ส.ว. 2567… ไม่มีสี คัดเลือก 200 จาก 200,000

มุกดา สุวรรณชาติ
(Photo by Jonathan KLEIN / AFP)

พ.ร.ป.ส.ว. 2561 เปิดทางให้ใคร

ฉบับนี้ขอเขียนเรื่อง ส.ว.อีกครั้งจะได้ครบสมบูรณ์ทั้งกระบวนการ เพื่อผู้ที่เข้าร่วมจะได้เตรียมตัวทัน เพราะการเลือก ส.ว. 2567 คือเรื่องหลักของของการปฏิรูปการเมืองในรอบปีนี้ ถ้าได้ ส.ว.น้ำดีมีคุณภาพ จะสามารถกำหนดเรื่องความยุติธรรมและการแก้รัฐธรรมนูญ

นี่จึงเป็นเรื่องที่ผู้สนใจการเมือง และคิดอยากจะช่วยประเทศชาติสามารถมีส่วนร่วมได้จริง

หลายคนคิดว่ากฎเกณฑ์การเลือก ส.ว.แบบนี้ยังไม่ดีพอ แต่ขณะนี้ถือว่าดีที่สุดแล้ว นี่คือประตูที่เปิดเข้าไปทำการแก้ไขกฎเกณฑ์ที่ไม่ยุติธรรมต่างๆ ต่อไป แม้อยากจะเลือก ส.ส.ร.จากประชาชนโดยตรงเพื่อเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องให้ ส.ว.ออกเสียงสนับสนุน 1 ใน 3 (67 คน) จึงจะแก้รัฐธรรมนูญได้ จากนั้นจึงจะจัดการกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านรัฐสภาตามที่ต้องการ ซึ่งก็จะต้องมี ส.ว.สนับสนุน

พ.ร.ป.ส.ว. 2561 เมื่อศึกษาดูแล้วก็ถือว่ายังใช้ได้ แต่มีคนวิจารณ์ว่ามีลักษณะดังนี้

1. กีดกันสายการเมืองเพราะคนที่เป็นสมาชิกสภาทั้งระดับประเทศและท้องถิ่นแม้แต่สมาชิก อบต.ก็ไม่สามารถสมัครได้ ยกเว้นจะออกจากตำแหน่งมาแล้ว 5 ปี

2. ในขณะเดียวกันข้าราชการก็ไม่สามารถมาสมัครได้นอกจากลาออก แต่ในความเป็นจริงข้าราชการที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปที่กำลังก้าวหน้า ใครจะเสี่ยงไปลาออกมาสมัคร ส.ว.

3. วิเคราะห์ดูแล้วโอกาสนี้จะเปิดกับผู้สูงอายุทั้งหลายที่เกษียณไปแล้ว และคนที่ทำงานเอกชนหรือเจ้าของกิจการผู้ที่มีอาชีพอิสระที่จะมาลงสมัคร ส.ว. เพื่อเป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพ เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนและคนที่ทำงานในอาชีพต่างๆ

 

ผู้สมัคร ส.ส.ปี 2566 มีไม่ถึง 7,000 คน
แต่ผู้สมัคร ส.ว.ปี 2567 จะมากถึง 200,000 คน

การเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้เริ่มที่ระดับอำเภอ ในประเทศไทยมี 878 อำเภอ และอีก 50 เขตของ กทม. รวมแล้ว 928 เขตเลือกตั้งขั้นต้น ในแต่ละอำเภอจะมีกลุ่มอาชีพให้สมัคร 20 กลุ่ม ถ้าเพียงแต่ละกลุ่มอาชีพมีคนไปสมัครเพียง 1 คนก็จะมีผู้สมัครถึง 18,560 คน

ประเมินผู้สมัครทั้งประเทศในระดับอำเภอเฉลี่ยกลุ่มละ 10-12 คน ยอดผู้สมัครรวมจึงประมาณ 200,000 คน

ในระดับอำเภอจะถูกคัดเข้ามาสู่ระดับจังหวัดกลุ่มละ 3 คน รวม 20 กลุ่ม ดังนั้น ทุกอำเภอจะส่งมาประมาณ 60 คน 928 อำเภอ รวมแล้วประมาณ 55,600 คน สถานที่เลือกตั้งน่าจะอยู่ที่อำเภอเมืองของแต่ละจังหวัด

ระดับประเทศ จะมีประมาณ 3,000 คน จากทุกจังหวัด กลุ่มละ 2 คน ไม่ว่าจังหวัดใหญ่หรือเล็ก แสดงว่าทุกจังหวัดจะมีตัวแทนจาก 20 กลุ่มอาชีพ จังหวัดละ 40 คน เมื่อมารวมกันที่กรุงเทพฯ จะมีผู้สมัครที่ผ่านเข้าระดับประเทศ 77 จังหวัด ไม่เกิน 3,080 คน เฉลี่ยกลุ่มอาชีพละ 150-154 คน จากนั้นก็จะคัดเลือก ส.ว.ตัวจริง 200 คน ตามกระบวนการที่อธิบายให้ฟังแล้วในฉบับก่อน

 

มีคำถามที่ตามมา
เนื่องจากความไม่ชัดเจนของ พ.ร.ป. 2561

1.กลุ่มที่หายไป

วิเคราะห์จากกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่มพบว่ากลุ่มที่ทำงานด้านการเงินไม่ได้ถูกแยกออกมาทั้งๆ ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมาก ตั้งแต่ธนาคารและบริษัทไฟแนนซ์ต่างๆ ซึ่งมีทั้งเจ้าของผู้ถือหุ้นและพนักงานจำนวนมาก (ไม่นับรวมถึงผู้ปล่อยเงินกู้อิสระ)

อีกกลุ่มหนึ่งที่หายไปก็คือผู้ประกอบการด้านการขนส่ง ซึ่งจะมีทั้งเจ้าของและคนทำงานในบริษัทขนส่งต่างๆ ตั้งแต่รถสิบล้อ รถขนส่งขนาดย่อย รถบรรทุกสินค้าเฉพาะ เช่น เชื้อเพลิง ปูน รถแท็กซี่ ธุรกิจบริการรถเช่า รถโดยสารประจำทางและรถโดยสารไม่ประจำทาง ซึ่งมีทั้งรถบัส รถตู้

รวมกระทั่งถึงมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่เป็นเส้นเลือดฝอย และกลุ่มผู้ขนส่งทางน้ำ

 

วิธีการในการแนะนำตัวของผู้สมัคร ส.ว.
จะทำแบบไหน?
มีขอบเขตอย่างไร?

ผู้ที่สมัครเป็น ส.ว.ระดับอำเภอ สามารถติดต่อพูดคุยและแนะนำตนเองต่อผู้สมัครด้วยกันได้หรือไม่มีขอบเขตอย่างไร?

เมื่อได้รับคัดเลือกผ่านเข้าสู่ระดับจังหวัดยังสามารถติดต่อกันเพื่อแนะนำตนเองได้แบบไหน เพราะถ้าไม่รู้จักกันเลยเวลาเลือกไขว้กลุ่มผ่านการจับสลาก จะเลือกได้อย่างไร?

การเลือก ส.ว.ระดับประเทศยิ่งมีปัญหา เพราะจำนวนคนในแต่ละกลุ่มอยู่ที่ประมาณ 150 คน และเมื่อทำการจับสลากไขว้แต่ละสายก็มีประมาณ 200 คน

ถ้าไม่รู้ประวัติความเป็นมาของผู้สมัคร การเลือกรอบสอง หาคน 5 คนจาก 40 คนของแต่ละกลุ่มก็ไม่ง่าย เลือกจาก 4 กลุ่มรวม 20 คน ดูจากกระบวนการเลือกตั้งแล้วก็ไม่มีเวลาให้ขึ้นมาแนะนำตัวทั้ง 200 คน

จะให้อ่านประวัติผ่านเว็บของ กกต.เท่านั้น หรือจัดประชุมโดย กกต.เป็นผู้จัด ก่อนการเลือกตั้ง

 

การสมยอมกันหรือจัดตั้งผู้สมัคร
อาจมีคนแอบทำ
แต่จะฝ่า 6 ด่าน จนได้เป็น ส.ว. ยากมาก

มีคนกังวลในเรื่องนี้ว่า ถ้าผู้ที่อยากเป็น ส.ว. อาจสามารถระดมคนไปสมัครแล้วไปเลือกตัวเอง

โอกาสเป็นไปได้ถ้ามีจำนวนคนสมัครน้อย อาจได้ผลตอนที่เลือกกันเองสามารถผ่านรอบแรกเป็น 1 ใน 5 คน แต่เมื่อจับสลากแบ่งสายคนกลุ่มอื่นมาเลือกรอบ 2 โอกาสผ่านก็ยากขึ้นมาก

สมมุติว่าผ่านรอบ 2 ไปได้ เข้าไปอยู่ในระดับจังหวัดก็จะพบผู้สมัครจากอำเภออื่นที่เข้ามารวมกันอาจจะมีมาก 30-50 คน โอกาสจะติดรอบแรก 1 ใน 5 ก็ไม่ใช่ง่าย

ต่อให้ติด 1 ใน 5 แต่พอไขว้กลุ่มจับสลากก็มีคนจากกลุ่มอื่นๆ อีก 4 กลุ่มจากทุกอำเภอเข้ามาเลือก ถึงตรงนี้ต้องพึ่งดวงและชื่อเสียงตนเอง

สมมุติว่าคนนี้เป็นคนดังและเกิดได้เลือกเข้าไปจริง เป็นหนึ่งในสองคนของกลุ่มเข้าสู่ระดับประเทศ ซึ่งมีตัวแทนจาก 77 จังหวัด คู่แข่งจะกลายเป็นกลุ่มละ 154 คน โอกาสจะผ่านเข้ารอบแรกไม่ง่าย และรอบสองจะต้องผ่านด่านผู้สมัครจากกลุ่มอื่นอีก 160 คน

ต้องเชื่อมั่นว่าผู้สมัครที่ผ่านมาถึงระดับประเทศ 3,000 คน รู้จักคิด รู้จักเลือก

 

ส.ว. 2567 ไม่ใช่สีส้ม สีแดง สีน้ำเงิน
เสรีชน คนรักประชาธิปไตย จะกำหนดทิศทาง ส.ว.

การเลือก ส.ว.ครั้งนี้ไม่มีสี ถ้าพรรคการเมืองเข้ามายุ่ง ไม่เพียงแต่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง แต่ในทัศนะของผู้ลงเลือกตั้งแบบอิสระ ถ้าเขารู้ว่าพรรคการเมืองส่งมาอาจจะมีผลด้านกลับทำให้ถูกแอนตี้และไม่เลือกก็ได้

แม้การเลือก ส.ว.ครั้งนี้จะซับซ้อน แต่ถ้าคนดี มีอุดมการณ์ มีความรู้ มีประสบการณ์เข้าร่วมเยอะๆ ก็จะทำให้สามารถคัดคนที่เหมาะสมได้มาก

เยอะขนาดไหน…ต้องมาร่วมหลายหมื่น จนถึงแสนคน

ถ้าผู้สมัครแบบนี้ผ่านเข้าสู่ระดับประเทศ เกินกว่า 2,000 คน ใน 3,080 คน โอกาสที่จะได้ ส.ว.น้ำดีคุณภาพสูงเกินกว่า 100 คนก็จะเกิดขึ้น

ขอเพียงกลุ่มเสรีชนช่วยกันลงสมัครจำนวนมาก โอกาสที่จะได้คนมีประสบการณ์ รักประชาธิปไตย ต้องการความยุติธรรมก็จะมากเกินครึ่ง