ตรวจ ‘ราชการ’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

พวกเราคงเคยได้ยินสำนวนแต่ครั้งโบราณที่ว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ” กันมาแล้วทุกคน

เมื่อหยุดคิดพิจารณาแล้ว จากประสบการณ์ของผมที่ผ่านมาจนถึงวัยนี้ ผมเห็นว่าสำนวนดังกล่าวเป็นความจริงแท้ และสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริงหลายแง่มุม

ไม่ต้องดูอื่นไกลครับ ลองนึกดูว่าถ้าเป็นนักเรียนที่เรียนหนังสืออยู่ในห้อง ซึ่งอยู่ในโรงเรียนที่กรุงเทพฯ คุณครูพูดถึงจังหวัดเชียงใหม่ให้ตายกันไปข้างหนึ่ง นักเรียนก็ไม่เห็นภาพแจ่มชัดได้เท่ากับเดินทางไปเชียงใหม่สักครั้งหนึ่งในชีวิต ไปถึงเชียงใหม่แล้วจะเข้าใจได้เลยทีเดียวว่า บ้านเมืองเขาเป็นอย่างไร พระธาตุดอยสุเทพหน้าตาเป็นอย่างนี้นี่เอง

ความเข้าใจอย่างนี้เห็นเข้าครั้งหนึ่งก็ซึมซาบไว้ในความทรงจำ ผู้เป็นเจ้าของความทรงจำจะหยิบออกมาใช้ประโยชน์เมื่อไหร่ก็ได้ทั้งนั้น

 

เมื่อครั้งที่ผมเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน ตอนเป็นนักเรียนชั้นเล็กคือชั้นประถม โรงเรียนพาไปไหนบ้างแต่ไปไม่ไกล ผมเข้าใจว่าเพื่อความสะดวกแก่การเดินทางและการดูแลนั่นเอง เช่น พากันเดินแถวไปดูสถานเสาวภา ซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนประมาณ 1 กิโลเมตร ได้เห็นงูนานาชนิด ได้เห็นเจ้าพนักงานรีดพิษงูไปทำเซรุ่ม และได้เห็นเพื่อนที่กลัวงูแบบสุดใจขาดดิ้นเป็นลมไปต่อหน้าต่อตา ฮา!

โตขึ้นมาหน่อยอยู่ชั้นที่สมัยนั้นเรียกว่า ม.ศ.สาม โรงเรียนย่ามใจและพาเด็กนักเรียนคือผมและเพื่อนไปจังหวัดสระบุรี ที่เคยเรียนวิชาประวัติศาสตร์มาบ้าง เรียนวิชาภาษาไทยมาบ้าง หนีไม่พ้นที่จะต้องเรียนรู้เกี่ยวข้องกับพระพุทธบาท ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรมเสมอ คราวนี้ก็ได้เห็นกับตาของตัวเองเสียที

ตอนพักกินข้าวเที่ยง คุณครูบอกให้ทุกคนเตรียมอาหารจากบ้านมาให้พร้อมเพื่อไปปิกนิกในสวนพฤกษศาสตร์พุแค นอกจากกินข้าวแล้วก็ได้ดูต้นไม้ต้นนั้นต้นนี้เป็นความรู้ติดตัวมาด้วย

แถมความรู้สำคัญ คือ กับข้าวบ้านไหนอร่อยมากกว่าบ้านไหน เพราะเพื่อนทุกคนเอามาแบ่งกันกินคนละคำสองคำ ถ้าจะบอกว่ายังจำรสอร่อยของอาหารวันนั้นได้ ย่อมเป็นการโกหกเกินไป แต่จำได้แน่นอนว่าสนุกเหลือเกินกับการล้อมวงกันกินข้าวคราวนั้น

นี่เป็นพยานเล็กๆ น้อยๆ เพื่อยืนยันว่าการได้เดินทางไปรู้ไปเห็นของจริงในสถานที่จริง อย่างไรเสียก็เป็นประโยชน์สำหรับการได้รับรู้และนำไปคิดอ่านอะไรที่ต่อเนื่องไปได้อีกยาวไกล

 

ในชีวิตการรับราชการของผม หลังจากใช้ชีวิตเป็นอาจารย์อยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยาวนาน 21 ปีแล้ว ผมก็ไปใช้ชีวิตโลดแล่นอยู่ในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ถึงสามกระทรวง เป็นเวลานานนับรวมกันได้ 14 ปี จนกระทั่งเกษียณอายุเมื่อพุทธศักราช 2558 ที่ผ่านมา (เผลอแป๊บเดียวก็เกือบ 10 ปีเข้าไปแล้ว!)

สามกระทรวงที่ว่า คือ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักนายกรัฐมนตรี

เรียกว่าเป็น “ชายสามกระทรวง” ได้เต็มภาคภูมิ

ผมได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยในฐานะเป็นรองปลัดกระทรวง เป็นหัวหน้าหน่วยในฐานะเลขาธิการสภาการศึกษาและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น สำนักงานปลัดของเรา มีตำแหน่งผู้ตรวจราชการซึ่งเป็นตำแหน่งระดับสูงเทียบเท่าอธิบดีอยู่เป็นจำนวนมากกว่าสิบคน แบ่งความรับผิดชอบออกไปตามเขตตรวจต่างๆ และเป็นการตรวจราชการที่แตกต่างไปจากผู้ตรวจราชการของกระทรวงอื่น

เพราะผู้ตรวจราชการกระทรวงอื่นนั้น ประเด็นการตรวจย่อมจำกัดวงอยู่เพียงหน้าที่ของกระทรวงและกรมในสังกัด ระบบงานและวัฒนธรรมของเรายังไม่เอื้อต่อการที่จะมองข้ามเขตแดนของกระทรวง

ในขณะที่ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สามารถที่จะตรวจหรือเชื่อมต่องานระหว่างกระทรวงทั้งหลายได้โดยไม่มีข้อจำกัด รวมตลอดถึงการตรวจติดตามการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลในแต่ละยุคแต่ละสมัยด้วย

จะเรียกว่าเป็นผู้ตรวจราชการกองกลางซึ่งมีความคล่องตัวกว่าพูดตรวจราชการของกระทรวงก็ว่าได้

 

ในชีวิตราชการของผม จังหวะชีวิตไม่เอื้ออำนวยให้ผมได้ดำรงตำแหน่งและทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจราชการเลยแม้แต่กระทรวงเดียว แต่นั่นก็ไม่ได้แปลความว่า ผมไม่เคย “ตรวจราชการ” เพราะแม้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่อย่างอื่น ย่อมเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่ผมจะนั่งกอดโต๊ะของตัวเองไว้ที่กระทรวงตลอดเวลา ผมต้องเดินทางไปประชุม ไปดูนู่นดูนี่ ไปรับฟังการปฏิบัติและได้เห็นของจริงในพื้นที่

ถึงจะเห็นมากเห็นน้อย ของจริงบ้างของปลอมบ้าง ก็ยังดีกว่าไม่ได้เห็นอะไรเลยไม่ใช่หรือครับ

ดูข่าวสารบ้านเมืองในช่วงนี้ เห็นข่าวท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ท่านเดินทางไปตรวจราชการหรือไปเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของหน่วยราชการต่างๆ อยู่บ่อยครั้งพอสมควร เช่น เมื่อไม่นานมานี้ท่านเดินทางไปที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อไปดูการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งมีผู้คนบ่นกันมากว่า ในขณะที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก ตม.ที่สนามบินแห่งนั้นเป็นเหมือนคอขวด ทำให้นักท่องเที่ยวต้องเสียเวลาและเสียอารมณ์ไปอย่างน่าเสียดายกับกระบวนการการทำงานของบ้านเรา

การไปตรวจราชการของท่านนายกรัฐมนตรีครั้งนั้น รายงานข่าวแจ้งว่าเป็นการเดินทางไปแบบไม่ได้แจ้งให้ผู้รับตรวจรู้ล่วงหน้า

สิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้เห็นจึงเป็นความจริงที่ไม่ใช่ผักชีโรยหน้า และน่าจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ท่านจะได้คิดอ่านและสั่งการแก้ปัญหาต่อไป

ในขณะที่ผมยังรับราชการในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ มีบ้างเหมือนกันที่ผมมีโอกาสไปเยี่ยมชมการปฏิบัติของหน่วยงานในสังกัดของผมโดยไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้า

ที่ทำอย่างนั้นไม่ได้ตั้งใจไปจับผิดอะไร แต่ทำด้วยความประสงค์ที่อยากจะเห็นของจริงโดยไม่ต้องตระเตรียมรับรองให้โกลาหลเสียเวลากันไปเปล่าๆ

 

ยังจำได้ดีว่า เมื่อผมย้ายงานจากจุฬาฯ ไปอยู่ที่กระทรวงยุติธรรมใหม่ๆ งานในหน้าที่รองปลัดกระทรวงยุติธรรมส่วนหนึ่ง คือ การกำกับดูแล สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งในวันนั้นยังไม่มีฐานะเป็นกรม งานจึงขึ้นสังกัดอยู่กับสำนักงานปลัดกระทรวงโดยตรง

มีอยู่วันหนึ่งผมเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ด้วยภารกิจของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งซึ่งผมเป็นกรรมการของเขาอยู่

วันนั้นผมตื่นเช้าตามธรรมดาของผม ยังพอมีเวลาว่างอยู่ประมาณชั่วโมงครึ่งก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมตามรายการของรัฐวิสาหกิจแห่งนั้น ผมจึงขอยืมรถเขาคันหนึ่ง แล้วเดินทางไปขอเยี่ยมชมการปฏิบัติหน้าที่ของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนประจำจังหวัดเชียงใหม่

เมื่อไปถึงแล้ว ผมก็ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ เพื่อแจ้งความประสงค์ว่าตัวเองเป็นใคร มาทำอะไร

อีกสักครู่ท่านผู้อำนวยการสถานพินิจแห่งนั้น ซึ่งมีบ้านพักอยู่ในบริเวณนั้นเอง ก็มาพบผมและพาผมเดินเยี่ยมชมสรรพสิ่งและกิจการในสถานพินิจ

เด็กๆ กำลังกินข้าว เสียดายที่ผมจำเมนูไม่ได้แล้วว่าวันนั้นมีอะไรกินบ้าง แต่จำได้แน่ว่า ผมได้ขอทดลองกินอาหารที่เด็กทั้งหลายกำลังรับประทาน ด้วยความอยากรู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไร ผลปรากฏว่าสอบผ่าน เป็นอาหารที่มีคุณภาพและรสชาติใช้ได้ครับ

แน่นอนว่าในสถานการณ์อย่างนั้นผมย่อมไม่หวังที่จะกินอาหารมิชลินหนึ่งดาวอยู่แล้ว

 

ผมมีข้อสังเกตส่วนตัวผมว่า ผู้ไปตรวจราชการ หลายครั้งต้องอยู่ในฐานะที่มีการแจ้งล่วงหน้าไปยังหน่วยรับตรวจ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้เตรียมตัว เช่น เตรียมข้อมูล เชิญผู้เกี่ยวข้องให้มาประชุมพร้อมกันหลังจากการตรวจราชการเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ตรวจราชการจึงต้องมีความเข้าใจถึงความจริงข้อนี้ และรับฟังข้อมูลที่ตัวเองได้เห็นด้วยตาหรือได้รับฟังด้วยหูมาแล้วด้วยความพินิจพิจารณา

ใจเขาใจเรานะครับ การที่หน่วยรับตรวจอยากจะให้ผู้มาตรวจราชการได้เห็นแง่มุมที่ดีที่สุดของหน่วยงานของเขา ได้รับฟังปัญหาเฉพาะที่เขาอยากเล่าให้ฟัง ผมเห็นว่าเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา

เป็นผม ผมก็อยากจะทำอย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องคิดผิดคิดชั่วแน่นอนครับ

ผู้ไปตรวจราชการจึงต้องใช้ดุลพินิจให้มาก ในการที่จะชั่งตวงวัดสิ่งที่ได้พบเห็นหรือรับฟัง ว่ามีน้ำหนักที่ควรเชื่อถือได้เพียงใดและอย่างไร

 

เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมมีโอกาสรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันกับอดีตข้าราชการผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ท่านเคยรับผิดชอบดูแลการศึกษาของโรงเรียนทั่วทั้งประเทศ

ท่านเล่าให้ฟังถึงเคล็ดการตรวจราชการของท่านว่า นอกจากการฟังบรรยายสรุปหรือเดินชมกิจการของโรงเรียนตามเส้นทางที่ผู้อำนวยการโรงเรียนเดินนำแล้ว

เมื่อท่านจะเข้าห้องน้ำ ท่านไม่เลือกที่จะเข้าห้องน้ำครู ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นมาตรฐานที่ดีที่สุดของโรงเรียนนั้นๆ อยู่แล้ว หากแต่ท่านเลือกที่จะเข้าห้องน้ำของเด็กนักเรียน เพราะนั่นคือห้องน้ำที่เป็นของจริง เป็นสิ่งซึ่งเป็นชีวิตประจำวันของเด็กนักเรียนซึ่งเป็นศูนย์กลางของความเป็นโรงเรียนทุกแห่ง

ถ้าห้องน้ำของเด็กนักเรียนโรงเรียนใดอยู่ในสภาพที่ต้องปรับปรุง ท่านก็จะได้พูดคุยหารือกับผู้รับผิดชอบว่าจะทำอย่างไรต่อไปได้บ้าง

แม้บางคนจะเห็นว่าห้องน้ำเป็นเรื่องเล็ก แต่ถ้าโรงเรียนไหนไม่มีห้องน้ำขึ้นมา ผมว่าเรื่องใหญ่แน่ครับ

เรื่องการตรวจราชการนี้จึงมีเคล็ดวิชาและมีคุณอยู่มาก ทางฝ่ายผู้ตรวจราชการก็ได้เห็นของจริงจากพื้นที่ ได้เห็นอะไรอีกหลายอย่างที่ไม่สามารถเห็นได้จากกระดาษที่ส่งรายงานมาตามลำดับชั้น ได้พูดคุยกับผู้คน ได้สบแววตากับมนุษย์จริงๆ ทำให้มีโอกาสที่จะได้คิดอ่านอะไรที่เป็นประโยชน์แก่การงานต่อไปได้อีกมาก

ข้างฝ่ายผู้รับตรวจก็เป็นโอกาสที่จะได้พูดกับคนที่เป็นผู้ใหญ่ในหน้าที่การงาน มีประสบการณ์ มีกำลังวังชาที่จะช่วยแก้ปัญหาของเขา และเป็นโอกาสที่ผู้รับตรวจจะได้แสดงฝีมือหรือผลงานให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย

ข้อสำคัญคือ ผู้ตรวจราชการจะต้องฉลาดพอที่จะไม่ถูกผู้รับตรวจหลอกเอาเท่านั้น

อย่าลืมแวะเข้าห้องน้ำที่ใครต่อใครที่ไม่ใช่ผู้บริหารใช้บริการนะครับ

มีความจริงอยู่ในห้องน้ำเยอะเลย