‘เชื่อมั่น’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ทํางานในป่า ผมนึกถึงคำว่า “เชื่อมั่น” บ่อยๆ

งานสอนให้ผมเข้าใจและยอมรับว่า จำเป็นต้องมีความเชื่อมั่น ทั้งในเพื่อนร่วมทาง เชื่อมั่นในตัวเอง รวมทั้งเชื่อว่า เส้นทางที่กำลังเดินไปนั้น มีจุดหมายที่อยากไปให้ถึงรออยู่

มีความจริงว่า ระหว่างการเดินทาง สองข้างทางนั้นมีความหมาย ซึ่งไม่ควรละเลย

แต่หากมัวแต่เพลิดเพลินอยู่กับสองข้างทาง อาจไปไม่ถึงจุดหมาย

สองข้างทางสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือไปให้ถึงจุดหมาย

 

ในป่า หลายครั้งที่ผมพบว่า ความเชื่อมั่นในตัวเองเปลี่ยนไป

สาเหตุหลัก คือ ทักษะ ความชำนาญ ของเหล่าผู้ร่วมทางทำให้พบกับความ “เงอะงะ” ของตัวเอง

เมื่อความเชื่อมั่นในตัวลดลง

สิ่งที่ตามมาคือ เชื่อมั่นในผู้ร่วมทางมากขึ้น

 

บ่ายวันหนึ่ง บนสำนักงานของหน่วยพิทักษ์ป่า

ผมยืนอยู่หน้าแผนที่ขนาดใหญ่ซึ่งติดข้างฝา แสดงรายละเอียดของผืนป่า

บนสำนักงาน มีความสะดวกสบายพอควร มีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต เรียกได้ว่า เป็นสำนักงานอันเจริญไม่น้อย ทั้งที่หน่วยพิทักษ์ป่าแห่งนี้อยู่ไกลจากสำนักงานเขต เดินทางเข้าถึงไม่ง่าย ยิ่งหากเป็นช่วงฤดูฝน

“โป่งที่อยากเข้าไปสำรวจอยู่ตรงนี้ไงครับ” อุไร พนักงานราชการตำแหน่งพิทักษ์ป่า พูดและชี้ที่แผนที่

ผมมองแผนที่ โป่งนั้นอยู่บนที่ราบมีภูเขาล้อมรอบ ดูจากพิกัด บริเวณนั้นสูงเกือบ 900 เมตร

ระยะทางค่อนข้างไกล หากเริ่มต้นเดินจากนี่

“จากที่นี่ ใช้เวลาเดินไม่น้อยกว่า 4 วันครับ” เขาพูดต่อ

“ไปลาดตระเวนแถวนั้น ใช้เวลาหลายวัน แบกเสบียงเยอะ เดินไม่คล่องตัวเลยครับ” อุไรยิ้ม ปีที่ผ่านมา ทีมพวกเขาเดินป่ากว่า 1,400 กิโลเมตร

ดูจากสภาพพื้นที่ บริเวณนั้นน่าจะเป็นแหล่งอาหารที่ดีของสัตว์ป่า ที่ราบบนความสูง มีทิวเขาล้อมรอบ และแนวป่าดิบเขา

“ถ้าขึ้นจากทางแม่น้ำ ไต่ขึ้นชัน แต่เหมือนจะไม่ไกลเท่าไหร่นะครับ” ผมชี้ในแผนที่และให้ความเห็น

“ครับ ถ้าล่องแพจากหน่วยนี้ แล้วไปขึ้นทางปากห้วยนี่ เดินไปตามลำห้วย ผมว่าสองวันก็ถึงครับ”

ตอนบนๆ ของแม่น้ำที่ผมกำลังดูแผนที่ เห็นได้ว่า ผ่านเข้าไปในเขตป่าอันสมบูรณ์

สภาพแม่น้ำซึ่งเป็นร่องมีโตรกผาขนาบทั้งสองด้าน

ทำให้สายน้ำบางช่วงค่อนข้างเชี่ยว แก่งหลายแก่ง อีกทั้งในช่วงเวลานี้ ระดับน้ำไม่มาก การล่องไปตามลำน้ำน่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก

เราตกลงที่จะเข้าไป โดยวิธีนี้ อุไรจะนำลูกทีมเข้าไปลาดตระเวนด้วย

เลียงผา – เลียงผามีแหล่งอาศัยอยู่ตามทิวเขาหินปูน พบเจอตัวไม่ยากนัก แต่ดูเหมือนวันพรุ่งนี้ของพวกมันไม่ค่อยสดใสเท่าใด แหล่งอาศัยหลายแห่งถูกทำลาย อีกทั้งซากของพวกมันยังมีความเชื่อว่า นำไปเข้าเครื่องยา รักษาโรคอย่างได้ผล / ภาพ : ยิ่งบุญ จงสมชัย

บนแพยาง บรรทุกอุปกรณ์และสัมภาระเต็มลำ อยู่บนสายน้ำ ผมนึกถึงความเป็นจริงว่า ผมไม่เหมาะกับการเดินทางทางน้ำสักเท่าไหร่

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมพบกับอุบัติเหตุเสมอๆ เมื่อต้องทำงานเกี่ยวข้องกับน้ำ ไม่บาดเจ็บ อุปกรณ์ก็เสียหาย

และผมก็พบว่า ไม่ใช่เฉพาะผมหรอก เพื่อนร่วมทางหลายคน ซึ่งมีทักษะสูงตอนเดินป่า ไม่ย่อท้อกับความรกทึบ สูงชัน ดูคล้ายจะไม่คุ้นเคยแพยางอันเป็นพาหนะ

พวกเขานั่งนิ่งมือถือพายแน่นคอยรับฟังคำสั่งจากหนานทา ท้ายเรือ วัยกลางคน ผู้คุ้นเคยกับสายน้ำมาตั้งแต่เด็ก

“ขวาพายหนัก ซ้ายทวน อย่าไปกลัว” นายท้ายร้องสั่งก้องลำน้ำ เมื่อแพยางทะยานลงแก่งน้ำเชี่ยว เขาเชี่ยวชาญกับการอ่านสายน้ำ และบังคับแพล่องผ่านแก่งหินหลายแก่ง เมื่อเห็นแก่งอยู่ข้างหน้า เขาส่งสัญญาณให้หยุด และเดินไปสำรวจก่อน

“เอากล้อง, ปืน และสัมภาระลง แบกเดินไปดีกว่า ข้างหน้ามันมีหินก้อนใหญ่ดัก”

เราแบกสัมภาระเดินเลาะลำน้ำ ส่วนหนานทา และลูกทีม นำแพล่องผ่านแก่ง เขาคัดท้าย มีแชมป์ และแมค ชายหนุ่มสองคนพายคู่หน้า

บางแก่ง ผมนั่งลงมาด้วย ซึ่งก็ทำได้เพียงเกาะเชือกแน่นระวังไม่ให้ตัวร่วงหล่นจากแพ

ขณะสายน้ำสาดกระเซ็นเข้ามาปะทะตัวแพยางโยกขึ้น-ลง ลัดเลาะไปตามร่องน้ำ ผมยึดเชือกแน่น ว่าตามจริง ในงานที่ผมทำไม่มีอะไรให้ยึดนักหรอก

นอกจากสิ่งที่เรียกว่าความเชื่อมั่น

 

เลียงผาตัวนั้น เงยหน้าจากการก้มกินน้ำอยู่ริมสายน้ำ มันเขม้นมองวัตถุที่ลอยตามน้ำเข้ามาใกล้เรื่อยๆ วัตถุที่มันกำลังมอง คือ แพยางสองลำ และคนบนแพ

ดวงอาทิตย์ลับสันเขาไปแล้ว ตำแหน่งที่เลียงผายืนอยู่ในเงาสลัว เราเข้ามาใกล้มากขึ้น มันขยับตัวถอยจากริมฝั่งน้ำ กระโดดขึ้นมายืนบนชะง่อนหิน เราเข้ามาใกล้มันในระยะราว 5 เมตร มันรับรู้ว่า กลิ่นที่มันสัมผัส เป็นกลิ่นผู้ล่า และอันตราย

จึงหันหลังกระโดดจากชะง่อนหินวิ่งไปตามผาชัน หายลับตาไป

เราได้รูปเลียงผา ไม่ใช่รูปที่ดีนัก แต่มันเป็นรูปที่บอกให้รู้ได้ว่า สองฝากฝั่งลำน้ำ เป็นแหล่งอาศัยที่ดีของเหล่าสัตว์ป่า

ภาพภาพหนึ่ง ทดแทนคำพูดได้หลายพันคำ

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมันเกิดจากการทำงานอย่างเอาจริงของเหล่าคนทำงานในป่า

ภาพภาพหนึ่ง มีเรื่องราวข้างหลังภาพอีกมากมาย

 

ผ่านแก่งที่น้ำไหลเชี่ยว การบังคับแพผ่านค่อนข้างยาก น้ำสาดกระเซ็น ตัวเปียกโชก ผมมองหนานทา ซึ่งควบคุมแพอย่างคล่องแคล่ว ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม แม้ขณะกำลังคับขัน

ผมไม่รู้หรอกว่า จุดหมายที่กำลังไปนั้น จะได้พบกับอะไรบ้าง จะมีสัตว์ป่าให้พบเจออย่างที่หวังไหม แต่ในการเดินทางสู่จุดหมายครั้งนี้ ระหว่างทางให้บทเรียนผมอีกอย่าง

เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่รู้ว่า ตัวเองอ่อนด้อย จำเป็นต้องลดความเชื่อมั่นในตัวลง

ลดลงเพื่อเพิ่มความ “เชื่อมั่น” ให้มากยิ่งขึ้น กับเพื่อนร่วมทาง… •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ