สภาพัฒน์กระทุ้งแบงก์ชาติ ลดดอกเบี้ยหนุนเศรษฐกิจ ลดภาระ ‘ครัวเรือน-SME’

เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำเตี้ยลงอย่างต่อเนื่อง

จากไตรมาสแรกปี 2566 ขยายตัวได้ 2.5% มาไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัวได้เพียง 1.9% ต่อมาไตรมาสสองขยายตัว 1.8% ไตรมาสสามลงไป 1.4%

และปิดท้ายด้วยการเติบโตเพียง 1.7% ในไตรมาสสุดท้าย

ส่งผลให้ภาพรวมทั้งปีขยายตัวได้แค่ 1.9% ต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้ว่าจะเติบโตได้ 2.5%

ขณะเดียวกันสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยังได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของปี 2567 ลงด้วย

จากเดิมคาดว่าจะโต 2.7-3.7% ต่อปี (เฉลี่ย 3.2%)

เหลือคาดว่าจะโตแค่ 2.2-3.2% (เฉลี่ย 2.7%)

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัว 1.9% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 2.5% ในปี 2565 และต่ำกว่าที่ สศช.ประมาณการครั้งก่อน ว่าจะขยายตัวได้ 2.5% เป็นผลมาจากการบริโภคและการลงทุนภาครัฐหดตัวติดลบ การเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า การส่งออกสินค้า และการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง

“เศรษฐกิจที่โตในอัตราต่ำลงนั้น อาจมีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน ว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มไม่ดีแล้ว แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังคงขยายตัวได้ ซึ่งในปี 2566 หากดูทั้งปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยประสบภาวะความผันผวนจากภายนอกค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่อง มาขยายตัวได้ในไตรมาส 4”

ขณะที่การประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ว่าจะขยายตัว 2.2-3.2% (ค่ากลาง 2.7%) นั้น ยังไม่ได้นำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเข้ามาคำนวณ เนื่องจากนโยบายหลักต้องหารืออีกหลายฝ่าย หลังมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 2 ชุด เพื่อพิจารณาความเห็น ทั้งของคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอื่นๆ

ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ มีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้า ตามการฟื้นตัวของการค้าโลก รวมถึงการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่คาดจะขยายตัวดี การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นที่ 35 ล้านคน และจะมีรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.22 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 3.0% และ 3.5% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐขยายตัว 2.9% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยคาดอยู่ในช่วง 0.9-1.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.4% ของจีดีพี

“เศรษฐกิจโลกที่มีเรื่องฉับพลันเกิดขึ้น ดังนั้น การส่งออกแม้จะขยายตัวดี แต่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังมีอยู่ และมีความไม่แน่นอนสูง อีกทั้งเศรษฐกิจจีนที่มีปัญหาภายในอาจส่งผลต่อเนื่องต่อการส่งออกของไทย รวมทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก”

 

เลขาฯ สภาพัฒน์เชื่อว่า เศรษฐกิจปีนี้ยังมีความเสี่ยง โดยต้องติดตามการลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง ที่เป็นผลจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณในปีงบประมาณ 2567 รวมถึงการลดลงของพื้นที่ทางการคลัง ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดต่อการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับความเสี่ยงในระยะต่อไป รวมถึงภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง และการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผลผลิตทางการเกษตร และความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา แม้การบริโภคยังคงขยายตัวได้ดี แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหา เพราะยังอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ครัวเรือนรายได้น้อย และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งในระยะถัดไปมาตรการด้านการเงินควรมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เพื่อช่วยลดภาระของเอสเอ็มอีและภาคครัวเรือนโดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ย

“ในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ รวมทั้งเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะถัดไป มาตรการด้านการเงินควรมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เพื่อช่วยลดภาระของเอสเอ็มอีและภาคครัวเรือน โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ย เพื่อให้ส่วนต่างดอกเบี้ยในกลุ่มครัวเรือนและเอสเอ็มอีแคบลง”

นอกจากนี้ ควรผ่อนคลายมาตรการด้านสินเชื่อ ช่วงที่ผ่านมาจะมีสินเชื่อที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) เริ่มเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ หรือหนี้เสีย (NPL) ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นมาก โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรปรับลดอัตราการผ่อนชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำลงมาเป็น 5% จากที่ขึ้นมาเป็น 8% ในช่วงต้นปี 2567

“ธปท.ควรปรับลดอัตราการผ่อนชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำลงมาเป็น 5% จากที่ขึ้นมาเป็น 8% ในช่วงต้นปี 2567 ซึ่งมาตรการสิ้นสุดแล้ว ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 พอมาเดือนมกราคม 2567 ขยับเป็น 8% โดยหากดูตัวสถานการณ์เศรษฐกิจตอนนี้และปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมทั้งตัวเลข SM ก็อยากให้ปรับการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% อีกระยะ เพื่อให้เอสเอ็มอีที่ใช้สินเชื่อบัตรเครดิตมีกำลังการใช้จ่ายมากขึ้น ถ้าใช้ประกอบกับดอกเบี้ยด้วย เชื่อว่าจะไม่ทำให้ SM ไหลไปเป็น NPL”

โดยสินเชื่อบัตรเครดิตต้องทำควบคู่กับการที่ธนาคารพาณิชย์ต้องเข้าไปดูกลุ่มที่ใช้วิธีการชำระขั้นต่ำเป็นเวลานาน แล้วดึงมาปรับโครงสร้างหนี้ ให้มีภาระดอกเบี้ยลดลง และช่วยให้เกิดการชำระหนี้ดีขึ้น ให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในครัวเรือน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีปัญหาผ่อนที่อยู่อาศัย เพราะเป็นเรื่องสำคัญในการดำรงชีวิต จึงอยากฝากให้ ธปท.พิจารณาตรงนี้อย่างจริงจัง”

 

นายดนุชากล่าวด้วยว่า การลดดอกเบี้ยต้องพิจารณาให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม ต้องดำเนินมาตรการควบคู่ไปกับการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อต่างๆ ให้เข้มข้นมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการก่อหนี้เกินตัว ซึ่งต้องมีหลายมาตรการที่จะเข้าไปเพื่อกำกับไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบด้วย

“เรื่องดอกเบี้ยขอให้ ธปท.เป็นผู้พิจารณา ว่าเวลาที่เหมาะสมที่จะปรับลดจะเป็นเมื่อไร เพราะต้องพิจารณาในมุมอื่นด้วย เช่น เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน แต่ถ้าทำได้เร็วก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจได้เร็ว โดยการลดดอกเบี้ยต้องทำควบคู่ไปกับการกำกับด้านสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้ก่อหนี้เกินตัว” เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าว

ล่าสุด ธปท.ระบุว่า หนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 4 ปี 2566 คาดว่าจะขยับขึ้นอยู่ที่ประมาณ 91% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ที่อยู่ที่ 90.9% ขณะที่แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) คาดว่าน่าจะมีการขยับเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลุ่มเปราะบางรายได้ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระ หรือรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท

 

ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วิงวอนขอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เรียกประชุมเป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาลดดอกเบี้ย

จากเสียงเรียกร้องให้ลดดอกเบี้ยที่ดังขึ้นทุกขณะ จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อการตัดสินใจของหน่วยงานกำกับนโยบายการเงินอย่างแบงก์ชาติได้แค่ไหน

คงต้องติดตามกันต่อไป