ขอ ‘รอมฎอนสันติสุข’ แม้สันติภาพยังยาวไกล

บทความพิเศษ | อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิผล

ในการเจรจาสันติภาพและข้อเสนอทางออกทางการเมืองในจังหวัดชายแดนใต้

 

ขอ ‘รอมฎอนสันติสุข’

แม้สันติภาพยังยาวไกล

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

หลังนายอรุณ บุญชม ผู้นำมุสลิมที่มีชื่อเรียกเป็นทางว่า จุฬาราชมนตรี ได้ประกาศว่า วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ตรงกับ วันอังคารที่ 12 มีนาคม 2567 จึงขอให้เดือนรอมฎอนซึ่งพี่น้องมุสลิมปฏิบัติศาสนกิจทั้งเดือนมีความสุข สันติสุข ถึงแม้ว่ากระบวนการสันติภาพยังยาวไกล

ที่สำคัญไม่มีข้อตกลงในคณะพูดคุยครั้งล่าสุด ในประเด็นหยุดยิงรอมฎอน เหมือนปีที่ผ่านมา

ในขณะที่ กมธ.สันติภาพลงพื้นที่ชายแดนภาคใต้ สะท้อนการแก้ปัญหา ควรครอบคลุม “แก้รากเหง้า พัฒนาที่ยั่งยืน” ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

ปีนีไม่มีข้อตกลง “รอมฎอนสันติสุข”

รัฐบาลไทยและแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น) ปี 2567 ไม่ได้บรรลุข้อตกลงลดปฏิบัติการทางทหารในช่วงเดือนถือศีลอดหรือที่ทางการไทยเรียกว่า “รอมฎอนสันติสุข” เป็นปีที่สองติดต่อกัน

ซึ่งก่อนหน้านี้ ปี 2565 และปี 2556 นั้นมีข้อตกลงนี้ “รอมฎอนสันติสุข”

อย่างไรก็แล้วแต่ ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเดินหน้า (ฝ่ายเดียว) “รอมฎอนสันติสุข” ระหว่างช่วงเทศกาลถือศีลอดปีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2567 คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝ่ายไทย ได้หารือกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ประเทศมาเลเซีย และระบุว่า ฝ่ายไทยจะทดลองปลดประกาศจับผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ลดการปิดล้อม และตั้งด่านตรวจ ช่วงเดือนรอมฎอน และสงกรานต์

โดยหากแนวทางนี้ประสบความสำเร็จ อาจมีการขยายการดำเนินการในอนาคต

สำหรับแผนการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace – JCPP) ซึ่งคณะพูดคุยสันติสุขฯ ฝ่ายไทยใช้เป็นแนวทางในการพูดคุยมาตั้งแต่ปี 2566 มีแนวทางหลัก 3 ข้อ คือ

1. การลดความรุนแรงในพื้นที่ และลดการเผชิญหน้า

2. การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน

และ 3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งฝ่ายไทยคาดหมายว่า บีอาร์เอ็นจะร่วมลงนามรับรอง JCPP ภายในปีนี้ และสามารถนำไปสู่ข้อตกลงสันติสุขร่วมกันในอนาคต

พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า “การสร้างบรรยากาศที่ดีก่อนที่จะเข้าสู่ห้วงเดือนรอมฎอน ถือเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่ทางคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ยื่นให้กับคณะพูดคุยของบีอาร์เอ็นที่ผ่านมา จะดำเนินการไปจนถึงเสร็จสิ้นเทศกาลสงกรานต์เพื่อต้องการให้พี่น้องประชาชนทุกศาสนิก สามารถปฏิบัติภารกิจตามความคิดความเชื่ออัตลักษณ์ของทุกคนในทุกเทศกาลได้อย่างเต็มที่”

ก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม กรมราชทัณฑ์ได้ย้ายผู้ต้องขังคดีความมั่นคง จังหวัดชายแดนภาคใต้ 34 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวที่เรือนจำกลางบางขวาง ไปควบคุมตัวในเรือนจำตามภูมิลำเนา คือย้ายไปยังเรือนจำยะลา 3 ราย ปัตตานี 4 ราย นราธิวาส 7 ราย และสงขลา 20 ราย

นับเป็นของขวัญก่อนเดือนรอมฎอน

 

สันติภาพ ควรครอบคลุม

“แก้รากเหง้า พัฒนาที่ยั่งยืนไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

เมื่อวันที่ 8-10 มีนาคม 2567 คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฏร (รวมทั้งผู้เขียน) นำโดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมคณะลงพื้นที่ชายแดนใต้เพื่อรับฟังความคิดเห็น เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากทุกภาคส่วน

โดยท่านจาตุรนต์ ฉายแสง ให้ทัศนะว่า

“การสร้างสันติภาพไม่ควรหมายถึงเฉพาะแค่กระบวนการพูดคุย แต่ควรจะมีความหมายกว้างกว่านั้น กล่าวคือ แม้ว่าเจรจาได้สำเร็จแล้ว แต่เราก็ยังต้องถามหาสันติภาพในความหมายที่ประชาชนได้ประโยชน์ ความขัดแย้งลดน้อยลง และมากกว่านั้น ในความเห็นผมสันติภาพก็คือต้องให้ประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่อย่างเท่าเทียมกัน แล้วยังจะต้องรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศทั้งประเทศร่วมกับประชาชนทุกจังหวัดในประเทศไทยดังนั้นการรับฟังความเห็นจากประชาชนทุกฝ่าย ผู้สนใจ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ได้รับผลกระทบ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้เมื่อการเจรจาจบไป แต่พื้นที่ยังจะเกิดเงื่อนไขความขัดแย้งหรือมีปัญหาอยู่ และทำให้พอมีความขัดแย้งใหม่ก็ต้องมาพูดคุยกันอีกในอนาคต”

“ประเด็นที่คณะกรรมาธิการศึกษาอยู่และอยากได้รับฟังความเห็นจากประชาชนคือ ท่านคิดเห็นอย่างไรกับการพูดคุยสันติภาพ มีความรับรู้แค่ไหน เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดสันติภาพขึ้นจริงหรือไม่ มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร และอยากให้ประชาชน ทุกๆ ฝ่ายมีส่วนร่วมแค่ไหน”

“ประเด็นที่กว้างกว่านั้นก็คือ สังคมแก้ปัญหาสำคัญเหล่านี้ไปแล้วอย่างไร เช่น การเคารพอัตลักษณ์ยังต้องการอะไร ยังมีปัญหาอย่างไร, การเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความเข้าใจตรงกันเป็นอย่างไร, ความยุติธรรมความเท่าเทียมยังมีอยู่หรือไม่, ความปลอดภัยสำหรับทุกฝ่ายเกิดขึ้นได้หรือไม่, การพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะประชาชนคนยากคนจนประชาชนรากหญ้าหรือไม่ และการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนได้จริงหรือไม่ เป็นต้น”

“ถ้าเราอยากสร้างสันติภาพสันติสุขที่ยั่งยืน เราต้องหาคำตอบในการแก้ปัญหาสำคัญๆ ที่เป็นต้นเหตุเป็นรากรากเหง้าของความขัดแย้งให้หมดไป นี่คือโจทย์ใหญ่ของคณะกรรมาธิการที่ต้องศึกษาและทำเป็นข้อเสนอ ก็หวังว่าจะได้รับฟังความเห็นของท่านทั้งหลายอย่างเต็มที่”

“การรับฟังความเห็นครั้งนี้ดำเนินการโดยคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นทางการ เป็นการมารับฟังโดยเป็นเวทีเปิด ที่มีการเผยแพร่ไปทางสื่อออนไลน์ ขยายไปสู่ทั่วประเทศ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่คณะกรรมาธิการเห็นว่าการจะสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากจะให้ประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้มีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่แล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับรู้ว่าเรากำลังทำอะไรกัน”

“เรากำลังศึกษาอะไรกัน จังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาอะไร มีศักยภาพมีอนาคตมีความหวังอย่างไร และประชาชนทั่วประเทศเริ่มจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสภา และสังคมที่กว้างออกไปนั้นจะได้มีส่วนร่วมมีความเข้าใจและช่วยกันผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาต่อไป”

 

ดังนั้น รายงาน กมธ.สันติภาพ ควรครอบคลุม “แก้รากเหง้า พัฒนาที่ยั่งยืนไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยเฉพาะเยาวชน คนรุ่นใหม่ที่พวกเขาจะใช้ชีวิตใน 10-20 ปีข้างหน้าซึ่งน่าจะมีสองส่วนหลักๆ คือ

– การปรับปรุงแนวทางการแก้ปัญหาของภาครัฐ

– ประเด็นรากเหง้าความขัดแย้ง

สำหรับประเด็นที่ควรพิจารณาศึกษาและโจทย์หลักในแต่ละประเด็น

1. ศึกษาลำดับเหตุการณ์ (Timeline) พลวัตของปัญหาความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีที่ผ่านมา เพื่อให้เห็นเรื่องสำคัญที่ต้องทาในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน

2. ศึกษาความเข้าใจร่วมในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐต่อเรื่องการยกระดับความขัดแย้ง การแยกดินแดน และสิทธิในการกาหนดชะตากรรมตนเองที่เอื้อต่อการสร้างสันติภาพ

3. ศึกษานโยบาย กลไกโครงสร้าง และกฎหมายของรัฐที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเพื่อให้การทำงานตอบโจทย์สภาพปัญหาและสามารถขับเคลื่อนให้เกิดสันติภาพได้จริง

4. ศึกษาพัฒนาการและข้อจากัดที่ผ่านมาของกลไกและกระบวนการเจรจาสันติภาพเพื่อเสนอแนะให้การเจรจามีประสิทธิภาพ เชื่อมโยง และส่งผลต่อการแก้ปัญหาได้จริง โดยเฉพาะศึกษา Peace Spoilers (กลุ่มที่บั่นทอนงานสันติภาพทั้งกลุ่มที่มีอาวุธและไม่มีอาวุธ) ว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้างที่จะเกิดและจะมีแนวทางป้องกันอย่างไร? นอกจากนี้ จังหวะก้าวในการเดินงานและสื่อสารต่อสาธารณะของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการเจรจาสันติภาพ ที่กำลังควรต้องคำนึงถึงปัจจัยใดบ้างเพื่อให้เกิดการยอมรับจากทุกฝ่าย?

5. ศึกษากลไกและกระบวนการที่สามารถสร้างบทสนทนาพูดคุย (dialogue) สื่อสารและรับฟังความเห็นที่ครอบคลุมทุกฝ่าย (inclusive) ด้วยบรรยากาศที่ปลอดภัย (safe) ที่สำคัญจะสื่อสารกับคนในพื้นที่อื่นๆ อย่างไรให้เข้าใจและ/หรือไม่คัดค้านความพยายามในการสร้างสันติภาพในพื้นที่?

6. บทบาทของสภาผู้แทนราษฎรในการประเมินติดตามและกากับดูแลกระบวนการสร้างสันติภาพ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรจะมีกลไกในการประเมินติดตามและกำกับดูแลกระบวนการสร้างสันติภาพ

(Parliamentary Oversight) อย่างไร? จะเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนสามารถตั้งประเด็นปัญหาต่างๆ มาหารือให้ได้ข้อสรุปร่วม?

7. วิธีที่จะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมจากรัฐเพื่อให้สังคมกลับสู่ภาวะปกติและเดินหน้าต่อไปได้ซึ่งต้องยอมรับว่ามีเหตุการณ์หรือคดีสำคัญหลายคดีโดยเฉพาะโศกนาฏกรรมตากใบที่จะหมดอายุความ เอกสารกลับหาย ซึ่งทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม?

และควรดำเนินการให้เกิดความชัดเจนอย่างไร?

จะมีมาตรการอย่างไรในการปฏิบัติกับบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซึ่งมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง รวมถึงผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้จากการใช้อาวุธมาสู่วิถีทางการเมือง? (ซึ่งอาจครอบคลุมถึงมาตรการดาเนินการให้สังคมกลับคืนสู่ภาวะปกติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวางอาวุธ (Disarmament) การปรับเปลี่ยนหรือแปลงสภาพกองกาลัง (Demobilization) และการนาผู้ที่เคยต่อสู้กับรัฐกลับคืนสู่สังคม (Reintegration))

ที่สำคัญสุดคือจะมีมาตรการสร้างความยุติธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อย่างไรให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้ (ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน – Transitional Justice)?

8. ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลส่วนกลางกับประชาชนในพื้นที่ในทางการเมืองการปกครอง ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของพื้นที่ การศึกษา ภาษา ศาสนา วิถีชีวิตวัฒนธรรม การจัดสรรทรัพยากรและอื่นๆ