ภาษาพูด-ภาษาเพลง ของคนสมัยเริ่มแรก

คนสมัยเริ่มแรกมีภาษาพูดและภาษาเพลงผสมกลมกลืนด้วยกัน

เรื่องเล่าสมัยเริ่มแรกเป็นภาษาพูดในชีวิตประจำวัน ซึ่งประกอบด้วยคำพูดปกติกับคำคล้องจองคลุกเคล้าผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน

เมื่อต้องการเน้นพิเศษบางช่วงบางตอนของเรื่องเล่าก็สร้างเป็นคำคล้องจอง ครั้นบอกเล่าถึงตรงที่มีคำคล้องจองจะเปล่งลีลาทำนองพิเศษโดดเด่นออกมา จนนานไปคำคล้องจองมีพลังเหนือเรื่องเล่าปกติจึงถูกใช้งานโดยเฉพาะ แล้วเรียกกันต่อมาว่าคำขับลำ หมายถึงคำคล้องจองถูกขับลำด้วยทำนองลีลาต่างๆ กระทั่งเติบโตแตกแขนงเรียกสมัยหลังว่าโคลงกลอน

คำคล้องจองเก่าแก่มีสอดแทรกเรื่องกำเนิดโลก และเรื่องกำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้า ซึ่งปัจจุบันพบความทรงจำสืบเนื่องเป็นลายลักษณ์อักษรมีสองสำนวน คือ พงศาวดารล้านช้าง กับ ความโทเมืองจากเมืองหม้วย

คำคล้องจองดั้งเดิมมีลักษณะเสรีและมีขนาดสั้นๆ แล้วค่อยๆ ยืดยาวขึ้นเรื่อยๆ ตามต้องการใช้บอกเล่าเป็นเรื่องราวที่มียาวขึ้น จึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคำพูดในชีวิตประจำวันโดยไม่กำหนดแบบแผน ไม่กำหนดจำนวนคำและสัมผัสว่าต้องอย่างนี้ อย่างนั้น อย่างโน้น (ตรงข้ามกับร้อยกรองที่คุ้นเคยทุกวันนี้ล้วนให้ความสำคัญต่อสิ่งที่เรียกสมัยหลังจนปัจจุบันว่าฉันทลักษณ์ หมายถึงกำหนดจำนวนคำแต่ละวรรค และกำหนดสัมผัสเสียงระหว่างวรรค)

ร้อยกรองมีกำเนิดคลุกเคล้าอย่างขาดไม่ได้ด้วยทำนองเสนาะของขับลำและเพลงดนตรีอย่างเสรี เมื่อมีพัฒนาการสมัยหลังๆ จึงให้ความสำคัญเรื่องสัมผัสเสียง (สัมผัสนอก, ใน) และระดับเสียง (เอก, โท) [คำอธิบายมีรายละเอียดอยู่ในหนังสือโองการแช่งน้ำ และข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา ของ จิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์ดวงกมล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2524]

วรรณกรรมสมัยแรกๆ เพื่อฟังเสียงขับหรือร้อง จึงต้องอ่านออกเสียง หรือ “อ่านด้วยหู” เพราะยังไม่เป็นวรรณกรรมเพื่ออ่านด้วยตา (หลังมีการพิมพ์จึงเป็นวรรณกรรมอ่านด้วยตา)

 

ขับลำคำคล้องจอง

ขับลำคำคล้องจองเก่าสุดราว 2,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1 ไม่พบหลักฐานตรงไปตรงมา แต่พบสัญลักษณ์เป็นลายเส้นบนภาชนะสำริดอยู่ในหลุมศพที่เวียดนาม บริเวณหลักแหล่งดั้งเดิมของจ้วง-ผู้ไท

ลายเส้นสำริดชุดหนึ่งเป็นรูปคนแต่งคล้ายหญิง มี 3 คน ดังนี้ คนนำหน้าทำท่าฟ้อน, คนกลางเป่าแคน, คนตามหลังทำท่าฟ้อน ทั้งหมดคล้ายขับลำคำคล้องจองคลอแคนในพิธีกรรมหลังความตาย (เพราะพบรูปเหล่านี้ในหลุมศพ)

พิธีกรรมหลังความตายของคนชั้นนำของเผ่าพันธุ์ เช่น หัวหน้าเผ่าพันธุ์ มีพิธีขับลำบอกผีฟ้าว่าส่งขวัญคนตายขึ้นฟ้าไปรวมพลังกับผีฟ้าเพื่อคุ้มครองคนยังไม่ตายอยู่ในชุมชน เส้นทางส่งขวัญคนตายขึ้นฟ้าเริ่มออกจากเรือน ผ่านสถานที่ต่างๆ แล้วล่องเรือหรือแพข้ามห้วงน้ำกว้างใหญ่ไพศาลซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับเมืองฟ้า ตลอดเส้นทางที่ส่งขวัญผ่านไป เนื้อความรำพึงรำพันสั่งเสียสั่งลาผู้คนเครือญาติ, บ้านเรือน, สัตว์, สิ่งของ, ภูมิสถานป่าดงพงไพร ฯลฯ

แต่ผีฟ้าเป็นสิ่งมีอำนาจเหนือธรรมชาติ (หมายถึงไม่ใช่คน) ต้องสื่อสารด้วยภาษาผีฟ้าที่แสดงออกด้วยเครื่องเป่าเป็นเสียงสูงต่ำเรียกแคน ดังนั้น การสื่อสารกับผีฟ้าต้องทำโดยหมอขวัญขับลำคำสู่ขวัญเป็นภาษาคน ผ่านหมอแคนซึ่งทำหน้าที่แปลงถ้อยคำภาษาคนเป็นภาษาผีฟ้าซึ่งอยู่ต่างมิติเพื่อให้ผีฟ้ารับรู้ตั้งแต่ต้นจนปลาย ด้วยเหตุดังนั้นการติดต่อสื่อสารกับผีฟ้าต้องทำคู่กันด้วยหมอขวัญกับหมอแคน (ความเชื่ออย่างนี้เป็นต้นตอวงมโหรีราชสำนักสมัยหลังกำหนดแบบแผนประเพณีสีซอสามสายคลอคำร้องตั้งแต่คำต้นจนคำท้าย)

ขับลำคำคล้องจองมีต้นตอรากเหง้าเก่าสุดพบในโซเมียเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1 บริเวณตอนใต้มณฑลกวางสีของจีนต่อเนื่องกับทางตอนเหนือของเวียดนามอันเป็นหลักแหล่งดั้งเดิมของจ้วง-ผู้ไท ซึ่งเป็นกลุ่มเก่าสุดของคนพูดตระกูลภาษาไท-ไต จากนั้นแผ่ไปตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในถึงลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำสาละวิน, ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อฟักตัวอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาษาไท-ไตถูกเรียกสมัยปัจจุบันว่าสำเนียงเหน่อ

ลักษณะสำคัญร่วมกันของคนพูดตระกูลภาษาไท-ไต ได้แก่ นับถือผีฟ้า, เชื่อเรื่องขวัญ, มีประเพณีทำศพครั้งที่สอง, ทำนาดำหรือนาทดน้ำ, รู้เทคโนโลยีสำริด ฯลฯ เหล่านี้พบหลักฐานแพร่กระจายจากโซเมียทางตอนใต้ของจีน-ทางเหนือของเวียดนามเข้าลุ่มน้ำโขง ลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นที่รับรู้ทั่วไปทั้งไทยและสากล

ประเพณีขับลำคำคล้องจองเหล่านี้ต่อไปข้างหน้าเติบโตเป็นการละเล่นขับซอ (ขับแปลว่าร้อง ส่วนซอเป็นคำลาวแปลว่าร้อง) แพร่หลายในรัฐอยุธยา กระทั่งมีพัฒนาการเป็นขับเสภาในกรุงรัตนโกสินทร์

หลักฐานลายเส้นสำริดเป็นต้นทางสร้างสรรค์สืบเนื่องต่อมา ดังนี้ (1.) คำสั่งเสียสั่งลาเส้นทางส่งขวัญ เป็นต้นแบบนิราศต่อไปข้างหน้า (2.) ท่าฟ้อนลายเส้นสำริด เป็นต้นตอ “ยืด-ยุบ” ของท่าฟ้อนท่ารำต่อไปข้างหน้า (3.) ขับลำคลอแคนเป็นต้นทางแบบแผน “ดนตรี”, “ปี่แคนซอ” (ร้องกับปี่แคน) ในราชสำนักอยุธยา (พบในอนิรุทธคำฉันท์)

ภาษาพูด-ภาษาเพลงของคนสมัยเริ่มแรก พบหลักฐานลายสลักเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว รูปคนแต่งคล้ายหญิง นุ่งยาวปล่อยชายสองข้าง มีเครื่องประดับเป็นขนนกและใบไม้สวมหัว ร่วมกันขับลำคำคล้องจองแล้วเป่าแคนคลอ พร้อมฟ้อนประกอบ (ลายเส้นจำลองจากลายสลักบนขวานสำริด ขุดพบในหลุมศพเมืองดงเซิน ริมแม่น้ำซองมา จ.ถั่นหัว เวียดนาม)

ต้นทางร้อยกรอง

ภาษาพูด-ภาษาเพลงของคนสมัยเริ่มแรกเป็นต้นทางร้อยกรองทุกวันนี้

คำคล้องจองสมัยแรกเริ่มของจ้วง-ผู้ไทใช้เวลาพัฒนาการในที่สุดเป็นร้อยกรอง พบร่องรอยเป็นสุภาษิตจ้วงหลายบท ได้แก่ “ทางอยู่ที่ปาก หมากอยู่ที่ต้น”, “กินข้าวคิดถึงนา กินปลาคิดถึงน้ำ”, รักข้าวต้องหมั่นลงนา รักเมียต้องขยันเยี่ยมยาย” (naz-นา สัมผัสกับ bah-เมีย) [จากหนังสือจ้วง : ชนชาติไทในสาธารณรัฐประชาชนจีน ภาคที่ 2 : วัฒนธรรม (ปรานี กุลละวณิชย์ บรรณาธิการ) จัดพิมพ์โดยศูนย์ภาษาและวรรณคดีไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2531]

คำคล้องจองที่ว่า “กินข้าวคิดถึงนา กินปลาคิดถึงน้ำ” ยังพบในกลุ่มผู้ไทพูดกันว่า “กินข้าวอย่าลืมเสื้อนา กินปลาอย่าลืมเสื้อน้ำ” ได้ความตรงกัน แต่ต่างกันที่ทางผู้ไทมีคำว่า “เสื้อนา” กับ “เสื้อน้ำ” คำว่า “เสื้อ” ก็คือเชื้อ หมายถึงบรรพชน บางทีเรียก “ผีเชื้อ” (ออกเสียง “ผีเสื้อ”)

จากคำคล้องจองอย่างง่ายๆ ถ้าส่งสัมผัสไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นร่าย พบในจ้วง-ผู้ไท มีร่ายชนิดวรรคละ 5 คำ แล้วส่งสัมผัสจากคำท้ายของบาทไปยังคำที่ 1 หรือ 2 หรือ 3 ของวรรคถัดไป (จากหนังสือ งานจารึกและประวัติศาสตร์ ของ ประเสริฐ ณ นคร พิมพ์เนื่องในโอกาสฉลองอายุ 6 รอบ เมื่อ 21 มีนาคม 2534)

กลอนเพลงชาวจ้วง-ผู้ไทที่ยกมานี้มีลักษณะเสรี ไม่เคร่งครัดจำนวนคำแต่ละวรรค และไม่กำหนดเสียงสัมผัสใน แต่จะให้ความสำคัญที่จังหวะขับหรือร้อง คือจะมีกี่คำก็ได้ แต่ให้อยู่ในจังหวะที่ไพเราะรื่นเริงก็แล้วกัน ซึ่งคล้ายกับกลอนเพลงยุคแรกๆ ของไทย เช่น กาพย์กลอนลุ่มแม่น้ำโขง (แถบล้านนาและอีสาน), กลอนเพลงร้องเรือ (ภาคใต้) และกลอนร้องเล่นหรือกล่อมเด็ก (ภาคกลาง) รวมทั้งบทร้องมโหรีในราชสำนักสมัยอยุธยา

ครั้นหลังรับศาสนาจากอินเดีย คำคล้องจองในศาสนาผีได้รับยกย่องเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ เช่น บทสวด, บทเทศน์มหาชาติ, บทสรรเสริญ หรือประณามพจน์ ฯลฯ แล้วถูกเรียกว่าร่าย มีทั้งร่าย (ปกติ) และร่ายยาว ขณะเดียวกันก็มีพัฒนาการเป็นโคลงและกลอน

คำคล้องจองเป็นต้นทางของคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองที่รู้จักทั่วไปในทุกวันนี้ว่ากลอน มี 3 พวก คือ กลอนร่าย, กลอนลำ, กลอนร้อง (มีอธิบายอย่างละเอียดใน โองการแช่งน้ำ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์ดวงกมล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2524)

[คำคล้องจองเป็นส่วนหนึ่งอย่างสม่ำเสมอของภาษาพูดในชีวิตประจำวันบรรพชนคนไทย ทำให้สมัยหลังมีคำพูดติดปากทั่วไปว่า “ไทยเป็นชาตินักกลอน” คำว่า “กลอน” ตรงนี้หมายถึงคำคล้องจอง ซึ่งไม่ใช่กลอนแปดแบบสุนทรภู่] •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ