มหากาพย์ ‘พระแก้วมรกต’ (3) เงื่อนงำ ‘กำแพงเพชร’ ผ่าน ‘พระซุ้มกอ’

เพ็ญสุภา สุขคตะ

สําหรับตอนที่ 3 นี้ เส้นทางของพระแก้วมรกตได้เคลื่อนมาสู่เมืองสำคัญยิ่ง เป็นเมืองที่เชื่อมคั่นตั้งอยู่กึ่งกลางด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับล้านนา นั่นคือ “กำแพงเพชร”

ดังนั้น วิทยากรผู้ที่จะมาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูลในส่วนนี้จะเป็นใครอื่นใดไปมิได้ นอกเสียจาก “อาจารย์สันติ อภัยราช” ครูภูมิปัญญาด้านภาษาและวรรณกรรม ปราชญ์ท้องถิ่น

ผู้เป็นประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชรหลายสมัย

อาจารย์สันติ อภัยราช ปราชญ์ใหญ่เมืองกำแพงเพชร ผู้ร่วมเปิดประเด็นเสวนาให้ข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่างในบทความชิ้นนี้

วัดพระแก้ว VS วัดอาวาสใหญ่

วัดใดประดิษฐานพระแก้วมรกต?

อาจารย์สันติ อภัยราช เปิดประเด็นว่า ทุกวันนี้ชาวกำแพงเพชรมีความเชื่อเป็นกระแสหลักไปเรียบร้อยแล้วว่า “วัดพระแก้ว” ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น คือสถานที่ที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกต องค์ที่เรากำลังเสวนาหาความจริงกันอยู่นี้มาก่อน

การสืบเสาะค้นหาว่าพระแก้วมรกตเคยประดิษฐานอยู่ที่ไหนในกำแพงเพชรเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2446 โดย “พระวิเชียรปราการ” ขุนนางที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ส่งไปปกครองเมืองกำแพงเพชรนั้น ได้ทำการศึกษาสำรวจวัดร้างซากโบราณสถานโบราณวัตถุต่างๆ ในเขตเมืองเก่า แล้วพยายามตั้งชื่อสถานที่นั้นๆ ให้ใกล้เคียงกับตำนาน เท่าที่ความรู้ความสามารถของปราชญ์ยุคเมื่อ 130 ปีจักทำได้ คำว่า “วัดพระแก้ว” จึงปรากฏขึ้นครั้งแรกในบันทึกของพระวิเชียรปราการ

อย่างไรก็ดี 2 ปีถัดมาคือ พ.ศ.2448 ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 สมัยที่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร” หรือที่เรานิยมเรียกย่อๆ ว่า “พระยุพราช” ได้เสด็จพระดำเนินเลียบเมืองกำแพงเพชร (ในอดีตสังกัดมณฑลนครสวรรค์)

ครั้งนั้นเองทรงวินิจฉัยว่า “พระแก้วมรกต หากเคยประดิษฐานที่กำแพงเพชรจริง ก็น่าจะเป็นวัดอาวาสใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอรัญญิก”

พระวินิจฉัยนี้หนุนเนื่องมาจากช่วงที่พระยุพราชเสด็จกำแพงเพชรเป็นแค่ระยะเวลาสั้นๆ พระองค์ท่านยังมิทันได้เห็นจุดที่เรียกว่าวัดพระแก้ว ด้วยเหตุที่อาณาบริเวณของวัดอาวาสใหญ่นั้นกว้างขวางใหญ่โตกว่าวัดอื่นๆ

วัดอาวาสใหญ่ จุดที่รัชกาลที่ 6 สมัยเป็นพระยุพราช ได้เสด็จมากำแพงเพชร แล้วทรงเห็นว่าเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุด จึงสันนิษฐานเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นวัดพระแก้ว

ครั้นอีกเพียง 1 ปีให้หลัง ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2449 สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้นมายังเมืองกำแพงเพชรด้วยพระองค์เองอีกครั้ง คราวนี้พระวิเชียรปราการได้ทูลเชิญล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เสด็จไปทอดพระเนตรสถานที่ที่ปัจจุบันเรียกกันว่าวัดพระแก้ว

รัชกาลที่ 5 ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุประพาสต้นครั้งที่ 2 ว่า “ถ้าพระแก้วมรกตเคยประดิษฐานที่กำแพงเพชรจริง ก็น่าจะเป็นวัดแห่งนี้แน่ๆ”

การที่ทรงมีพระราชวินิจฉัยเช่นนี้ก็เนื่องมาจากทรงทอดพระเนตรเห็นพระเจดีย์ทรงลังกาองค์ใหญ่ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันกับพระวิหาร ทรงตรัสชมว่า เป็นเจดีย์ที่งดงามมาก เมื่อก้มลงมองฐานเจดีย์ พบปูนปั้นรูปสิงห์แบก (จมอยู่ใต้ชั้นดิน ครั้นเมื่อทำการขุดค้นทางโบราณคดีจึงพบพระพิมพ์รูปสิงห์แบกที่ฐานพระพุทธรูปอีกเป็นจำนวนมาก)

วัดพระแก้ว ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จุดที่พระวิเชียรปราการทูลเสนอต่อรัชกาลที่ 5 ว่าน่าจะเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตมากกว่าวัดอาวาสใหญ่

การพบรูปสิงห์ที่ล้อมฐานเจดีย์นี้เองยิ่งทำให้ปราชญ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ว่าสมเด็จพระน้องยาเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระน้องยาเธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ต่างเห็นคล้อยว่า วัดแห่งนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับ “พระแก้ว-พระสิงห์” หรือ พระแก้วมรกตกับพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระคู่กัน มีตำนานใกล้เคียงกัน เป็นแน่แท้ ควรเชื่อได้ว่าที่นี่น่าจะเป็น “วัดพระแก้ว” มากกว่าบริเวณวัดอาวาสใหญ่

เหนือสิ่งอื่นใด ในส่วนท้ายที่ต่อเชื่อมกับเจดีย์ยังมี “มณฑป” ขนาดใหญ่ตั้งอยู่อีกด้วย สะท้อนว่าครั้งหนึ่งต้องเคยมีการประดิษฐานพระพุทธรูปองค์สำคัญยิ่งอย่างแน่นอน ทำให้ทุกวันนี้ชาวกำแพงเพชรเรียกที่นี่ว่า “มณฑปพระแก้วมรกต”

ในความเป็นจริง พระแก้วมรกตจักเคยประทับในกำแพงเพชรหรือไม่ และหากเคยประทับจริง สถานที่แห่งนั้นควรอยู่ที่ไหน ยังไม่มีใครทราบข้อเท็จจริงได้ เพราะที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือข้อสันนิษฐานจากรุ่นสู่รุ่น

เจดีย์ทรงระฆังแบบลังกาขนาดใหญ่ ณ วัดพระแก้ว กำแพงเพชร

เชื่อตำนานเล่มไหนดี

จะให้กำแพงเพชรเป็น “ฮีโร่” หรือ “ผู้ร้าย”?

ในส่วนความเกี่ยวข้องระหว่างเมือง “กำแพงเพชร” กับ “พระแก้วมรกต” ที่ปรากฏในตำนานล้านนาสองฉบับนั้น อาจารย์สันติ อภัยราช กล่าวว่า น่าแปลกทีเดียว แม้นตำนานทั้งสองเล่มจักเขียนขึ้นในเมืองเหนือเหมือนกัน และแต่งโดยพระภิกษุในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ไฉนเลยตำนานทั้งสองฉบับกลับให้ข้อมูลต่างกันราวฟ้ากับเหว

รัตนพิมพวงศ์ กล่าวว่า ขณะที่พระแก้วมรกตประทับอยู่ที่กรุงอโยธยา/อโยฌปุระนั้น (หมายเหตุ อาจารย์สันติก็ตั้งข้อสังเกตเหมือนกับ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง ว่าดูจากศักราชและปูมแวดล้อมแล้ว ย่อมไม่ใช่กรุงศรีอยุธยาอย่างแน่นอน เพราะช่วงนั้นน่าจะอยู่ในรอบพุทธศตวรรษที่ 16-17 กรุงศรีอยุธยายังไม่ได้สร้าง และกำแพงเพชรก็ยังไม่เกิด) น่าสนใจว่าตำนานเรียกเมืองแห่งนี้ว่า “วชิรปราการ” แล้ววงเล็บสำทับว่า “กำแพงเพชร”

รัตนพิมพวงศ์ระบุว่าวชิรปราการเป็นเมืองใหญ่ สามารถกรีธาทัพไปยังอโยธยาในทำนองประกาศแสนยานุภาพถึงความเกรียงไกร จนเจ้าเมืองอโยธยายอมยกพระแก้วมรกตให้โดยดี

ความที่เจ้าเมืองวชิรปราการมีพระโอรสองค์หนึ่งปกครองเมืองละโว้อยู่ (น่าคิดไม่น้อย หากเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องจริง สะท้อนว่ากำแพงเพชรค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขนาดส่งโอรสไปนั่งเมืองใหญ่อย่างละโว้ได้) พระโอรสได้ทูลขอยืมพระแก้วมรกตไปเป็นขวัญแก่พระนครชั่วคราวด้วย

สรุปว่า พระแก้วมรกตประทับ ณ กรุงละโว้ประมาณ 1 ปีเศษๆ เจ้าเมืองวชิรปราการได้ขอคืนกลับมา จากนั้นพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่เมืองกำแพงเพชรนานนับร้อยปี

จนกระทั่ง “ท้าวมหาพรหม” จากเชียงรายได้ยกกองทัพถึง 80,000 นายมาข่มขู่กดดันให้เจ้าเมืองกำแพงเพชรต้องยกพระแก้วมรกตให้ (ซ้ำรอยเดิมกับตอนที่กำแพงเพชรยกทัพไปประกาศศักดานุภาพที่อโยธยา โดยเหตุการณ์ทั้งสองครั้งนี้ไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ) กำแพงเพชรจำต้องยอมยกพระแก้วมรกตให้เชียงรายไป

ฐานเจดีย์วัดพระแก้ว เคยมีรูปสิงห์แบกโดยรอบ (ปัจจุบันมีแต่ช้างแบก) ทำให้ปราชญ์ยุค 130 ปีก่อนเชื่อว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับ “พระสิงห์” หรือพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งคู่กับพระแก้วมรกต

ทฤษฎีของรัตนพิมพวงศ์นี้ อาจารย์สันติ อภัยราช มองว่าเป็นการเขียนแบบให้เกียรติเมืองกำแพงเพชร คือตอนที่เราได้พระแก้วมรกตมา ก็ไปเอามาอย่างผู้มีอำนาจเหนือกว่าแว่นแคว้นที่เริ่มอ่อนแอ และเมื่อพระแก้วมรกตจะต้องจากไป ก็เป็นเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมคือผู้มีอำนาจเหนือกว่าเราก็ใช้วิธีเดียวกัน คือดูแล้วค่อนข้างสมน้ำสมเนื้อ

เมื่อหันมามองชินกาลมาลีปกรณ์ กลับให้ข้อมูลแปลกๆ พิลึกพิลั่น คือกล่าวถึงคนที่ชื่อ “ติปัญญามหาเถร” (บ้างเรียกติยะอำมาตย์) ถูกส่งจากอโยธยามาครองกำแพงเพชร (เข้าใจว่า “อโยธยา” ในที่นี้ หมายถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว) ในช่วง พ.ศ.1900 กว่าๆ

ติปัญญามีแม่เป็นสนมคนโปรดของกษัตริย์อโยธยานาม “ขุนหลวงพ่องั่ว” (พะงั่ว) ติปัญญาอยากได้พระแก้วมรกตมาครอง ขอให้แม่ใช้กลอุบายลวงขอพระแก้วมรกตจากขุนหลวงพะงั่วในฐานะที่หลงใหลในเสน่ห์ของนางอย่างเนียนๆ ชนิดที่ว่าอย่าให้พระองค์รู้ตัวเป็นอันขาด

แม่ของติปัญญายอมเสี่ยง ทำทีทำท่าว่าอยากได้พระปฏิมาสักองค์ไว้บูชา ขุนหลวงพะงั่วยินดีแบ่งให้ โดยบอกว่าให้นางไปเลือกเอาเองว่าต้องการองค์ไหน นางจึงไปติดสินบนพนักงานหอพระว่าช่วยเอาดอกไม้ไปวางหน้าพระแก้วมรกตให้หน่อย ตอนนางเลือกจะได้รู้ว่าองค์ไหน ในที่สุดก็พาพระแก้วมรกตองค์จริงหนีไปให้โอรสที่กำแพงเพชร

ตำนานหน้านี้อาจารย์สันติบอกว่า เหมือนกันมากราว “แพะกับแกะ” เมื่อเทียบกับตำนานพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งหากยึดตามทฤษฎีต้องถือว่ากำแพงเพชรเสียเครดิตพอสมควร ที่ใช้เล่ห์เพทุบายอันไม่ค่อยสุจริตนัก เพื่อให้ได้มาซึ่งพระแก้วมรกต (รวมทั้งพระพุทธสิหิงค์)

อย่างไรก็ดี หากดูไทม์ไลน์ตามท้องเรื่องของชินกาลมาลีปกรณ์แล้ว พบว่าเป็นเหตุการณ์ที่เริ่มใกล้ตัว ติปัญญาเป็นบุคคลร่วมสมัยกับขุนหลวงพะงั่วและท้าวมหาพรหม ซึ่งช่วงนี้มีการสร้างเมืองกำแพงเพชรแล้ว (ในขณะที่เนื้อหาของรัตนพิมพวงศ์ กำหนดท้องเรื่องเก่าเกินไป คือยุคอโยฌปุระ ยุคละโว้ยังเรืองอำนาจ ซึ่งกำแพงเพชรยังไม่ได้เกรียงไกรขนาดนั้น)

ด้วยเหตุที่ตำนานสองฉบับซึ่งเขียนขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน บนแผ่นดินเดียวกันยังตีกันให้สับสนถึงขนาดนี้ น่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ทรงไม่เชื่อเหตุการณ์อันโกลาหลช่วงนี้เลย ทรงข้ามไปมองว่า พระแก้วมรกตควรจะเริ่มต้นที่เชียงรายมากกว่ากระมัง

พระกำแพงเพชรซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ ภาพจากไฟล์เพาเวอร์พอยต์บรรยายของคุณ “น้อย ไอยรา” (อาจารย์นิพนธ์ สุขสมมโนกุล)

พิมพ์ทรงพระซุ้มกอกับพระแก้วมรกต

กรณีพิมพ์ทรงด้านพุทธศิลป์ของพระแก้วมรกตที่นักวิชาการมองว่าเหมือนกับพระพุทธรูปเชียงแสน-พะเยานั้น อาจารย์สันติ อภัยราช เสนออีกแนวทางว่า “โปรดอย่าได้มองข้ามรูปแบบพระซุ้มกอกำแพงเพชรโดยเด็ดขาด” ซึ่งพระซุ้มกอนี้ขุดพบครั้งแรกในกรุพระธาตุนครชุม ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง กำหนดอายุราวสมัยพระญาลิไท?

พระพักตร์กลม พระวรกายอวบอ้วน พระเศียรเกลี้ยงไม่แสดงเม็ดพระศก พระเมาลีต่ำเป็นกรวยสามเหลี่ยมคล้ายกลีบบัว ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี พระศอเป็นปล้อง นั่งขัดสมาธิราบแบบลังกา เอาพระหัตถ์ทั้งสองประสานที่หน้าตักในปางสมาธิ

ทั้งหมดนี้คือพุทธลักณะของพระพิมพ์กำแพงเพชรซุ้มกอ และพระแก้วมรกต! เหมือนกันโดยบังเอิญหรือเช่นไร?

เปรียบเทียบพุทธศิลป์ของพระแก้วมรกตกับพระซุ้มกอกำแพงเพชร พบว่าคล้ายคลึงกันมาก

เราควรตั้งคำถามว่า หากกำแพงเพชรไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับพระแก้วมรกต (รวมทั้งพระพุทธสิหิงค์) แล้วไซร้

ไฉนตำนานต้องลากให้ท้าวมหาพรหมจากเชียงราย ลงมาพันพัวเอาพระแก้วมรกตจากที่นี่ไปอวดอ้างต่อชาวเชียงใหม่ด้วยเล่า ซ้ำเมื่อเอาไปแล้ว กลับกลายเป็นว่า “เสียของ” เข้าไปอีก

คือแทนที่จะให้ประชาชนเชียงใหม่-เชียงรายได้กราบไหว้ อย่างออกหน้าออกตา กลับกลัวหาย ต้องเอาไปหลบซ่อนไปพอกปูนจนตัวเองก็สิ้นพระชนม์ไปก่อนที่พระแก้วมรกตจักหวนกลับมาเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปอีกครั้ง

เงื่อนงำของตำนานหน้านี้ต้องช่วยกันถอดรหัสขบคิดวิเคราะห์กันอีกให้มาก อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเหตุการณ์จริงที่เกี่ยวกับพระแก้วมรกตทั้งหมดจักต้องเริ่มต้นที่เชียงรายเท่านั้น •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ