ศึกยูเครน 2024 เมื่อเคียฟตกเป็นเบี้ยล่าง

(Photo by Sergei SUPINSKY / AFP)

ในขณะที่ความสนใจจากทั่วทุกมุมโลกแตกกระจายออกไป ไม่รวมศูนย์อยู่ที่การรุกรานยูเครนของกองทัพรัสเซียเหมือนเมื่อปีสองปีแรกของสงคราม สถานการณ์การสู้รบก็เปลี่ยนแปลงผันแปรไปมาอยู่ตลอดเวลา

เมื่อกองทัพยูเครนเปิดยุทธการโต้กลับ ผลักดันกองกำลังของรัสเซียถอยร่นจากแนวรุกเดิมเมื่อปีที่แล้ว หลายคนคาดว่า อย่างน้อยที่สุดในช่วงปลายปี เราอาจสามารถมองเห็นแนวโน้มของสงครามได้ชัดเจนมากขึ้นว่า จะลงเอยอย่างไร

แต่เมื่อการโต้กลับไม่รุนแรงและเบ็ดเสร็จเท่าที่คาดหมาย เปิดช่องให้รัสเซียระดมกำลังเปิดฉากรุกใหม่ในช่วงปลายปี สถานการณ์สงครามพลิกกลับอีกครั้ง เปลี่ยนแปลงไปมากพอที่จะทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักสังเกตการณ์โดยรวม ยากที่จะคาดการณ์ได้ชัดเจนว่า ศึกยูเครนในปี 2024 จะคลี่คลายขยายตัวไปในทิศทางใด

ทาราส ชมุท นายทหารเรือยศพันจ่าเอกที่เป็นนักวิเคราะห์ของกองทัพยูเครนยอมรับว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครวิเคราะห์ทิศทางได้แน่ชัดว่า รัสเซียจะเอาอย่างไร หรือยูเครนจะรุกคืบไปได้หรือไม่ในปีนี้

กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญและนักสังเกตการณ์ทั้งหมดก็เห็นพ้องต้องกันในแง่ของปัจจัยพื้นฐานสำคัญ 3 ประการที่จะเป็นเครื่องชี้ขาดแนวโน้มของสงครามยูเครนในปีนี้

 

ปัจจัยแรกสุดก็คือ ในเมื่อยูเครนขาดทั้งยุทโธปกรณ์และกำลังพลในระดับที่สามารถผลักดันให้รัสเซียล่าถอยได้อย่างมีนัยสำคัญในเวลานี้ ยูเครนต้องจัดการกับความคาดหวังต่อสงครามครั้งนี้ให้ดี ทำอย่างไรชาวยูเครนถึงจะไม่ปลงใจว่าต้องพ่ายแพ้แน่นอนแล้ว ซึ่งไม่เพียงบั่นทอนกำลังใจของคนในชาติเท่านั้น แต่ยังทำลายขวัญกำลังใจของกองทัพได้อย่างชะงัด

ปัจจัยถัดมาคือ ความเหนือกว่าของรัสเซีย ถึงตอนนี้กองทัพรัสเซียกำลังอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าอย่างชัดเจนในแนวรบที่ยูเครน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสรรพาวุธที่เหนือกว่า และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีกำลังพลที่เหนือกว่า

สุดท้ายก็คือ นัยสำคัญของความช่วยเหลือจากตะวันตกต่อยูเครน ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า หากปราศจากความช่วยเหลือจากชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกาแล้วละก็ อย่าว่าแต่จะรุกกลับรัสเซียเลย แม้แต่จะรักษาแนวต้านของตนเองเอาไว้กองทัพยูเครนก็จะทำไม่ได้อีกต่อไป

 

สถานการณ์สู้รบสำคัญล่าสุดในยูเครนในเวลานี้ ก็คือการสูญเสียเมืองอัฟดีฟกา ในเขตโดเนสก์โอบลาสต์ ให้กับรัสเซีย หลังเกิดการสู้รบกันหนักหน่วงและนองเลือดนานหลายสัปดาห์ในเดือนกุมภาพันธ์ อัฟดีฟกามีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ไม่น้อยเพราะเป็นที่มั่นและศูนย์กลางของการส่งกำลังบำรุงของยูเครน

หลังเข้าตีอัฟดีฟกาได้แล้ว กองทัพรัสเซียยังคงรุกต่อ เดินหน้าโจมตีที่มั่นและศูนย์ส่งกำลังบำรุงในลักษณะเดียวกันอีกหลายเมือง ทั้งโรโบไทน์ ในซาปอริซเซีย คูปิยานสก์ ในเขตคาร์คีฟ และชาซีฟยาร์ ในโดเนสก์

นายทหารเยอรมันที่ได้รับภารกิจให้ติดตามสงครามครั้งนี้ชี้ว่า เมืองเหล่านี้สำคัญอย่างยิ่ง ไม่เพียงเป็นศูนย์ส่งกำลังบำรุงเท่านั้น ยังเป็นที่มั่นในแนวรับที่ยูเครนถนัดและบริหารจัดการได้ง่ายกว่าที่อื่น การรักษาที่มั่นที่ถนัดเอาไว้จึงมีนัยสำคัญมากสำหรับกองทัพ

รัสเซียรุกคืบอย่างได้น้ำได้เนื้อเป็นเพราะไม่ได้แยแสกับกำลังพลที่สูญเสียไปในการรบ กองทัพยูเครนประเมินว่า รัสเซียเสียกำลังไปไม่น้อยกว่า 47,000 นายในการยึดอัฟดีฟกา

ในขณะที่บล็อกเกอร์สายทหารของรัสเซียอย่างอันเดรย์ โมโรซอฟ ประมาณว่า ทหารรัสเซียพลีชีพไป 16,000 นายในศึกดังกล่าว

ในขณะที่โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนประมาณว่า สัดส่วนการสูญเสียระหว่างรัสเซียกับยูเครนในการทำศึกหนนี้อยู่ที่ 7 ต่อ 1 คือทหารยูเครนที่สูญเสียไป 1 นายจะมีทหารรัสเซียล้มตายไปไม่น้อยกว่า 7 นาย

ในขณะเดียวกัน รัสเซียมีกระสุนปืนใหญ่ให้ถลุงเล่นเหนือกว่ายูเครนมากมายนัก

ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า รัสเซียมีกำลังการผลิต (รวมทั้งการนำกระสุนเก่ามาปรับปรุงฟื้นฟู) กระสุนปืนใหญ่อยู่ระหว่าง 1 ล้านถึง 4.5 ล้านนัดต่อปี สูงกว่าจำนวนกระสุนที่ยูเครนได้รับมากมายนัก

ชาติตะวันตกในยุโรปเพิ่งเร่งรัดให้กระบวนการผลิตกระสุนของตนเองกลับมาใหม่เมื่อไม่นานมานี้ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเองก็เพิ่งตื่นเช่นเดียวกัน เร่งผลิตกระสุนปืนใหญ่ที่คาดว่าจะมีกำลังการผลิต 1 ล้านนัดต่อปีในปี 2025 นี้ จากที่เคยผลิตอยู่ที่ 190,000 นัดเท่านั้น

แนวหน้ารัสเซียยังได้รับโดรนเพื่อการโจมตีทางทหารจากอิหร่านอย่างต่อเนื่อง บวกด้วยกระสุนปืนใหญ่อย่างน้อย 1 ล้านนัดจากเกาหลีเหนือ

และมีการนำเอาจรวดนำวิถีอย่างน้อย 24 ลูกจากเกาหลีเหนือมาใช้ในยูเครนแล้วนับตั้งแต่ต้นปีนี้

 

ในทางตรงกันข้ามยูเครนที่พยายามเพิ่มกำลังการผลิตของตนเอง แต่ก็ยังช้าอยู่มาก

ยุโรปให้สัญญาว่าจะส่งกระสุนปืนใหญ่ให้ 1 ล้านนัดภายในมีนาคมนี้ แต่ที่มาถึงมือยูเครนจริงๆ มีเพียง 300,000 นัดเท่านั้นเอง

ส่วนสหรัฐอเมริกาส่งกระสุนปืนใหญ่ 155 ม.ม. ให้กับยูเครนแล้วรวมทั้งสิ้น 2 ล้านนัดนับตั้งแต่เริ่มสงคราม แต่เริ่มหดหายไปในตอนหลัง เมื่อเกิดความขัดแย้งถูกพรรครีพับลิกันกีดกันการให้ความช่วยเหลือทางทหารต่อยูเครนในรัฐสภา

ยูเครนยังขาดกำลังทางอากาศ และขาดแคลนระบบจรวดต่อต้านอากาศยานแบบยิงจากภาคพื้นดิน (แซม) ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งในการชี้ขาดชะตากรรมของสงครามอย่างมากอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม พล.อ.เบน ฮอดจส์ อดีตผู้บัญชาการกองทัพอเมริกันภาคพื้นยุโรป เชื่อมั่นว่า ข้อเท็จจริงที่ว่า รัสเซียเตรียมการเพื่อสงครามครั้งนี้มานานร่วม 10 ปี แต่ก็ยังยึดครองได้แค่เพียง 18 เปอร์เซ็นต์ของยูเครน

ทำให้เชื่อได้ว่า รัสเซียจะเอาชนะยูเครน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และยูเครนจะชนะรัสเซียก็ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

นายพลนอกราชการผู้นี้ชี้ว่า จนถึงขณะนี้รัสเซียสูญเสียกำลังไปกว่าครึ่งล้าน กองเรือทะเลดำตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ และกองกำลังทางอากาศก็ไม่สามารถครองน่านฟ้ายูเครนได้อย่างแท้จริง

สะท้อนให้เห็นว่า รัสเซียเองในเวลานี้ ก็ไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดีเด่อะไรนักจริงๆ เช่นเดียวกัน