เราจะ ‘กินบุญเก่า’ ไปได้อีกนานเท่าไหร่?

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

เราจะ ‘กินบุญเก่า’

ไปได้อีกนานเท่าไหร่?

 

เสน่ห์ของเราเหลือเพียงที่ตั้งประเทศไทยเท่านั้นหรือ?

คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพูดไว้ในเวทีเสวนาเรื่อง Geopolitics : โลกรวนชวนตีกัน โอกาสของไทย? ว่า

ขณะนี้เสน่ห์ของประเทศไทยหายไปเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เท่านั้นที่ยังดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยว

แล้วก็ยกตัวอย่างโรงงานจากจีนจะย้ายฐานการผลิต 4 รายมาไทย เพียง 1 ราย

อีก 3 รายไปเวียดนาม

เพราะต้นทุนเวียดนามต่ำกว่า

และเงื่อนไขกฎระเบียบต่างๆ เอื้ออำนวยต่อการลงทุน

ขณะที่ไทยไม่มีการปรับโครงสร้างที่ผุกร่อนมาช้านาน

ไม่มีการปรับกฎระเบียบมาเป็นเวลานานมาก

การผลัดใบ เลือดใหม่ คิดแบบทันความเปลี่ยนแปลง

การก้าวเข้าสู่ “การเมืองใหม่” ก็ถูกขัดขวางเกือบจะทุกวิถีทาง

การปฏิรูประบบราชการก็ไม่เกิดเพราะขาดความความกล้าหาญทางการเมืองหรือ political will ที่จะก้าวเข้าสู่โลกใหม่ที่ถูก “ป่วน” โดยนวัตกรรมดิจิทัลในทุกแง่มุม

เราจึงตกอยู่ในสภาพของการหากินกับ “บุญเก่า” เป็นหลัก

 

ไม่ต้องสงสัยว่าชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งเริ่มท้อแท้ มองไม่เห็นอนาคตของตนเองในสังคมที่ติดยึดอยู่กับ “สภาพเดิม” หรือ status quo ที่รังแต่จะเป็นการเดินถอยหลัง

หรือเดินหน้า 1 ก้าว ถอย 2 ก้าว

เผลอๆ อาจจะกลับไปสู่ “วงจรอุบาทว์” เดิมของรัฐประหาร-ร่างรัฐธรรมนูญ-เลือกตั้ง-วนกลับเข้าสู่รัฐประหาร…อย่างที่เป็นมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475

จุดที่ตั้งใจกลางของประเทศไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นรากฐานสำคัญของ “จุดแข็ง” ทางเศรษฐกิจของไทยมายาวนาน

เรามักจะ “ขาย” ว่าประเทศไทยเป็น “ประตู” สู่ภูมิภาค

ต่อมา แค่เรียกตัวเองว่า “ประตู” ยังไม่พอ จึงสร้างวลีใหม่ๆ เช่น “ศูนย์กลาง” หรือ “ฮับ” มาเสริมความมั่นใจของเราเอง

เราประกาศตัวเป็น “ฮับ” ของทุกสิ่งทุกอย่างที่คนอื่นเขากำลังทำ

แต่เราเน้นการ “พูด” หรือจัดอีเวนต์ว่าเราเป็น “ฮับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” บ้าง

เป็น “ฮับ” ของการรักษาพยาบาลบ้าง

เป็น “ฮับ” ทางโลจิสติกส์ของภูมิภาคบ้าง

แต่การติดป้าย “ฮับ” เป็นเพียงกระแสชั่วครู่ชั่วยามเมื่อรัฐบาลต้องการจะทำให้เห็นว่ามีกิจกรรมที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญกันอยู่

 

พอรัฐบาลประกาศนโยบาย Thailand 4.0 ทั้งประเทศก็จัดกิจกรรมเรื่องนี้กันอย่างคึกคัก

โดยที่ผู้คนที่เกี่ยวข้องจะเข้าใจความหมายของคำนี้แค่ไหนก็ยังน่าสงสัย

แต่เมื่อรัฐบาลตั้งงบประมาณและออกนโยบายให้หน่วยราชการจัดงานภายใต้หัวข้อนี้ ก็มีการแก่งแย่งงบประมาณเพื่อจัดงานให้ตรงกับนโยบาย

ส่วนใครจะรู้ว่า Thailand 4.0 คืออะไรหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ไม่ต่างกับตอนที่รัฐบาลสมัยหนึ่งตั้งงบฯ ให้กระทรวงทบวงกรมทั้งหลายจัดอีเวนต์ภายใต้หัวข้อ AEC (Asean Economic Community)

ไปไหนก็มีแต่งาน AEC ที่ฟังดูเหมือนทันสมัยและคึกคัก

แต่พอซักไซ้ไล่เลียงดูก็มีคนไม่กี่คนที่เข้าใจเรื่องนี้จริงๆ จังๆ นัก

แม้แต่ข้าราชการระดับสูงเองที่ได้รับงบประมาณมา และสั่งให้หน่วยงานของตัวเองจัดกิจกรรม โดยตัวหัวหน้าเป็นคนไปเปิดงาน

พอเปิดงาน, ถ่ายรูป, ตัดข่าวแปะเสร็จ ก็เป็นอันเสร็จภารกิจ ถือว่าได้ทำตามนโยบายของรัฐบาลและได้ใช้งบประมาณไปแล้ว

น้อยรายนักที่จะมีการประเมินว่ากิจกรรมเหล่านั้นได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดต่อการพัฒนาประเทศหรือทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแต่อย่างไร

 

นี่คือการทำงานแบบไทยๆ ที่สร้างจุดแข็งใหม่ไม่ได้ และยัง “ขายของเก่า” ของเราเพื่อประทังชีวิตของประเทศ

โดยไม่คิดทำอะไรที่เป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่โลกต้องการ

เพราะเรากำลังผลิตสิ่งที่ไม่มีใครต้องการ

โดยที่เราไม่รู้ และรัฐบาลไม่บอก เพราะบางทีรัฐบาลก็ไม่รู้ เพราะมัวแต่รักษาฐานอำนาจ จึงไม่แตะโครงสร้างเดิมที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ของอำนาจรัฐเดิม

ไทยเราขาย “ตำแหน่งภูมิศาสตร์” ที่ธรรมชาติเป็นใจมากมาย

ที่ตั้งตรงนี้ไม่มีภัยธรรมชาติรุนแรง, แผ่นดินไหวเกิดน้อยและไม่รุนแรง, พายุหนักๆ กว่ามาพัดเข้าไทยก็ลดความรุนแรงเพราะผ่านภูเขาและป่าเขาของเพื่อนบ้านมาก่อนแล้ว

เราจึงขาย “รอยยิ้มสยาม” และ “นิสัยโอบอ้อมอารี” ของคนไทยมาได้ตลอด

จนไม่รู้สึกว่ามีแรงกดดันที่จะต้องสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่มีคุณค่าด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งที่สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้าน

 

ตรงกันข้าม เพื่อนบ้านเราที่มีที่ตั้งที่ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติและต้องดำรงวิถึชีวิตที่ต้องปรับตัวตลอดเวลากลับต้องตื่นตัวและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อความอยู่รอดและการสร้างชาติตลอดเวลา

เรา “ขาย” ของเดิมๆ เพื่อดึงดูดการค้าและการลงทุน

ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและมาเลเซียเร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้ทันสมัยและกระโจนเข้าหาโลกดิจิทัลอย่างเอาจริงเอาจัง

เพราะเขาตระหนักดีว่าการพึ่งพาที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป

รัฐบาลที่ยังอ้างว่า “เราได้เปรียบเพื่อนบ้านเพราะเรามีชายหาดสวย, อาหารอร่อย, ผู้คนยิ้มแย้ม” เท่ากับเป็นการหลอกคนไทยว่าเราไม่ต้องดิ้นรนทำอะไรมากไปกว่านี้

เราเป็นประเทศ “เทวดาเลี้ยง” เพราะในน้ำมีปลา ในนามีข้าว

โดยหาได้รับรู้ไม่ว่าน้ำเริ่มเหม็นเน่า ปลาเริ่มตาย นาเริ่มหดหาย ข้าวก็เริ่มมีมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกที

โรงเรียนและมหาวิทยาลัยไทยไม่สอนว่าความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์อย่างเดียวไม่สามารถทำให้เราแข่งกับคนอื่นได้อีกต่อไป

หากเราไม่ปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัลที่ผันผวนปรวนแปรอยู่ตลอดเวลา

 

ผู้ประกอบการของเราเพิ่งจะยอมรับ (ในจังหวะที่ค่อนข้างสายแล้ว) ว่าการปฏิวัติทางดิจิทัลนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะมันเป็นทั้งความท้าทายและโอกาส

มันมีผลกระทบต่อวิถีดั้งเดิมและทำงานคนตกงานในหลายวงการทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง

แต่ขณะเดียวกันก็เปิดประตูสู่ช่องทางใหม่ในการเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

หากเราไม่หวังพึ่ง “บุญเก่า” ไทยก็ต้องปรับตัวเข้าหากลยุทธ์ต่างๆ อย่างไม่ลังเลและรีรอ

อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเล่าว่านักศึกษาจีนที่มาเรียนเมืองไทยมีความชื่นชอบความเป็นประเทศไทยในหลายๆ ด้าน

และเมื่อถามว่าพวกเขาและเธอคิดว่าคนไทยควรจะต้องปรับปรุงตัวเองด้านหนึ่งบ้าง คำตอบจากนักศึกษาจีนส่งเสียงเกือบจะเป็นเอกฉันท์ว่า

“เด็กไทยต้องขยันมากกว่านี้!”

คนไทยได้ยินแล้วควรจะหน้าชา

แต่หากจะให้เดา ปฏิกิริยาจากคนไทยก็อาจจะเป็นแค่หัวเราะร่วนและคงจะย้อนกลับว่าคนไทยมีปรัชญาประจำชาติว่า “อย่าทำตัวขยันเกินจะเป็นที่หมั่นไส้ของเพื่อนฝูง!”

 

แต่สาเหตุสำคัญที่เรายังไม่คิดว่าจะต้องขยันมากกว่าที่เป็นอยู่เพราะเราเป็นดินแดนแห่งความ “สบายๆ”

เราคุ้นชินกับชีวิตแบบที่ไม่ต้องดิ้นรนต่อสู้หรือแข่งขันกับใคร ปล่อยให้ชาติอื่นเขาขยันกันไป ก็เราอยู่ของเราได้แบบนี้มาหลายชั่วอายุคนแล้ว

เราจึงไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยน

ด้วยทัศนคติต่อชีวิตอย่างนี้จึงสะท้อนถึงความเป็นประเทศวันนี้ที่รัฐบาลบอกว่าเรา “โตต่ำกว่าศักยภาพ”

แต่ความจริงอาจจะเป็นว่า “ศักยภาพ” ของเราต่ำเตี้ยลงมาตลอด เราจึงโตไปกว่าที่เป็นอยู่วันนี้ไม่ได้

ก็คงเหมือนกับที่คุณเกรียงไกรได้วิเคราะห์เอาไว้อย่างน่ากังวลสำหรับคนทั้งชาติ

โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นต่อไปที่ต้องรับภาระสังคมคนสูงวัยเต็มรูปแบบขณะที่คนวัยทำงานหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง

แต่สิ่งที่เหลือเป็น “จุดแข็ง” ของเราคือตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เท่านั้น

อย่างอื่นเรารั้งท้ายหมด

แนวทาง “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ที่หันมาอีกทีเราอยู่ในตำแหน่งบ๊วยนั้นคือหนทางสู่หายนะของคนทั้งชาติแน่นอน!