วิกฤติศตวรรษที่21 : โลกหลังอเมริกา – การเคลื่อนย้ายอำนาจโลก

โลกหลังอเมริกา : การเคลื่อนย้ายอำนาจโลก (1)

“โลกหลังอเมริกา” หมายความว่าโลกที่เคยมีอเมริกาเป็นอภิมหาอำนาจในการจัดระเบียบโลกแต่เพียงผู้เดียว ได้สิ้นสุดลงอย่างไม่หวนกลับคืน

มันสิ้นสุดชัดเจนในปี 2017 ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นบริหารประเทศใกล้ครบปี

แต่ทรัมป์ไม่ได้เป็นสาเหตุของการสิ้นสุดนี้ เขาเป็นเพียงผู้แสดงอาการ

นับตั้งแต่ปี 2008 ได้มีนักหนังสือพิมพ์และพิธีกรสหรัฐเชื้อสายอินเดีย ฟารีด ซาคาเรีย (Fareed Zakaria เกิด 1964) ได้เผยแพร่หนังสือชื่อ “โลกหลังอเมริกา” (พิมพ์ปกอ่อนปี 2009 ชื่อ Post-American World : And the Rise of the Rest มีฉบับแปลเป็นไทยใช้ชื่อว่า “เมื่อโลกไม่ได้หมุนรอบอเมริกา”) ปรากฏว่าเป็นที่ต้อนรับ ติดอันดับหนังสือขายดีของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์

ในหนังสือเล่มนี้ซาคาเรียเสนอว่ายุคแห่งความรุ่งเรืองของอเมริกาใกล้สิ้นสุดแล้ว

เช่น จะถูกไล่ทันไม่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของโลกอีกต่อไปในปี 2040

ทั้งนี้ อเมริกาได้แสดงบทบาทสำคัญคือได้ขับเคลื่อนโลกสู่ระบอบประชาธิปไตยและตลาดเสรี

การปฏิบัติเช่นนี้เปิดโอกาสให้หลายประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีนและอินเดีย เป็นต้น ขึ้นมาเคียงคู่อเมริกาไม่ได้เสื่อมถอยลง แต่ประเทศอื่นที่เหลือรุ่งเรืองขึ้นมาและยังคงรักษาความเป็นอภิมหาอำนาจไว้ได้อีกนาน

ท้ายสุดซาคาเรียได้เสนอสิ่งที่สหรัฐควรปฏิบัติหกประการใหญ่ได้แก่ การจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง ไม่ใช่ทำไปทุกเรื่อง ยึดมั่นในสถาบันและกลไกระหว่างประเทศ

รักษาความสัมพันธ์อันดีกับทุกประเทศไม่ใช่กีดกันอำนาจที่เกิดใหม่

จัดการปัญหาตามความเป็นจริงผ่านองค์กรสถาบันตามความเหมาะสม เช่นบางกรณีใช้องค์การสหประชาชาติ บางกรณีใช้องค์การนาโต้ คิดอย่างอสมมาตรจัดการปัญหาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในการต่อสู้กับยาเสพติด และการก่อการร้าย

และท้ายสุดยึดหลักการว่า “ความชอบธรรมคืออำนาจ” ซึ่งทั้งหมดฝ่ายบริหารประเทศไม่ได้นำมาปฏิบัติ กระทั่งทำตรงข้าม

แต่เมื่อการครองความเป็นใหญ่ของสหรัฐยุติลงจริง มันไม่เป็นไปตามที่ซาคาเรียวิเคราะห์

กล่าวคือ ในข้อแรก มันเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดมาก และอเมริกาก็เสื่อมถอยจริงในระบบและโครงสร้างของตัวเอง ไม่ใช่เพียงประเทศอื่นรุ่งเรืองขึ้น

มีนักวิเคราะห์สถานการณ์ของสหรัฐเองจำนวนไม่น้อยเห็นว่าสหรัฐได้เสื่อมถอย

เช่น บทความของ ฟรานซิส ฟูกูยามา ชื่อ “สหรัฐยามเสื่อมถอย : สาเหตุแห่งความผิดปรกติทางการเมือง” ในวารสาร “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” (กันยายน/ตุลาคม 2014)

และบทความของ เดวิด รอธคอพฟ์ ชื่อ “อเมริกาเป็นรัฐล้มเหลวหรือไม่” ในวารสาร “นโยบายต่างประเทศ” (10.05.2017)

นอกจากนี้ ประเทศที่ก้าวขึ้นมาเป็น “ผู้ร้าย” ต่อสู้กับสหรัฐอย่างดุเดือดกลับเป็นรัสเซีย และเป็นตัวเร่งให้การครองความเป็นใหญ่ของสหรัฐถึงจุดจบเร็วอย่างคาดไม่ถึง

ที่น่าเสียดายคือ คำเสนอแนะหกประการของซาคาเรีย ที่เสนอขึ้นด้วยความปรารถนาดี ได้แก่ ความปรารถนาดีว่าเมื่อสหรัฐปฏิบัติแล้ว ก็จะสามารถรักษาฐานะความเป็นอภิมหาอำนาจต่อไปได้อีกนาน กับทั้งปรารถนาดีว่าจะทำให้การเคลื่อนย้ายอำนาจโลกจากตะวันตกสู่ตะวันออกหรือภูมิภาคอื่นอย่างสันติ

เมื่อไม่มีการปฏิบัติก็ทิ้งให้โลกหลังอเมริกาตกอยู่ในความปั่นป่วน และล่อแหลมต่อสงครามอย่างน่าใจหาย

ในสถานการณ์เคลื่อนย้ายอำนาจโลกนี้ ไม่เพียงสหรัฐที่จะต้องปรับตัว ประเทศอื่นก็จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ทางการเมืองนี้ด้วย

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งผู้บริหารชุดใหม่กีดกันผู้อยพยเข้าสหรัฐ / AFP PHOTO

เช่น ประเทศไทยที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐมายาวนาน เป็นฐานทัพใหญ่ของอเมริกาในการทำสงครามเวียดนาม เป็นเหมือนเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ และสถานพักผ่อนและพักฟื้นของทหารสหรัฐ เป็นต้น

บัดนี้สหรัฐได้ถอยร่นไปแล้ว ขณะที่อิทธิพลจีนด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ

ไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนจะทำอย่างไรในสถานการณ์ใหม่นี้ ที่ความตึงเครียดพุ่งสูงในคาบสมุทรเกาหลี

ถ้าหากเราดูการก้าวสู่ฐานะอภิมหาอำนาจของสหรัฐ โดยเริ่มต้นจากปัจจุบันย้อนสู่อดีต จะได้ภาพใหญ่ดังนี้

สหรัฐก้าวสู่ความเป็นอภิมหาอำนาจแต่เพียงผู้เดียว หลังสิ้นสงครามเย็นราวทศวรรษ 1990 และหลังจากนั้น ก็ได้เข้าสู่สงครามอย่างต่อเนื่องเพื่อการจัดระเบียบโลกอย่างที่ต้องการ โดยใช้ข้ออ้างประชาธิปไตยความเป็นมนุษยธรรม ต่อต้านการค้ายาเสพติดและต่อต้านการก่อการร้าย เป็นต้น

และยังมีปฏิบัติการลับจำนวนมากในการสร้างสถานการณ์ เพื่อบั่นทอนรัฐบาลที่ไม่พึงประสงค์ และสร้างรัฐบาลที่เป็นมิตรขึ้น

ปฏิบัติการเหล่านี้สรุปได้ว่าเกือบทั้งหมดไม่ได้ผล เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายมาก

โลกแทนที่จะเป็นระเบียบกลับไร้ระเบียบ

US President Donald Trump addresses a ‘Make America Great Again’ rally in Harrisburg, PA, April 29, 2017, marking Trump’s 100th day in office. / AFP PHOTO / JIM WATSON

สหรัฐมีภาพลบว่าเป็นผู้คุกคามไม่ใช่ผู้สร้างสันติภาพ

ย้อนไปตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งสองจนถึงสิ้นสงครามเย็น (ระหว่างราว1946-1990) สหรัฐแสดงบทบาทเป็นผู้นำโลกเสรี เข้าแทนที่จักรวรรดิอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนีและญี่ปุ่นในการต่อสู้กับระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

ในช่วงเวลานี้สหรัฐก็ทำสงครามอย่างต่อเนื่อง

สมรภูมิใหญ่อยู่คาบสมุทรเกาหลีและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้ปฏิบัติการล้มล้างรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก มีรัฐบาลของอิหร่าน เป็นต้น สงครามใหญ่ในอินโดจีนจบลงอย่างทุลักทุเล

แต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต ทำให้สหรัฐได้รู้สึกว่าตนได้รับชัยชนะใหญ่หลวง ที่จะก้าวสู่การครองความเป็นใหญ่แบบไร้คู่แข่ง

และหากย้อนหลังไปตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 จนสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง (ราวปี 1910-1945) สหรัฐแสดงบทบาทเป็นผู้ชิงตำแหน่งมหาอำนาจโลกชุดใหม่ ต่อสู้กับเยอรมนี อิตาลีและญี่ปุ่น และเข้าข้างอังกฤษและฝรั่งเศสที่ผ่านการปฏิวัติประชาธิปไตยแล้ว เข้าสู่สงครามโลกทั้งสองครั้ง เพื่อต่อต้านระบอบราชาธิปไตยและฟาสซิสต์ พร้อมกับแผนตั้งองค์กรระดับโลก เพื่อดูแลรักษาความมั่นคง (สันติภาพ) ของโลก

และย้อนหลังไปอีก ในปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 สหรัฐตั้งตัวเป็นมหาอำนาจของภูมิภาค นั่นคือทวีปอเมริกาทั้งหมด ทำสงครามขับไล่อิทธิพลของสเปนออกไป และมีความพยายามที่จะทำสงครามกับแคนาดาด้วย แต่ไม่สำเร็จ

นอกจากนี้ ยังถือเอาอาณานิยมของสเปนได้แก่ฟิลิปปินส์มาเป็นของตน พร้อมก้าวสู่ตำแหน่งมหาอำนาจโลก

จากประวัติความเป็นมาดังกล่าว เมื่อสหรัฐได้ก้าวมาสู่การครองความเป็นใหญ่ในโลก ผู้นำการบริหารจึงได้กำหนดนโยบายด้วยความเชื่อและเป้าประสงค์หลักๆ หลายประการด้วยกัน เช่น

ก) อเมริกาเป็นประเทศพิเศษไม่เหมือนชาติอื่น คือเป็นประทีปแห่งเสรีภาพ โอกาสการแสวงหาความมั่งคั่งและความสุข เป็นประเทศที่มีชะตากรรมที่ต้องขึ้นมาเป็นผู้นำของโลก

ข) เป็นประเทศที่ขาดไม่ได้ ถ้าหากขาดไปแล้วโลกจะปั่นป่วนเป็นจลาจลเข้าสู่ภาวะอนาธิปไตย ดังนั้น ไม่ว่าปัญหาที่ใดหรือจะจัดตั้งกลุ่มองค์กรอะไร ก็เป็นหน้าที่ที่สหรัฐจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในระดับใดระดับหนึ่ง ใครจะทำอะไรไปโดยลำพังไม่ได้

การขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งคือถ้าขาดสหรัฐไปจะทำให้เศรษฐกิจโลกต้องล่มสลาย เพราะว่าสหรัฐเป็นผู้กอบกู้เศรษฐกิจของยุโรปตะวันตกและญี่ปุ่น และช่วยเหลือการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ปัจจุบันก็มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด

ค) สุดท้ายก็คือ สหรัฐจะไม่ยอมให้ประเทศใดขึ้นมาเป็นคู่แข่งทางอำนาจอีก เหมือนดังที่สหภาพโซเวียตกระทำมานานหลายสิบปี

กรอบความคิดนี้ฝังแน่นอยู่ในนโยบายของสหรัฐที่ทำให้คำแนะนำของซาคาเรียที่ให้ผูกมิตรไปทั่ว (ไม่ใช่คอยกีดกันประเทศอำนาจเกิดใหม่) จึงใช้ไม่ได้ผล

โลกยุคอเมริกันเป็นใหญ่จึงถูกครอบงำด้วยบรรยากาศดังกล่าว เมื่อมองจากสถานการณ์ปัจจุบันปี 2017 ก็น่าอึดอัดไม่น้อย แต่ก็อยู่กันมาได้ โลกหลังอเมริกาเป็นโลกที่ขาดสหรัฐไปอย่างมีนัยสำคัญ เป็นโลกของการเคลื่อนย้ายศูนย์อำนาจ การแตกกลุ่มและการรวมกลุ่มกันใหม่

เป็นโลกที่ประเทศทั้งหลายต้องแสวงหาทางเดินของตนเอง และเป็นโลกของการแข่งขันสูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ในเรื่อง “โลกหลังอเมริกา” นี้จะกล่าวถึงสองประเด็นใหญ่ได้แก่

ก) การเสื่อมถอยในอเมริกาซึ่งมีอยู่ทั่วด้าน เป็นการเสื่อมถอยที่ทำให้สหรัฐไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ผู้ครองความเป็นใหญ่ในโลกได้อีกต่อไป และบังเอิญว่าความเสื่อมถอยของอเมริกานี้เกิดขึ้นพร้อมกับการเสื่อมถอยของมหาอำนาจตะวันตก ทำให้โลกตะวันตกลดคุณภาพลงมาใกล้เคียงกับประเทศกำลังพัฒนาตลาดเกิดใหม่ ที่กำลังกวดตามให้ทันและแซงหน้าซึ่งก็ไม่ใช่ง่าย

และ ข) การแข่งขัน และการปรับกลุ่มอำนาจในพื้นที่ต่างๆ มีกรณีเยรูซาเลม ความตึงเครียดที่คาบสมุทรเกาหลี เป็นต้น จะกล่าวเป็นลำดับไป

ความยากจนและปัญหาสิทธิมนุษยชนในสหรัฐ

สหรัฐได้ชื่อว่าเป็นชาติที่มั่งคั่งที่สุดในโลก เมื่อดูจากขนาดเศรษฐกิจที่คิดเป็นตัวเงิน (ถ้าคิดตามค่าเสมอภาค อำนาจการซื้อ จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เกินหน้าสหรัฐมาหลายปีแล้ว)

และได้สร้างภาพว่าเป็นผู้ช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งยังใช้ประเด็นสิทธิมนุษยชนเพื่อการแทรกแซงทางการเมือง-เศรษฐกิจของชาติอื่นอยู่เนื่องๆ

แต่มาถึง พ.ศ. นี้ สหรัฐก็ต้องเผชิญกับปัญหาทั้งสองรุนแรงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ

Vice President Mike Pence (L) and Speaker of the House Paul Ryan (R) listen as US President Donald J. Trump (C) delivers his first address to a joint session of Congress from the floor of the House of Representatives in Washington, DC, USA, 28 February 2017. / AFP PHOTO / EPA POOL / JIM LO SCALZO

ศาสตราจารย์ฟิลิป ออลสตัน (Philip Alston) ผู้เชี่ยวชาญด้านความยากจนและสิทธิมนุษย์ชนของสภาสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้เดินทางไปเยือนนครลอสเองเจลิส อลาบามา จอร์เจีย เวอร์จิเนียตะวันตก และวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นเวลาสองสัปดาห์ตามคำเชิญของรัฐบาลสหรัฐ เพื่อศึกษาว่าความยากจนสัมบูรณ์ที่ไม่ยอมหมดไปใน สังคมอเมริกันได้มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษย์ชนอย่างไร ได้ออกคำแถลงเกี่ยวกับฐานะความยากจนและสิทธิมนุษยชนสหรัฐในเดือนธันวาคม 2017 มีใจความสำคัญว่า

1) สหรัฐเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุด มีอำนาจมากที่สุด และมีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสูง แต่ทั้งความมั่งคั่งและอำนาจนี้ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ที่มีคนยากจนสัมบูรณ์ในสหรัฐที่มีมากถึง 40 ล้านคนได้

2) มีตัวเลขและข้อเท็จจริงหลายด้านที่สะท้อนปัญหาดังกล่าว เช่น -สหรัฐใช้จ่ายงบประมาณทางทหารแต่ละปีมากกว่างบประมาณของจีน ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย อังกฤษ อินเดีย ฝรั่งเศสและญี่ปุ่นรวมกัน

– สหรัฐใช้จ่ายด้านสาธารณสุขต่อหัวเป็นสองเท่าของประเทศร่ำรวยกลุ่มโออีซีดี (องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ) แต่มีจำนวนแพทย์และเตียงคนไข้ต่อคนน้อยกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศเหล่านี้

– คนอเมริกันมีอายุสั้นกว่าและเจ็บป่วยมาก กว่าประชาชนที่อยู่ในประเทศประชาธิปไตยที่ร่ำรวย และช่องว่างทางสุขภาพระหว่างคนอเมริกันกับประเทศเพื่อนที่ร่ำรวยด้วยกันขยายออก

– ระดับความไม่เท่าเทียมกันในสหรัฐสูงกว่าประเทศในยุโรปเกือบทุกประเทศ

– สหรัฐมีคนอ้วนสูงสุดในโลกพัฒนาแล้ว

– การเข้าถึงน้ำสะอาดและการสุขาภิบาลในสหรัฐอยู่อันดับที่ 36 ของโลก

– สหรัฐมีอัตราผู้ต้องขังสูงสุดในโลก เหนือกว่าประเทศเติร์กเมนิสถาน เอลซัลวาดอร์ มีอัตราสูงเกือบ 5 เท่าของอัตราเฉลี่ยกลุ่มโออีซีดี

– ในกลุ่มโออีซีดี สหรัฐอยู่ในอันดับ 35 จาก 37 ประเทศในประเด็นความยากจนและความเหลื่อมล้ำ

– อัตราการตายของทารกในสหรัฐปี 2013 สูงที่สุดในประเทศพัฒนาแล้ว

– การมีส่วนร่วมทางการเมืองต่ำ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2016 มีผู้มีใช้สิทธิออกเสียงเพียงร้อยละ 55.7 เทียบกับอัตราเฉลี่ยร้อยละ 75 ในกลุ่มโออีซีดี

3) ฝันของชาวอเมริกันในการตั้งตัว มีบ้าน มีรถ มีครอบครัวชานเมือง ที่ลูกได้รับการศึกษาอย่างดีกลายเป็นฝันสลาย เมื่อสหรัฐกลายเป็นสังคมที่มีการเลื่อนฐานะทางสังคมต่ำสุดในประเทศร่ำรวยทั้งหลาย

4) ความยากจนของคนอเมริกันแผ่ซ่านไปทั่ว มีทั้งคนผิวขาว ผิวดำ ชาวละติน และผิวสีอื่น มีคนยากจนที่เป็นชาวผิวขาวมากกว่าชาวผิวดำถึง 8 ล้านคน (แต่คิดเป็นร้อยละแล้วชาวผิวดำยากจนกว่า)

U.S. President Donald Trump meets with Thai Prime Minister Prayut Chan-o-Cha in the Oval Office of the White House in Washington, U.S., October 2, 2017. REUTERS/Kevin Lamarque

5) การสร้างความเชื่อผิดผิดว่า คนรวยเป็นคนขยันขันแข็ง เป็นนักลงทุน เป็นคนรักชาติ และเป็นผู้ขับเคลื่อนความสำเร็จทางเศรษฐกิจ (ขณะที่) คนยากจนนั้นเป็นผู้ใช้จ่าย ผู้แพ้ และนักหลอกลวง มีชีวิตอยู่อย่างสบายโดยอาศัยเงินประกันสังคม เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในหมู่นักการเมือง และนักเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ความเชื่อที่ผิดนี้เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาความยากจน และสิทธิมนุษยชน

6) หวั่นเกรงว่าการปฏิรูปทางนโยบายการคลัง ในการลดหย่อนภาษีและการตัดงบประมาณสวัสดิการของรัฐบาลที่กำลังพยายามทำอยู่ ยิ่งจะก่อให้เกิดความทุกข์ยากร้ายแรงแก่ผู้ที่ยากจนที่สุดในสังคม และทำให้สหรัฐกลายเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก (ดูเอกสารชื่อ Statement on Visit to the USA, by Professor Philip Alston, United Nations Special Rapporteur on extreme poverty and human rights ใน chchr.org 15.12.2017)

ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และสิทธิมนุษยชนเป็นปัญหาระดับโลก จีนได้ทำรายงานชื่อ “บันทึกสิทธิมนุษยชนในสหรัฐ” มากว่าสิบปีแล้ว เพื่อเตือนสหรัฐว่า ไม่ควรชี้นิ้วกล่าวโทษประเทศอื่นมากนัก ให้แก้ปัญหาภายในของตนบ้าง