กระตุ้นจีนด้วยก้าวกระโดดครั้งใหม่?

บทความพิเศษ | พาราตีรีตีส

 

กระตุ้นจีนด้วยก้าวกระโดดครั้งใหม่?

 

การประชุมสภาประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามัญประจำปี 2567 ที่มีมาตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยมาพร้อมกับการประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศชุดใหญ่เพื่อหวังฟื้นประเทศจากภาวะเสี่ยงที่ใกล้เข้ามาจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนในต่างแดนภายใต้ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่เริ่มต้องกลับมาทบทวนถึงความคุ้มค่า

แผนกระตุ้นและเป้าหมายการเติบโตปีนี้จะทำให้จีนฟื้นตัวกลับมาได้หรือไม่ ยังคงเป็นคำถามที่ต้องเฝ้าจับตา

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานบรรยากาศในการประชุมสภาประชาชนที่เริ่มวันแรก ด้วยการประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจโดย หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของจีนปีนี้อยู่ที่ 5% และจีนจะมุ่งเพิ่มสัดส่วนงบประมาณในด้านเทคโนโลยี การทหาร และการสนับสนุนทางเศรษฐกิจอีกหลายอย่าง

และยังประกาศการออกพันธบัตรระยะยาวในช่วงหลายปีข้างหน้าโดยเริ่มต้นที่ 1 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 139 พันล้านดอลลาร์) ในปีนี้ เงินจำนวนนี้จะถูกนำไปใช้ในการดำเนิน “ยุทธศาสตร์ระดับชาติที่สำคัญ” และเสริมสร้างความมั่นคง “ในพื้นที่สำคัญ”

นายหลี่กล่าวว่า รัฐบาลจะดำเนินนโยบายการคลังเชิงรุกและนโยบายการเงินที่รอบคอบต่อไป โดยไม่เสนอแนะว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในแนวทางของผู้นำต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ในการเสริมสร้างการพึ่งพาตนเองและอำนาจในเทคโนโลยีขั้นสูงของจีนที่ตอนนี้ขัดแย้งกับสหรัฐในสงครามชิพอยู่

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในปีนี้ ดูไม่ง่ายสำหรับรัฐบาลจีน แม้แต่นายหลี่ยังยอมรับกลายๆ ว่า เป็นเป้าหมายที่ท้าทายท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก

แต่กระนั้นนายหลี่ยังย้ำกับที่ประชุมว่า แนวโน้มพื้นฐานของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเติบโตในระยะยาวยังคงไม่เปลี่ยนแปลงและจะไม่เปลี่ยนแปลง

ดังนั้น เราจึงต้องมีความมั่นใจและมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

 

ศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์และการต่างประเทศ หรือซีเอสไอเอส ประเมินว่า เป้าหมายปีนี้มีความน่าฉงนอยู่ เพราะตอนปี 2566 จีดีพีจีนโตอยู่ที่ 5.2 ท่ามกลางข้อกังขาของนักวิเคราะห์ อีกทั้งยังตั้งเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคไว้ที่ 3% และระดับการว่างงานที่ 5.5% ซึ่งเป็นการเดิมพันที่สูง

แต่จีนยังมีความท้าทายและความเสี่ยง ทั้งภาวะเงินฝืดที่เพิ่มขึ้น การว่างงานของเยาวชนที่ยังไม่ทราบตัวเลขที่แท้จริง และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ต่ำ

นอกจากนั้น เป้าจีดีพีจีนที่ตั้งไว้ที่ 5% อาจไม่ถึง เพราะกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ประเมินว่า จีดีพีจีนในปี 2567 อยู่ที่ 4.6% และพอไปถึงปี 2571 จีดีพีลดลงไปเหลืออยู่ที่ 3.5% ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วที่ตัวเลขจีดีพีจะไม่ไปถึง 5%

อีกทั้งการตั้งแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เรียกว่า “การก้าวกระโดดครั้งใหม่” นี้ ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์และการแข่งขันในสงครามชิพมีผลอย่างมาก

ซู เทียนเฉิน นักเศรษฐกิจของ Economist Intelligence Unit หรือ EIU ในกรุงปักกิ่ง กล่าวกับรอยเตอร์สว่า การปลุกความเชื่อมั่นและการจัดลำดับความสำคัญของ ‘กำลังผลิตใหม่’ ในวาระการประชุมสะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลของผู้นำเกี่ยวกับจีนที่อาจตามหลังสหรัฐ ในด้านเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น ชิพขั้นสูงและปัญญาประดิษฐ์

แม้เป็นเป้าหมายที่นักวิเคราะห์มองว่าถูกต้อง แต่คำถามคือ จะทำอย่างไรเพื่อไปให้ถึง?

 

แผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศปีนี้ เกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่รุมล้อมรัฐบาลจีนทั้งปัญหาภายในและปัญหานอกประเทศ ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ก็รวมอยู่ในแผนดังกล่าวด้วย และปีนี้ยังคงให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับรัฐบาลหลายชาติที่มีสัมพันธ์อันดีกับจีนก็ยังคงขอร่วมเกาะเกี่ยวต่อไป ตัวอย่างหนึ่งคือ โครงการแลนด์บริดจ์ของไทย

Nikkei Asia Review ได้เปิดเผยรายงานศึกษาของมหาวิทยาลัยกริฟฟิธในบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย และมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นในเซี่ยงไฮ้ของจีน ชี้ว่าในปี 2023 จีนกลับมาลงทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มูลค่ารวมเกือบ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 37%

โดยจำนวนนี้เป็นสัญญาก่อสร้างประมาณ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นประมาณ 14% จากปี 2022 ชนิดสวนทางกับยอดการลงทุนโดยตรงรวมทั่วโลกในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่โซนเอเชียที่ปีที่แล้วลดลงไป 12% และการลงทุนส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

โดยแนวโน้มที่น่าสนใจคือ การให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านพลังงานและเหมืองแร่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และชาติที่จีนเข้าไปลงทุนมากที่สุดคืออินโดนีเซีย โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมรถอีวี

 

ส่วนชาติที่จีนลงทุนน้อยสุดคือ ฟิลิปปินส์ และปากีสถาน

ที่ปากีสถานมีแนวโน้มการลงทุนลดลงอย่างมาก ปัจจัยหนึ่งคือแรงต่อต้านที่เพิ่มขึ้นถึงขั้นก่อเหตุโจมตี โดยเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีรายงานการโจมตีต่อเนื่องหลายครั้งกับชาวจีนในปากีสถานโดยเฉพาะพื้นที่ท่าเรือกวาดาร์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษจีน-ปากีสถานและเชื่อมกับหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง มีการโจมตีอย่างหนักจากกลุ่มติดอาวุธหลายครั้ง และประชากรท้องถิ่นแสดงความคับข้องใจกับการโดนไล่ที่หรือวิถีชีวิตได้รับผลกระทบ

ชาวบ้านระบุว่า หลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่จีนได้รับสัญญาเช่าท่าเรือกวาดาร์ กลับไม่มีการจ้างงานใดๆ เกิดขึ้น และการมีอยู่ของคนจีนกำลังบ่อนทำลายวิถีชีวิตของพวกเขาและสร้างปัญหาการขาดแคลนอาหารในท้องถิ่น เพราะทางการอนุญาตให้เรือประมงของจีนไปทำประมงอย่างผิดกฎหมาย

แม้การโจมตียังคงมีอยู่ แต่ทางการจีนก็ไม่ได้ตำหนิหรือวิจารณ์รัฐบาลปากีสถานต่อความล้มเหลวในการปกป้องชาวจีน เนื่องจากต้องรักษามิตรภาพกับปากีสถานเพื่อคานอำนาจกับประเทศคู่แข่งอย่างอินเดียไว้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามเส้นทางหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไม่ว่าในปากีสถาน พม่า หรือทะเลจีนใต้ที่กำลังกระทบกระทั่งกับฟิลิปปินส์อยู่ในขณะนี้ ยังไม่ใช่สิ่งที่หลายคนวิตก

สิ่งที่ทั่วโลกวิตกมากที่สุด คือไม่รู้ว่า ระเบิดเวลาลูกใหญ่ภายในจีน จะนับถึงศูนย์ตอนไหน?