จีนขาลง : ไมเคิล เบกลีย์ vs. เคยู จิน

เกษียร เตชะพีระ

เมื่อเดือนกรกฎาคม ศกก่อน นิตยสาร Foreign Policy อันเป็นสื่อชั้นนำระดับโลกด้านกิจการระหว่างประเทศ ได้จัดวิวาทะขึ้นทาง YouTube ในประเด็น “Has China Peaked?” หรือ “จีนขึ้นถึงจุดสุดยอดแล้วหรือ?” (https://www.youtube.com/watch?v=LW-yf491tHs) ระหว่าง :

ไมเคิล เบกลีย์ รองศาสตราจารย์รัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Tufts และภาคีสมาชิกอาวุโสแห่งสถาบันคลังสมองขวากลาง American Enterprsie Institute สหรัฐอเมริกา ผู้เป็นเจ้าตำรับแนวคิด Peak China ในหนังสือที่เขาร่วมเขียนเรื่อง Danger Zone : The Coming Conflict with China (2022) ซึ่งมีข้อเสนอสรุปรวบยอดได้ว่า :

[จีนสุดยอด-จีนขาลง-จีนอันตราย] หรือนัยหนึ่ง

บัดนี้มหาอำนาจจีนได้เพิ่มขยายอำนาจทางเศรษฐกิจและอื่นๆ ถึงจุดสุดยอดแล้วและกำลังทำท่าชะลอตัวลง จึงไม่แน่ว่าจีนจะแซงหน้ามหาอำนาจอเมริกาได้ในอนาคตอันใกล้ดังที่เคยคาดหมายกัน

ทว่า เพราะเหตุนั้นเองในจังหวะที่จีนกำลังจะเริ่มขาลงปัจจุบันจึงเป็นอันตรายยิ่ง เพราะมันเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสที่แง้มเปิดออกแคบๆ ในช่วงสั้นๆ ซึ่งจีนอาจฉกฉวยรุกก้าวร้าวเข้าใส่สหรัฐอเมริกาเพื่อช่วงชิงขึ้นครอบโลกแทนได้ ก่อนที่จีนจะเข้าสู่ช่วงขาลงเต็มที่และหน้าต่างแห่งโอกาสนั้นจะงับปิดไปไม่หวนคืน กับ

– เคยู จิน (金刻羽) รองศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์หญิงชาวจีนชื่อดังแห่ง London School of Economics ประเทศอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคระหว่างประเทศและเศรษฐกิจจีน เธอได้รับยกย่องโดย World Economic Forum ให้เป็นผู้นำโลกรุ่นเยาว์คนหนึ่งและเพิ่งเขียนหนังสือ The New China Playbook : Beyond Socialism and Capitalism (2023) ออกมาล่าสุด

Michael Beckley & Keyu Jin; เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง : GDP เปลี่ยนไปคิดเป็น %/ปี ข้อมูลจาก IMF/สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน

มาลองสดับตรับฟังข้อถกเถียงของสองฝ่ายกันโดยสังเขปนะครับ เริ่มจาก ไมเคิล เบกลีย์ :

ในทัศนะของเบกลีย์ ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนเหมือนลูกโป่งที่ลอยลอดแถวมหาอำนาจต่างๆ สูงขึ้นไปอย่างรวดเร็ว จนผู้คนมากหลายคิดว่าจีนจะพุ่งแซงสหรัฐอเมริกาไปได้ในไม่ช้านาน

ทว่า ด้วยเหตุผลและข้อมูลต่างๆ ระยะหลังนี้ การผงาดขึ้นของจีนเริ่มชะงักงัน มันคงไม่ถึงกับดิ่งลงพื้น ลูกโป่งจีนคงไม่ถึงกับแตกเปรี้ยง แต่เห็นได้ชัดว่ามันกำลังดิ้นรนหนักมากที่จะประคองตัวขึ้นและไต่ระดับต่อ

ทั้งนี้ก็เพราะบรรดากระแสลมหนุนหลัง (tailwinds) ซึ่งได้ช่วยยกจีนให้สูงขึ้นในรอบสามสี่ทศวรรษที่ผ่านมา มีบ้างเริ่มกลับลำกลายเป็นกระแสลมสวนทวน (headwinds) ไปเสียฉิบ ทำให้มันลากถ่วงเศรษฐกิจจีนให้ชะลอช้าลง ผลิตภาพเริ่มเสื่อมถอย

นั่นหมายความว่าบริษัทจีนทั้งหลายต้องใช้จ่ายลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับผลิตสินค้าออกมาได้เป็นสัดส่วนน้อยลงๆ

อย่างเช่น กองหนี้สินโป่งพองขึ้นในจีนเป็นภูเขาเลากาถึงราว 3 เท่าของขนาดเศรษฐกิจจีนและยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ปัญหาหนี้สาธารณะของอเมริกาดูดีขึ้นโดยเปรียบเทียบคือแค่ 1.2 เท่าของ GDP อเมริกัน

นอกจากนี้ ประชากรจีนก็กำลังชราภาพและหดตัวลง ทุกๆ ปีมีพลเมืองจีนอาวุโสเพิ่มขึ้นนับล้าน ขณะเดียวกันก็มีผู้ใหญ่จีนวัยทำงานลดลงหลายล้าน แต่กระนั้นจีนก็ยังเจอปัญหาเยาวชนว่างงานเข้าอีก ซึ่งตอนนี้ตกราว 20% ของคนหนุ่มสาวทั้งหมด กลายเป็นว่าจีนซวยสองต่อคือทั้งมีคนงานน้อยลงและตำแหน่งงานน้อยลงพร้อมกันด้วย

เงินลงทุนโดยตรงของต่างชาติในจีนต่อไตรมาสลดลง หน่วยพันล้าน US$ & อัตราส่วนหนี้นอกภาคการเงินของจีนพุ่งสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละของ GDP https://www.youtube.com/watch?v=PnSKj_zBKc0

เบกลีย์เห็นว่าสภาพข้างต้นสะท้อนการขาดอุปสงค์และขาดพลวัตในบางภาคส่วนของเศรษฐกิจจีน ทว่า มิหนำซ้ำจีนยังเผชิญกับกระแสลมสวนทวนทางภูมิรัฐศาสตร์เข้าอีก ค่าที่กระแสความรู้สึกต่อต้านจีนได้กระเพื่อมสูงขึ้นในไม่กี่ปีหลังนี้

สหรัฐอเมริกากับมิตรประเทศกำลังสร้างเสริมแสนยานุภาพและก่อตัวเป็นพันธมิตรต้านจีนขึ้นมา โดยยัดเยียดขัอจำกัดทางเศรษฐกิจ การค้า เทคโนโลยีต่อจีน ขณะเดียวกันรัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของจีนก็กำลังทรุดซวนเซลงภายในเนื่องจากผลกระทบของสงครามภายนอกกับยูเครน

ส่วนหนี้สินที่จีนแบ่งปล่อยให้หลายประเทศในซีกโลกใต้กู้ยืมไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมตามโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจนจีนกลายเป็นประเทศเจ้าหนี้อันดับหนึ่งของโลกที่ 1.1-1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น ก็เริ่มถึงกำหนดชำระและจำนวนมากราว 80% ก็ไม่ได้จ่ายกลับคืนมา

ท่ามกลางสภาพการณ์ที่ดูไม่ค่อยดีนักนี้ ปรากฏว่าทางการรัฐ-พรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งจัดการปัญหาโควิด-19 ระบาดได้ดีในตอนแรก แต่กลับลากยาวและปิดเมืองเข้มงวดเกินเหตุโดยไม่ยอมรับวัคซีนต่างชาติและฉีดวัคซีนไม่ทั่วถึงในชั้นหลัง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการค้าการลงทุนและชีวิตผู้คนในเมืองสำคัญต่างๆ จนเกิดเหตุประท้วงลุกลามและพอเปิดเมืองกะทันหัน ผู้คนก็ติดเชื้อล้มตายมากพอควร

หลังโควิดซา เศรษฐกิจจีนผงกหัวขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ได้กระเตื้องกลับมาเฟื่องฟูดังคาดหวัง ประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรค สี จิ้นผิง ก็เริ่มบอกกล่าวกับคนหนุ่มสาวให้หัดอดทนขมกลืน เบกลีย์จึงไม่ศรัทธาเท่าไหร่ว่ารัฐ-พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีแผนการใหญ่โตอะไรจะมารับมือกระแสลมสวนทวนเหล่านี้เพื่อจุดประกายติดเครื่องจีนให้ผงาดกลับขึ้นมาอีก

ข้อที่เขาวิตกคือเมื่อดูจากแบบแผนพฤติการณ์ของมหาอำนาจในอดีตแล้ว ผู้นำจีนอาจตัดสินใจดำเนินมาตรการสุ่มเสี่ยงอันตรายเพื่อปรับระเบียบอำนาจโลกใหม่ให้ทันก่อนที่จีนจะพลาดโอกาสและเข้าสู่ช่วงขาลงเต็มตัว

 

สําหรับข้อเห็นแย้งของ เคยู จิน อาจสรุปได้ว่ามุ่งเน้นไปที่พื้นที่ศักยภาพการพัฒนาที่จีนยังมีอยู่และแนวโน้มความเป็นไปได้ที่จีนจะพัฒนาต่อจนเข้าบรรจบกับมหาอำนาจตะวันตกในอนาคต (potential & convergence)

เธอแนะว่าก่อนอื่นควรปรับมุมมองให้เห็นน้ำหนักความสำคัญของจีนในภาพรวมก่อนว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนนั้นสมทบส่วนแก่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกถึง 35% ในปี 2023

ปัญหาถัดมาคือคำว่า “จุดสุดยอด” (peak) หมายถึงอะไรกันแน่? ในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ไม่มีประเทศใดจะเติบโตทางเศรษฐกิจได้รวดเร็วเท่ากับตอนที่เริ่มต้นพัฒนาจากสมัยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาได้ มันจึงเลี่ยงไม่ได้อยู่เองที่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงพร้อมกับเวลาที่ล่วงเลยไปและประเทศนั้นค่อยมั่งคั่งขึ้น ซึ่งก็คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับจีน และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ปีละ 4-5% นั้นพูดไม่ได้ว่าเลวร้ายในโลกทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหลักจริงๆ ในข้อถกเถียงของอาจารย์จินอยู่ตรงศักยภาพทางเศรษฐกิจและข้อคิดพื้นฐานเรื่องการพัฒนามาบรรจบกันทางเศรษฐกิจภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอน (economic potential & conditional convergence) ต่างหาก

 

GDP ของจีนตอนนี้อยู่ราว 16% ของระดับสหรัฐอเมริกา มีประชากรจีนราว 600 ล้านหรือกว่านั้นที่ยังชีพอยู่ด้วยรายได้เดือนละ 2,000 เหรินหมินปี้ (ราว 300 US$ หรือ 1 หมื่นบาท)

ลองคิดดูว่าเศรษฐกิจจีนยังจะเติบโตไปได้อีกไกลมหาศาลเพียงไหนหากผู้คนเหล่านี้ยกระดับฐานะไปสู่รายได้ปานกลางตามมาตรฐานสากล

แรงงานจีนราว 25% ยังผูกติดอยู่กับภาคเกษตรกรรม ขณะที่มีแรงงานจีนในภาคอุตสาหกรรมราว 30% นั่นแปลว่ายังมีศักยภาพเหลือในการเพิ่มผลิตภาพเศรษฐกิจจีนจากการพัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยีเกษตรกรรมและขยับย้ายแรงงานส่วนเกินจากภาคเกษตรกรรมมาสู่ภาคอุตสาหกรรมอีกมาก

และต่อให้เราเชื่อข้อถกเถียงที่ว่าจีนได้สูบเอาทุนทางกายภาพและกำลังแรงงานของตัวไปใช้จนหมดสิ้นแล้ว ก็ยังมีโอกาสใหญ่เหลืออยู่นั่นคือการเพิ่มผลิตภาพโดยผ่านการสะสมทุนมนุษย์ (human capital accumulation อนึ่ง ทุนมนุษย์ หมายถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจของประสบการณ์และทักษะของบุคคล ซึ่งมีที่มาจากการศึกษา การฝึกอบรม สติปัญญา สุขภาพ และคุณสมบัติด้านบุคลิกภาพอื่นๆ เช่น ภักดีต่อองค์กร ตรงต่อเวลา ปรับตัวเก่ง)

ระดับทุนมนุษย์ของจีนเป็นแค่หนึ่งในสามของมาตรฐานทุนมนุษย์ของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น และหากวัดด้วยผู้จบการศึกษาชั้นสูงว่ามีสัดส่วนเท่าไหร่ในประชากรโดยรวม ตัวเลขของจีนก็จะคิดเป็นแค่ 12% ของอเมริกาเท่านั้นเอง

 

นอกจากนี้ ปรากฏการณ์การพัฒนามาบรรจบกัน (convergence) มีให้เห็นในหลายประเทศพร้อมกับเวลาที่ล่วงเลยไป โดยเฉพาะเมื่อประเทศเหล่านี้บรรลุเงื่อนไขบางอย่าง เช่น มีอัตราเงินออมสูง มีโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพมหึมา แรงงานมีทักษะสูงและมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลดี เป็นต้น

ตอนนี้จีนเองวางแผนจะลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลไว้ถึง 16 ล้านล้าน US$ เพื่อให้ภาคบริการเพิ่มจาก 50% ของ GDP ปัจจุบันไปเป็น 80% ซึ่งจะมีมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้าน US$ ที่กล่าวมานี้ยังไม่นับการลงทุนพลังงานหมุนเวียนอีก 35 ล้านล้าน US$ ในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า

จากนี้จะเห็นได้ว่า การบอกว่าจีนบรรลุถึงศักยภาพสูงสุดทางเศรษฐกิจของตัวแล้วและอาจเริ่มอยู่ในช่วงขาลง ออกจะด่วนสรุปเกินไป เอาเข้าจริงจีนยังมีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกมากอักโขทีเดียว

(อ่านตอนต่อสัปดาห์หน้า)