พระยอดธงรุ่น 2 และ 3 หลวงพ่อเฟื่อง ธัมมปาโล พระเกิจวัดอมรญาติสมาคม

จังหวัดราชบุรี ดินแดนเมืองเก่า เทือกเขางูและถ้ำที่สลักภาพพระพุทธรูปลงบนผนังถ้ำสมัยทวารวดี สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สักการะของชาวบ้าน ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวมากมายที่ขึ้นชื่ออย่างคลองดำเนินสะดวกและภาพชีวิตตลาดน้ำ

สำหรับอำเภอดำเนินสะดวก มีพระเกจิชื่อดังอีกรูปหนึ่ง คือ “พระครูอดุลสารธรรม” หรือ “หลวงพ่อเฟื่อง ธัมมปาโล” วัดอมรญาติสมาคม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี

ถือเป็นพระเกจิอาจารย์ทรงวิทยาคมที่ชาวราชบุรีและชาวบ้านพื้นที่ใกล้เคียง เลื่อมใสศรัทธาในอันดับต้นๆ

สร้างวัตถุมงคลหลายรุ่น อาทิ เหรียญ พระปรก ฯลฯ โดยวัตถุมงคลทุกรุ่น ล้วนแต่ได้รับความนิยม

โดยเฉพาะ “พระยอดธง พ.ศ.2470 รุ่นแรก”

อีกทั้ง “พระยอดธง” ซึ่งเป็นรุ่นสองและสาม ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้รุ่นแรก

พระยอดธงหลวงพ่อเฟื่อง รุ่น 2

ทั้งนี้ พระยอดธง รุ่นสอง สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.2485-2490 โดยใช้วิธีการหล่อโบราณแบบเบ้าประกบเนื้อโลหะเป็นเนื้อทองผสมทองเหลือง

ลักษณะองค์พระเป็นพระพุทธปางสมาธิ แต่มีขนาดเล็กกว่ารุ่นแรกมาก

ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธรูปประทับนั่งสมาธิบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ

ด้านหลัง ปรากฏผ้าสังฆาฏิชัดเจน เรียบ มีการแต่งตะไบ

ส่วนพระยอดธง หลวงพ่อเฟื่อง รุ่นสาม สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.2496 ใช้วิธีการหล่อโบราณแบบเข้าช่อ ออกแบบโดยหมออยู่ อุบาสกที่ใกล้ชิด

ลักษณะเป็นพระพุทธปางสมาธิ ขนาดอวบอ้วนกว่ารุ่นแรก เนื้อทองผสมแก่ทองเหลือง ในรุ่นนี้ คนพื้นที่ให้การยอมรับอย่างมาก เพราะหลวงพ่อเฟื่องสร้างเองที่วัด และมีประวัติชัดเจน

ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ องค์พระห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ

ด้านหลัง ปรากฏผ้าสังฆาฏิชัดเจน ก้นองค์พระมีเดือยของชนวน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อพระยอดธง

ประสบการณ์นั้น คนสมัยก่อนนับถือกันว่าไม่เป็นสองรองใคร เป็นที่ประจักษ์ชาวดำเนินสะดวกและหมู่ศิษย์มานักต่อนัก

จัดเป็นวัตถุมงคลที่หายากและมีราคา ผู้ใดครอบครองยิ่งหวงแหนอย่างมาก

พระยอดธงหลวงพ่อเฟื่อง รุ่น 3

มีนามเดิมว่า เฟื่อง ภู่สวัสดิ์ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 16 มีนาคม 2420 ที่บ้านหมู่ที่ 3 ต.ท่านัด อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี บิดา-มารดา ชื่อ นายภู่ และนางมิ่ง ภู่สวัสดิ์ ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา

วิถีชีวิตในวัยเด็ก ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากระบบการศึกษาในสมัยนั้น แต่ได้มาศึกษาร่ำเรียนต่อเมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว

เข้าพิธีอุปสมบทในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก พ.ศ.2440 ที่วัดโชติทายการาม มีพระครูวรปรีชาวิหารกิจ (ช่วง) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ทองอยู่ วัดโชติทายการาม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการโต เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

จากนั้น ได้อยู่จำพรรษาที่วัดโชติทายการามกับพระอุปัชฌาย์ พร้อมศึกษาวิทยาคมจากตำรับตำรา สนใจทางด้านการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นอย่างมาก

แม้เมื่อตอนที่บวชนั้นไม่อาจอ่านหนังสือออก หากก็พากเพียรร่ำเรียนอาศัยการท่องจำจากพระภิกษุด้วยกัน เพียงพรรษาแรก ก็สามารถท่องจำบทสวดมนต์และพระปาติโมกข์ได้จนจบ

ทั้งยังไม่ปล่อยให้เวลาล่วงไปโดยปราศจากประโยชน์ ยังได้พากเพียรต่อการเรียนหนังสือไทยและหนังสือขอม สามารถจะอ่านออกเขียนได้ทั้งสองภาษา สามารถเขียนยันต์ได้อย่างถูกต้อง

เคยกล่าวไว้ว่า “การเจริญกัมมัฏฐานทำให้เกิดปัญญาได้เหมือนกัน เพราะกรรมฐานเป็นที่ตั้งแห่งการงาน คือเป็นรากเหง้าของปัญญา ซึ่งเมื่อผู้ใดได้ฝึกกัมมัฏฐานก็เท่ากับฝึกจิตใจให้มีสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็โปร่งใส อ่านอะไรก็ทะลุปรุโปร่ง เพราะมีปัญญาที่อยู่เหนือกว่าปัญหาทั่วๆ ไป คือปัญญาของพระอริยะ”

หลวงพ่อเฟื่อง ธัมมปาโล

ต่อมา ย้ายไปจำพรรษายังวัดไผ่ล้อม ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี ในห้วงนั้นอุโบสถชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอันมาก จนไม่สามารถจะทำสังฆกรรมอีกต่อไปได้

จึงได้ร่วมมือกับพระอธิการโต เจ้าอาวาสวัด ซึ่งเป็นพระอนุสาวนาจารย์ จัดการก่อสร้างขึ้นใหม่หมด ทั้งกุฏิ วิหาร และศาลาการเปรียญ บูรณะวัดจนสำเร็จ

เมื่อครั้งพระอธิการโต มรณภาพลงด้วยโรคชรา ก็ได้รับการนิมนต์ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบแทน

เมื่อเจ้าอาวาสวัดอมรญาติสมาคม หรือ หลวงพ่อน้อย มรณภาพ จึงได้รับนิมนต์ให้รักษาการตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนี้ด้วยอีกแห่ง จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปีชวด พ.ศ.2455 ตรงกับวันที่ 28 มิถุนายน จึงได้ย้ายมาจำพรรษายังวัดอมรญาติสมาคม

ด้วยความที่วัดกับบ้านเป็นที่พึ่งกันและกัน จึงได้พัฒนาทั้งวัดและบ้าน กล่าวคือ ไม่เพียงแต่จะพัฒนาก่อสร้างถาวรวัตถุแต่เพียงอย่างเดียว ด้านการศึกษานั้นหาได้ปล่อยทิ้งละเลยไม่ ขณะนั้นย่านนั้นหาได้มีสถานศึกษาของพระภิกษุสามเณรไม่ จึงได้จัดสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ในปี พ.ศ.2473 และได้จัดหาครูมาสอนให้ด้วย กระทั่งมีพระภิกษุสามเณรมาศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างมากมาย

พ.ศ.2477 จัดสร้างศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ด้วยของเดิมคับแคบ

พ.ศ.2483 ดำเนินการสร้างโรงเรียนประชาบาลอมรวิทยาคาร

ไม่เพียงพัฒนาวัดเท่านั้น หากยังได้ก่อสร้างถนนหลวงและสะพานข้ามคลองมอญ ย้ายโรงเรียนปริยัติธรรมมายังด้านทิศตะวันตก

ตำแหน่งหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2471 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบล

พ.ศ.2473 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2492 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ “พระครูอดุลสารธรรม”

มรณภาพเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2500 สิริอายุ 80 ปี พรรษา 60 •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]