เรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่น (ใหญ่) หัดไหว้เจ้า : ‘ไหว้ทีก๊องแซ’ วันปีใหม่ที่แท้ของชาวฮกเกี้ยนและหงวนเซียว จบเทศกาลตรุษจีน (3)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ดังที่ผมเล่ามาแล้วว่างานไหว้ทีก๊องแซ ชาวฮกเกี้ยนนิยมนับถือว่าเป็นปีใหม่ที่แท้ของตน บรรดาของไหว้จึงมากมาย หากเป็นผู้มีฐานะก็มีเครื่องประดับประดาตกแต่งเข้าไปอีก แต่ถ้ากำลังทรัพย์น้อยหรือมีคนในครอบครัวไม่มาก ก็จะลดปริมาณของไหว้ลง เช่น จากขนมหกชิ้นเหลือเพียงอย่างละสองชิ้น แต่มักมิใคร่ลดชนิด คือต้องมีอย่างละหน่อยให้ครบถ้วน

ทว่า ขัดสนจริงๆ บางท่านก็ไปอาศัยไหว้ที่ศาลเจ้าของชุมชนก็ได้ เป็นการเอื้อให้คนไม่มีได้ไหว้เทพชั้นสูงที่ตนนับถือ

เสียดายที่บรรดาศาลเจ้าฮกเกี้ยนในกรุงเทพฯ มิได้จัดไหว้ทีก๊องเสียแล้ว อันที่จริงผมเองก็เพิ่งจัดไหว้ทีก๊องแซที่บ้าน (เช่า) ในกรุงเทพฯ เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ครั้งแรกต้องไปอาศัยยืมลานบ้านเพื่อนเพราะตัวเองอยู่อพาร์ตเมนต์

เหตุที่จัดไหว้ทีก๊องแซนี่เอง จึงทำให้ได้รู้จักกับอาจารย์ณัฐนนท์หรือเทียนเต็กซือหู เพราะท่านไปเห็นโพสต์ของผมเข้าแล้วท่านก็คิดว่า มีคนกรุงเทพฯ เขาตั้งไหว้ทีก๊องแซแบบฮกเกี้ยนบ้านเราด้วยเว้ย เลยได้ทักทายและทำความรู้จักกันมาตั้งแต่นั้น

ผมค้างไว้ในคราวที่แล้วว่า แม้จะมีของไหว้เฉพาะเทศกาลอยู่หลายอย่าง หากไม่นับบิดเจี่ยนซึ่งใช้ได้หลายโอกาส ของเอกในโต๊ะไหว้ทีก๊องแซตามขนบจริงๆ มีเพียงอย่างเดียว ที่ต้องเรียกว่าเอกก็เพราะเทิดทูนเอาวางไว้สูงกว่าสิ่งอื่นใดในโต๊ะไหว้

นั่นก็คือ “หง้อสิ่ว” หรือสัตว์มงคลทำจากน้ำตาลทั้งห้าครับ

 

หง้อสิ่วในศัพท์เดิมแปลว่า “สัตว์ทั้งห้า” แม้ว่าจริงๆ แล้วจะมีสัตว์แค่สี่อย่างรวมกับสถูปหรือเจดีย์น้ำตาล (ทึ้งถะ) อีกหนึ่งอย่าง แต่เนื่องจากคำว่าสิ่วไปพ้องกับคำว่าอายุวัฒนะ จึงกลายความหมายไป

วิธีทำหง้อสิ่ว ใช้น้ำตาลทรายขาวนำไปต้มกับน้ำจนร้อนจัดและเหนียวข้นได้ที่ ทางฮกเกี้ยนนิยมผสมสีชมพูลงไป แล้วเทลงในพิมพ์ไม้ประกบ พอเย็นก็แกะพิมพ์ออก จะได้รูปสัตว์ทั้งห้าสวยงาม ที่แม้จะดูแข็งแรงแต่จริงๆ ค่อนข้างเปราะ

นอกจากเจดีย์น้ำตาล สัตว์ในหง้อสิ่วประกอบด้วยมังกร หงส์ ช้าง และสิงห์ ถือว่าเป็นสัตว์มงคลทุกอย่าง ทางแต้จิ๋วก็มีของแบบนี้ไหว้ แต่มักจะทำเพียงทึ้งถะหรือเจดีย์น้ำตาล และ “ทึ้งไซ” หรือสิงห์น้ำตาลอีกคู่ และนิยมเป็นสีขาว

ครูอาจารย์บอกว่า แต่โบราณหง้อสิ่วจะใช้ในการบูชาพระหยกเทวราชหรือหยกหองไต่เทียนจุนในงานทีก๊องแซเท่านั้น อาจมีบ้างที่ถือว่าสามารถใช้ไหว้เทพระดับสูงสุดอย่างตรีวิสุทธิเทพของเต๋าได้

แต่ในปัจจุบันคตินี้เลือนไป มีผู้นำมาขึ้นโต๊ะงานเทวสมภพของเทพเจ้าทุกองค์ทุกระดับตามบ้านหรือตามศาลเจ้าไปแล้ว จะด้วยความไม่รู้หรือเพราะผู้ทำขายแนะนำก็ตามแต่

สัตว์ทั้งสี่นั้นล้วนแสดงถึงความสูงส่งจึงเป็นสัญลักษณ์ของราชสำนักหรือของหลวง ส่วนเจดีย์ก็น่าสนใจมากๆ บางท่านว่าใช้แทนพระราชวังขององค์พระหยกเทวราช บางท่านก็ว่าเป็นการจำลองเจดีย์ของวัด “ไคหงวน” สร้างมาตั้งแต่สมัยถัง ตั้งอยู่ที่เมืองจ่วนจิ๊ว มณฑลฮกเกี้ยน ซึ่งเป็นวัดหลวงที่ชาวจีนภาคใต้นับถือเป็นอย่างสูง

 

จะอย่างไรก็ตามแต่ สำหรับผมนั้นหง้อสิ่วเป็นของไหว้อันควรอัศจรรย์ใจถึงสองประการ อย่างแรก เป็นสิ่งแสดงถึงร่องรอยความสืบเนื่องของอารยธรรมถังในจีนตอนใต้ และอย่างที่สอง เป็นเครื่องแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับ “อินเดีย” ที่น่าสนใจ

อินเดียเป็นชาติแรกที่ค้นพบเทคโนโลยีการฟอกและทำน้ำตาลให้เป็นผลึกมาเป็นพันปี อย่างน้อยก็ในสมัยคุปตะซึ่งตกราวต้นคริสต์ศตวรรษที่สอง

ต่อมาพระภิกษุในพุทธศาสนาจากอินเดียได้นำเอาเทคโนโลยีนี้เข้าไปในจีน รวมทั้งเทคนิคเพาะปลูกอ้อยในสมัยถังไท่จงแห่งราชวงศ์ถัง

ทั้งนี้ แหล่งปลูกอ้อยสำคัญในจีนมาแต่โบราณคือภาคใต้ เช่น มณฑลกวางตุ้ง มณฑลฮกเกี้ยนเรื่อยไปจนถึงเกาะไหหลำเพราะอยู่ในเขตอากาศร้อนชื้น นอกจากนี้ยังมีร่องรอยหลักฐานมากมายถึงความสัมพันธ์กับอินเดียภาคใต้ในมณฑลฮกเกี้ยน เช่น ที่วัดไคหงวนเองยังมีหินแกะสลักรูปเทพฮินดูเหลืออยู่จนทุกวันนี้ ซึ่งแสดงว่าอาจเคยมีเทวาลัยมาก่อน

ผมลองไปค้นดูว่าอินเดียมีของคล้ายๆ หง้อสิ่วนี่ไหม ไอ้หยา! ปรากฏว่ามีครับ

มีของไหว้ชนิดหนึ่งนิยมมากในตอนใต้ของอินเดีย (ซึ่งเชื่อมต่อกับมณฑลฮกเกี้ยนด้วยการเดินเรือ) คือฝั่งกรณาฏกะ อานธรประเทศ ไปจนถึงพังคละ

ของไหว้ชนิดนี้ทั้งวัตถุดิบ (น้ำตาลทราย) สีสัน (ชมพู) วิธีการทำและหน้าตาคล้ายคลึงกับหง้อสิ่วมาก ภาษากรนาฎเรียกว่า สักกาเร อัชชุ (Sakkare Acchu) แปลว่า “ตุ๊กตาน้ำตาล” หรือ “น้ำตาลพิมพ์”

สักกาเรที่แปลว่าน้ำตาลนั้นมาจากคำสันสกฤตว่า “ศรฺกรา” (sharkara) ซึ่งจะกลายเป็นคำว่า Sugar ในภาษาอังกฤษ

ส่วนภาษามลายาลัมเรียกขนมน้ำตาลนี้ว่า “ปัญจทารา จิละกาลุ” (Panchadara Chilakalu) ซึ่งแปลว่า “นกแก้วน้ำตาล” เพราะนิยมทำเป็นรูปนกแก้ว

แต่ที่จริงมีมากมายหลายแบบ ทั้งหงส์ คน สัตว์มงคล เทวาลัย ฯลฯ

ชาวอินเดียใต้ใช้ขนมน้ำตาลนี้ไปไหว้เทพที่เทวสถานในช่วง “มกรสังกรานติ” หรือสงกรานต์ในราศีมังกร กลางเดือนมกราคม ก็ใกล้ๆ ตรุษจีนนั่นแหละครับ

และยังใช้ในงานพิธีที่เป็นมงคลเช่นงานแต่งงาน เมื่อนำไปถวายพระเป็นเจ้าแล้วก็จะแจกจ่ายให้ญาติมิตร

 

จีนรับการผลิตน้ำตาลมาจากอินเดียอย่างแน่นอน จะรับตุ๊กตาน้ำตาลมาแล้วปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมของตนเองก็ไม่แปลก

แม้จีนตอนใต้จะเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยก็จริง แต่น้ำตาลในโลกโบราณยังคงเป็นของฟุ่มเฟือยสูงค่า ทำให้หง้อสิ่วเป็นของไหว้พิเศษ เป็นของเอกอันเลิศเลอบนโต๊ะไหว้ แถมยังต้องใช้ฝีมือในการประดิษฐ์ทำขึ้นมาด้วย

ผมยังเดาเอาเองอีกว่า ก็เพราะมีเจดีย์น้ำตาลเป็นของหลักในหง้อสิ่ว จึงเป็นทั้งของถวายและเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่พึงสักการะไปพร้อมๆ กัน ชาวบ้านเขาย่อมกราบไหว้เจดีย์กันอยู่แล้ว

และถ้าเจดีย์น้ำตาลในหง้อสิ่วแทนสถูปของวัดไคหงวนจริง ก็คงเหมือนคนไทยนึกถึงวัดพระแก้วนั่นแหละครับ

คนฮกเกี้ยนก็ย่อมนึกถึงเจติยสถานที่สำคัญที่สุดของตนเช่นกัน และเทิดทูนไว้ในที่สูง

 

อ่อ พอพูดถึงหง้อสิ่ว มีของอีกอย่างที่เกี่ยวกันคือ “อ้อย” ครับ โต๊ะไหว้ทีก๊องจะต้องเอาอ้อยทั้งต้นมีรากมีใบคู่หนึ่งมาผูกที่ขาโต๊ะ แล้วแขวนประดับกระดาษไหว้ที่เรียกว่า “เตี๋ยวจี๋” หรือโกจี๋ รูปร่างเป็นพวงยาวลงมาคล้ายพวงมโหตร พิมพ์เป็นรูปเหรียญรูอย่างโบราณกับต้นอ้อยนั้นไว้ ท่านว่าเป็นดุจเงินที่ตกเป็นสายลงมาจากฟ้า

เรื่องเอาต้นอ้อยมาผูกโต๊ะไหว้ผมไม่เคยเห็นจีนภาษาอื่นทำเลยนอกจากพวกฮกเกี้ยน มีผู้อธิบายว่าคำว่าอ้อยในภาษาฮกเกี้ยนคือ “ก๊ามเจี่ย” พ้องกับคำว่าขอบคุณ จึงนำมาไหว้เพื่อขอบคุณทีก๊อง แต่ยังมีเรื่องประวัติศาสตร์ความทรงจำท้องถิ่นที่สำคัญกว่า

ในสมัยหยวน ทหารจากภาคกลางบุกเข้ามาในมณฑลฮกเกี้ยนแล้วคุยกันไม่รู้เรื่องถึงกับฆ่าฟันกัน ชาวบ้านหนีไปซ่อนตัวในไร่อ้อยแล้วกินอ้อยประทังชีวิต พอพวกทหารยกกลับไปตรงกับวันทีก๊องแซพอดี ชาวบ้านจึงสำนึกคุณว่าทีก๊องช่วยปกปักรักษาให้รอดปลอดภัย จึงนำเอาอ้อยมาผูกโต๊ะไหว้ไว้ให้ระลึกถึงอดีต

บางสำนวนเป็นฉบับรักชาติยิ่งกว่านี้ โดยเปลี่ยนเป็นสมัยหมิงแล้วให้ตัวร้ายเป็นโจรสลัดญี่ปุ่นแทน แต่แกนเรื่องเหมือนเดิม

 

ที่จริงนอกจากมิติด้านประวัติศาสตร์ ผมออกจะสงสัยว่าคงเป็นเรื่องความเชื่อด้วย เพราะการไหว้ทีก๊องย่อมต้องเอาผลิตผลทางการเกษตรที่ทำได้มาไหว้อยู่แล้ว และอ้อยเองยังเป็นสัญลักษณ์มงคลที่มักใช้กันโดยทั่วไปทั้งในอินเดียและอุษาคเนย์ เพราะแสดงถึงความสุข (รสหวาน) และความเจริญงอกงาม

เมื่อเตรียมของไหว้เสร็จแล้ว เจ้าบ้านจะจุดธูปเริ่มไหว้ตั้งแต่ห้าทุ่ม คนในบ้านก็จุดตามแล้วก็กล่าวคำไหว้คำขอพรต่างๆ จากนั้นรินชา รินเหล้า ส่วนมากก็รอสักครู่หนึ่งแล้วเสี่ยงทายว่าท่านพอพระทัยไหม หากผลเสี่ยงทายดีก็เผากระดาษและจุดประทัดเป็นอันเสร็จพิธี คนในบ้านก็กินข้าวกินปลา เล่นไพ่ ร้องคาราโอเกะกันไปเป็นที่สนุกสนาน

หากเป็นงานพิธีที่เป็นทางการมากๆ จะต้องเริ่มจากการชำระล้างมณฑลพิธี (เส่เจ้ง) ให้เรียบร้อย จุดธูป รินชา รินเหล้าตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

และเมื่อมีการเชิญทีก๊องก็มักต้องทำพิธีซ่งเก๊งหรือเจริญพุทธมนต์แบบจีนเสียก่อน บทที่ใช้ขึ้นอยู่กับสำนักที่ตนเรียนมา

พอสวดเสร็จอ่านฎีกาทูลถวาย (ส่อ) ต่อ ในฎีกานั้นบรรยายพระคุณานุคุณของทีก๊อง กล่าวว่าถวายอะไรบ้าง ออกชื่อเจ้าภาพหรือคนร่วมและขอสวัสดิมงคลต่างๆ เป็นภาษาจีน แล้วจึงรอสักครู่หนึ่ง ถ้ามีวงมโหรีสมโภช (โช้ย) ก็เล่นเสียตอนนี้หรือเปิดเอาจากเครื่องเสียง

จากนั้นเสี่ยงทายว่าทรงพอพระทัยแล้วไหมจึงค่อยเผากระดาษ จุดประทัด ส่วนต้นอ้อยเอาวางไว้หน้าบ้านให้เป็นมงคล ของไหว้จะต้องแบ่งส่วนไปถวายเทพเจ้าในบ้านและที่แท่นบูชาบรรพชนก่อน ถือว่าทีก๊องพระราชทานมาให้ แล้วจึงค่อยแบ่งกันกิน

ไหว้ทีก๊องแซแล้วก็เกือบจะหมดเทศกาลตรุษจีนล่ะครับ ยังคงเหลืออีกเพียงวันหนึ่งคือหงวนเซียว

โปรดติดตามตอนหน้า •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง