ทำความเข้าใจ เรื่องยูไดโมเนียและ Virtue Ethics ของอริสโตเติล

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

www.facebook.com/bintokrit

 

ทำความเข้าใจ

เรื่องยูไดโมเนียและ Virtue Ethics

ของอริสโตเติล

 

เชื่อว่าหลายคนที่เคยเรียนวิชาจริยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยคงได้ยินคำว่า “Virtue Ethics” ของนักปรัชญากรีกคนสำคัญคือ “อริสโตเติล” (Aristotle) มาบ้างไม่มากก็น้อย

ในภาษาไทยจะใช้คำว่า “จริยศาสตร์คุณธรรม” แทนคำว่า Virtue Ethics ซึ่งมาจากการแปลตามตัวคือ Virtue แปลว่าคุณธรรม ส่วน Ethics แปลว่าจริยศาสตร์

แต่ทั้งคำว่า “จริยศาสตร์” และ “คุณธรรม” ในโลกภาษาไทยดูจะมีความหมายที่ต่างไปจากที่อริสโตเติลใช้อยู่พอสมควร

การกล่าวถึงจริยศาสตร์คุณธรรมเลยสร้างความไขว้เขวหรือไม่ก็ทำให้เข้าใจไปตามความหมายที่เคยชินในชีวิตประจำวันของคนไทยเสียมากกว่า

ดังนั้น เพื่อไม่ให้ไปติดกับความหมายที่คุ้นเคยกัน บทความนี้จึงจะใช้คำว่า Virtue Ethics ทับศัพท์ไปเลย

 

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจนิยามเบื้องต้นเสียก่อนว่าแนวคิดนี้คืออะไร

ซึ่งหากจะพูดแบบกว้างๆ Virtue Ethics หมายถึงแนวทางจริยศาสตร์ที่เน้นการฝึกฝนขัดเกลา “คุณลักษณะ” (Character) ของมนุษย์ให้มีระดับทางคุณธรรมและจริยธรรมที่สูงขึ้น

ภายใต้ฐานคิดที่ว่าคุณธรรมความดีเป็นคุณสมบัติที่อยู่ในตัวของมนุษย์แต่ละคนซึ่งสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้

ยิ่งมีประสบการณ์มากเท่าไหร่ก็ยิ่งโอกาสที่จะเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้มากเท่านั้น

เหมือนนักบินที่มีชั่วโมงบินมากย่อมมีทักษะความชำนาญด้านการบินสูงที่กว่านักบินฝึกหัด

เมื่อมองจากนิยามแบบกว้างเช่นนี้ แนวทางของ Virtue Ethics จึงมีหลายแบบทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่แนวทางของอริสโตเติลเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แนวของอริสโตเติลน่าจะมีชื่อเสียงที่สุดและเป็นจริยศาสตร์อีกสายหนึ่งที่แตกต่างจากจริยศาสตร์ตะวันตกกระแสหลักอย่างชัดเจน

กล่าวคือ สังคมยุโรปและอเมริกานั้นจะคุ้นชินกับจริยศาสตร์แบบค้านท์กับจริยศาสตร์แบบประโยชน์นิยม ซึ่งเป็นจริยศาสตร์เชิงบรรทัดฐานที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคมสมัยใหม่

ขณะที่ Virtue Ethics เป็นจริยศาสตร์โบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยนครรัฐกรีก ก่อนที่จะเสื่อมความนิยมลง

กระทั่งกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งในยุคปัจจุบัน

 

จริยศาสตร์เชิงบรรทัดฐานแบบคานต์และแบบประโยชน์นิยมเป็นจริยศาสตร์มาตรฐาน คือนอกจากจะเป็นแนวทางหลักของสังคมสมัยใหม่แล้วก็ยังเป็นจริยศาสตร์ที่มีกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัวและเป็นสากลอันเชื่อว่าสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้ในทุกกรณี

ซึ่ง Virtue Ethics นั้นต่างออกไปแบบคนละโลก เพราะ Virtue Ethics ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัวที่ใช้ได้กับเหตุการณ์ หากแต่ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น

เมื่อไม่มีหลักเกณฑ์หรือกฎที่แน่นอนตายตัว การจะบอกว่าควรทำอย่างไรในแต่ละสถานการณ์จึงจำเป็นต้องอาศัยสติปัญญาและความสามารถในตัวของบุคคลเป็นสำคัญ

กล่าวอีกทางหนึ่งก็คือ ในขณะที่จริยศาสตร์เชิงบรรทัดฐานไม่มองที่ตัวบุคคลว่าเป็นใครและเป็นคนดีหรือไม่ แต่มองเพียงตัวการกระทำเท่านั้นว่าเป็นพฤติกรรมที่ถูกต้องหรือเปล่า

ในขณะที่ Virtue Ethics เห็นว่าคนดีมีคุณธรรมจะตระหนักรู้ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นจะต้องทำอย่างไร

จริยศาสตร์เชิงบรรทัดฐานเป็นอย่างไรให้นึกภาพง่ายๆ เหมือนเวลาขึ้นศาล โดยทั่วไปแล้วผู้พิพากษาไม่ทราบว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นคนอย่างไร ทราบแต่เพียงว่าโจทก์และจำเลยไปกระทำการอะไรมา

ศาลวินิจฉัยความผิดของคู่กรณีได้ก็ด้วยการพิจารณาพฤติการณ์เหล่านั้น มิได้ประเมินว่าโจทก์และจำเลยเป็นคนดีหรือเปล่า

แต่พอเป็น Virtue Ethics ก็จะกลับตาลปัตร คือดูว่าเป็นคนดีมีคุณธรรมหรือไม่ ถ้าเป็น คนผู้นั้นจะตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมว่าอะไรคือพฤติกรรมที่ถูก

 

แนวคิดทางจริยศาสตร์ของอริสโตเติลไม่ได้แยกออกจากเรื่องอภิปรัชญาและการเมือง คือจริยศาสตร์ไม่ได้แยกออกจากส่วนอื่นๆ ของชีวิต หากถามว่าสิ่งใดดีก็ต้องรู้ว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร

เช่น บอกว่ามีดเล่มไหนดีก็วัดกันที่สาระสำคัญของความเป็นมีด มีดถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตัด เฉือน แทง ฟัน

ดังนั้น คุณสมบัติที่สำคัญต่อการตัดสินว่ามีดดีหรือไม่ก็คือความคม ไม่ใช่ความสวยงาม เพราะฉะนั้น คนดีเป็นอย่างไรก็ต้องไปดูว่า “จุดหมายปลายทาง” (telos) ของมนุษย์นั้นมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร

สำหรับอริสโตเติลนั้น มนุษย์ใช้ชีวิตเพื่อพัฒนาตนไปสู่ความสุข แต่ความสุขในความหมายของอริสโตเติลไม่เหมือนกับความสุขที่ผู้คนมักเข้าใจกัน

คนทั่วไปเมื่อนึกถึงความสุขก็มักนึกถึงความสำราญทางกายหรือความเพลิดเพลินสนุกสนาน

แต่ความสุขในแบบที่อริสโตเติลคิดคือเป็น “ชีวิตที่ดี” ซึ่งคนผู้นั้นเจริญเติบโตหรืองอกงามอย่างถูกต้องเหมาะสมไปตามคุณลักษณะของตนเอง ซึ่งอาจไม่ได้มั่งคั่งร่ำรวยหรือสุขสำราญก็ได้

อริสโตเติลใช้คำว่า “ยูไดโมเนีย” (Eudaimonia) อันเป็นความสุขที่แท้จริงซึ่งชีวิตได้รับการเติมเต็มและเติบโตอย่างสมบูรณ์แก่ความเป็นมนุษย์ และไม่ได้ปล่อยตัวไปตามตัณหาอารมณ์แต่ถูกควบคุมกำกับไว้ด้วยเหตุผลอย่างมีสติและมีวุฒิภาวะ

 

อริสโตเติลนำเสนอหลักการทางจริยธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “กฎทอง” (Golden Mean) อันเป็นการรู้จักประมาณการกระทำว่าควรทำอย่างไรถึงจะไม่สุดโต่ง

ตัวอย่างเช่น ความกล้าหาญเป็นความพอเหมาะพอดีที่อยู่ตรงกลางระหว่างความบ้าบิ่นกับความขี้ขลาด

ความบ้าบิ่นคือใจกล้าเกินไปโดยไม่ดูให้เหมาะกับสถานการณ์จริง

ขณะที่ความขี้ขลาดก็ตรงกันข้ามกับความบ้าบิ่นไปอีกฟากหนึ่ง

เมื่อคนที่ผ่านการฝึกฝนขัดเกลาจนมีคุณธรรมแล้วจะประเมินเหตุการณ์ได้ว่าต้องทำอย่างไรต่อไป

หากนาย ก ไปเจอคนร้ายกำลังคุ้มคลั่งถือมีดจี้ตัวประกันอยู่กลางถนน ถ้านาย ก เป็นคนดีมีคุณธรรมก็ต้องกระตือรือร้นช่วยชีวิตตัวประกันอยู่แล้ว

แต่การบุกตะลุยไปช่วยทันทีโดยไม่มีวิธีที่ชาญฉลาดย่อมเป็นอันตรายแก่ทั้งตัวประกันและตัวเขาเองจนอาจเกิดความเสียหายร้ายแรงกว่าเดิมก็ได้

การบุกเข้าไปช่วยอย่างไร้สติก็คือความบ้าบิ่น

ส่วนการนิ่งเงียบหรือหนีเอาตัวรอดไปในทันทีทันใดก็คือขี้ขลาด

อริสโตเติลมองว่า “คนมีคุณธรรม” (Virtuous Person) จะไตร่ตรองและตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมว่าควรช่วยตัวประกันอย่างไร ด้านที่สุดโต่งทั้งสองด้านเรียกว่า “vice” ส่วนจุดที่ดีที่สุดคือจุดตรงกลางระหว่างความสุดโต่งทั้งสองขั้วนี้ซึ่งเรียกว่ากฎทองนั่นเอง

จริยศาสตร์แบบอริสโตเติลนี้เรียกรวมๆ กันว่า “Aristotalian Ethics” อันหมายรวมถึงแนวคิดทางจริยศาสตร์ของอริสโตเติลทั้งหมด ครอบคลุมงานสำคัญสามชิ้นได้แก่ “จริยศาสตร์นิโคมาเคียน” (Nichomachean Ethics) ที่ตั้งชื่อตามลูกชายของอริสโตเติลนามว่า “นิโคมาคัส” (Nicomachus) ซึ่งเป็นผู้รวบรวมคำบรรยายของอริสโตเติลที่ “ไลเซียม” (Lyceum) สถาบันการศึกษาที่อริสโตเติลตั้งขึ้น

และ “จริยศาสตร์ยูเดเมียน” (Eudamian Ethics) ที่ตั้งตามชื่อลูกศิษย์ของอริสโตเติลชื่อ “ยูเดมัส” (Eudemus) ผู้รวบรวมและถ่ายทอดความคิดของอริสโตเติลในภายหลัง

รวมทั้ง “จริยศาสตร์กรีกแบบอริสโตเติล” (Magna Moralia) ซึ่งเป็นการประมวลความคิดของอริสโตเติลที่บรรยายในไลเซียมด้วยเช่นกัน เพียงแต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้รวบรวมมาเผยแพร่กันแน่