Poor Things ใครน่าสงสารกันแน่

วัชระ แวววุฒินันท์

ต้องยอมรับว่าตอนนี้กระแสของหนังเรื่อง “Poor Things” มาแรง ทั้งจากการที่เดินสายกวาดรางวัลในเวทีต่างๆ มาแล้วนับไม่ถ้วน และยังได้เข้าชิงถึง 11 รางวัลในงานประกาศผลออสการ์ปีนี้ที่จะมีขึ้นในเช้าวันที่ 11 มีนาคม ตามเวลาบ้านเรา

ต้องลุ้นกันว่าสุดท้ายแล้วจะคว้าไปกี่รางวัล โดยเฉพาะในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมที่ เอ็มม่า สโตน ฝากการแสดงอันทรงพลังของเธอไว้ ที่อาจจะทำให้เธอได้ตุ๊กตาออสการ์นำหญิงไปนอนกอดเป็นตัวที่สองก็ได้ และที่สำคัญกระแสที่ว่านี้มาจากปากต่อปากของผู้ที่ได้ไปชมมาแล้ว ต่างให้คะแนนบวกกับเรื่องนี้ไม่น้อย

ขอเล่าเรื่องย่อกันก่อนเพราะตั้งใจจะเขียนถึงหนังอีกสามเรื่องที่มีอะไรบางอย่างเชื่อมโยงกันกับ Poor Things

หนังเรื่องนี้สร้างจากนิยายชื่อเดียวกันนี้เขียนโดย อลาสแดร์ เกรย์ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว กำกับฯ โดย ยอร์กอส แลนธิมอส ที่มีแนวทางการทำหนังแนวเหนือจริงและวิพากษ์สังคม

หนังเล่าเรื่องในยุควิกตอเรียนของอังกฤษ ถึงการที่หมอศัลยกรรมชื่อ ก็อตวิน แบ็กซ์เตอร์ ได้สร้าง “เบลล่า” ขึ้นมา โดยการนำสมองของเด็กทารกแรกเกิดมาใส่ในร่างกายของหญิงที่เพิ่งเสียชีวิต

เราจึงได้เห็นเบลล่าที่มีร่างกายเป็นผู้ใหญ่แล้ว หากมีสมองของเด็กน้อยค่อยๆ เรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่หมอก็อตวินบรรจุให้ไว้เหมือนโปรแกรมการทดลอง

นับวันที่สมองพัฒนาขึ้น การเรียนรู้มากขึ้น เบลล่าก็มีพัฒนาการในการใช้ร่างกายและความคิดที่เป็นผู้ใหญ่ที่รู้อะไรมากขึ้น โดยทั้งหมดนี้ยังใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังใหญ่ของหมอ ที่เหมือนเป็นกรงขังชีวิตของเธอเอาไว้

ด้วยธรรมชาติของชีวิต เบลล่าเริ่มเรียนรู้เรื่องเพศที่เป็นประเด็นใหญ่ของเรื่องนี้ เริ่มต้นจากเรื่องเพศในด้านสรีระและความต้องการพื้นฐาน

จนไปถึงเรื่องเพศที่เป็น “เพศสภาพ” ตามตัวกำหนดของสังคม

วันหนึ่งเบลล่าที่รักการเรียนรู้และอิสระเสรี อยากออกจากกรงขังนี้เพื่อไปผจญโลกภายนอก โดยมีผู้ชายที่หวังประโยชน์ทางร่างกายจากเธอชื่อ ดันแคน เวดเดอร์เบิร์น เป็นคนพาเธอหนี

เบลล่าบอกเรื่องนี้กับก็อตวิน และเขาก็ยินยอมให้เธอไปโดยดี แม้ลึกๆ จะห่วงใยก็ตาม เพราะเขาคิดว่า วิทยาศาสตร์ต้องอยู่กับข้อมูลและความจริง ห้ามเอาเรื่องของความรู้สึกความผูกพันมาเกี่ยวข้อง ซึ่งวิธีคิดนี้ก็อตวินได้รับอิทธิพลมาจากพ่อของเขาที่เป็นนักวิทยาศาตร์ ที่กระทำการทดลองกับเขาราวกับเขาไม่ใช่ลูกในไส้ เขาจึงใช้มันกับเบลล่า

ความสนุกและน่าติดตามของหนังมีมากขึ้นเมื่อเบลล่าได้ออกไปผจญภัย ตอนนี้สีของหนังก็จะเปลี่ยนจากที่เป็นขาวดำเมื่ออยู่ในบ้าน มาเป็นสีสดใสเจิดจ้า เมื่อรวมกับการออกแบบงานสร้างที่เหนือจริงเข้าไปอีก ก็เปรียบเหมือนสายตาของเบลล่าที่เห็นทุกอย่างแปลกใหม่ น่าตื่นตาตื่นใจไปทั้งหมด

เพราะเธอไม่ได้เติบโตขึ้นมาแบบคนปกติ เบลล่าจึงใช้ชีวิตแบบอิสระเสรีที่ไม่มีกรอบของสังคมมาคอยกำหนด โดยเฉพาะกับความเป็นเพศหญิงที่ถูกกำหนดโดยเพศชายว่าต้องเป็นอย่างไร ห้ามทำอะไร และต้องทำอะไร

แต่เบลล่าไม่ใช่ สิ่งที่เธอคิด พูด และทำออกมา จึงเป็นพฤติกรรมที่เหมือนตบหน้าผู้ชายอยู่ตลอดเวลา

ในระหว่างการเดินทางของเบลล่าและดันแคนมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ในเรื่องเดียวกันนี้ คนทั้งสองกลับมองไปคนละด้าน เบลล่ามองอย่างเปิดกว้างมากกว่า และเป็นเสรีมากกว่า ในขณะที่ดันแคนมองอย่างคนที่คิดว่าตนเองเป็นผู้ชาย เหนือกว่า ถูกต้องกว่า

เราจะได้เห็นการรับมือกับปัญหาที่แตก ต่างกัน ที่เท่ากับไปจี้จุดว่าแท้ที่จริงแล้วคนที่ต่ำต้อย อ่อนด้อยต่อความเป็นจริงของชีวิตก็คือเพศชายนั่นเอง

ย้อนไปตอนที่เบลล่าจะจากหมอก็อตวินไปผจญภัย ก็อตวินได้บอกกับผู้ช่วยของเขาว่า

“การจะเป็นคนที่สมบูรณ์นั้น คนคนนั้นต้องได้เผชิญทั้งเรื่องที่เป็นสุข สวยงาม และเรื่องที่โหดร้าย ชวนทุกข์ระทม นั่นจะทำให้เราเรียนรู้โลกได้อย่างแท้จริง และเปิดเผยตัวตนจริงๆ ของเราออกมา”

และเบลล่าก็ได้เรียนรู้โลกที่แท้จริงมากมาย แน่นอนที่มันทั้งทำให้เธอมีความสุข เช่น การได้เต้นรำแบบปลดปล่อย การได้กินขนมทาร์ตไข่แสนอร่อย การได้ฟังสตรีนางหนึ่งดีดกีตาร์และร้องเพลงออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจ หรือการเป็นทุกข์จนต้องหลั่งน้ำตาออกมาเพราะสงสารเด็กชาวอียิปต์ที่นอนอดตายตรงหน้า

จากที่เริ่มต้นด้วยความไร้เดียงสาแบบเด็กน้อย สุดท้ายเธอก็ได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงเป็นผู้ใหญ่เพศหญิงที่ไม่ยอมติดอยู่ในกรอบเดิมๆ สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างมีอิสระเสรี และมีความสุขในแบบฉบับที่เธอเป็นผู้เลือกเอง

ซึ่งในท้ายเรื่อง สิ่งที่เธอเลือกทำกับผู้ชายคนหนึ่งที่หลงตัวเองสุดสุดนั้น สะใจผู้ชมที่คอยเอาใจช่วยเธอไม่น้อยเลย

จากหนังเรื่องนี้ ทำให้ผมนึกถึงหนังอีก 3 เรื่องนั่นคือเรื่อง “พินอคคิโอ” ที่ทุกคนคงรู้จักดี อีกสองเรื่องคือ “A.I. Artificial Intelligence” ออกฉายในปี 2544 และ “Mary Shelly’s Frankenstein” ที่ฉายมาตั้งแต่ปี 2537 แล้ว

ทั้งสามเรื่องนี้มีประเด็นร่วมกันกับ Poor Things อย่างหนึ่งก็คือ “การเรียนรู้โลกของสิ่งที่ไม่ใช่คนปกติ”

พินอคคิโอ เป็นหุ่นไม้ที่ถูกนางฟ้าเสกให้มีชีวิต และถูกล่อลวงให้ทิ้งช่างไม้ที่เป็นคนสร้างเขาขึ้นมาเพื่อออกไปผจญโลก

พินอคคิโอมีแต่ความคิดใสๆ มองโลกในแง่ดี จึงกลายเป็นเหยื่อของคนที่ไม่หวังดีกับเขา เขาถูกหลอกและถูกกระทำต่างๆ นานา แต่ด้วยความเป็นนิทานเด็ก ตอนจบจึงออกแนวแฮปปี้เอนดิ้งสักหน่อย

ส่วน A.I. Artificial Intelligence ตัวละครเอกเป็นเด็กชายชื่อ “เดวิด” เป็นหุ่นเช่นกัน แต่เป็นหุ่นยนต์ในโลกอนาคตที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เหมือนคน และเป็นหุ่นยนต์รุ่นแรกที่โปรแกรมให้รู้สึกรักเป็น เดิมทีเดวิดอยู่ร่วมกับครอบครัวมนุษย์ แต่มีเหตุให้เขาต้องออกมาผจญภัยข้างนอกเพียงลำพัง และแน่นอนที่หุ่นยนต์เด็กๆ อย่างเขาจะรับมืออะไรกับความร้ายกาจหลอกลวงของมนุษย์ได้ ทั้งนี้ เขาเพียงแต่ต้องการความรักตอบแทน และสิ่งที่เขาเที่ยวตามหาคือนางฟ้าที่เขาเชื่อว่าจะมอบสิ่งที่เขาต้องการให้ได้ แม้ว่าสุดท้ายหุ่นก็คือหุ่นก็ตามที

สำหรับเรื่อง “Mary Shelly’s Frankenstein” นั้นมีความแตกต่างออกไป โดยแฟรงเกนสไตน์ฉบับนี้ถือว่าเป็นฉบับที่กำเนิดตัวละครแฟรงเกนสไตน์ให้โลกได้รับรู้ ซึ่งแฟรงเกนสไตน์ในต้นฉบับที่ว่านี้มีเรื่องราวที่น่าสงสาร ชวนหดหู่ไม่น้อย ภายหลังจึงได้ถูกดัดแปลงต่อเติมให้กลายเป็นอสูรร้ายตามภาพที่เราส่วนใหญ่รับรู้

Mary Shelly ที่เป็นคนเขียนเรื่องนี้เขียนว่า แฟรงเกนสไตน์เกิดจาการทดลองของนักวิทยาศาตร์ที่ชื่อ “วิกเตอร์ แฟรงเกนสไตน์” ที่สร้างเขาขึ้นมาจากการนำชิ้นส่วนอวัยวะต่างๆ ของศพมาเย็บเป็นร่างมนุษย์ และใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นให้มีชีวิต ด้วยอุบัติเหตุทำให้แฟรงเกนสไตน์หลุดออกมาจากห้องแล็บ ต้องออกมาผจญโลกตามลำพัง แต่ทุกอย่างไม่ง่ายเพราะรูปลักษณ์ของเขาทำให้คนหวาดกลัวและเกลียดชังในทันทีที่เห็น

ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังพยายามเรียนรู้ชีวิต และหัดพูด หัดเขียน เพื่อจะได้ตามหาพ่อผู้ให้กำเนิดเขาที่เขาผูกพัน ครั้งหนึ่งเขาช่วยเด็กให้รอดจากการจมน้ำ แต่ได้รับรางวัลเป็นก้อนหินจากพ่อแม่ของเด็กที่ปาใส่เพราะตกใจในรูปลักษณ์ จากนั้นความรู้สึกของเขาต่อมนุษย์ก็เปลี่ยนไป

และทำให้เขาต้องทนหลบซ่อนอยู่คนเดียวอย่างเปลี่ยวเหงา

ทั้งสี่เรื่องนี้ได้บอกเราว่า โลกและสังคมของมนุษย์นั้นน่ากลัวเพียงใด ความน่ากลัวนั้นเกิดจากการเลือกและตั้งใจกำหนดให้เกิด “ความแตกต่าง” ขึ้นมา เพราะความแตกต่างจะทำให้เกิดความเหนือชั้นกว่า มีอำนาจมากกว่า โดยใช้ความเชื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจนั้น

ทั้งสี่ตัวเอกของหนังที่ผมยกขึ้นมานั้นล้วนมีความต่างจากการที่ไม่ใช่คนปกติทั่วไป ไม่เท่านั้นยังเป็นสิ่งที่ใสบริสุทธิ์ มองโลกในแง่ดี จริงใจ และที่สำคัญพวกเขาต้องการความรักเช่นเดียวกับมนุษย์

ทุกตัวละครล้วนถูกกำหนดให้เป็น “คนนอก” กลายๆ ไม่ว่าจะหุ่นยนต์อย่างเดวิด เด็กหุ่นไม้อย่างพินอคคิโอ หรือร่างเสมือนคนอย่างแฟรงเกนสไตน์ หรือความเป็น “เพศหญิง” ของเบลล่า ที่เป็นคนนอกในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่

ในเรื่อง Poor Things สิ่งหนึ่งจะสังเกตได้ว่า คนที่เบลล่ารู้สึกว่าคบหา คุยด้วยอย่างสนิทใจนั้นเป็นคนประเภทที่แตกต่างและ “ถูกกดขี่และถูกกระทำ” ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสารชายผิวดำบนเรือ ที่มาพร้อมกับหญิงผิวขาวสูงอายุที่ต่อกรทางความคิดและวาจากับเบลล่าได้อย่างสนุก รวมทั้งโสเภณีผิวดำที่ซ่องกลางกรุงปารีส

คนเหล่านี้จะถูกสังคมทั่วไปมองอีกแบบหนึ่ง จัดว่าเป็นคนละพวก คนละชั้น และต่ำต้อยเสียนักแล้ว และคนเหล่านี้นี่เองที่กลับเข้าใจโลก เงยหน้าขึ้นสู้กับความเหลวแหลกของโลก และพร้อมจะท้าทายกับค่านิยมเดิมๆ ตามที่คนมีอำนาจกว่าได้สร้างเอาไว้

เมื่อดู Poor Things จบลง ผู้ชมก็จะได้ตั้งคำถามว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่น่าสงสารที่สุดนั้น อาจจะเป็นมนุษย์เพศชายที่หลงตัวเอง ภาคภูมิใจในความมีอำนาจของตน และคิดว่าเพศหญิงและคนที่แตกต่างจากเขานั้นต่ำต้อยกว่า และด้อยคุณค่าเสียเหลือเกิน

จะว่าไปในสังคมบ้านเรา ก็ยังมีคนที่น่าสงสารอยู่อีกมากนัก…ท่านผู้อ่านว่าไหม?  •

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์