ลูกพ่อ ‘ฮุน มาแนต-แพทองธาร’ : ความเหมือนอันแตกต่าง

อภิญญา ตะวันออก

โลกเนียะ มีเรื่องอยากเล่า ในห้วงสัปดาห์ที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกำลังไปเยือนเขมร

ด้วยสายใยของอดีตผู้นำไทย-เขมร คือ ท่านทักษิณ ชินวัตร และสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเตโชฮุน เซน อย่างลึกซึ้งโดยตรงถึงบุตราและบุตรี คือสมเด็จบวรธิบดีฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย-น.ส.แพทองธาร ชินวัตร

ต่อการได้เห็นความเป็นไปในภาพปรากฏของคนทั้งสอง

อัญเจียฯ น่ะ ได้เห็นการเติบโตของฮุน มาแนต ตั้งแต่เขายังขเม็ง/หนุ่มน้อย หรืออาจย้อนไปกว่านั้น คือตอนที่เขาแบเบาะเพิ่งคลอดจากครรภ์มารดา ตามภาพยนตร์อัตชีวประวัติของบิดาเรื่อง “ลูกชายใต้คืนวันเพ็ญ”

ส่วนคุณอุ๊งอิ๊ง/แพทองธาร นั้น ในวัยเด็กเช่นกัน เรื่องเล่าของเธอเคยอยู่บนจอภาพยนตร์ อัตชีวประวัติของบิดา มีชาคริต แย้มนาม แสดงนำ

ช่างบังเอิญที่ฉบับเวอร์ชั่นไทยไม่พบในสารบบแล้ว แต่ก็เห็นว่า รุ่นบิดา นักการเมืองเกิดมีใจตรงกัน ในเรื่องการสร้างหนังประวัติชีวิตตัวเอง!

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

สมัยยังเป็นวัยรุ่น แพทองธารเคยชิมลางฝึกงานภาคฤดูร้อนในร้านแมคโดนัลด์สาขาอมรินทร์ ที่มีบิดาโปรโมตอย่างสุดปลื้ม

ฤดูร้อนปีนั้น เธอกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งที่ทุกคนจับตามอง และตั้งแต่นั้นมา แพทองธาร ชินวัตร ก็ไม่เคยหายไปจากสปอตไลต์การเมืองไทย ที่ยาวนานตั้งแต่รุ่นพ่อ คุณอา และตัวเธอเอง

เช่นเดียวกับ ฮุน มาแนต ตอนเขาบินไปเรียนต่อนายร้อยเวสต์ปอยต์ที่สหรัฐ สื่อเขมรตีข่าวกันหนัก และบิดาของเขาก็ปลื้มมากเช่นกัน

แล้วดูสิ ตอนนี้ หนุ่มสาวทั้งสองกลายเป็น “ตัวแทน” การเมืองของพ่อตัวเองไปแล้ว

สุดแนวคือ ฮุน มาแนต ที่เป็นถึง “นายกรัฐมนตรี” ส่วนแพทองธารเองนั้น ก็ไม่น้อยหน้า เธอได้รับการปกป้อง แสดงเป็นนายกฯ คนหนึ่งเลยทีเดียว นี่ไม่เกี่ยวกับการพลั้งปากของนายกฯ ตัวจริงหรือไม่? นั่นต่างหากที่เธอได้ คือบารมีของสกุลที่ติดมา

และเลยเถิดถึงขั้น มีนายกฯ ถึง 3 คนเลยตะหาก!

ฮุน มาแนต นั้น ใช่เรื่องบังเอิญที่โคลนนิ่งมาจากบิดาทุกอาการ การเลียนแบบปาฐกถา หรือแม้แต่การสร้างตัวตน ซึ่งสมเด็จฮุน เซน ก็จัดให้เต็มบรรดาศักดิ์ชั้นสมเด็จ ถึงตำแหน่งตั้งรองหัวหน้าพรรค และนายกฯ ที่ว่า

แต่น่าเจ็บใจที่คนกัมพูชาเอาแต่จดจำว่าเขาเป็น “อายอง” หรือหุ่นเชิดของบิดา ไม่มีใครยอมรับว่าเขาคือนายกรัฐมนตรี “ตัวจริง”

เห็นจาก ตั้งแต่เป็นนายกฯ มากว่าครึ่งปีแล้ว เดินทางไปเยือนหลายทวีปและประเทศ แต่สมเด็จฮุน มาแนต ก็ยังไม่ได้รับการกล่าวขวัญในด้านดีจากสื่อตะวันตกแต่อย่างใด

มันคือปัญหาของมาแนต หรือบิดากันเล่า? ที่เขาไม่ถูกยอมรับจากนานาประเทศเหล่านั้น? ตลอดเส้นทางที่ผ่านมา

ยิ่งได้รับการปกป้องเกียรติยศอย่างสูงสุดเพียงใด เขาก็ยิ่งห่างไกลจากการพูดถึงโดยต่างชาติ ไม่มีแม้กระทั่งสื่อต่างประเทศกล่าวถึงหรือวิจารณ์

ทั้งๆ ที่ฮุน มาแนต ใช้การไปเยือนทุกประเทศ ตั้งแต่อินโดนีเซีย สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ไทย ในการโปรโมตตัวเองอย่างหนัก โดยจะเห็นว่า แม้แต่การมาเยือนกรุงเทพฯ ของไทย ผู้นำกัมพูชายังต้องการจะเห็นทุกอย่างเป็นไปในทางบวก

นั่นก็คือ การให้ทางการไทยช่วย “เก็บ” นักกิจกรรมการเมืองหรือ “ตัวจิ๊ด” เขมรบางคนต้องเข้าตะรางไปพร้อมๆ กับลูกน้อย โดยที่ไม่มีสื่อไทยสำนักใดตีข่าว?

ยอมรับเลยว่า องคาพยพไอโอกัมพูชา มีฝีมือเขี้ยวลากดิน ทีมพ่อเก่งมาก ถึงกับเคยกดดันรัฐบาลมาครงสกัด สัม รังสี อดีตหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านออกจากปารีสเพื่อไม่ให้เคลื่อนไหวตอนฮุน มาแนต ไปที่นั่น!

ส่วนความเคี่ยวกรำในวงการสื่ออย่างเป็นล้ำ เห็นได้จากการ “ปกป้อง” นายของตนชนิดที่ประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ยังอาย และนั่นคือมาตรฐาน!

เช่นนั้นแล้ว นี่คือความตรงข้ามกับเสรีนิยมใหม่สินะ? หากว่าหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คุณแพทองธารจะเข้าข่ายการนี้?

ตัวอย่าง การเรียนหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (มินิ-วปอ.) ขณะเรื่องเดียวกันนี้ สำหรับฮุน มาแนต เขารับการถ่ายทอดโดยตรงจากบิดา น่าสนใจไปอีก หากแนวทางนี้ไม่มีใครในสายตระกูลตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงแพทองธารเคยทำมาก่อน

หรือนายหญิงเพื่อไทย จะมาทางนี้จริง?

 

เริ่มจากการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ผู้นำรุ่นใหม่ ที่ต้องร่ำเรียนหลักสูตรที่ว่า แต่การณ์กลับเป็นว่า ในสายตาพลเมืองรุ่นใหม่ กลับมองเห็นแนวทางนี้ว่าล้าหลัง มุ่งสร้างแต่ผลประโยชน์ใน “เครือข่าย” และพวกพ้องที่ไม่สอดคล้องกับสังคมบ้านเมืองยุคใหม่

ต้นทุนผู้นำที่หวังเห็นผล จึงดูจะไม่เข้ากับ “ค่านิยม” วิถีใหม่ในความตื่นรู้ของผู้คนหลังยุคมิลเลเนียม (2000) ที่เน้นความเท่าเทียม-เสมอภาค และนั่นเท่ากับว่า ผู้นำนาวาพรรคเพื่อไทย กำลังไปสู่กระบวนคิดที่ย้อนกระแสธารของหนุ่มสาวหรือไม่? ในการกระโจนเข้าไปในหลักสูตร มินิ-วปอ.?

ลำพังความพยายาม “สร้างภาพลักษณ์” ผู้นำให้ทันพรรคคู่แข่ง ที่แย่งซีนทุกวัน ซ้ำมีอวตารเกิดใหม่มากมายรายวัน นั่นว่ายากแล้ว แต่ยุทธศาสตร์เพื่อไทยก็ยังยืนหยัดแบบจารีต ที่ชัดเจนมากขึ้น

หือ? หรือว่า แนวโน้มคุณแพทองธารจะมุ่งหน้าไปทางนั้น? แม้จะประดักประเดิดอยู่บ้าง ซ้ำการ “ติดปีก” คุณค่าความน่าทึ่งมหัศจรรย์ ก็เป็นวิถีแบบเสรีนิยมเกือบทั้งหมดไปอีก!

ด้วยเหตุนั้น หัวหน้าพรรคเพื่อไทยจึงไม่อาจเป็นอื่น นอกจากใส่บ่าแบกหามอย่างไม่มีทางเลือก ไม่ว่าเจริญไมตรีกับสมเด็จอา-ฮุน เซน และฮุน มาแนต ทั้งที่มีแต่ถูกจับตาในสื่อไทย และราคาตก! ในโซเชียล!

แต่เธอก็เจอมาแล้ว ไม่ว่าการประชุมทางไกลกับคนสนิทของปูติน (มกราคม 2567) ที่ตอกย้ำภาพจำของนายทักษิณต่อความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำรัสเซีย

หรือโครงการ “ซอฟต์เพาเวอร์” ของรัฐบาลที่เธอนั่งเป็นประธาน อย่างเห็นได้ ยุคกระแสธารดิจิทัลที่สามารถรีโพสต์ “ศักยภาพ” ของผู้นำในทุกๆ มิติ หลายๆ ครั้งเหล่านั้น หัวหน้าพรรคที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นจารีตนิยม ไม่สามารถเอาตัวรอด จนต้องออกปากกับโซเชียล แต่ซ่อนเร้นกว่านี้ คือมีองคาพยพในรูปแบบไอโอช่วยทำสงครามความคิดที่ห้ำหั่นในออนไลน์

นั่นเท่ากับว่า เธอถูกรุกฆาตโดยใคร?

ระหว่าง “นีโอจารีต” กับ “เสรีนิยมใหม่” หรือทับซ้อนกว่านี้ คือ “ครอบครัวนิยม?”

นี่ล่ะ ปัญหาของทายาทนายกฯ รุ่นสอง ผู้ต้องเดินตามรอยบิดาและผู้กุมบังเหียนตัวจริง ทั้งกรณีอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร สำหรับ “ใส่บ่าแบกหาม” ตามนีโอคอนเซอร์เวทีฟ – “จารีตนิยมใหม่” ที่กลายเป็นวาระแห่งชาติ ในนามรัฐบาลและตนเอง

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมา การ “พลีกรรม” ที่ว่าจะต้องเป็นไป อย่างที่เห็นกันในไทม์ไลน์ ไม่ว่าจะย้อนแย้งกับความเป็นตัวตนของเธอหรือไม่ ไม่ว่าจะภารกิจกับรัสเซีย (ที่ไม่มีภาพเรียลไทม์) หรือแม้กระทั่งพบผู้นำกัมพูชา

และไม่ว่าความสัมพันธ์ทับซ้อนของใครจะตามมา ทุกย่างก้าวของหัวหน้าพรรคจากนี้ไปคือของของจริงที่เธอจำต้องเรียนรู้ยิ่งกว่า “มินิ วปอ.” อะไรนั่น และไม่ว่าจะตีกรอบตัวเองแบบไหน จากนี้ไป สิ่งที่เธอต้องแบกรับกับบทบาทนี้คือ…

ต่อต้านระบอบเสรีนิยม งั้นสินะ?

โดยความจริงที่ว่านี้ อาจส่งผลให้เธอกลายภาคที่ 2 ของฮุน มาแนต ในเวอร์ชั่นไทย?

อย่างไม่พรั่นพรึงว่าจะอยู่บนปากเหวหรือไม่? สำหรับการถูกลงดาบจากตะวันตกแบบที่ฮุน มาแนต และบิดาเผชิญหน้าจับมือกัน โดยจะรู้ตนหรือไม่ก็ตาม นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เอง คือตัวอย่างของวิถีนั้น

ตั้งแต่ล้มเหลวเสื่อมความนิยมในผู้คน หรือถูกสื่อตะวันตกลดบทบาทไปจนถึง “ด้อยค่า” ให้ความสำคัญ อันโมเดลนี้ ผู้นำกัมพูชาเผชิญมาหมดแล้ว แต่ผู้นำพรรคเพื่อไทย จะทนแรงเสียดทานได้หรือไม่?

หากวันหนึ่ง บนปากเหวแห่งนี้ที่เธอยืนอยู่ ถูกหันหลังโดยคนไทยส่วนใหญ่ แล้วใครกันที่ย่อยยับสำหรับการนี้

ในยุค ’90 ก่อน Y2K อัญเจียฯ เคยได้ยินวลีนี้ “ทักษิโณมิกส์” แต่สำหรับกัมพูชาในเวลานั้น พวกเขาเพิ่งผ่านระบอบคอมมิวนิสต์ 15 ปีเต็ม จึงขอเรียนว่า การทดลองใช้บริการระบอบฮุนเซน นั่นเท่ากับว่า ได้ย้อนเวลาไปสู่อดีตที่แม้แต่ปัจจุบันกัมพูชายังพึ่งพาไทยในเกือบทุกด้าน

ซม/โปรดสดับอีกครา หากว่าท่านรู้จัก “ย่อยยับ” มาก่อน

เขมรรู้จักแล้ว เราล่ะรู้จักยัง?