รำลึกชีวิต ‘อนันต์ ฉายแสง’ กับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 16-6 ตุลา 19

บทความพิเศษ | บุญเลิศ คชายุทธเดช (ช้างใหญ่)

 

รำลึกชีวิต ‘อนันต์ ฉายแสง’

กับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 16-6 ตุลา 19

 

งานพระราชทานเพลิงศพ อนันต์ ฉายแสง วันที่ 30 มีนาคม 2567 ที่จัดขึ้น ณ วัดเทพนิมิตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ผ่านพ้นไปด้วยความยิ่งใหญ่ แขกเหรื่อรัฐมนตรี นักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น นักธุรกิจ อดีตนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้านแปดริ้วมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

หนังสืออนุสรณ์ประวัติชีวิตและการทำงานของอนันต์ ที่ทายาทตระกูลฉายแสง “จาตุรนต์-กลยุทธ-วุฒิพงศ์-ฐิติมา” จัดทำเพื่อมอบให้กับผู้มาร่วมงานเป็นของที่ระลึกที่มีคุณค่ายิ่ง

จากตำรวจกองปราบฯ สู่เส้นทางการเมือง

อนันต์ เกิดที่บ้านจุกเฌอ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2470 สมัยรัชกาลที่ 7 4 ปีก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จบชั้นมัธยมปีที่ 6 โรงเรียนอำนวยศาสตร์ กรุงเทพฯ ปี 2485 ขณะนั้นได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาและน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ

ปี 2494 อายุ 24 ปี เป็นตำรวจกองปราบปราม สามยอด ได้ติดตาม จวน กุลละวณิชย์ (พ่อของ พล.อ.พิจิตร พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์) ไปช่วยหาเสียงเลือกตั้งผู้แทนฯ แปดริ้ว จนได้รับเลือกตั้งปี 2495 และ 2500

ปี 2498 อนันต์แต่งงานกับ เฉลียว กมลสินธุ์ สาวสวยตลาดบ้านใหม่ที่บ้านอยู่ใกล้กัน ให้กำเนิดลูกชายคนแรก เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2499 ชื่อ จาตุรนต์ (อ๋อย) และมีน้องคลานตามกันอีก 3 คน คือ กลยุทธ (ก้อย), วุฒิพงศ์(โก้) และฐิติมา (เปิ้ล)

ระหว่างเป็นตำรวจ แม้อนันต์จะเป็นเพียงตำรวจชั้นประทวน แต่ก็ใกล้ชิดกับผู้นำตำรวจ ทหารระดับสูง เป็นที่เชื่อถือ ไว้วางใจของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ จอมพลผิน ชุณหะวัณ

ปี 2501 อายุ 31 ปี ภายหลังเป็นตำรวจมา 7 ปี ตัดสินใจลาออกเพื่อลงสมัครสมาชิกสภาเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ได้รับเลือกตั้งสมดังใจมุ่งหวัง ปีต่อมาได้เป็นเทศมนตรีและดำรงตำแหน่งนี้เรื่อยมาจนถึงปี 2510

10 กุมภาพันธ์ 2512 มีการเลือกตั้ง ส.ส. อนันต์ลงสมัครไม่สังกัดพรรค ได้เป็นผู้แทนฯ แปดริ้วสมัยแรก รุ่นเดียวกับ อุทัย พิมพ์ใจชน ชลบุรี, ชวน หลีกภัย ตรัง, ไขแสง สุกใส นครพนม, เลิศ ชินวัตร เชียงใหม่ (พ่อทักษิณ ชินวัตร) ฯลฯ เป็นได้ 2 ปี 9 เดือน ก็ต้องตกงานเพราะจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารบกทำรัฐประหารตัวเองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2511 และเลิกสภาผู้แทนฯ

9 มีนาคม 2515 อุทัยและเพื่อนอดีต ส.ส.อีก 2 คนได้แก่ อนันต์ ภักดิ์ประไพ พิษณุโลก และ บุญเกิด หิรัญคำ ชัยภูมิ ยื่นฟ้องต่อศาลอาญากล่าวหาว่าจอมพลถนอมพร้อมกับพวก 17 คนก่อกบฏ ผิดประมวลกฎหมายอาญา ขอให้ศาลลงโทษตามกฎหมาย จอมพลถนอมไม่พอใจจึงใช้อำนาจคณะปฏิวัติสั่งจำคุกอุทัย 10 ปี อีก 2 คน คนละ 7 ปี

“ระหว่างที่ผมติดคุกลาดยาวและย้ายไปที่บางขวาง ไม่มีนักการเมืองคนไหนมาเยี่ยมผมสักคนแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ที่ผมสังกัดก็ไม่มีใครมา มีเพียงอนันต์ และไขแสง สองคนเท่านั้นที่ห่วงใยผม ทุกครั้งที่มาเยี่ยมที่เรือนจำจะเขย่าลูกกรงห้องขังพูดว่า ผมจะเอาคุณอุทัยออกจากคุกให้ได้” อุทัยฟื้นความหลังที่ซาบซึ้งใจไม่มีวันลืม

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในเดือนมกราคม 2517 อุทัยและเพื่อนอีก 2 คนได้รับการปล่อยตัวเมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติออกกฎหมายกเลิกคำสั่งคณะปฏิวัติ รวมเวลาถูกคุมขัง 22 เดือน

ต่อมา อนันต์ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แปดริ้ว อีก 3 สมัย เมื่อปี 2518, 2526, 2544 เป็นรัฐมนตรี 3 กระทรวง ได้แก่ รมช.คมนาคม ปี 2518, รมช.สาธารณสุข ปี 2519 (ได้รับแต่งตั้งได้เพียงวันเดียวก็ยื่นใบลาออก) และ รมช.อุตสาหกรรม ปี 2528-2529

เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตุลา 16 และ 19

ประวัติชีวิตอนันต์ ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ด้วยวัย 96 ปี ถูกบันทึกไว้ว่า เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมืองครั้งสำคัญ ทั้ง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 โดยเขากับไขแสง เป็นเพื่อนสนิทไปเชื่อมโยงอยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง

หลังถูกจอมพลถนอมก่อรัฐประหาร พ้นสภาพการเป็นผู้แทนฯ ทั้งอนันต์และไขแสงได้นัดกินข้าวพูดคุยกับผู้นำนักศึกษาเป็นระยะๆ บางคนก็มาหาที่บ้านแปดริ้ว การพบกันแต่ละครั้ง อนันต์ได้เสนอแนวคิดว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อบ้านเมืองต้องเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองก็จะเป็นเผด็จการภายใต้รัฐบาลถนอมไปตลอด

ผู้นำนักศึกษาที่พบกันตั้งแต่ปี 2515 เป็นต้นมา เช่น ธีรยุทธ บุญมี, วิรัติ ศักดิ์จิรพาพงษ์, ประสาร มฤคพิทักษ์ ฯลฯ

สำหรับอนันต์นอกจากควักกระเป๋าเลี้ยงข้าวผู้นำนักศึกษาทุกครั้งแล้ว ยังให้สตางค์ผู้นำนักศึกษาเป็นทุนเอาไปทำกิจกรรมอีกด้วย เช่น ทำโปสเตอร์ ใบปลิว ฯลฯ

วิรัติ ศักดิ์จิรพาพงษ์ อดีตรองเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ เล่าว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งในเดือนมิถุนายน 2516 นักศึกษาชุมนุมประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประท้วงกรณี 9 นักศึกษารามคำแหงถูกลบชื่อเนื่องจากออกหนังสือกรณีทุ่งใหญ่นเรศวร อนันต์ก็มาให้กำลังใจ

อ๋อยเข้าป่าหลัง 6 ตุลา 19

ช่วงวิกฤตของชีวิตอนันต์และเฉลียว ก็คือ การเข้าป่าของจาตุรนต์ หลังเกิดเหตุการณ์นองเลือดในธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 ขณะนั้นกำลังเรียนปี 4 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อนันต์มิได้ทัดทาน เพราะนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่แวะมาหาที่บ้านแปดริ้ว นำข่าววงในพร้อมแฟ้มลับมาเปิดให้ดูว่า มีชื่อจาตุรนต์ติด 1 ใน 500 ของบัญชีดำที่ทหารพร้อมจะจับเป็นหรือจับตายผู้นำนักศึกษา การเข้าป่าน่าจะปลอดภัยกว่าการอยู่ในเมือง

จาตุรนต์ไปอยู่ฐานที่มั่นที่ดอยผาจิและดอยผาหม่นจังหวัดพะเยา ต่อมาย้ายมาอยู่ที่จังหวัดน่าน อนันต์ซึ่งเป็นพ่ออยู่แนวหลังคอยสนับสนุน กระทั่งต้นปี 2523 ก่อน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกฯ จะออกประกาศสำนักนายกฯ ที่ 66/2523 จาตุรนต์ก็หวนคืนเมืองในช่วงที่ฝ่ายนำของพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ปล่อยให้กลับมาเยี่ยมบ้านชั่วคราว จาตุรนต์ตัดสินใจไม่กลับเข้าป่าอีก แต่เดินทางไปเรียนต่อเศรษฐศาสตร์ ที่สหรัฐอเมริกา จากนั้นนักศึกษาก็ทยอยกันคืนเมือง

วิรัติเล่าว่า ระหว่างเดินทางออกจากฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์ฯ จังหวัดสงขลาเพื่อไปเข้าป่าที่ภาคเหนือได้แวะเยี่ยมอนันต์และเฉลียวที่บ้านแปดริ้วในตอนค่ำ ทั้งสองคนมีจิตใจที่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยว พร้อมกับฝากความระลึกถึงและเตือนให้ระวังตัวให้ดีไปบอกจาตุรนต์ด้วย หากมีโอกาสได้เจอ ซึ่งต่อมาตนก็พบจาตุรนต์ในป่าที่จังหวัดน่านและบอกเล่าเรื่องนี้ให้จาตุรนต์ฟัง

นอกจากนี้ อนันต์ยังช่วยติดต่อหาทางช่วยเหลือ นำไขแสง ประสาร และคณะที่พักอยู่ในจีนเดินทางกลับเมืองไทยโดยสวัสดิภาพ

 

ใครๆ ก็รัก อนันต์ ฉายแสง

ในบทที่ว่าด้วย ใครๆ ก็รัก อนันต์ ฉายแสง สะท้อนภาพให้เห็นถึงอุปนิสัยส่วนตัว คุณความดีต่างๆ ที่ผ่านมา การบอกเล่าของเพื่อนนักการเมืองรุ่นน้อง อดีตนายตำรวจ และอดีตผู้นำนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เช่น อุทัย พิมพ์ใจชน, วันมูหะมัดนอร์ มะทา, วีระกานต์ มุสิกพงศ์, สุธรรม แสงประทุม, พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก, นิคม ไวยรัชพานิช, อาคม สุวรรณนพ ฯลฯ

อดิศร เพียงเกษ กล่าวว่า อนันต์เป็นคนใจกว้างเหมือนมหาสมุทร ยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคล ขณะที่ ประสาร มฤคิทักษ์ กล่าวว่า “ภาษานักเลงเขาถือว่า พี่อนันต์เป็นผู้มีคุณธรรมน้ำมิตร เพื่อนมิตรเยอะ เพื่อนมิตรรักอนันต์ เพราะอนันต์มีจิตใจช่วยเหลือคนอื่นเป็นจิตวิญญาณ”

ขณะที่สุธรรมกล่าวถึงลักษณะพิเศษของอนันต์ว่า เป็นคนรักเพื่อนพ้อง ชอบพูดคำว่า “พวกกันชอบกัน พวกกันรักกัน” ถ้าเป็นคนแปดริ้ว พี่นันบอกว่า ไม่ต้องจ่าย เป็นคนสไตล์เดียวกับไขแสง สุกใส เจ้าของวาทะ “คิดอะไรคิดเถิด อย่าคิดคด คดอะไรให้คดเถิด อย่าคดมิตร” เรื่องมิตรเป็นเรื่องสำคัญของทั้งอนันต์และไขแสง

 

ทักษิณ-ขรรค์ชัย เขียนคำไว้อาลัย

บุคคลสำคัญที่เขียนคำไว้อาลัย อาทิ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ, วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา, อุทัย พิมพ์ใจ อดีตประธานรัฐสภา, วีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีต รมช.มหาดไทย, ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข, สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม, ชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ, เสนาะ เทียนทอง อดีต รมว.มหาดไทย เป็นต้น

ที่พิเศษเห็นจะเป็นคำไว้อาลัยที่ ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ คนที่ 23 เขียนให้กับอนันต์

“ผมเรียกคุณอนันต์ ฉายแสง ว่าอา เพราะเป็น ส.ส.รุ่นเดียวกับคุณพ่อผม ในปี 2512 ซึ่งตอนนั้นผมยังเป็นนักเรียนเตรียมทหาร ก็ได้ติดตามท่านไปประชุม จึงได้รู้จัก ส.ส.รุ่นเดียวกับคุณพ่อหลายคน ผมมาสนิทกับอาอนันต์มากขึ้นตอนท่านเป็น รมช.คมนาคม สมัยนายกฯ คึกฤทธิ์ ผมช่วยราชการอยู่กับคุณปรีดา พัฒนถาบุตร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น หลังจากผมมาทำธุรกิจ อาอนันต์ก็ไปมาหาสู่เป็นประจำ พอผมตั้งพรรคไทยรักไทย อาอนันต์ก็ให้ลูกๆ มาทำการเมืองกับผมตั้งแต่นั้นมา…”

อีกคนที่เขียนคำไว้อาลัยเป็นโคลงกระทู้ คือ ขรรค์ชัย บุนปาน

แด่ ท่านอนันต์ ฉายแสง

อ มตะ ตั้งแต่ต้น ยุคสมัย

นันต์ หยัดยืนประชาธิปไตย ใหญ่กว้าง

ฉาย ประทีปความเป็นไทย เสมอเทศ

แสง สว่างบ่รู้ร้าง กระจ่างแจ้งคืนแรม

ขรรค์ชัย บุนปาน