หยั่งเชิงความหวังนักธุรกิจ ชี้โอกาสเศรษฐกิจไทยแตะ 3%

เศรษฐกิจไทยถูกหั่นคาดการณ์การเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ยังต้องเผชิญสารพัดปัจจัยเสี่ยงทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามากระทบ

เริ่มต้นที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับ 2.7-3.7% หรือค่ากลางขยายตัวได้ประมาณ 3.2% เหลือขยายตัวเพียง 2.2-3.2% หรือค่ากลางขยายตัวได้ประมาณ 2.7% เท่านั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจาก 3.2% เหลือ 2.5-3%

ไม่ต่างจากสำนักของเอกชน ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงมาอยู่ที่ 2.8% จาก 3.1% สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงเหลือ 2.3% จากเดิมที่ประมาณการว่าจะขยายตัวได้ 3.1% ขณะที่เอสซีบี ซีไออี ก็ปรับจีดีพีไทยจาก 3% เหลือ 2.7%

สิ่งที่เหมือนกันในการหั่นคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ ที่นอกจากจะปรับลดลงเหมือนกันแล้ว ยังต่ำกว่า 3% เหมือนกันทุกสำนักด้วย โดยสาเหตุ มีทั้งปัญหาทางโครงสร้างของประเทศไทยเอง แรงสนับสนุนเศรษฐกิจที่หายไปหลังงบประมาณประจำปียังไม่สามารถคลอดออกมาใช้ได้ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงในต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ลุกลามมาถึงไทยด้วย

ถึงอย่างนั้นก็ยังมีมุมมองเห็นต่าง และแทงสวนเกิดขึ้น โดยหอการค้าไทย นำโดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวอย่างมุ่งมั่น จะผลักดันจีดีพีไทย ปี 2567 เติบโตไม่ต่ำกว่า 3% ให้ได้

แต่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ประธานหอการค้าไทย มองว่า ขณะนี้มี 4 ความท้าทายหลัก ที่ประเทศไทยต้องข้ามผ่านไปให้ได้ คือ

1. ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ การทำสงครามระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ

2. เทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนผ่าน และมีบทบาทสำคัญกับเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ไทยมีแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีเพียง 1% เท่านั้น เทียบกับประเทศ

3. ปัญหาสังคมผู้สูงอายุจากอัตราการเกิดของเด็กไทยน้อยกว่าอัตราการตาย ส่งผลให้ประเทศจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคน ยิ่งทำให้วัยแรงงานของไทยลดน้อยลง

และ 4. การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว

เพื่อให้สามารถก้าวผ่านความท้าทายใหญ่ทั้ง 4 ข้อไปได้ ภาครัฐ เอกชน ประชาชน ต้องมีส่วนช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมนั้น ในเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการประชุมหอการค้า 5 ภาค เพื่อรับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะต่างๆ นำมาประมวลและเสนอไปยังรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีต่อไป

ภูมิภาคที่ถือเป็นไฮไลต์และมีบทบาทสำคัญ ที่รู้ถึงปัญหาและรู้ว่าควรจะขับเคลื่อนอย่างไร ทั้งด้านการท่องเที่ยว การลงทุน และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการ (ดีมานด์) ที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างร้อนแรง หนีไม่พ้นภาคใต้

เนื่องจากมีจังหวัดที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก

รวมถึงหลายจังหวัดก็เป็นจุดเชื่อมต่อการค้าและการลงทุนที่สำคัญด้วย จึงเชื่อว่าหนึ่งในข้อเสนอที่จะรวบรวมส่งตรงถึงมือนายกฯ คงต้องมีจากภูมิภาคนี้ด้วยแน่นอน

วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ

อย่าง นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ รองประธานหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้หอการค้าไทย กล่าวว่า สิ่งที่จะเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจไทย ปี 2567 ให้โตขึ้นถึง 3% เป็นโครงการที่รัฐบาลประกาศไว้อย่างยิ่งใหญ่ คือ โครงการแลนด์บริดจ์ (หรือชื่อเต็มคือ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน) เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม เชื่อมโยง 2 ท่าเรือ เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางน้ำ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

หอการค้าภาคใต้จะแบ่งโครงการแลนด์บริดจ์ ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนของอ่าวไทย และส่วนของอันดามัน

โดยในส่วนของอ่าวไทย มีท่าเรือสงขลาอยู่แล้ว แต่อันดามันยังไม่มีท่าเรือน้ำลึก ทำให้หากรอโครงการแลนด์บริดจ์อย่างเดียว โครงการจะใช้ระยะเวลานาน ต้องทำถนน สร้างระบบราง ท่อส่งน้ำมัน ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก

หอการค้าภาคใต้ จึงมีการหารือกันว่า จะผลักดันเฉพาะท่าเรือระนอง บริเวณแหลมอ่าวอ่างก่อน เพื่อให้สินค้าจากมาบตาพุด และภาคอื่นๆ อาทิ ภาคเหนือ อีสาน เชื่อมต่อเข้ามาทางชุมพร ถึงระนองได้ ซึ่งท่าเรือแหลมอ่าวอ่างนี้ จะมีขนาดประมาณ 6 พันไร่

ท่าเรือนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแลนด์บริดจ์ แต่ไม่ได้เอาอย่างอื่นเข้ามาร่วมด้วย ขอเพียงท่าเรืออย่างเดียวเท่านั้น เนื่องจากธุรกิจฟินเทค (Financial Technology) หรือกลุ่มธุรกิจที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำให้การบริการที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีมูลค่าการค้าที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศระยะใกล้กับไทย โดยเฉพาะอินเดีย มีขนาดเศรษฐกิจไทยที่โตขึ้นแทบไม่เป็นรองประเทศเศรษฐกิจอย่างจีนเลย ทำให้มีกำลังซื้อสูงมากด้วย การเปิดท่าเรือที่ระนอง

“โครงการแลนด์บริดจ์จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องของอนาคต แต่หากสามารถผลักดันท่าเรือระนองให้เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะมาจากการลงทุนของรัฐบาล หรือร่วมกับเอกชนก็ หากสามารถเกิดขึ้นได้จริง จะเป็นการเปิดประตูเศรษฐกิจไทย ผ่านธุรกิจฟินเทคได้ ภาพที่หอการค้าภาคใต้มองไว้ คิดว่าไม่ได้มากเกินฝันแน่นอน หากสามารถเปิดประตูตรงนี้ได้ เชื่อว่าจะมีการพัฒนาการค้าขายสินค้าของไทยผ่านท่าเรือภาคใต้ได้ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทยได้อย่างมหาศาลด้วย” นายวัฒนากล่าว

นอกจากเรื่องการค้าขายและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังถือเป็นการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวไทยด้วย โดยการท่องเที่ยวทะเลฝั่งอันดามัน ขณะนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเทียบเท่าปี 2562 แล้ว

รวมถึงประเมินเฉพาะช่วงเดือนเมษายน หลังสงกรานต์ผ่านไปแล้ว เดิมพบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดน้อยลง แต่ปี 2567 นี้ ตอนนี้เราเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

สะท้อนถึงทิศทางที่ขยายตัวได้ดีของตลาดต่างชาติเที่ยวไทย ทำให้ปีนี้คาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะดีกว่าปี 2566 แน่นอน

นณริฏ พิศลยบุตร

ขณะที่ นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิจัยอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การที่จีดีพีไทยขยายตัวได้ต่ำกว่า 3.6-3.8% ถือว่าเศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพที่มีมาก โดยยิ่งตัวเลขการขยายตัวต่ำกว่า 3.6-3.8% มากเท่าไหร่แสดงว่าเศรษฐกิจไทยอ่อนแอมากเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลใจ คือ ตัวเลขศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่ควรเติบโตที่ 3.6-3.8% ต่อปี เป็นตัวเลขที่ประมาณการศักยภาพการเติบโตในช่วงก่อนโควิด-19

คำถามคือ ในปัจจุบันจะยังคงเป็นตัวเลขที่เหมาะสมอยู่หรือไม่

ภายหลังมานี้เริ่มมีนักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มมองว่า ตัวเลขที่เหมาะสมของศักยภาพเศรษฐกิจไทยอาจจะต่ำลงมากกว่าระดับดังกล่าวแล้ว ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจไทยโตต่ำต่อเนื่องมาหลายปี และมีความเสี่ยงที่อาจจะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว ที่จะเป็นปัญหาที่ใหญ่และไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาเองได้โดยง่าย

สุดท้ายเศรษฐกิจไทยจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้มากน้อยเท่าใด คงต้องวัดฝีมือรัฐบาลที่กำลังมีกระแสขยับสับเปลี่ยน และงบประมาณคงค้างปี 2567 ที่กำลังไหลเข้าระบบเศรษฐกิจ จะหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจฐานรากได้ฟื้นตัวและแข็งแกร่งได้เร็วแค่ไหน