หวอ : พระนครภายใต้ฝนเหล็ก ในช่วงปลายสงคราม (2)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

หวอ

: พระนครภายใต้ฝนเหล็ก

ในช่วงปลายสงคราม (2)

 

แม้นว่าการโจมตีทางอากาศในช่วงแรกๆ คนไทยต่างไม่เคยเห็นจึงแห่วิ่งมาดูกันใหญ่ และโดนระเบิดตายกันไปมากมาย (สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์, 2553, 277) แต่เมื่อความเสียหายและความถี่ในการโจมตีมีมากขึ้น

ความตื่นเต้นที่ได้เห็นเครื่องบินของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปเป็นความหวาดกลัวเข้ามาแทน

แผ่นใบปลิวจากเครื่องบินอเมริกันที่โปรยลงในไทยในช่วงปลายสงคราม

“ไม่รู้จะไปมุดแอบอยู่ที่ไหน”

ในช่วงปลายสงคราม การโจมตีทางอากาศในเวลากลางวัน แต่ละครั้งมักจะมาหลายลำ แต่ไม่ได้มาเป็นฝูง กระจายตัวทิ้งระเบิดเหมือนมายามกลางคืน “บางคราวเห็นลำหนึ่งบินอยู่ตรงหัว มองไปทางขอบฟ้าก็เห็นอีกลำบินวนอยู่ไกล แปลว่าทิ้งระเบิดตามที่ต่างๆ พร้อมๆ กัน” (ขุนวิจิตรมาตรา, 471)

การโจมตีทางอากาศครั้งหนึ่ง วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร เล่าว่า ครั้งพระนครถูกโจมตีทางอากาศในยามกลางวัน เขาเห็นฝูงเครื่องบินหลายสิบลำเหนือฟากฟ้าพระนคร สีบรอนซ์เงินของเครื่องบินสะท้อนแสงอาทิตย์เงาวูบวาบ เห็นระเบิดตกลงลิ่วเป็นสาย เมื่อกระทบพื้นมีเสียงดังและมีแสงและควันลอยกรุ่นขึ้นมา ไม่มีการต่อต้านใดๆ จากภาคพื้น ไม่มีเครื่องบินขับไล่ไปต่อสู้อีกด้วย

สภาพเยาวราชตอนราวเที่ยงวันเมื่อมีการโจมตีทางอากาศ เขาเห็นผู้คนต่างวิ่งหนีเอาชีวิตรอด เขาจึงวิ่งไปตามฝูงชนไปทางสะพานพุทธข้ามไปยังฝั่งธนบุรี โชคดีที่ไม่มีการทิ้งระเบิดที่สะพานพุทธจึงรอดชีวิตมาได้ (วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, 2554, 40-41)

ความเสียหายของอาคารในพระนครเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2487

ช่วงปี 2487 ฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทางอากาศพระนครอย่างหนัก ทำลายโรงพยาบาลของแพทย์ญี่ปุ่นเชิงสะพานพุทธลง

อาจินต์ ปัญจพรรค์ เล่าว่า เขาเห็นปลายเท้าของศพชายพเนจรถูกซากอาคารถล่มทับ อันเป็นที่สยดสยองที่เขาจดจำได้อย่างแจ่มชัด เขาและเพื่อนหาแผ่นสังกะสีมาดัดโค้งเหมือนประทุนเรือแล้วนำไปคลุมศพมิให้อุจาดตา ประสบการณ์ครั้งนั้น ทำให้เขาถึงกับฝันถึงภาพดังกล่าวเป็นครั้งคราว (อาจินต์, 2541, 79-80)

นักเรียน สห.คนหนึ่งบันทึกอีกว่า ช่วงปลายสงคราม พระนครถูกโจมตีอย่างต่อเนื่อง โรงไฟฟ้าวัดเลียบถูกโจมตีจนพังราบไปแล้ว พระนครยังผจญลูกระเบิดทำลายและสังหารต่อไป มีการทิ้งพลุส่องสว่างไปทั่วเมืองยามค่ำคืน “จนไม่รู้จะไปมุดแอบอยู่ที่ไหน” ประชาชนส่วนใหญ่ต่างอพยพออกไปนอกเมืองเพื่อความปลอดภัยในชีวิต (อนุสรณ์ นร.สห. 2488, 2537, 81)

จากความทรงจำของประเก็บ คล่องตรวจโรค เล่าว่า “วันหนึ่งพระจันทร์ค้างฟ้าข้างแรมเวลาประมาณตี 3 ท่ามกลางความเงียบสงัดของราตรีกาล ข้าพเจ้าได้ยินเสียงครางหึ่งๆ เบาๆ ดังบึดๆ มาแต่ไกล แต่หวอยังไม่เปิดเพื่อแจ้งสัญญาณทางอากาศ ข้าพเจ้ารีบอุ้มลูกปัทมาวดีคนโต น้องสว่างอุ้มเกรียงศักดิ์พากันลงหลุมหลบภัย

เราสร้างมันแบบง่ายๆ ด้วยการขุดลงไปในดิน กรุหลังคาด้วยหมอนรถไฟแล้วเอาดินกลบทับทำเป็นเนินเพื่อกันสะเก็ดลูกระเบิด ข้างในหลุมเราปูเสื่อ มีไฟฉาย หยูกยาอาหารเครื่องกระป๋องพร้อม ตลอดจนเบาะลูกและของใช้ที่จำเป็น เช่น กระติกน้ำร้อนและนมสำหรับลูก ข้าพเจ้าฟังเสียงหึ่งๆ อยู่ปากหลุม…” (ประเก็บ, 2515, 205-206)

มุมมองจากห้องนักบิน บี 29 และอาคารพรางที่ถูกโจมตีทางอากาศในพระนคร เครดิตภาพ : warfarehistorynetwork.com, Checkk Outzz

ความย่อยยับของชีวิตและทรัพย์สิน

ชาวพระนครอีกคนหนึ่งรอดชีวิตจากการโจมตีทางอากาศมาบันทึกว่า เมื่อมีเกิดการโจมตีทางอากาศ “พวกเราในหลุมสวดมนต์อ้อนวอน ขออำนาจคุณพระรัตนตรัยจงช่วยคุ้มครองให้ทุกๆ คนปลอดภัย เราเพิ่งรู้เดี๋ยวนั้นเองว่า เครื่องบินตีวงเป็นระลอกเพื่อทิ้งระเบิดสถานีมักกะสัน กินมาทางถนนศรีอยุธยาใกล้เข้ามาทางบ้านเราทุกที เสียงหวีดวี้ดของลูกระเบิดที่หล่นลงมาจากท้องฟ้านั้น ฟังหวาดเสียวเพิ่มทวีจำนวนความถี่มากยิ่งขึ้น ไฟฉายจากสนามพุ่งขึ้นสอดส่าย ปตอ.และปืนกลของเราก็ยิงสวนขึ้นไป ปืนกลจากเครื่องบินยิงกราดลงมาอย่างน่าหวาดเสียว เสียงดังสนั่นหูดับตับไหม้ สักครู่ลูกระเบิดทิ้งลงมาโดนไฟฉายดับมืดลงทันที พร้อมกับเสียงระเบิดสนั่นหวั่นไหวติดต่อกันหลายลูก ตรงหลุมหลบภัยของเราสะเทือนเหมือนถูกไกวเปล…” (ประเก็บ, 2515, 206-207)

ไม่แต่เพียงการทิ้งระเบิดทำลายอาคารบ้านเรือนย่อยยับแล้ว ยังพบรอยกระสุนตามอาคารอยู่ทั่วไปด้วย (ขุนวิจิตรมาตรา, 471)

เมื่อการโจมตีสิ้นสุด ประเก็บเล่าว่า ภริยาและลูกสองคนของครอบครัวข้างบ้านถูกดินระเบิดอัดตายคาที่ในหลุมหลบภัย แต่สามีของเธอรอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์นั้นได้ยืนดูร่างของคนในครอบครัวอย่างเศร้าเสียใจอย่างที่สุด เขาบันทึกว่า “ข้าพเจ้าทราบดีว่า หัวใจของผู้เป็นสามีและเป็นพ่อกำลังแตกระเบิดออกเป็นเสี่ยงๆ…นี่คือสงคราม ที่ไม่เห็นแก่ธรรมะใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าพลเรือนหรือทหาร…” (ประเก็บ, 208-209)

พ.อ.ทสุจิ เสนาธิการทหารญี่ปุ่นในไทยบันทึกว่า “หลังจากถูกบอมบ์อย่างหนักแล้วก็เกิดไฟไหม้อย่างมหาศาลตามมา ทั่วทั้งกรุงเทพฯ ดูเหมือนจะถูกเผาผลาญให้ย่อยยับในพริบตา บนถนนหลวงตามตรอกซอกซอยเงียบราวกับป่าช้า แม้แต่หมาตัวเดียวก็มองไม่เห็น” (ทสุจิ, 2497, 35)

เครื่องบิน บี 29 รุ่นที่มาทิ้งระเบิดบางซื่อ 2488

คลื่นแห่งการอพยพออกนอกพระนคร

เมื่อการโจมตีทางอากาศถี่ขึ้น ผู้คนในพระนครเริ่มการอพยพไปหาที่อยู่ที่ปลอดภัยตามสวนฝั่งธนบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ละแวกที่ไม่ห่างไกลจากพระนครเพื่อเดินทางมาทำงานได้ “ทุกๆ เย็นผู้คนชาวกรุงเทพฯ พากันแตกตื่น อพยพหลบภัยไปนอนนอกเมือง โดยมากไปนอนในสวนฝั่งธนบุรี เรือโดยสารทุกลำมีผู้คนแย่งกันลงอย่างแตกตื่นแน่นขนัด บางลำบรรทุกได้ 70 คนแต่มีคนแย่งกันลงตั้ง 200 คน จนเรือคว่ำมีคนตายกลางแม่น้ำก็มี พอบ่าย 3 โมงล่วงแล้ว ผู้คนก็รีบเลิกงาน อพยพออกไปนอกเมืองกันหมดเพื่อหนีภัยจากการโจมตีทางอากาศ” (ประเก็บ, 2515, 216)

จากความทรงจำของอาจินต์ บันทึกว่า การโจมตีทางอากาศพระนครจากฝ่ายสัมพันธมิตร มีดังนี้ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2485 มีการโจมตีแถวตรอกบี.เอ็ล.ฮั้ว ย่านหัวลำโพง และเยาวราช 27 มกราคม 2485 ทำลายบริษัทไฟฟ้าวัดเลียบเชิงสะพานพุทธ แต่ช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน 2485 เมื่อพระนครผจญน้ำท่วม ไม่มีโจมตี 27 ธันวาคม 2485 โจมตีโรงเลื่อยเกษตรธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ และสนามบินดอนเมือง ในช่วงปี 2486 พระนครไม่มีหวอ จนถึงเดือนเมษายน มีการโจมตีอีก เมื่อ 21 เมษายน 2486 มีการโจมตีแถบโรงพยาบาลวัณโรค นนทบุรี

ในเดือนธันวาคม 2486 เสียงหวอมาราว 22.10 น. และ 00.10 น. บอมบ์ที่เชิงสะพานพุทธ ถนนท่าดินแดงใกล้โรงพยาบาลปากคลองสาน ตรอกบี.เอ็ล.ฮั้ว อีกครั้ง ท่าเรืออีสเอเชียติ๊ก ย่านตรอกจันทร์ ตรอกข้าวสาร ร.พัน 7 โรงทำสบู่ใกล้โรงกรองน้ำสามเสน สนามเป้า โรงเบียร์บุญรอด บางระมาด ตลิ่งชัน ท่าเรือกรุงเทพฯ

ปลายปี 2486 22-23 ธันวาคม เสียงหวอดังมาราว 22.15 น. มีการโจมตีแถบสามเสนใน ย่านบางขุนพรหม วัดตรีทศเทพ ตรอกพระยาสุนทร แถวสะพานเหลือง ย่านถนนสี่พระยา และย่านสีลม (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 224-225)

ทั้งนี้ มีผู้บันทึกไว้ว่า ช่วง 2487-2488 มีการโจมตีทางอากาศในพระนครถึง 143 ครั้ง ครั้งสุดท้ายคือ 7 สิงหาคม 2488 เวลา 12.30 น. ถึง 15.07 น. (รอง ศยามานนท์, 2520, 180)

ในช่วงสงครามระหว่างการโจมตีทางอากาศ ไม่แต่เพียงทำให้ชาวพระนครเผชิญหน้ากับการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังทำลายขวัญกำลังใจลงไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การโจมตีสถานีบางซื่อ มองลงจากเครื่องบินสัมพันธมิตร เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2488
สภาพสะพานพุทธเสียหายเล็กน้อยหลังการถูกโจมตี เมื่อ 14 ธันวาคม 2487