มหากาพย์ ‘พระแก้วมรกต’ (1) จาก ‘รัตนพิมพวงศ์’ ถึง ‘พระบรมราชาธิบายของรัชกาลที่ 4’

เพ็ญสุภา สุขคตะ

กลางปี 2564 ช่วงที่สถานการณ์โควิดเข้าขั้นวิกฤต ดิฉันได้ชวนเพื่อนพ้องน้องพี่นักวิชาการหลากหลายสำนัก มาเปิดประเด็นถกวิพากษ์เรื่อง “พระแก้วมรกต” กันในคลับเฮาส์ เพราะเป็นหัวข้อที่ “พูดคุยกันกี่ครั้งก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ มีแต่จะเพิ่มมุมมองใหม่ๆ มาแลกเปลี่ยนกันได้เรื่อยๆ โดยที่ใครอยากพูดมิติไหนก็เชิญตามสะดวก ไม่มีใครถูกใครผิด”

นำมาซึ่งภาพโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ในแบนเนอร์ที่ท่านเห็น คือโปรแกรมเสวนาคลับเฮาส์ในค่ำคืนของวันที่ 29 สิงหาคม 2564 ซึ่งเราเสวนากันอย่างเลื่อนไหลมันส์ในอารมณ์ยิ่งนัก ตั้งแต่ 1 ทุ่มถึงเที่ยงคืนครึ่ง นานกว่า 5-6 ชั่วโมง โดยที่คนติดตามฟังสดก็ไม่มีใครยอมล่าถอย

เพื่อให้ความตั้งใจของวิทยากรที่เสียสละเวลาช่วยกันสืบค้นข้อมูลเชิงลึกเรื่องพระแก้วมรกตในมิติต่างๆ ในครั้งนั้นไม่สูญเปล่า ดิฉันในฐานะแม่งานหลัก จึงขอทำหน้าที่ถอดคลิปเสียง จับประเด็นสาระสำคัญมาขยายความต่อ

ตอนแรกนี้ เป็นการเปิดประเด็นของ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ผู้คร่ำหวอดเรื่อง “พุทธปฏิมาในสยาม อินเดีย และอุษาคเนย์” แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยากรท่านแรกนี้ได้รับโจทย์จากดิฉันให้อินโทรเรื่อง “เส้นทางของพระแก้วมรกตจากปาฏลีบุตรสู่สยาม”

แบนเนอร์เก่าเมื่อปี 2564 รายการเสวนาคลับเฮาส์ ประเด็น พระแก้วมรกต รวบรวมวิทยากรคับคั่ง

ตำนานฝ่ายล้านนา vs เอกสารฝ่ายรัตนโกสินทร์

ก่อนที่ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง จักนำเข้าสู่เรื่องเส้นทางจากปาฏลีบุตร ท่านขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ “ข้อมูล” หรือ “องค์ความรู้” เกี่ยวกับพระแก้วมรกตที่คนไทยรับรู้ตราบจนทุกวันนี้กันนั้น ว่ามีที่มาจากเอกสารสามส่วนหลักๆ

ส่วนแรก คือตำนานฝ่ายล้านนา จำแนกได้เป็น 2 เล่ม คือ 1.รัตนพิมพวงศ์ 2.ชินกาลมาลีปกรณ์ ทั้งคู่แต่งเป็นภาษาบาลี

ว่าด้วย “รัตนพิมพวงศ์” รจนาโดย พระพรหมราชปัญญา ภิกษุชาวล้านนา น่าจะมีชีวิตอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-ต้น 22 ตำนานเล่มนี้มีความตั้งใจที่จะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระแก้วมรกตโดยตรง ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยสองครั้ง ครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 1 โดยพระธรรมปรีชา (แก้ว) ครั้งที่สองสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์)

เวอร์ชั่นหลังนี้เอง กรมศิลปากรนำไปตีพิมพ์ซ้ำนับครั้งไม่ถ้วนภายใต้ชื่อที่เรียบเรียงใหม่ว่า “ตำนานพระแก้วมรกต” จนเป็นที่รู้จักของคนไทยในวงกว้าง

ในขณะที่ “ชินกาลมาลีปกรณ์” รจนาโดย พระรัตนปัญญาเถระ เมื่อปี 2060 (แต่งขึ้นก่อน รัตนพิมพวงศ์) เนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้ตั้งใจจะเน้นเรื่องประวัติพระพุทธศาสนา กับเหตุบ้านการเมืองในล้านนามากกว่า

ดังนั้น ประเด็นเกี่ยวกับพระแก้วมรกตจึงนำเสนอแบบค่อนข้างย่นย่อ กล่าวคือ มีเรื่อง “พระรัตนปฏิมา” แทรกอยู่เพียง 7 หน้าเท่านั้น

 

ส่วนที่สอง คือเอกสารฝ่ายล้านช้าง เรื่องราวของพระแก้วมรกตมาปรากฏอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 1 หลังจากทรงตีเวียงจันท์ได้ และนำพระแก้วมรกตมาถวายแด่พระเจ้ากรุงธนบุรี กระทั่งต่อมาย้ายราชธานีไปอยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งกรุงเทพฯ พระองค์ยกทัพไปตีล้านช้างอีกครั้งในปี 2331 ได้ตำนานเรื่องพระแก้วมรกตฉบับล้านช้างกลับมาสู่ราชสำนักสยาม

ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้มีการแปลต้นฉบับจากภาษาลาวมาเป็นภาษาไทย

ส่วนนี้ถือเป็น “ภาคขยายความ” ต่อจากรัตนพิมพวงศ์และชินกาลมาลีปกรณ์ ที่เล่าเหตุการณ์เรื่องพระแก้วมรกตจบลงเพียงแค่ประทับอยู่ที่ลำปาง (เขลางค์) และพระเจ้าติโลกราชกำลังอัญเชิญมาสู่เชียงใหม่เท่านั้น

ถือว่าตำนานพระแก้วมรกตฉบับล้านช้าง ช่วยมาเติมเต็มเหตุการณ์อีกช่วงที่ขาดหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของล้านนา

นั่นคือเหตุการณ์หลังจากที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเชียงใหม่ไปไว้ที่หลวงพระบาง จนกระทั่งชาวลาวได้สร้างวัดพระแก้วถวายแด่พระแก้วมรกตที่เวียงจันท์

ตำนานพระแก้วมรกต หรือ “รัตนพิมพวงศ์” ของ “พระพรหมราชปัญญา” ฉบับปริวรรตสมัยรัชกาลที่ 5 โดย พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) เป็นเอกสารที่นำเสนอเรื่องพระแก้วมรกต เชิงอภินิหาร ตำนานกึ่งประวัติศสตร์ จนเป็นที่แพร่หลายในวงกว้างของสังคมไทย

ส่วนที่สาม คือพระบรมราชาธิบายของรัชกาลที่ 4 เป็นพระราชนิพนธ์ที่มีความน่าสนใจยิ่งสะท้อนถึง การปะทะสังสรรค์ต่อสู้กันทางความคิดระหว่าง “ความศรัทธาทางพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า” ของคนรุ่นก่อนแบบเน้นให้เชื่อโดยไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามใดๆ ปะทะกับ “องค์ความรู้ใหม่ของโลกสากล” ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ซึมซับมาจากชาวตะวันตก จึงพยายามจะให้มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ต่อองค์พระแก้วมรกตอีกด้วย

อาจารย์รุ่งโรจน์วิเคราะห์ว่า จุดมุ่งหมายของการเขียนรัตนพิมพวงศ์ก็ดี ชินกาลมาลีปกรณ์ก็ดี ล้วนยกย่องเชิดชูว่าพระแก้วมรกตมีความสำคัญอย่างสูงสุด ประหนึ่งว่า “มาตรแม้นใครได้ไหว้พระแก้วมรกตแล้ว ก็เท่ากับได้ไหว้พระพุทธเจ้าองค์จริง”

โดยตำนานทั้งสองชิ้นนี้ระบุว่า มีการบรรจุ “พระบรมสารีริกธาตุ” ถึง 7 ชิ้น ภายในองค์พระปฏิมาแก้วมรกตด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อประกาศให้รู้ว่า หินเขียวแก้วมณีองค์นี้ หาใช่ประติมากรรมดาดๆ แบบพระอิฐพระปูนทั่วไปไม่

หากแต่ “มีชีวิตจริงขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่” เมื่อมนุษย์กราบไหว้แล้ว สามารถสัมผัสได้ว่า พระแก้วมรกตจักเป็นที่พึ่งของปวงสัตว์โลกได้อย่างแท้จริง

ในขณะที่มุมมองต่อพระแก้วมรกตของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 กลับเปลี่ยนแปรไป พระองค์ไม่ได้เน้นว่าพระแก้วมรกตจะต้องเป็นองค์แทนของพระพุทธเจ้าจริงแท้แค่ไหนหรือไม่

หากมองเห็นว่า คุณค่าของพระแก้วมรกตที่แท้จริงคือ เป็นเครื่องสะท้อนถึงบารมีของพระมหากษัตริย์ผู้ครอบครองมากกว่า

ดังเช่นบางถ้อยบางประโยคที่พระราชนิพนธ์ไว้

“ด้วยอำนาจและพระบารมีของสมเด็จพระเจ้ามหากษัตริย์ศึก (หมายถึงรัชกาลที่ 1 แต่การที่รัชกาลที่ 4 เรียกด้วยตำแหน่งนี้ เนื่องจากตอนรัชกาลที่ 1 ได้พระแก้วมรกตมา ยังดำรงพระอิสสริยยศดังกล่าว) ซึ่งควรเป็นผู้ครอบครองปฏิบัติบูชาพระรัตนปฏิมาพระองค์นี้ เจ้าร่มขาวหลวงพระบางมาสวามิภักดิ์ ทั้งยังปราบเวียงจันท์ได้สำเร็จ สมเด็จพระเจ้ามหากษัตริย์ศึกได้เวียงจันท์ จึงได้อัญเชิญพระปฏิมาองค์นี้พรอ้มพระบางมาด้วย”

อาจารย์รุ่งโรจน์ชี้ให้เห็นว่า ตัวคัมภีร์ทางศาสนา กับเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกต ผลิตขึ้นต่างสถานที่ ต่างช่วงเวลากัน ตำนานฝ่ายล้านนาเขียนขึ้นเพื่อเน้นว่า พระพุทธเจ้าคือพระแก้วมรกต พระแก้วมรกตคือพระพุทธเจ้า

ในขณะที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 มองว่า ความสำคัญของพระแก้วมรกตไม่ได้อยู่ที่จิตวิญญาณขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าต้องประทับอยู่ในองค์พระปฏิมาหรือไม่ ทว่า อยู่ที่ใครที่ได้ครอบครองพระแก้วมรกตคือผู้ที่มีบุญญาบารมีในการปกครองบ้านเมืองมากกว่า

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศิลป์อินเดีย ลังกา อุษาคเนย์ สยาม และล้านนา

พระแก้วมรกตสร้างในล้านนา อ้างอิงความเก่าถึงอินเดีย

อาจารย์รุ่งโรจน์ขอให้ทุกท่านช่วยกันพิเคราะห์รูปลักษณ์ “พระแก้วมรกต” กันอย่างละเอียดลอออีกครั้ง เชื่อว่าคงไม่มีใครปฏิเสธได้เลยว่า พุทธศิลป์เช่นนี้จักไม่ใช่ “ศิลปะล้านนา” ซึ่งในอดีตเคยมีผู้ศึกษาวิเคราะห์กันไว้แล้วหลายท่าน อาทิ ท่านอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ก็ดี ท่านศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ นักประวัติศาสตร์ศิลป์คนสำคัญแห่งคณะโบราณคดีก็ดี

ความเห็นเรื่องแหล่งผลิตพระแก้วมรกต ณ ปัจจุบันนี้แทบจะเป็นฉันทามติแล้วว่า หากไม่ทำขึ้นที่เชียงแสน เชียงราย ก็อาจทำขึ้นที่เมืองพาน พะเยา 3-4 แห่งที่ประติมากรมีความถนัดในการแกะสลักหินเท่านั้น

เมื่อเรายอมรับทฤษฎีนี้กันอย่างพร้อมเพรียงแล้ว คำถามที่ตามมาก็คือ มีเหตุผลอันใดเล่า จึงได้เขียนตำนานให้ลากยาวไปไกลมากถึงอินเดีย ลังกา พุกาม เขมร ทั้งๆ ที่พระพุทธปฏิมาองค์นี้เป็นของอาณาจักรล้านนาแท้ๆ

ดังนั้น เราควรหมายเหตุไว้ว่า น่าจะมีนัยยะหรือวาระซ่อนเร้นบางประการแอบแฝงอยู่

 

หันมาดูปฐมบทของการศึกษาพระแก้วมรกตในคัมภีร์ “รัตนพิมพวงศ์” มีการเอ่ยถึงนามของพระภิกษุที่มีชีวิตอยู่จริงในยุคหลังพุทธกาลลงมาประมาณ 5-600 ปี นาม “พระนาคเสน” สะท้อนให้เห็นว่า พระพรหมราชปัญญา ได้แรงบันดาลใจจากคัมภีร์ศาสนาเรื่อง “มิลินทปัญหา” (หรือที่เรารู้จักในนาม ตอบปัญหาพญามิลินทร์) แทรกปนอยู่ด้วย

เนื้อเรื่องตอนแรกๆ จึงมีบทบาทของ “พระนาคเสน” ปรากฏอยู่ด้วย โดยตำนานระบุว่า พระภิกษุชื่อนาคเสนชาวเมืองปาฏลีบุตร (เป็นการเขียนแบบสันสกฤต หากเขียน “ปาตลีปุต” เป็นแบบบาลี) ต้องการสร้างพระพุทธรูปขึ้น เพื่อเป็นเครื่องสืบอายุพระพุทธศาสนา และประสงค์จะสร้างด้วยวัสดุประเภท “แก้ว”

เมื่อพระอินทร์ (ท้าวสักกเทวราช) และพระเวสสุกรรม (วิสสุกรรม) สดับดังนั้น จึงขันอาสาหาแก้วมณีจากภูเขาศักดิ์สิทธิ์ลูกหนึ่งชื่อ “เขาวิบูล” มาให้ แก้วดวงนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “อมรโกฏ” บ้างเขียนว่า “อมรกต” แปลว่าแก้วที่สร้างขึ้นด้วยเทวดา (อมร = พระอินทร์, เทวดา ส่วน โกฏ, กต = การสร้าง ผู้สร้าง การกระทำ)

ไปๆ มาๆ ตัว อ หายไป เหลือแค่ มรโกฏ กร่อนเป็น “มรกต” เท่านั้น ความหมายจึงไปพ้องกับอัญมณีประเภทหนึ่งที่เป็นหินเขียว กลายเป็น Emerald Buddha ซึ่งสอดคล้องกับสีของหินเขียวที่ใช้สร้างพระแก้วพอดี ในความเป็นจริงนั้น วัสดุที่ใช้สร้างพระแก้วมรกตเป็นหินในกลุ่มคล้ายหยก (Jade) มากกว่าที่จะเป็น “มรกต” ตามความหมายของ Emerald

ในขณะที่ท้าวสักกะและพระวิสสุกรรม แปลงกายมาเป็นช่างแกะสลักหินเขียวอยู่นั้น ตำนานระบุว่า พระนาคเสนได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจำนวน 7 องค์ ให้เข้ามาสถิตในองค์พระพุทธรูปด้วย โดยฝังกระจายไว้ 7 จุดดังนี้ 1.พระเมาลี (มวยผม) 2.พระนลาฏ (หน้าผาก) 3.พระอุระ (ชินกาลระบุว่า อุระ แต่รัตนพิมพวงศ์ บอกว่า พระนาภี-สะดือ) 4-5.ข้อพระหัตถ์ 2 ข้าง และ 6-7.พระชานุ (เข่า) 2 ข้าง

เข้าใจว่าความเชื่อในเรื่องการฝังพระบรมสารีริกธาตุ 7 จุดตลอดองค์พระปฏิมาจากตำนานพระแก้วมรกตเรื่องนี้เอง ต่อมาได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของช่างล้านนากลุ่มหนึ่ง (อาจสังกัดป่าแดงหรือไม่?) ในการสร้างพระพุทธรูป ซึ่งยุคสมัยหนึ่งนิยมฝังหมุดหรือใส่ของมีค่า แล้วเอาสลัก (แส้/เดือย) เชื่อมชิ้นส่วนองค์พระปฏิมาที่หล่อแยก 7 ส่วนบ้าง 9 ส่วนบ้าง ให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว อันเป็นที่มาของ พระบัวเข็ม และพระแสนแส้ต่างๆ

ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 เคยพยายามตรวจสอบค้นหาความจริง พระองค์ท่านพระราชนิพนธ์ไว้ในพระบรมราชาธิบายว่า ไม่พบร่องรอยของการฝังพระบรมสารีริกธาตุ 7 จุดในองค์พระแก้วมรกต ตามที่ตำนานรัตนพิมพวงศ์และชินกาลมาลีปกรณ์ระบุไว้แต่อย่างใดเลย •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ