ศิลปะแห่งการสำรวจวัฏจักรของน้ำ ณ ห้องสมุดรถไฟ ในมหกรรมศิลปะ Thailand Biennale Chiang Rai 2023

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้ขอต่อด้วยเรื่องราวของศิลปินที่มาร่วมแสดงงานใน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ที่จังหวัดเชียงรายกันอีกคน

ในคราวนี้เป็นคิวของศิลปินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผู้มีชื่อว่า โปกล็อง อะนาดิง (Poklong Anading) ศิลปินร่วมสมัยชาวฟิลิปปินส์ จากกรุงมะนิลา

เขาจบการศึกษาสาขาจิตรกรรม จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์

อะนาดิงสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้สื่อหลากหลาย ทั้งงานจิตรกรรม, วาดเส้น, ภาพถ่าย, วิดีโอ, ศิลปะจัดวาง และศิลปะจากวัตถุสำเร็จรูป โดยใช้แนวทางที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นที่ว่าด้วยการสะท้อนตัวตน, ความเฉพาะเจาะจงของพื้นที่, ประเด็นทางสังคม, เวลา, ภูมิศาสตร์, สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ

เขาเข้าร่วมเป็นศิลปินในพำนักของโครงการหลายแห่งทั่วโลก ทั้งในมะนิลา ฟิลิปปินส์, บันดุง อินโดนีเซีย, กรุงเทพฯ ประเทศไทย, ปารีส ฝรั่งเศส, เวียนนา ออสเตรีย

ผลงานของเขาได้รับการจัดแสดงในเทศกาลศิลปะ Gwangju Biennale เกาหลีใต้ และมีนิทรรศการแสดงเดี่ยวและกลุ่มในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา, ฮ่องกง, สิงคโปร์, ไต้หวัน, เซี่ยงไฮ้ และอิตาลี

ห้องสมุดรถไฟเชียงราย
ห้องสมุดรถไฟเชียงราย
ห้องสมุดรถไฟเชียงราย

ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ครั้งนี้ อะนาดิงนำเสนอผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ ที่จัดแสดงในห้องสมุดรถไฟเชียงราย ที่ดำเนินการโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย โดยเปิดขึ้นในปี 2010 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาค้นคว้าของนักเรียน ที่ประยุกต์ดัดแปลงมาจากขบวนรถไฟ ให้กลายเป็นห้องสมุดที่มีหนังสือในหมวดหมู่ต่างๆ ทั้งประวัติศาสตร์, วรรณกรรม, ปรัชญา, ศาสนา, ภาษา, สังคมศาสตร์, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการพัฒนาทักษะต่างๆ จัดเรียงไว้ในแต่ละโบกี้ให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้ามาใช้งานกันได้อย่างเสรี ไม่เสียสตางค์

โดยอะนาดิงกล่าวถึงเหตุผลที่เขาเลือกใช้พื้นที่ของห้องสมุดรถไฟแห่งนี้เป็นพื้นที่แสดงงานว่า

“ห้องสมุดรถไฟแห่งนี้เป็นห้องสมุดของโรงเรียน นักศึกษา และประชาชนในเชียงราย เดิมที ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ทางเมืองเชียงรายมีแผนว่าจะสร้างทางรถไฟในเชียงราย แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้มีการสร้างขึ้น (ปัจจุบันจังหวัดเชียงรายยังไม่มีรถไฟผ่าน) ขบวนรถไฟแห่งนี้จึงเป็นเหมือนสิ่งที่หลงเหลืออยู่ของโครงการที่ไม่ได้สร้างขึ้นที่ว่า”

“เราใช้พื้นที่ในห้องสมุดแห่งนี้เป็นพื้นที่แสดงงาน ด้วยความที่ผมลงพื้นที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับแม่น้ำโขง คูคลอง และบ่อบำบัดน้ำเสียรวมในจังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ใกล้กับห้องสมุดรถไฟ ผมบังเอิญได้มาพบที่นี่และเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจมาก จึงใช้ที่นี่เป็นพื้นที่แสดงผลงานศิลปะที่เป็นผลจากการวิจัยครั้งนี้”

Every water is an island
Every water is an island
Every water is an island
Every water is an island

เริ่มต้นจากผลงาน Every water is an island (2013-ปัจจุบัน) ผลงานวิดีโอจัดวางที่บันทึกภาพผืนน้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสียของเมืองเชียงราย ผ่านช่องเปิดเล็กๆ ที่สะท้อนแสงอาทิตย์เป็นประกายระยิบระยับของผืนน้ำที่กำลังเคลื่อนไหว โดยผู้ชมไม่อาจทราบได้เลยว่านี่คือน้ำเสียจากชุมชนของพวกเขาเอง

“เมื่อเข้าประตูห้องสมุดมา ผู้ชมจะเห็นวิดีโอที่เป็นภาพแหล่งน้ำ ในผลงานชุดนี้ ด้วยความที่ห้องสมุดแห่งนี้อยู่ใกล้กับบ่อบำบัดน้ำเสียในเชียงราย ที่น้ำเสียต่างๆ จากการบริโภคของคนทั้งจังหวัดเชียงรายถูกส่งนำมาบำบัดที่นี่ และน้ำที่ถูกบำบัดแล้วจะถูกปล่อยไปยังแม่น้ำกกที่อยู่ใกล้เคียงกัน”

Every water is an island
Every water is an island
Every water is an island
Every water is an island
Every water is an island

“ผมทำการเก็บภาพจากบ่อบำบัดน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ในจังหวัดเชียงรายด้วยกล้องวิดีโอ โดยใช้มือของผมกำให้เป็นเหมือนฟิลเตอร์ถ่ายวิดีโอผ่านช่องว่างของนิ้วมือที่กำอยู่เป็นช่องวงกลม เพื่อให้ออกมาเป็นภาพที่ดูคล้ายภาพถ่ายจากกล้องส่องทางไกลหรือกล้องจุลทรรศน์ เพราะผมไม่สามารถทำงานวิจัยในแบบเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์ทำได้ ผมจึงถ่ายภาพในลักษณะนี้เพื่อให้เป็นลักษณะในเชิงกวี ของการยกย่องชื่นชมในสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นทำเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชน”

“ในห้องสมุดยังมีภาพถ่ายไมโครพลาสติกจากกล้องจุลทรรศน์ ของนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานเกี่ยวกับไมโครพลาสติกที่ผมเจอระหว่างการลงพื้นที่ในการทำงานพวกนี้ สิ่งที่พวกเขาทำคือการเดินทางล่องตามแม่น้ำโขง ไปจนถึงแม่น้ำกก และคูคลองต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย และเก็บตัวอย่างของน้ำจากแหล่งน้ำเหล่านั้นมาทำงานวิจัย”

“นี่คือสิ่งที่พวกเขาพบและเก็บภาพมาได้จากแหล่งน้ำเหล่านั้น เมื่อผมเห็นภาพพวกนี้ ทำให้ผมนึกถึงภาพวาดหรืองานศิลปะนามธรรม”

“ผมกับนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้จึงตกลงใจทำงานในโครงการนี้ร่วมกัน เพื่อนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการแสดงหลักฐานของสิ่งที่เราพบในน้ำที่เราบริโภค ดื่มกิน และอาบน้ำอยู่ทุกวัน ผมยังทำการสัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรต่างๆ รวมถึงผู้คนต่างๆ ในเชียงรายเกี่ยวกับประเด็นนี้อีกด้วย”

Shared Residence (2023)
Shared Residence (2023)
Shared Residence (2023)

ผลลัพธ์จากการลงพื้นที่วิจัยครั้งนี้ ยังทำให้เกิดงานอีกชุดอย่าง anonymity (2017-ปัจจุบัน) ชุดภาพถ่ายบุคคลชาวเชียงราย ที่ไม่ใช่ภาพถ่ายธรรมดา หากแต่บุคคลในภาพถ่ายเหล่านั้นกลับถือกระจกเงายกขึ้นบดบังใบหน้าและสะท้อนแสงอาทิตย์กับเลนส์กล้องของศิลปิน

โดยภาพถ่ายทั้งหมดถูกจัดแสดงในกล่องไฟและกรอบฉลุลวดลายไทย ซึ่งออกแบบโดยศิลปินชาวเชียงราย ทรงเดช ทิพย์ทอง (โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับวัฏจักรของน้ำเพื่อให้เชื่อมโยงกับแนวคิดของโครงการนี้) และติดตั้งในสวนสาธารณะรอบๆ บ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นสถานที่จุดเริ่มต้นทางความคิดในผลงานของอะนาดิงนั่นเอง

“ผลงานชุดนี้เป็นภาพถ่ายของผู้คนที่ผมพบในการเดินทางลงพื้นที่ตามอำเภอต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย และบางคนที่ผมสัมภาษณ์ ทั้งนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับไมโครพลาสติก, วิศวกรผู้ดูแลระบบบำบัดน้ำเสีย และผู้คนในชุมชนรอบเมืองเชียงราย โดยติดตั้งในสวนสาธารณะรอบๆ บ่อบำบัดน้ำเสียที่อยู่ใกล้ๆ ห้องสมุดนี้ โดยผมให้พวกเขาถือกระจกเงาให้สะท้อนแสงอาทิตย์ส่องมายังกล้องถ่ายภาพ”

“ภาพนี้จึงเป็นการกลับค่าการถ่ายภาพ เพราะการถ่ายภาพคือการจับภาพของแสง ผมจึงให้แสงกลายเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในภาพเหล่านี้แทน ทำให้ตัวตนของผู้ถูกถ่ายภาพคลุมเครือเลือนรางไป จะว่าไปก็เหมือนคนที่อยู่ในภาพเหล่านั้นกลายเป็น Filter (ตัวกรอง) ตัวตนของตัวเอง”

“เหมือนกับน้ำที่ถูกกรองผ่านบ่อบำบัดน้ำเสียซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงผลงานชุดนี้นั่นเอง”

Shared Residence (2023)
Shared Residence (2023)

ความเป็นชุมชนที่ว่านี้ยังปรากฏในผลงานอีกชิ้นของเขาอย่าง Shared Residence (2023) โครงการศิลปะความร่วมมือที่อะนาดิงเชิญศิลปิน, นักวาดภาพประกอบ และประชาชนทั่วไปในเชียงรายมาแลกเปลี่ยนผลงานศิลปะและวัตถุสิ่งของส่วนตัวกันภายในห้องสมุดรถไฟ โดยผู้สนใจสามารถหยิบยืมผลงานของศิลปินท้องถิ่นกลับบ้านได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่ต่างอะไรกับการยืมหนังสือห้องสมุดดีๆ นี่เอง

“เพื่อเป็นการหลอมรวมแนวคิดในงานชุดนี้เข้ากับพื้นที่แห่งนี้ ผมยังร่วมงานกับศิลปินท้องถิ่นในเมืองเชียงราย ที่เอื้อเฟื้อในการให้หยิบยืมผลงานศิลปะของพวกเขามาจัดแสดงในพื้นที่ท้ายขบวนของห้องสมุดรถไฟ เพื่อให้ผู้ชมสามารถยืมผลงานศิลปะเหล่านี้กลับไปได้เหมือนหนังสือในห้องสมุด สามารถเข้าไปชมกิจกรรมเกี่ยวกับโครงการนี้ของผมในห้องสมุดแห่งนี้ได้ในอินสตาแกรม @sharedresidence เพื่อเป็นการแบ่งปันแนวความคิดในการทำงานของเราผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งวิธีการที่เราได้ภาพต่างๆ ในโครงการนี้มาได้อย่างไร”

“สำหรับผม การได้เข้ามาในพื้นที่ในห้องสมุด ที่มีผลงานศิลปะจริงๆ จัดแสดงอยู่ เป็นเหมือนการหยุดความเร่งรีบในชีวิตประจำวัน ให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างช้าๆ และสำรวจวัตถุ สังเกตสื่อต่างๆ และได้สัมผัสและชื่นชมกับงานศิลปะ หรือแม้แต่หยิบยืมกลับบ้านได้ ในช่วงเวลาหนึ่ง”

“แต่ในการหยิบยืมผลงานกลับบ้านนั้นมีข้อแม้ว่าคุณต้องเอาสิ่งของบางอย่างที่มีคุณค่ากับคุณ วางไว้ที่ห้องสมุดนี้เป็นการแลกเปลี่ยนชั่วคราว ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่มีมูลค่า แต่เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับคุณ”

“เมื่อคุณเอาสิ่งของนั้นวางไว้และเขียนโน้ตบอกเหตุผลว่าทำไมของชิ้นนี้ถึงสำคัญสำหรับคุณ ด้วยการกระทำเช่นนี้ ผู้ยืมก็จะเป็นเหมือนศิลปินผู้นำบางสิ่งบางอย่างมาจัดแสดงแทนที่ผลงานศิลปะที่เขาหยิบยืมไป ผมคิดว่านี่เป็นแนวคิดที่น่าสนใจในการทำนิทรรศการศิลปะ”

“ห้องสมุดนี้ยังเป็นสถานที่ที่เด็กๆ เข้าไปใช้เวลารอผู้ปกครองมารับ ผมจึงทำเกมการละเล่นสนุกๆ บางอย่างให้เด็กๆ มาเล่นในห้องสมุดนี้ได้อีกด้วย”

Shared Residence (2023)
Shared Residence (2023)

มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจสัมผัสกับผลงานของ โปกล็อง อะนาดิง ก็สามารถมาเยี่ยมชมกันได้ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566-30 เมษายน 2567 ในพื้นที่แสดงงาน ห้องสมุดรถไฟเชียงราย ตรงข้ามโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ถนนหน้าสนามกีฬา

เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08:00-16:30 น. วันเสาร์ เวลา 09:00-16:00 น. ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (เข้าชมฟรี)

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Thailand Biennale Chiang Rai 2023

ภาพถ่ายโดย วันชัย พุทธวารินทร์ •

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์