มี Kiasu ผู้กลัวตกเทรนด์ ก็ต้องมี Kiasi ผู้ขอปลอดภัยไว้ก่อนเสมอ!

สุทธิชัย หยุ่น

“เกียซู” แปลว่า “กลัวแพ้” หรือ “กลัวตกรถไฟ” หรือ “กลัวไม่ทันเพื่อน”

ส่วน “เกียซี” ก็แปลว่า “กลัวตาย” หรือ “ปลอดภัยไว้ก่อน” หรือ”ไม่เสี่ยงดีกว่า”

เป็นสองคำที่กลายเป็น “ปรัชญาประจำชาติ” ที่ส่งเสริมและย้อนแย้งกันในตัวของสังคมคนเชื้อสายจีนที่สิงคโปร์และมาเลเซีย

ผมสนใจสองคำนี้เพราะทุกครั้งที่นั่งถกแถลงกันเพื่อนสิงคโปร์และมาเลเซียพยายามจะวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมไทยกับเพื่อนบ้านสองประเทศนี้ สองคำนี้ก็จะโผล่มาให้ต้องวิเคราะห์กัน

เพราะสองคำนี้ไม่ได้แปลตรงตัวว่า “กลัวแพ้” และ “กลัวตาย” เท่านั้น แต่ยังมีความหมายที่ซ่อนอยู่ที่ค่อนข้างลึกซึ้ง

เป็นทั้งคำที่ใช้ล้อเลียนคนที่กลัวซื้อมือถือรุ่นล่าสุดไม่ทันและเพื่อนที่ไม่กล้าเปลี่ยนงานทั้งๆ ที่ดูเหมือนมีโอกาสที่ดีกว่า

กลายเป็นหลักปฏิบัติที่กำหนดทิศทางของประเทศไปเลยทีเดียว

 

เพื่อนสิงคโปร์ก็จะถามว่าคนไทยไม่มีสองคำนี้ในบทสนทนาประจำวันหรือ

ผมบอกว่ามีคำที่มีความหมายตรงกัน แต่ไม่ถึงกับฝังลึกจนกลายเป็นวัฒนธรรมเช่น “ไม่ทันเพื่อนไม่ได้” หรือ “กลัวอะไรเล่า ไม่ลองไม่รู้”

คำสอนสั่งจากผู้ใหญ่ถึงลูกหลานส่วนใหญ่จะเป็นการ “เอาตัวรอด” และ “อย่าให้คนอื่นหมั่นไส้” มากกว่า

เช่น “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”

หรือ “จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย”

และ “เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด”

ซึ่งออกจะตรงกันข้ามกับ “เกียซู” และ “เกียซี” ของสิงคโปร์ที่สอนให้คนต้องกล้าแข่งขัน, ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ และแม้จะ “กลัวตาย” ก็ยังต้องอยู่ให้รอดด้วยการดิ้นรนต่อสู้

อาจจะเป็นเพราะเขาไม่มีคำที่มีความหมายในแง่ “หมั่นไส้” คนสิงคโปร์จึงไม่ค่อยจะกังวลว่า “ทำตัวเด่นจะเป็นภัย”

ตรงกันข้าม คนที่นั่นจะแข่งขันกันในทุกเรื่อง คนที่อยู่แถวหน้าจะได้รับคำชื่นชมและถือว่าเป็นระดับนำ

ใครที่ “กลัวตาย” ไม่สู้หรือเกรงอกเกรงใจคนอื่นจนไม่แสดงความสามารถของตัวเองก็จะกลายเป็นคนล้าหลัง

 

สัปดาห์ก่อนผมอธิบายถึงที่มาของคำว่า “เกียซู” ที่สิงคโปร์

ซึ่งเดินคู่ขนานกับ “เกียซี”

เกียซี หรือ 惊死 เป็นวลีภาษาฮกเกี้ยน แปลว่า กลัวความตาย

เป็นคำที่ใช้อธิบายทัศนคติที่กลัวหรือขี้อายเกินเหตุ ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยของ “ผู้ไม่ประสบความสำเร็จ”

Kiasi มักถูกจับมาเปรียบเทียบกับ Kiasu

มี Kiasu-ism ก็ต้องมี Kiasi-ism

ซึ่งหมายถึงการทำทุกอย่าง ใช้ทุกมาตรการเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง

ขณะที่ Kiasu หรือ Kiasu-ism หมายถึงการใช้วิธีสุดโต่งเพื่อบรรลุความสำเร็จ

แต่ในอีกความหมายหนึ่ง Kiasi-ism ก็อาจถูกตีความเป็น “ทัศนคติที่โลภและเห็นแก่ตัว” ที่เกิดขึ้นจากความกลัวว่าจะพลาด

Kiasi คือความไม่เต็มใจที่จะเสี่ยงเพราะกลัวว่าจะมีสิ่งที่ไม่ดีหรือไม่ดีเกิดขึ้น

บางครั้งถึงขั้นถูกตราหน้าว่า “ขี้ขลาด”

แม้แต่ในบ้านเอง พ่อแม่อาจจะต่อว่าลูกว่า “ทำไมแค่ลองใช้มีดผ่าผลไม้ยังไม่กล้า? อย่างมากก็แค่บาดนิ้วนิดหน่อย ยังห่างหัวใจน่า”

หรือเพื่อนอาจจะแซวว่า “ถ้าทุกคนกล้ากระโดดบันจี้จัมพ์ คุณกลัวอะไรล่ะ? Kiasi ขนาดนั้นเลยหรือ?

ผมเคยอ่านเจอคำนิยามของ Kiasu ว่าเป็น “แก่นแท้ของความกล้า” ด้วยซ้ำไป

พร้อมคำอธิบายว่ามันคือการรวบรวมจิตวิญญาณของความกล้าหาญ และความพร้อมที่จะเสี่ยง

เป็นการบ่งบอกถึงแนวทางเชิงรุกและตอกย้ำถึงความแน่วแน่ของแต่ละบุคคลต่อความท้าทายและโอกาส

ผู้ที่เข้าข่าย Kiasu มักถูกมองว่าเป็นคนกล้าหาญ ไม่กลัวที่จะเข้าไปในสิ่งที่ไม่รู้จัก และมีทัศนคติที่ “ฉันทำอะไรก็ได้ถ้าให้โอกาสฉัน”

มองในระดับชาติ แนวคิดของ Kiasu ที่ฝังแน่นอยู่ในแนวคิดของชาวสิงคโปร์สะท้อนถึงการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศและจิตวิญญาณเชิงรุกของประชาชนบนเกาะแห่งนี้

บางคนถึงขั้นต่อยอดความหมายของคำนี้ไปโยงถึงจิตวิญญาณแห่งการดิ้นรนต่อสู้ของผู้ประกอบการ นักนวัตกรรม และบุคคลที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและแสวงหาความก้าวหน้าอย่างแข็งขัน

ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับความทะเยอทะยานและการคิดไปข้างหน้า การเป็นคนมี Kiasu มักถูกมองว่าเป็นคุณลักษณะเชิงบวกที่นำไปสู่ความสำเร็จทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม

 

ส่วน Kiasi นั้นถูกมองว่าเป็น “คุณธรรมของการระมัดระวัง”

จะบอกว่า Kiasu กับ Kiasu เป็นสองคุณลักษณะของคนสิงคโปร์ที่เหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกันก็อาจจะไม่ผิดนัก

Kiasi เป็นคำที่ใช้กันทั่วไปในมาเลเซีย โดยเฉพาะในชุมชนที่พูดภาษาจีน

มีต้นกำเนิดมาจากภาษาฮกเกี้ยนเช่นกัน

Kiasi รวบรวมความรู้สึกที่ตรงกันข้ามกับ Kiasu โดยเน้นถึงแนวทางการใช้ชีวิตที่ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงความเสี่ยง

โดยแต่ละบุคคลให้ความสำคัญกับการไม่เสี่ยงอะไรเกินเหตุ เน้นเรื่อง “ความปลอดภัยไว้ก่อน” มากกว่าการแสดงออกถึงความ “กล้าหาญ”

มองในแง่บวก คนที่เข้าข่าย Kiasi มักถูกมองว่าเป็นคนรอบคอบ ระมัดระวัง และเอาใจใส่ต่อความเสี่ยงและหลุมพรางที่อาจเกิดขึ้น

นักสังคมศาสตร์ที่นั่นมองว่าภูมิทัศน์วัฒนธรรมของมาเลเซียและสิงคโปร์มีแนวโน้มหล่อหลอมโดยอิทธิพลที่หลากหลายโดยให้ความสำคัญกับความมั่นคงและคุณค่าดั้งเดิม

คำว่า Kiasi สะท้อนถึงกรอบความคิดที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสภาพที่เป็นอยู่ (status quo)

และการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่ไม่จำเป็น

 

ในสังคมที่ความสามัคคีและความผูกพันในครอบครัวได้รับการยกย่องอย่างสูง การเป็น Kiasi มักถูกมองว่าเป็นแนวทางการใช้ชีวิตที่มีความรับผิดชอบและมีน้ำใจ

นักประวัติศาสตร์บางคนยังวิเคราะห์ลึกลงไปอีกว่าความแตกต่างระหว่าง Kiasu กับ Kiasi ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของภาษา

แต่ยังมีรากฐานมาจากบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสิงคโปร์และมาเลเซียอีกด้วย

ในมิติหนึ่งเส้นทางของสิงคโปร์จากจุดซื้อขายเล็กๆ ไปสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจระดับโลกได้หล่อเลี้ยงวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับความคิดริเริ่ม ความสามารถในการปรับตัว และการกล้าเสี่ยง

ในทางตรงกันข้าม สังคมพหุวัฒนธรรมของมาเลเซียซึ่งได้รับอิทธิพลจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมมาเลย์ จีน อินเดีย และชนพื้นเมือง ได้ก่อให้เกิดแนวทางการใช้ชีวิตที่ระมัดระวังและเป็นศูนย์กลางมากขึ้น

ผมจึงไม่ได้เห็นสองคำนี้เป็นเพียงแค่เรื่องล้อเลียนและต่อว่าต่อขานกันในบทสนทนาประจำวันเท่านั้น แต่ยังสะท้อนความแตกต่างของสังคม, การเมือง และความมั่นคงด้วย

 

ยิ่งหากเปรียบกับทัศนคติของไทยในเรื่อง “ความกล้าเสี่ยง” และ “กล้าริเริ่ม” ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเห็นชัดว่าวัฒนธรรมไทยไม่มีเรื่อง Kiasu

แต่มีเรื่อง Kiasi ในระดับที่สูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ความเชื่อของคนไทยโอนเอียงไปในทาง “อย่าอยู่แถวหน้าเพราะโดดเด่นเกินไป ทำให้เกิดความเสี่ยง”

เราจึงมักจะเห็นนักเรียนชอบนั่งหลังห้อง ไม่ค่อยชอบนั่งแถวหน้าเพราะกลัวครูจะซักจะถาม

แต่นักเรียนสิงคโปร์จะแย่งกันนั่งหน้าชั้น และยกมือตั้งคำถามและเสนอตัวที่จะตอบคำถามของครู

คนไทยไม่น้อยเชื่อเรื่อง “เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด” ซึ่งทำให้มีทัศนคติที่จะเป็นผู้ตาม ไม่ค่อยอยากจะเป็นผู้นำ เพราะการนำหน้าจะต้องเผชิญกับความปัญหาก่อนคนอื่น

คนไทยอยากให้คนอื่นนำ เพราะคนตามเพียงแค่ทำตามคนนำก็ปลอดภัยแล้ว

แค่ Kiasu กับ Kiasi ก็ทำให้ผมวิเคราะห์เป็นตุเป็นตะถึงวัฒนธรรมประจำชาติและแนวโน้มการสร้างชาติบ้านเมืองกันเลยหรือ?

หรือคุณว่าไม่จริง?