุทธ

พระสงฆ์ต้องโกนหัวแบบนี้ โกนคิ้วแบบนี้ ห่มผ้าแบบนี้ เดินแบบนี้ ฉันแบบนี้ ฯลฯ

เราคนไทยเก่งมากในการเฝ้าฝันถึงความสมบูรณ์แบบ เพียบพร้อม ไร้ตำหนิ ไร้การแปดเปื้อน สูงส่ง ตั้งแต่เรื่องศาสนายันเรื่องการเมือง (เช่น เชื่อว่าการเมืองที่ดีต้องใสสะอาด มีแต่คนดี ไม่มีการโกง บลา บลา บลา)

ในขณะที่เราเฝ้าฝันคือความสมบูรณ์แบบ ที่มีแบบเดียวในโลกเสียด้วย ตัวเราเองก็เฝ้าตามหาเครื่องรางของขลัง ยันต์อยู่แล้วรวย สะเดาะเคราะห์ ปล่อยนกปล่อยปลากันรัวๆ โดยไม่เคยสำเหนียกถึงความย้อนแย้งในตนเองแต่อย่างใด

แย่ไปกว่านั้น คนไทยยังเสพติดการพึ่งพาอำนาจรัฐมาจัดการสิ่งที่ตนเอง “ไม่ชอบ” หรือสิ่งที่มันไม่เป็นไปตามภาพมโนคติของตน เมื่อเจอพระ เจอวัด ทำอะไรที่ขัดต่อมโนคติ ก็คิดได้อย่างเดียวว่า รัฐต้องจัดการ ตำรวจต้องมาจับ ทหารต้องเข้าช่วยจัดระเบียบ ต้องสะสาง ต้องชำระ

จากนั้นก็มโนต่อว่า ใดๆ ในโลกล้วนปราศจากมลทินนั้นมีจริง ถ้าอำนาจรัฐเข้มแข็งเด็ดขาดพอ – คิดไปแบบนี้โดยเชื่อว่านี่คือการผดุงไว้ซึ่งความดี อันหารู้ไม่ว่า วิธีคิดนี้ สากลโลกเขาเรียก “อำนาจนิยมเบ็ดเสร็จเด็ดขาด” อีดนิดเดียวก็ขยับเป็นฟาสซิสต์ได้

และสิ่งที่เหมาะสมคืออะไร?

สิ่งที่เหมาะสมคือ หากประเทศไทยอยากเป็นประเทศประชาธิปไตยตามหลักสากลโลก พึงเป็นรัฐโลกวิสัย และให้อิสรภาพแก่ทุกศาสนา

รวมถึงอิสรภาพแก่ผู้รับเชื่อ รัฐศีล รับศรัทธา ทุกคนให้บริหารจัดการความเชื่อ ความศรัทธา ด้วยตนเอง ทั้งฝ่ายนักบวช และฝ่ายฆราวาส วัด หรือศาสนสถานใดๆ อยากจัดอะไรแบบไหน มีพิธีกรรมเช่นไร ตราบเท่าที่ไม่ผิดกฎหมาย เช่น ฉ้อโกง หลอกลวง ฯลฯ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็ควรปล่อยให้ทำไปตามอัธยาศัย โดยไม่จำเป็นต้องไปตัดสินผิด ถูก แท้ ปลอม

จากนั้น ระบบการเงินของกิจการศาสนาก็ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้เหมือนนิติบุคคลอื่นๆ ต้องเสียภาษี หรือจะรับการยกเว้นภาษีอย่างไร ก็เป็นเรื่องของรัฐสภาจะออกกฎหมายมากำกับดูแลอย่างไร

ดังนั้น หากถามฉันว่า กิจกรรมที่ไร่เชิญตะวัน “ผิด” หรือไม่ ฉันก็ตอบว่าไม่ผิด

เท่าๆ กับที่กระเป๋าเทพกระเป๋าบุญอะไรก็ไม่ผิดเช่นกัน เพราะมันเป็นเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธา

ไม่ได้มีใครไปบังคับขืนใจให้ชอบหรืออะไร

แต่ที่อาจจะเป็น ironic เล็กน้อยในที่นี้คือ ขณะที่ฉัน defend ว่า ไร่เชิญตะวันสามารถทำกิจกรรมแสงสีเสียงอย่างไรก็ได้

ในทางเดียวกัน ไร่เชิญตะวันก็พึงมีขันติธรรมต่อพิธีกรรมของวัดอื่นๆ ไม่ไปตัดสินคนอื่นว่าเป็น “พุทธเทียม”

แต่ดูเหมือนว่าที่ผ่านมาจะไม่อย่างนั้น

แต่กลับเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวาทกรรม พุทธแท้ เสียอีก

ส่วนพลเมืองที่มีศรัทธาต่อความเป็นมนุษย์ หลักการประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน สิ่งที่ต้องระแวดระวังก็คือการใช้วาทกรรมของศาสนามาบิดเบือนหลักการความเป็นธรรม ความเสมอภาค และเสรีภาพของโลกสมัยใหม่ผ่านพิธีกรรมทางศาสนาแบบ “ฮิปๆ” มีกลิ่นอายปัญญาชนแบบที่ชนชั้นกลางชื่นชอบนั่นเอง

และที่ต้องระวังอย่างสูงสุดคือ อย่าไปอยู่ในกับดัก พุทธแท้ พุทธเทียม เสียเอง

แล้วมานั่งถามหรือก่นด่าอยู่ได้ว่า อะไรเหมาะ ไม่เหมาะ