เรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่น (ใหญ่) หัดไหว้เจ้า : ธรรมเนียมและพิธีกรรมใน ‘วันไหว้’

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
บรรยากาศการเซ่นไหว้เจ้าในเทศกาลตรุษจีนที่วัดเล่งเน่ยยี่ (ภาพจาก ห้องสมุดภาพมติชน)

อย่างที่ผมได้เคยบอกไว้ในตอนแรกว่า เทศกาลตรุษจีนนั้นเป็น “มหกรรมเซ่นไหว้” อันยืดยาวยิ่งใหญ่ของคนจีนอย่างแท้จริง เล่ามาหลายตอนก็เพิ่งจะถึงวันส่งเจ้าเตาไฟเท่านั้นเอง ยังเหลือวันเซ่นไหว้อีกมากในเทศกาลนี้ แต่ก็นั่นแหละครับ ปัจจุบันนี้ลูกเจ๊กหลานจีนอาจไม่ได้ยึดถือปฏิบัติกันมโหฬารขนาดนี้ แค่ไหว้ในวันไหว้บางท่านก็คิดว่าเป็นภาระมากเหลือเกินแล้ว

ไว้สักตอนหนึ่งผมจะลองแบ่งปันแนวคิดเรื่องการไหว้ ชนิดที่ไม่ต้องฟุ่มเฟือยมาก แต่ได้รักษาขนบของบรรพชนและได้ฝึกฝนตนเองด้วย

ครานี้มาถึงวันที่คนทั้งหลายเขาปฏิบัติกันทั่วไป และถือว่าเข้าเทศกาลตรุษจีนจริงๆ แล้วครับก็คือ “วันไหว้”

 

ก่อนวันไหว้หนึ่งวันจะเป็น “วันจ่าย” ชื่อก็บอกครับว่าเป็นวันจ่าย ทุกบ้านจะออกไปจับจ่ายซื้อของเพื่อมาเตรียมเซ่นไหว้ในวันถัดไป สมัยที่ผมเด็กๆ นั้น ร้านค้าแผงลอยในตลาดสดแถวบ้านจะเปิดขายกันทั้งคืน ผู้คนเดินขวักไขว้ท่ามกลางอากาศเย็นสบาย เสียงเพลงจีนเก่าๆ ของคุณเติ้งลี่จวินจะได้ยินจนร้องตามได้ บัดนี้ก็เปลี่ยนไปแล้วตามเหตุตามปัจจัย

ที่จริงวันไหว้ยังไม่ใช่วัน “ปีใหม่” แต่เป็นวันสิ้นปี การที่ต้องไหว้ในวันสิ้นปีก็เพราะมีนัยของการ “ขอบคุณ” เทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์และเหล่าเทพบรรพชนที่ปกปักรักษาตลอดทั้งปีที่ผ่านมา จึงยังไม่นับเป็นปีใหม่หรือเป็น “วันถือ”

การเซ่นไหว้ขอบคุณสะท้อนคุณธรรมจริยาอีกอย่างหนึ่งของคนจีน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้อง “ตอบแทน”บุญคุณของใครก็ตามที่ช่วยเหลือ

อันที่จริงก่อนถึงวันไหว้ บรรดาชุมชน (เสี่ย) ต่างๆ ที่มีศาลเจ้าประจำชุมชนของตนมักจะจัดงานไหว้ขอบคุณเทพเจ้า (เสี่ยสีน/เสี่ยซิ้ง) กัน ช่วงนี้คณะงิ้วจะมีงานชุกชุมที่สุด คนเตี่ยจิวหรือแต้จิ๋วยึดถือปฏิบัติเรื่องนี้มาก และบางคนสงสัยว่าทำไมคนฮกเกี้ยนไม่เห็นมีงานเสี่ยสีนบ้าง

ครูของผมท่านบอกว่า อันที่จริงคนฮกเกี้ยนถือว่าการเซ่นไหว้ในวันส่างสีนหรือวันส่งเจ้าเท่ากับเป็นการไหว้เสี่ยสีนไปแล้วในตัว ศาลเจ้าต่างๆ ก็ไหว้ในวันนั้นแต่ไม่ได้ทำอย่างเอิกเกริก ส่วนเรื่องงิ้วผมคิดเอาเองว่า คณะงิ้วฮกเกี้ยนมันไม่มีในเมืองไทยเสียแล้วก็ไม่รู้จะจ้างใคร ครั้นจะจ้างงิ้วแต้จิ๋วซึ่งก็พอฟังกันรู้เรื่องบ้าง แต่เขาก็จองกันไว้หมดแล้ว คงไม่มีคิวเหลือให้

 

ในวันไหว้ แต่ละภาษาอาจมีธรรมเนียมต่างกัน แต่ส่วนมากจะเริ่มต้นด้วยการไหว้เทพเจ้าในเวลาเช้า เริ่มจากไหว้ฟ้า ไหว้เทพเจ้าประจำบ้าน หากบ้านใครตั้งเต่กี้จู้ก็จะไหว้ในเวลานี้ด้วย

มีธรรมเนียมเรื่อง “ของไหว้” ที่ผมอยากจะเล่า คือของไหว้เทพเจ้าตามธรรมเนียมฮกเกี้ยนนั้น จะไม่ได้มีข้าวและกับข้าว (เว้นแต่ในบางโอกาสจะมีการตั้งข้าวสวยบ้าง) โดยจะตั้งชา ผลไม้สามหรือห้าอย่าง และมี “ซำเส้ง” หรือเนื้อสัตว์บวงสรวงสามอย่างได้แก่ ไก่ต้ม ปลาต้มหรือทอดและเนื้อหมูสามชั้นต้มวางไว้ในถาดเดียวกัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนสัตว์มงคลสามคือหงส์ (ไก่) มังกร (ปลา เพราะเป็นสัตว์มีเกล็ด) และกิเลน (หมู) หากตั้งเนื้อสัตว์พึงมีเหล้าแดงถวาย และจะมีขนมมงคลอื่นๆ ด้วยก็ได้

การตั้งในถาดจะเรียงจากไก่ หมูและปลาจากด้านขวามือของเราตามลำดับ เพราะถือว่าหมูเป็นเอกในของเหล่านี้จึงต้องอยู่ตรงกลาง ไก่รองลงมาและปลาท้ายสุด โดยจะมีการวางบะหมี่เส้นสดก้อนหนึ่งในถาดและวางขนมเต่าแดง (อั่งกู๊) ทำจากแป้งข้าวเหนียวพิมพ์รูปเต่าไส้ถั่วกวนกับขนมถ้วยฟู (ฮวดโก้ย) อย่างละชิ้นไว้บนเนื้อสัตว์เหล่านี้

ท่านว่า เนื้อสัตว์นั้นแทน “ฮก” และ “ลก” (หรือจูจ๋าย) คือวาสนาและยศศักดิ์ไปแล้ว แต่ยังขาดสิ่ว (อายุวัฒนะ) จึงต้องวางเส้นหมี่ลงไปแทนความมีอายุยืนด้วย ครั้นมีแต่ของเค็มก็ขาดความหวาน จึงต้องเอาขนมหวานอันมีความหมายมงคลใส่ลงไปในถาดเดียวกัน “เส้งเล้” หรือเนื้อสัตว์บวงสรวง/บรรณาการก็สมบูรณ์

มีเคล็ดนิดหน่อยว่า หากไหว้เทพเจ้า นอกจากจะเรียงเช่นนี้แล้ว หัวของปลาและไก่จะต้องหันไปทางเทพเจ้า ส่วนหมูนั้นจะยกส่วนที่เป็นเนื้อแดงขึ้นด้านบน เพื่อแสดงถึงความเป็นมงคลเพราะมัน “อั่ง” หรือแดงนั่นเอง

พอไหว้เทพเสร็จ สายๆ ก็จะไหว้บรรพชนด้วยกับข้าวและข้าว เพราะ “ผีกินอย่างคน” เรื่องกับข้าวไหว้แต่ละภาษาก็มีความแตกต่างกันออกไป แต่รวมๆ มักเป็นของดีมีราคาและมีนัยที่เป็นมงคล ส่วนคนฮกเกี้ยนบ้านผมจะนิยมไหว้ด้วยกับข้าวสิบสองถ้วย (จับหยี่ฉ่ายอั้ว) โดยใช้กับข้าวสิบสองอย่างหรือหกอย่างแต่แบ่งอย่างละสิบสองถ้วยก็ได้

เรื่องกับข้าวไหว้นี่ก็น่าจะยกเป็นอีกตอนสนุกๆ ได้เลย เพราะมีนัยและเรื่องเล่าต่างๆ อีกเพียบ

 

มีธรรมเนียมที่คนไม่ค่อยรู้หรือเลิกปฏิบัติกันแล้ว คือจะยกเอาเส้งเล้ทั้งถาดที่ไหว้เทพเจ้าตะกี้มาไหว้บรรพชนด้วย ไม่จำเป็นต้องจัดเพิ่มอีกชุด เพียงแค่เปลี่ยนขนมเป็นชิ้นใหม่และกลับหัวปลามาอีกด้าน ให้หางชี้ไปทางแท่นบูชาบรรพชน ส่วนเนื้อหมูก็กลับเอาด้านหนังขึ้นแทน

ท่านว่าทำเช่นนี้เพราะถือตามคติว่าศักดิ์ว่าสูงกว่าย่อมประทานให้ต่ำกว่าได้ เทพจึงสามารถประทานของบรรณาการเหล่านี้มาให้เหล่าบรรพชน บรรพชนก็รับไว้นิดหน่อยแค่หนังหมู หัวไก่และหางปลา ที่เหลือจะได้ส่งให้ลูกหลานมีกินมีใช้ต่อไป

ธรรมเนียมข้างต้นคนฮกเกี้ยนและกวางตุ้งที่พอรู้ธรรมเนียมยังปฏิบัติกันอยู่ แต่คนสมัยนี้อาจจะรู้สึกแปลกๆ เพราะดูเหมือนไม่เคารพ เอาของเหลือมาเวียนไหว้

อันที่จริงเป็นความเคารพอย่างสูงทีเดียวเพราะเข้าใจระบบลำดับศักดิ์ในธรรมเนียมจีน อีกทั้งต้องเข้าใจว่า เส้งเล้โดยนัยของการถวายมิใช่การถวายของกินโดยตรง แต่เป็นการถวายบรรณาการหรือของมีค่าฝากผู้ใหญ่ (ผมได้เขียนเรื่องพวกนี้ในบทความเก่าๆ ไว้บ้างแล้วครับ) จะส่งต่อกันก็ย่อมได้

เมื่อกราบไหว้เซ่นสรวงบรรพชนนั้น ก็ให้ผู้นำของวงศ์ตระกูลเป็นผู้เซ่นไหว้ก่อน แล้วไหว้กันลงไปตามลำดับศักดิ์ของครอบครัว ถ้าผู้ไหว้แต่งงานแล้ว สามีภรรยาจะไหว้ด้วยกันแต่ให้สามียืนด้านซ้ายของภรรยา มักนิยมให้ภรรยาหรือสะใภ้เป็นผู้รินชาเพื่อแสดงถึงความเคารพและการปรนนิบัติ ส่วนลูกชายรินเหล้าเป็นเรื่องการเฉลิมฉลองและปีติยินดี

ที่จริงการเซ่นไหว้แบบจีนนั้น ไม่จำเป็นต้องรอให้ธูปหมดจึงค่อยเผากระดาษเงินกระดาษทอง แต่พอธูปหมดไปสักครึ่งดอกหรือได้เวลาพอสมควรแล้ว ท่านก็ให้เอากระดาษเงินกระดาษทองที่เราตั้งไว้ วนรอบๆ เหนือธูปที่ปักไหว้อยู่

อาจารย์ของผมอธิบายว่า เพื่อให้กลิ่นควันธูปของเทพหรือบรรพชนที่เราไหว้ติดไปบนเงินทองเหล่านี้ เมื่อเผาส่งไปแล้ว ท่านเจ้าของจะได้จำได้ บางที่ก็มีถุงบรรจุพร้อมป้ายระบุผีบรรพชนผู้รับก็มี แต่ส่วนของเทพมักใช้วิธีการเช่นนี้เสมอ

 

การไหว้บรรพชนจะต้องเสร็จก่อนเที่ยง พอถึงเวลาบ่ายสามโมงลงไปตามระบบยามแบบจีน พลังหยินหยางก็จะเริ่มเปลี่ยนเข้าสู่ด้านหยางหรือด้านมืดและโลกวิญญาณเบื้องล่างมาก จึงจะเริ่มทำการเซ๋นไหว้ “โฮ่เฮียตี๋” หรือ “พี่น้องที่ดี”

ผมเคยเข้าใจมาตลอดว่า การไหว้โฮ่เฮียตี๋คือการไหว้ผีไร้ญาติ แต่เต็กซือหูท่านสอนว่าที่จริงเป็นธรรมเนียมอีกอย่าง คือการไหว้โฮ่เฮียตี๋นั้น แต่เดิมเป็นการไหว้ญาติพี่น้องห่างๆ หรือผู้สนิทสนมกันที่เรานับถือดุจญาติ มิใช่สัมภเวสี ทว่า ท่านเหล่านี้อาจตายไปโดยที่ลูกหลานไม่ได้เซ่นสรวง หรือห่างหายกันไปโดยไม่ทราบร้ายดี จึงได้ตั้งเครื่องเซ่นไหว้ระลึกถึงเผื่อแผ่ไปด้วย และจะตั้งกันที่ “หลังบ้าน” ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับคนสนิทกันในวัฒนธรรมจีน (เข้าหลังบ้านมาเมาท์กันนั่นแหละครับ) มิใช่นอกชายคา

บ้านญาติของผมที่ปากน้ำ ซึ่งเป็นชุมชนจีนแห่งแรกที่เก่าแก่สุดในจังหวัดระนอง (รัตนโกสินทร์ตอนต้น) ตัวบ้านหลายหลังยังคงเป็นอย่างเดิม คือเป็นเรือนครึ่งปูนครึ่งไม้ ด้านหน้ามีรั้วรอบขอบชิดและมีถนนเล็กๆ ใช้ค้าขายและสัญจร ทว่า ด้านหลังของบ้านสามารถเชื่อมถึงกันหมด ผู้ใหญ่บอกว่า ด้านหน้าเขาให้ผู้ชายใช้

ส่วนด้านหลังเอาไว้ให้แม่บ้านไปมาหาสู่กัน (ตามวัฒนธรรมหวงห้ามผู้หญิงอย่างเก่า) เฉพาะญาติๆ หรือคนสนิทกันเท่านั้นจึงจะใช้พื้นที่เชื่อมด้านหลังบ้านได้

 

การไหว้โฮ่เฮียตี๋ในธรรมเนียมฮกเกี้ยนจะตั้งของไหว้บนโต๊ะมิได้วางกับพื้น และจัดเป็นอาหารอย่างไหว้ปกติ เหตุที่ไม่สามาถตั้งไหว้ในบ้านได้นั้น เพราะในบ้านมีเทพบรรพชนอยู่แล้ว ผีอื่นมิอาจเข้าได้ แม้แต่คำว่าโฮ่เฮียตี๋เองก็บ่งบอกถึงความเคารพ บางครั้งก็เรียกว่าเหล่าเจ็กแปะ คือนับถือเป็นญาติพี่น้อง แต่ภายหลังคงมีการเลือนกลายทางวัฒนธรรมจึงมีการผสมคติของการไหว้สัมภเวสีและผีไร้ญาติเข้าด้วยกัน

อีกประเด็นคือเรื่องพื้นที่ในการตั้งโต๊ะไหว้ ผมเคยสงสัยว่าทำไมบ้านอาก๊อง (ปู่) จึงตั้งไหว้เป็นโต๊ะอยู่ในชายคาหน้าบ้าน แต่ไม่ได้ไหว้ในโถงบ้าน ผิดกับบ้านทวดซึ่งมีแท่นบรรพชน หลายบ้านก็มีธรรมเนียมแบบเดียวกัน

ท่านว่าหากมิได้มีการตั้งแท่นบูชาบรรพชนในบ้าน หรือต้องการจะไหว้บรรพชนซึ่งอยู่ในที่อื่นๆ หรืออยู่ทางเมืองจีน ก็จะปฏิบัติเช่นนี้ คือตั้งโต๊ะไหว้นอกบ้านหรือหน้าบ้าน

ไหว้โฮ่เฮียตี๋เสร็จก็จะหมดพิธีกรรมในวันไหว้แล้ว ทว่าพอถึงการเปลี่ยนยามแรกเข้าสู่วันใหม่ หลายคนรอคอยที่จะไหว้เทพแห่งโชคลาภ และรอซินแสบอกว่าเทพจะมาทิศไหนอย่างไร แต่มีธรรมเนียมอีกอันที่ถูกลืมเลือนไปคือการไหว้ “ชุ้นตั๋ว” หรือไหว้รับวสันต์

โปรดติดตาม •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง