ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 กุมภาพันธ์ 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ล้านนาคำเมือง |
เผยแพร่ |
กุหลาบ
กุหลาบ อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า กุหลาบ
หมายถึง ดอกกุหลาบ ที่เป็นดอกไม้แห่งความรักในวันวาเลนไทน์ มีหลากหลายชนิด เป็นสมาชิกในสกุล Rosa spp. แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กุหลาบสมัยเก่า ที่เป็นดอกทรงถ้วย และกุหลาบสมัยใหม่ หรือกุหลาบตัดดอกที่มีแพร่หลายทั่วไปในปัจจุบัน
กุหลาบในล้านนา ที่ขึ้นชื่อ คือ “กุหลาบจุฬาลงกรณ์” เป็นความหมายแห่งความรักและความระลึกถึงระหว่างพระราชชายาเจ้าดารารัศมีกับในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่พระราชทานต้นกุหลาบให้พระราชชายาฯ และนำมาปลูกไว้ที่พระตำหนักดาราภิรมย์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
เมื่อครั้งพระราชชายาฯ เสด็จนิวัตเชียงใหม่หลังพระราชสวามีเสด็จสวรรคต ได้ทรงตั้งชื่อเพื่อถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “กุหลาบจุฬาลงกรณ์” ทั้งยังทรงตัดดอกถวายสักการะพระราชสวามีเป็นประจำอีกด้วย
กุหลาบจุฬาลงกรณ์เป็นสายพันธุ์กุหลาบสมัยเก่า ที่ดอกมีสีชมพูเรื่อ ไร้หนาม กลิ่นหอมมาก มีชื่อพฤกษศาสตร์ Rosa perpetual หรือ Rosa ‘Chulalongkorn’ เป็นสมาชิกในวงศ์กุหลาบ (ROSACEAE)
คำว่า Rosa มาจากชื่อ “กุหลาบ” ในภาษาละติน และคำว่า perpetual แปลว่า ชั่วนิจนิรันดร์ ไม่มีที่สิ้นสุด
กุหลาบพันธุ์ดั้งเดิมอีกชนิดหนึ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในบ้านเรา คือ กุหลาบมอญ Rosa damascena คำว่า damascena มาจากชื่อเมืองดามัสกัส ในประเทศซีเรีย ที่เชื่อกันว่าเป็นแหล่งกำเนิดของกุหลาบมอญ มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ดอกยี่สุ่น
กุหลาบมอญเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมหวาน มีการใช้ประโยชน์ทั้งดอกแห้งและดอกสด โดยดอกแห้งนิยมนำมาชงชาดื่มช่วยระบายอ่อนๆ แก้เจ็บคอ หรือใช้เข้ายาหอมบำรุงหัวใจ แก้อาการอ่อนเพลีย บำรุงหัวใจ ดอกสดนำไปกลั่นน้ำมันกุหลาบ ใช้แต่งกลิ่นยาและเครื่องสำอาง
ในการกลั่นน้ำมันกุหลาบจะได้ผลพลอยได้จากการกลั่นที่เรียกว่า “น้ำกุหลาบ” หรือ rose water หรือในทางยาสมัยก่อนเรียกว่า “น้ำดอกไม้เทศ” ใช้เป็นน้ำกระสายยาอย่างหนึ่ง
ดังนั้น หากต้องการทำน้ำดอกไม้เทศเอง ก็สามารถนำกลีบกุหลาบมอญมาลอยน้ำ เป็นน้ำดอกไม้เทศแบบทำเองง่ายๆ
สรรพคุณของน้ำกุหลาบ มีกลิ่นหอม ช่วยกระตุ้นประสาทจากกลิ่นหอมสดชื่น
มีฤทธิ์ฆ่าเชื้ออ่อนๆ ช่วยย่อย ลดอาการท้องอืด บรรเทาอาการไอ เจ็บคอ ลดการอักเสบบวมแดง ลดรอยแดงของผิว ระคายเคืองผิว สมานแผล
ในทางเครื่องสำอางนิยมนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์กลุ่มโทนเนอร์ และมอยส์เจอไรเซอร์บำรุงผิว
การใช้ประโยชน์ทางอาหารมีการใช้ดอกกุหลาบมอญทำขนม แต่งหน้าขนม แต่งกลิ่นไวน์ หรือแต่งกลิ่นเครื่องดื่ม อย่างเช่น ไซรัปกลิ่นกุหลาบ
หรืออาจนำไปประกอบอาหารหรือปรุงโดยตรง เช่น นำไปยำ ทำสลัด แยมกุหลาบ คุกกี้กุหลาบ ไอศกรีม เค้ก
หรือแม้แต่ผสมกับเนยใช้ทาขนมปังก็มี •
ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022