วิกฤติศตวรรษที่21 : ความเป็นใหญ่ในเศรษฐกิจโลกของสหรัฐที่หดหายไป

โลกหลังอเมริกา : การเคลื่อนย้ายอำนาจโลก (2)

คลิกย้อนอ่าน ตอนที่ (1)

ความเป็นใหญ่ในเศรษฐกิจโลกของสหรัฐที่หดหายไป

ความหดหายของความเป็นใหญ่ในเศรษฐกิจโลกของสหรัฐ เป็นแดนเกิดใหญ่ของสถานการณ์โลกในขณะนี้

นั่นคือเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นบนเวทีโลกล้วนเกี่ยวเนื่องหรือสัมพันธ์กับความหดหายนี้ในทางหนึ่งทางใดหรือหลายทาง ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

ในส่วนต้นน้ำได้แก่ เหตุปัจจัยภายในและภายนอกที่ทำให้ความเป็นใหญ่ทางเศรษฐกิจของสหรัฐหดหายไปอย่างไร

ในส่วนกลางน้ำคือความหดหายนี้ส่งผลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ-การเมืองโลกอย่างไรในขณะนี้

ในส่วนปลายน้ำก็คือจากผลของการหดหายนี้ ประเทศต่างๆ ได้แก่ สหรัฐและมหาอำนาจอื่นต้องเตรียมตัวหรือเตรียมพร้อมรับมือกับความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวเป็นสงครามเศรษฐกิจชัดแจ้งขึ้นอย่างไร ซึ่งจะกล่าวถึงเป็นลำดับไป

แต่ก็เห็นว่าควรจะทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับเวลาที่รูปธรรม ซึ่งมีรายละเอียดและความ หลากหลายอยู่เล็กน้อย

เวลากับสถานการณ์และวงจร

เวลาที่เราใช้ในชีวิตประจำวันนั้น แบ่งเป็นหน่วย ได้แก่ นาที ชั่วโมง และวัน เป็นต้น เพื่อใช้เป็นกรอบในการวัดการทำงาน การเคลื่อนไหว หรือจำแนกเหตุการณ์ต่างๆ ออกจากกัน ทำให้เวลาดูเป็นหน่วยที่เป็นนามธรรม แยกตัวจากการทำงาน การเคลื่อนไหว และเหตุการณ์ทั้งปวง

แต่เวลาที่เกิดขึ้นจริงนั้น เกิดขึ้นร่วมกับการเคลื่อนไหวและเหตุการณ์ต่างๆ ดังนั้น เวลาที่เป็นจริงจึงมีความแตกต่างกัน

เวลาบางทีวิ่งไปเร็ว บางทีคืบคลานไปช้า บางครั้งขรุขระ และบางครั้งราบรื่น บางครั้งดี บางทีชั่ว (ที่กล่าวกันว่า “ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน”)

ยิ่งกว่านั้นเมื่อใช้กับระบบต่างๆ เช่น อารยธรรมหรือประชาชาติยังพบว่า เวลามีวงจรของมัน มีช่วงแห่งความเจริญ หรือขาขึ้น และช่วงแห่งความเสื่อม หรือขาลง

มีนักเขียนนักประวัติศาสตร์ชาวสก๊อต ชื่อ อเล็กซานเดอร์ เฟรเซอร์ ไทเลอร์ (1727-1813) เขาเป็นผู้เชิดชูระบบกษัตริย์ และเห็นว่าอารยธรรมมีวงจรของมัน เริ่มจากความเป็นทาสสู่ศรัทธาทางจิตวิญญาณ จากศรัทธาทางจิตวิญญาณสู่ความกล้าหาญ จากความกล้าหาญสู่อิสรภาพ จากอิสรภาพสู่ความมั่งมี (นี่เป็นเวลาขาขึ้น แล้วสู่ขาลง) จากความมั่งมีสู่ความหลงตน/เห็นแก่ตัว จากความหลงตน/เห็นแก่ตัวสู่ความไม่เอื้ออาทร จากความไม่เอื้ออาทรสู่ภาวะพึ่งพิง จากภาวะพึ่งพิงหวนสู่ความเป็นทาสอีกครั้ง ทัศนะของไทเลอร์ดังกล่าว ถือเป็นความเห็นเกี่ยวกับวงจร อารยธรรมรุ่นแรกๆ ของตะวันตกสมัยใหม่ หลังจากนั้นก็มีนักคิดนักวิชาการเสนอกันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป้าประสงค์ต่างกันไป

กลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบัน สิ่งที่ดูเชิงปริมาณด้วยเหมือนกัน เช่น ความเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อคำนึงถึงเวลาขาขึ้นหรือขาลงแล้ว จะมีคุณภาพต่างกัน ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงขาขึ้น เปรียบเหมือนน้ำขึ้น ซึ่งจะยกเรือทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นลำเล็กหรือลำใหญ่ให้ลอยขึ้น นั่นคือนายทุนก็รวย คนงานก็มีมาตรฐานการครองชีพสูงขึ้น

ช่วงขาขึ้นนี้ของสหรัฐเห็นได้จากปี 1945 ถึงทศวรรษ 1970

จากนั้นเศรษฐกิจเข้าสู่ขาลง พบว่าเมื่อเศรษฐกิจโตขึ้น ความเหลื่อมล้ำในสังคมยิ่งขยายตัว เห็นชัดหลังวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ปี 2008 หรือยามขาขึ้น ใช้เงินเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่มาก เช่น ใช้เงินสัก 50 บาท ก็สามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น 100 บาท

แต่ในยามขาลงปัจจุบัน อาจต้องใช้เงินถึง 400 บาท เพื่อให้เศรษฐกิจโตขึ้น 100 บาท เป็นการเติบโตจากหนี้

การเติบโตแบบนี้ไม่ยั่งยืน มีแนวโน้มนำไปสู่ “ความหลงตน/เห็นแก่ตัว สู่ความไม่เอื้ออาทร และสู่ความเป็นทาส” ในที่สุด

การใช้เวลาที่เป็นรูปธรรม จึงมีความสำคัญต่อการวิเคราะห์เพื่อความเข้าใจและการคาดคะเนแนวโน้มของสถานการณ์ และถ้าโชคดีก็สามารถแก้ไขปัญหา หรือลดผลกระทบจากหนักเป็นเบาได้

สหรัฐก้าวสู่จุดอับทางเศรษฐกิจได้อย่างไร

ความเป็นใหญ่ทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่หดหายไป เนื่องจากเหตุภายในหรือการกระทำของตนเองเป็นหลัก เป็นเหมือนการลงบันได 4 ขั้นสู่มุมอับ ไม่มีชาติใดที่เข้มแข็งและมีอำนาจพอที่จะกระทำเช่นนั้นต่อสหรัฐได้ การลงบันไดทั้ง 4 ขั้นประกอบด้วย

ขั้นแรกได้แก่ การทำและติดหล่มสงครามเวียดนาม

เวียดนามนั้นทำสงครามกู้เอกราชจากฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศสเพลี่ยงพล้ำ สหรัฐเข้าไปรับเหมาทำแทนฝรั่งเศสเอง ด้วยความคิดที่จะปิดล้อมสหภาพโซเวียตและจีนแดง กับทั้งแสดงตัวเป็นผู้นำโลกเสรีอย่างไม่มีมหาอำนาจใดปฏิเสธได้

กลุ่มที่เห็นกันว่ามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนสงครามนี้ได้แก่ “กลุ่มอุตสาหกรรม-การทหาร-ความมั่นคง” ที่อดีตประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ของสหรัฐเอง ได้เคยเตือนไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งปราศรัยออกจากตำแหน่งว่า กลุ่มนี้จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐบาล เป็นอันตรายต่อประชาธิปไตยของประเทศ

นอกจากสงครามเวียดนามแล้ว ยังมีปัญหาคิวบาที่กลุ่มนี้ต้องการแก้ไขเด็ดขาด คือขจัด ฟิเดล คาสโตร ผู้นำประเทศออกจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยวิธีการใด

การเข้าไปติดหล่มสงครามเวียดนามนี้ มีค่าใช้จ่ายสูงโดยที่มองไม่เห็นว่าเมื่อใดจะยุติ รัฐบาลต้องกู้หนี้ไปทำสงครามอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งการคลังของประเทศทรุด ทองคำสำรองที่เก็บไว้ต้องนำออกไปใช้อย่างต่อเนื่อง จนเกิดข่าวลือกันว่าทองคำของสหรัฐที่ฟอร์ตนอกซ์กำลังจะหมดแล้ว

เมื่อถึงเดือนสิงหาคม 1971 ประธานาธิบดีนิกสันประกาศยกเลิกการผูกค่าเงินดอลลาร์กับทองคำ เงินดอลลาร์จึงได้ไม่เท่ากับทองคำอีกต่อไป

ในช่วงที่ประกาศยกเลิกการผูกค่าเงินดอลลาร์นั้น ทองหนึ่งออนซ์มีค่าเท่ากับราว 40 ดอลลาร์สหรัฐ ในปัจจุบันปี 2017 ทองคำหนึ่งออนซ์มีค่าราว 12,000 ดอลลาร์

จะเห็นว่าค่าเงินดอลลาร์ลดลงเพียงใด เมื่อเทียบกับทองคำ เคราะห์ดีที่ว่าเงินตราชาติอื่นๆ ก็ลดลงเมื่อเทียบกับทองคำเช่นเดียวกัน สหรัฐจึงยังรักษาความเข้มแข็งได้จนถึงทุกวันนี้

การเข้าไปติดหล่มใหญ่ในสงครามนั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้อำนาจของประเทศทรุดตัวนี้เป็นที่รู้กันดี เบรซินสกี้ ที่ปรึกษาความมั่นคงของประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ เอง ขณะดำรงตำแหน่ง ได้ใช้กลอุบายต่างๆ ให้สหภาพโซเวียตเข้าไปติดหล่มสงครามในอัฟกานิสถาน ซึ่งมีส่วนทำให้สหภาพโซเวียตต้องล่มสลายลงไป

การเข้าไปติดหล่มสงครามเวียดนาม ยังก่อให้เกิดความขัดแย้งร้าวลึกในสังคมอเมริกัน

ประธานาธิบดีเคนเนดี้มีแนวคิดไปในทางเจรจาเพื่อยุติสงครามเวียดนามและความขัดแย้งกับคิวบา ได้ถูกลอบสังหารในปี 1963 ก่อความตกตะลึงไปทั้งชาติและทั่วโลก

ขบวนการนักศึกษา พวกซ้ายใหม่และฮิปปี้เบ่งบานไปทั่วสถาบันการศึกษาและทั่วสหรัฐ ประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ ประกาศว่าสหรัฐเผชิญกับวิกฤติการนำใหญ่ มันดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน

และดูเหมือนรุนแรงกว่าสมัยคาร์เตอร์อีก เพราะการไปติดหล่มในสงครามมหาตะวันออกกลาง

บันไดขั้นที่สอง กล่าวไปแล้วเป็นบันไดที่ก้าวลงเพื่อลดผลกระทบจากขั้นแรก

เป็นการกระทำอย่างแยบยลและชาญฉลาด ประกอบด้วยสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นการทำข้อตกลงกับธนาคารกลางประเทศต่างๆ โดยเฉพาะที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐ ให้นำเงินที่ได้เปรียบนั้นกลับไปลงทุนในสหรัฐอีก

ประเทศที่เข้าข่ายที่สำคัญได้แก่ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในตะวันออกกลาง จนกระทั่งเกิดเป็นระบบดอลลาร์น้ำมันขึ้น

อีกกลุ่มหนึ่งได้แก่ ประเทศอุตสาหกรรมนักส่งออกอย่างเยอรมนี และญี่ปุ่น ที่นำเงินนั้นกลับไปลงทุนในสหรัฐ สร้างโรงงานหรือซื้อกิจการ เป็นต้น ทำให้สหรัฐสามารถมีเงินไม่ขาดมือ แม้ว่าจะใช้จ่ายเกินตัว

สหรัฐนั้นเสียเปรียบดุลการค้าสุทธิตั้งแต่ปี 1975 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ปกครองมาได้เกือบหนึ่งปี และชูคำขวัญ “ซื้อของอเมริกัน” พบว่าดุลการค้าสหรัฐยังคงขาดดุลเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนกราฟขาลงนั้นทำได้ไม่ง่ายและต้องใช้เวลา

อุบายในการฟื้นตัว อีกส่วนหนึ่งได้แก่ การสร้างแนวคิดเสรีนิยมใหม่ มีใจความสำคัญอยู่ที่การเปิดการค้าและการลงทุนเสรีแบบไร้พรมแดน ทำให้สหรัฐที่ควบคุมการไหลของการเงินโลกมีความได้เปรียบมาก จากการที่ดอลลาร์ยังคงเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศหลัก

นิวยอร์กยังเป็นตลาดทุนและตลาดล่วงหน้าที่ใหญ่ที่สุดของโลก ทุกวันนี้ มีบางข่าวระบุว่าผลได้ทางการเงินส่วนใหญ่ของโลกนั้นยังคงตกอยู่ที่สหรัฐ

สหรัฐสามารถเคลื่อนย้ายทุนของตนไปลงในประเทศต่างๆ ที่มีแรงงานถูกกว่า กฎระเบียบเกี่ยวกับสวัสดิการและสวัสดิภาพคนงานไม่เข้มงวด หรือการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมผ่อนคลายกว่าในสหรัฐ

เหล่านี้ทำให้บรรษัทข้ามชาติสหรัฐฟื้นตัว มีกำไรขึ้นมาก

การที่บริษัทข้ามชาติสหรัฐไม่ว่าจะเป็นบริษัทผลิตรถยนต์หรือบริษัทมือถือ เข้าไปเปิดกิจการโรงงานในประเทศจีน ไม่ได้เป็นเรื่องที่คนอื่นบังคับ แต่เป็นสิ่งที่ผู้บริหารเหล่านั้นตัดสินใจเอง และครั้งหนึ่งได้รับการยกย่อง

การลงบันไดขั้นที่สามยิ่งถลำลึกลงไปแบบไม่รู้ตัว

เพราะขณะที่ลงบันได กลับคิดไปว่ากำลังขึ้นบันได นั่นคือ ขณะที่สร้างระบบดอลลาร์น้ำมันและเสรีนิยมใหม่ เห็นแต่ผลได้หรือสถานการณ์เฉพาะหน้าว่าตนได้สามารถแก้ปัญหาการว่างงานและภาวะเงินเฟ้อได้แล้ว กระทั่งคิดไปว่าได้สร้างเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ เป็นเศรษฐกิจฐานความรู้หรือเศรษฐกิจนวัตกรรม ที่ไม่ต้องกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจแบบเดิมอีกต่อไป แต่แท้จริงเป็นเศรษฐกิจฟองสบู่ ในที่สุดก็แตกออกในปี 2008 เป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนับแต่สงครามโลกครั้งที่สอง

AFP PHOTO / ZACH GIBSON

ประธานาธิบดีโอบามาอยู่ในจังหวะที่เข้ามาแก้ไขวิกฤติพอดี ได้ทำทุกอย่างเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปด้วยมาตรการใช้เงินหรือหนี้ก้อนใหญ่ รวมทั้งการลดดอกเบี้ยจนต่ำอยู่ใกล้ศูนย์เปอร์เซ็นต์มากระตุ้น

ประกอบด้วย

ก) การรักษาสถาบันการเงินและบริษัทใหญ่ไม่ให้ล้ม

ข) เพิ่มอำนาจการใช้จ่ายของผู้คน เช่น การขยายผู้รับเงินช่วยเหลือในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล การปล่อยกู้แก่นักศึกษาเพื่อการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย

ค) สนับสนุนการลงทุนในโครงการต่างๆ เช่น พลังงานทางเลือกหรือพลังงานหมุนเวียน โครงการปรับปรุงบูรณะโครงสร้างพื้นฐาน

ด้วยการใช้มาตรกรดังกล่าวประสบผลคือ เศรษฐกิจสหรัฐไม่เข้าสู่ภาวะตกต่ำ แต่ก็เกิดหนี้ของรัฐกองใหญ่ และดุลการค้ายังคงขาดเป็นปริมาณมาก

การลงบันไดขั้นที่สี่เกิดขึ้นในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์

US President Barack Obama shakes hands as he meets with Republican President-elect Donald Trump (L) on transition planning in the Oval Office at the White House on November 10, 2016 in Washington,DC. / AFP PHOTO / JIM WATSON

อายุเกือบครบปี แน่นอนว่าทรัมป์เห็นว่านี่คือ การขึ้นบันได ไม่ใช่การลงบันได เป็นการทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ขณะนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าเป็นการลงหรือขึ้นบันได

แต่กล่าวแบบทั่วไปได้ ทรัมป์ก็ยังคงทำไม่ต่างกับประธานาธิบดีคนอื่น เพียงแต่ว่าดิ้นรนแรงกว่าเดิม เนื่องจากสถานการณ์คับขันกว่า

ซึ่งทำให้เกิดผลร้ายอื่น ได้แก่ ความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ