ฝันค้างของฝ่ายซ้าย | คำ ผกา

คำ ผกา

หลังจากมีคนเผยแพร่ภาพถ่ายของหยกกับชายหนุ่มในลักษณะคล้ายเป็น “คู่รัก” เดินออกจากสถานบันเทิงในยามค่ำคืนย่านทองหล่อ ไม่นานชั่วโมง

หยกก็โพสต์ข้อความว่ายุติบทบาทการเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองแล้ว ต่อไปนี้จะให้ความสำคัญกับ (การเรียน) กศน. และดนตรี

ประเด็นนี้ก่อให้เกิดการอภิปรายต่อเนื่องในอีกหลายประเด็นว่า หยกยังเป็นผู้เยาว์ตามกฎหมาย บุรุษผู้เป็นคู่ควงของหยกนั้นทราบหรือไม่ว่าหยกเป็นผู้เยาว์

การท่องราตรีกับผู้เยาว์ในลักษณะเช่นนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

หรือการแอบถ่ายภาพของหยกแล้วนำมาเผยแพร่ เป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่? ผิดกฎหมายหรือไม่?

ส่วนตัวฉันอยากจะเขียนถึงบทบาทของเด็กและเยาวชนกับการต่อสู้ เคลื่อนไหวทางการเมือง

 

ฉันเป็นคนหนึ่งที่ดีใจมากเมื่อเกิดม็อบเด็กชื่อ ม็อบแฮมทาโร่

ยังมีใครจำได้ไหม? ณ เวลานั้น สังคมไทยและพวกเราทุกคนแทบจะไม่มีใครออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเลย

หลังการรัฐประหารปี 2557 สังคมไทยถูกห่มคลุมด้วยบรรยากาศแห่งความกลัวอยู่หลายปีมาก

นักการเมืองถูกจับเข้าค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติ และจำนวนมากถูกไล่ล่าด้วยคดีทางการเมืองและคดีความต่างๆ นานา ถูกจับตามอง ถูกสอดแนม

นักเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกจำนวนมากถูกคุกคาม พ่อแม่ถูกข่มขู่ หลายคนโดนคดีร้ายแรง และจำนวนมากตัดสินใจลี้ภัย

ฉันคิดว่า การรัฐประหารปี 2557 เป็นการรัฐประหารที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ผู้ลี้ภัยทางการเมืองมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2519

จนผ่านไปหลายปีภายใต้ความเงียบงัน อึดอัด ฉันจำได้ว่าตอนนั้นการพูดคำว่า “รัฐบาลเผด็จการทหาร” ยังเป็นคำต้องห้าม แล้วในท่ามกลางความอึดอัด และความถดถอยของสังคมไทยในทุกๆ เรื่อง เหมือนตื่นขึ้นมาวันหนึ่งประเทศก็ล้าหลังไปกว่าเดิมยี่สิบปี หยุดพัฒนาไปอีกสิบปี

ทุกอย่างมาสุกงอมในปี 2563 และกลายเป็นเด็กมัธยม ทั้งมัธยมต้นและมัธยมปลายที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาล เริ่มจากม็อบแฮมทาโร่ มาสู่ม็อบโบสีขาว

 

และอย่างที่เรารู้กันว่าในยุคของโซเชียลมีเดีย สิ่งนี้แพร่ไปเร็วเหมือนไฟลามทุ่ม เมื่อจุดติดที่กรุงเทพฯ ก็ไปเชียงใหม่ ไปขอนแก่น และในอีกหลายๆ จังหวัด

น่าสนใจกว่านั้น เด็กที่ออกมาเคลื่อนไหว ส่วนใหญ่เป็นเด็กเรียนดี เรียนเก่ง มาจากโรงเรียนดังๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเตรียมอุดมฯ โรงเรียนสตรีวิทย์ โรงเรียนสาธิต โรงเรียนดังๆ ประจำจังหวัดต่างๆ

ชัดเจนว่าเด็กๆ เหล่านี้ได้รับความรู้ทางการเมืองผ่าน “สื่อ” ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย และ “สื่อ” ที่อยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของรัฐบาล ไม่ใช่สื่อที่เด็กๆ เหล่านี้เสพอีกต่อไป

ฉันคิดว่า voice tv ก็เป็นสื่อหนึ่งที่นำเสนอแนวคิดทางการเมืองเพื่อวางรากฐานเกี่ยวกับหลักการประชาธิปไตยสากล และนำเสนอข้อมูลที่หักล้างกับแนวคิดการเมืองไทยกระแสหลักของสังคม

เช่น การนำเสนอประวัติศาสตร์ 2475 ในแบบที่ตรงข้ามกับประวัติศาสตร์กระแสหลัก

หรือการยืนยันว่าการรัฐประหารคือการปล้นอำนาจของประชาชน ในขณะที่เรื่องเล่ากระแหลักบอกว่า การรัฐประหารคือการกอบกู้ประเทศชาติให้รอดพ้นจากการรักการเมืองคนชั่ว

เด็กและคนรุ่นใหม่อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ที่ถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กผ่านสำนักพิมพ์หัวก้าวหน้าหลายสำนักพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นฟ้าเดียวกัน หรืองานของนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่สำนักพิมพ์มติชน ศิลปวัฒนธรรม นำมาพิมพ์ในรูปเล่มที่สวยงาม น่าอ่านก็ช่วยเปิดขอบฟ้าทางความรู้ และทำให้องค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์นอกกระแสถูกเผยแพร่ไปในวงกว้าง และ “แมส” โดยมีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เป็นกลไกสำคัญในการทำให้เรื่องเล่ากระสรองของสังคมกลายเป็นความ “เท่”

เมื่อขบวนการเคลื่อนไหวของเด็กมัธยมจุดติด นักศึกษามหาวิทยาลัยก็อยู่เฉยไม่ได้ ก่อรูปมาเป็น “ธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และขยายตัวไปในหลายมหาวิทยาลัย

จากนั้น ประชาชน สื่อมวลชนก็ขยับตาม กลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวม็อบสามนิ้วที่หมายถึง เสมอภาค เสรีภาพ และภราดรภาพ

 

หลังจากนั้นคำว่า “คนรุ่นใหม่” ก็มีอีกความหมายว่า “กลุ่มคนที่จะไม่สยบยอมต่อโครงสร้างอำนาจเก่า” อีกต่อไป

คำว่า โครงสร้างอำนาจเก่าในที่นี้กินความหมายลึกซึ้งและไปไกลถึงนัยของการ “ทะลุ” โครงสร้างในมิติที่แหลมคม

ฉันเองพูดเสมอว่าขบวนการ “ล้มประยุทธ์” จะไม่สำเร็จเลยหากปราศจากความกล้าหาญและการริเริ่มของเด็กๆ

พวกเขาคือแรงบันดาลใจ และทำให้ม็อบไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา จุดติด และไม่เคยดับอีกเลย

แต่สิ่งที่ฉันคิดว่าเราในฐานะผู้ใหญ่ แม้ความกล้าหาญของเด็กจะเป็นแรงบันดาลใจ จะทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเด็กมันยอมแลกขนาดนี้ เราจะไม่สนับสนุนเด็กจนเต็มกำลังได้อย่างไร

ฉันกลับไม่เห็นด้วยกับผู้ใหญ่เหล่านี้ในหลายเรื่อง

ในบรรดาเด็กมหาวิทยาลัยหลายคนที่เป็นแกนนำม็อบ มีบางคนมาปรึกษาฉัน และถามว่าเขาควรพูดเรื่องนี้ไหม เขาจะออกแถลงการณ์เรื่องนี้ดีไหม เขาจะเล่นสนุก เสียดสีเรื่องนี้ดีไหม

“ผู้ใหญ่” นักกิจกรรมบางคนที่ฉันรู้จัก หนุนเด็กสุดตัวเพราะมัน “สะใจ” และเด็กมันกล้า

ส่วนฉันเลือกพูดในสิ่งที่เด็กอาจจะไม่อยากฟัง นั่นคือ อย่าทำมันเสี่ยง เวลาโดนคดี ติดคุก คนเชียร์ไม่ได้ติดด้วย แค่ปลดเปลื้องความรู้สึกผิดของตัวเองด้วยการบริจาคเงินเข้าศูนย์ทนายฯ

อะไรที่เฉียดหรือสุ่มเสี่ยงจะโดนคดีโดยไม่จำเป็นอย่าทำ ช่วยกันไปม็อบ ไปพูดเรื่องประชาธิปไตย จะพูดเรื่องโครงสร้างอะไรก็พูดอย่าให้เข้าตัว

อย่าแลก ไม่คุ้ม

 

เพราะฉะนั้น ในจุดยืนของฉัน ในขณะที่เราสนับสนุน และชื่นชมความกล้าหาญของเด็ก เราต้องปกป้องเด็กและไม่ “ยุ” ให้เด็กทำอะไรที่สุ่มเสี่ยง เพราะเด็กก็คือเด็ก วัยรุ่นก็คือวัยรุ่น ผู้ใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว เข้าใจความซับซ้อนของการเมือง ประวัติศาสตร์ สังคม ไม่ควรเอาความเฟียซไปเติมและหนุนส่งให้เด็กทำในสิ่งยังไม่มีความจำเป็นต้องทำ และไม่ควรต้องแลกในเวลาที่ไม่ควรแลก

ในโมงยามที่การเมืองมันไม่ได้สุกงอมขนาดนั้น และในบริบททางเวลาที่คนไม่ได้ตื่นเต้นอีกต่อไปแล้วกับเรื่อง “โครงสร้าง” ห้วงเวลาแห่งการตาสว่าง เกิดขึ้น คงอยู่ และลงหลักปักฐานไปเรียบร้อยแล้วบนเงื่อนไขที่ไลฟ์สไตล์ของผู้คนบนโลกใบนี้ไม่ได้กินข้าวเย็นพร้อมกันและเปิดโทรทัศน์ดูข่าวเหมือนกันทั้งประเทศ

เพราะฉะนั้น การตะโกนให้คนรู้เรื่องนี้ มันไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว ทุกคนรู้แล้ว เพียงแต่เขาเลือกที่จะเคลื่อนไหว, ไม่เคลื่อนไหว, พูด หรือไม่พูด หรือบางคนต้องการแค่ให้ประยุทธ์ออก เลือกตั้ง แค่นั้นก็พอแล้ว

เพราะฉะนั้น การที่มีนักเคลื่อนไหวที่เป็นคนรุ่นใหม่บางคนแรดิคัลมากๆ มุมมองส่วนตัวของฉันคือ ผู้ใหญ่ต้องช่วยห้าม

และนี่อาจเป็นจุดแตกหักของฉันกับปัญญาชนหัวก้าวหน้าของประเทศนี้

 

สําหรับฉันเราต้องห้าม ต้องเตือนสติ ต้องไม่ยุส่ง ต้องไม่วางเด็กเป็นฮีโร่เพราะกล้าพูดในเรื่องต้องห้าม

แต่ถ้าห้ามแล้ว เด็กยังต้องการเคลื่อนไหวในแนวทางนี้อยู่ เรามีหน้าที่ช่วยให้เขาปลอดภัย และแนะนำแนวทางในการสู้คดีที่จะรอด มากกว่าเพื่อยืนยัน “จุดยืน” เพียงอย่างเดียว

เรามีหน้าที่ชักแม่น้ำทั้งห้า บอกให้เขาเข้าใจว่าโลกแห่งความเป็นจริงทำงานอย่างไร

และตัวฉันบอกเช่นนั้นกับเด็กนักกิจกรรมทุกคนที่รู้จักว่า

“พี่อยากเห็นเธอได้ไปเรียนต่อ เราพูดเรื่องประชาธิปไตย พูดไปเถอะ พูดเท่าไหร่ก็ได้ แต่พวกเธอต้องไม่ตาย ไม่ติดคุก ต้องได้ไปเรียนเมืองนอก ต้องได้ทำงานและได้ทำประโยชน์ให้โลก ให้สังคมต่อไปอีกยาวๆ”

เมื่อมีเรื่องแบมกับตะวัน ฉันจึงไม่เห็นด้วยกับกระบวนการที่ฉันอยากจะเรียกว่า revolutionary porn

ผู้ใหญ่บางคนต้องการสานฝัน 6 ตุลาฯ ของตัวเอง

ผู้ใหญ่บางคนอิ่มเอมกับการได้แสดงบทผู้คงแก่เรียนผู้ยืนหยัดต่อการต่อสู้ (แต่นั่งเชียร์อยู่ในห้องแอร์ที่บ้าน)

สื่อมวลชนบางคนได้ป่าวประกาศจิตวิญญาณนักประชาธิปไตยผู้กล้าของตัวเองด้วยการส่งบทสรรเสริญเยาวชนผู้กล้าและเสียสละแต่ตัวเองกินอิ่มนอนอุ่นบนยอดเอนเกจเมนต์และชื่อเสียงในฐานะนักสู้

นักการเมืองบางคนได้อ่านบทกวีเสียงสั่นเครือพร้อมสร้างแบรนด์หัวก้าวหน้าแรดิคัล ทว่า เป็นพรรคการเมืองนักต่อสู้โรแมนติก เสียสละ กล้าหาญ

และในท่ามกลางทุกคนนี้ ฉันขอแสดงความชื่นชม สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่กล้าออกมาบอกว่า ถ้าเราหวังดีต่อเด็กจริง เราต้องกล้าพูดว่า เราไม่เห็นด้วยกับวิธีการต่อสู้เช่นนี้ เราไม่สนับสนุน และเราต้องการให้เด็กสู้คดีในแบบที่จะได้ออกจากคุก

ไม่ได้บอกว่าเด็กไม่ควรจะกล้าหาญ แต่ ณ วันที่ข้อมูลข่าวสารไม่ได้ถูกปิดบัง ผูกขาดเป็นโฆษณาชวนเชื่อด้านเดียวอีกต่อไป การพูดในสิ่งที่ใครๆ ก็รู้อยู่แล้ว ไม่มีประโยชน์

และไม่มีประโยชน์มากขึ้นไปอีก หากต้องเอาชีวิตไปแลก

 

จนมาถึงเรื่องของหยก การพ่นสีที่กำแพงวัดพระแก้ว อาจทำไปด้วยจิตใจห้าวหาญ การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมของเธอก็เป็นสิ่งที่ฉันจะ “เคารพ” ในเจตจำนงของเธอ

แต่เมื่อมาถึงจุดที่เธอได้รับการปล่อยตัว และควรจะได้เข้าเรียนหนังสือ ในฐานะที่เธอเป็น “ผู้เยาว์” ตามกฎหมาย

ฉันเสียใจที่ไม่มีผู้ใหญ่พยายามให้เธอเลือกหนทางการสู้แบบยอมถอยครึ่งก้าว เพื่อได้เดินต่ออีกสิบก้าว สามปีในโรงเรียนมัธยมปลาย

ไม่มีใครแก้ปัญหาให้หยกอย่างตรงจุดคือหยกต้องมีผู้ปกครองตามกฎหมาย การประท้วงเรื่องเครื่องแบบนักเรียนสามารถทำได้พร้อมๆ กับที่เราใส่เครื่องแบบไปโรงเรียนโดยไม่จำเป็นต้องมานั่งประท้วง ปีนรั้วเข้าโรงเรียนเพื่อเป็นคอนเทนต์ให้ “ผู้ใหญ่” เอาไปขยายผล และสังคมไทยตระหนักเรื่องการยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนแล้ว นี่ไม่ใช่ประเด็นใหม่ หยกไม่มีความจำเป็นต้องเสียสละตัวเองเพื่อ educate สังคมเรื่องนี้

ถ้าผู้ใหญ่ที่อยู่กับหยกหวังดีกับหยก ต้องกล้าบอกเขา

หยกสามารถทำงานทางความคิดได้อีกเยอะ หากเธอถอยสักนิด แต่นั่นแหละ ไม่ใช่ความผิดของหยก ผู้ใหญ่ต่างหากที่ดันหลังให้เธอไปในจุดที่ถอยไม่ได้

สุดท้ายสังคมของปัญญาชนหัวก้าวหน้าก็ยกหยกให้เป็นฮีโร่

แต่ถามว่าบนความเป็นฮีโร่นั้นหยกได้อะไร?

สิ่งที่หยกได้คือ ไม่ได้เรียนหนังสืออย่างที่ควรจะได้เรียน

และผู้ใหญ่ที่รอบๆ ตัวหยกก็ค่อยๆ หายไปจากชีวิตเธอ นักวิชาการกลับไปสอนหนังสือ ตรวจข้อสอบ สื่อไปทำข่าวเรื่องอื่นๆ นักการเมืองเข้าสภา และมีกิจธุระของตนเองและประชาชนอีกสิบสี่ล้านรออยู่

แต่หยกไม่มีใคร

แล้วเราหวังจะให้หยกเป็นอะไร ในวันหนึ่งที่หากจะมีใครสักคนเป็นความอบอุ่นในชีวิต

ดังนั้น คำว่าพรากผู้เยาว์ก็ไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป

เพราะเธอถูกพรากจากขบวนการของคนที่เรียกตัวเองว่าหัวก้าวหน้ามาตั้งแต่ต้น

 

ฉันเขียนมาทั้งหมด ไม่มีอะไรจะบอกหยก แต่อยากบอกผู้ใหญ่อย่างเราต่างหากว่า เราสนุกกับมันพอหรือยังกับ revolutionary porn ของเรา

ตอบตัวเองให้ได้ว่า หากเลือกแนวทางเปลี่ยนแปลงประเทศผ่านกลไกรัฐสภา เราควรหยุดดันหลัง หยุด idolized การต่อสู้ที่ใช้ความกล้าหาญไปอย่างเปล่าเปลือง

พรรคการเมืองต้องกล้าพูดความจริงกับพวกเขาว่า เมื่อเราเลือกสู้ในสภา สโลแกนแบบ “วางหนังสือถืออาวุธ” มันก็แค่ถ้อยคำปลุกใจที่ใช้ไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง

และอย่างที่ฉันพูดมาโดยตลอดว่า ฝ่ายขวาเขาปรับตัวปรับกลยุทธ์แล้ว ฝ่ายซ้ายจะเลิกล่าฝันโครงการปฏิวัติที่ล้มเหลวของตัวเองเมื่อไหร่

บอกความจริงกับเด็กว่าเรายังสู้เพื่อประชาธิปไตย

แต่ขอให้ทุกคนสู้โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของตัวเองด้วย