เมื่อโดมิโนเริ่มล้ม! ปีที่ 4 สงครามเมียนมา

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

เมื่อโดมิโนเริ่มล้ม!

ปีที่ 4 สงครามเมียนมา

 

“มันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยกับการที่เครื่องบินเจ็ตถูกยิงตก หรือรถถังถูกยึดโดยทหารข้าศึก”

Htet Myat (ผบ.ร้อยในกองทัพเมียนมา)

 

การหวนคืนกลับสู่การยึดอำนาจอีกครั้งของผู้นำทหารเมียนมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 เป็นจุดเริ่มต้นของหายนะของกองทัพเมียนมาอย่างแท้จริง

แม้การรัฐประหารจะประสบความสำเร็จอย่างง่ายดาย ซึ่งว่าที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยนั้น กองทัพยังคงดำรงขีดความสามารถในการยึดอำนาจไว้อยู่เสมอ คำเตือนของทฤษฎีเปลี่ยนผ่านวิทยา (Transitology) ที่กล่าวว่า ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน เป็นช่วงเวลาที่เปราะบางที่สุดนั้น ถูกพิสูจน์อีกครั้งกับการเมืองในเมียนมา

แต่การยึดอำนาจในภาวะที่คนในสังคมมีอาการ “ดูดดื่ม” กับกระบวนการสร้างประชาธิปไตย ย่อมมีผลต่ออนาคตของรัฐบาลทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ว่าที่จริงแล้วทุกคนรู้ดีว่าการยึดอำนาจของทหารในเมียนมาไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ทุกคนโดยเฉพาะผู้นำทหารคาดไม่ถึงก็คือ กระแสต่อต้านรัฐประหารจะขยายวงกว้างออกไปอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ปรากฏการณ์สงครามกำลังพิสูจน์สัจธรรมของรัฐบาลทหารกับการยึดอำนาจเมื่อ 3 ปีที่แล้วว่า “มีอำนาจ แต่ปกครองไม่ได้”…

ภาวะ “ปกครองไม่ได้” เช่นนี้ จึงปรากฏให้เห็นถึงความพ่ายแพ้ของกองทัพรัฐบาลที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนอดเปรียบเทียบไม่ได้ว่ารัฐบาลทหารกำลังเผชิญกับ “โดมิโน” ของสงครามภายใน ที่แม้การรบแตกหักอาจจะยังไม่เกิด

แต่อาการของ “การล้มตามกัน” ของความพ่ายแพ้ที่เกิดนั้น น่าจะเป็น “ลางร้าย” มากกว่า “ลางดี” ในวาระครบรอบวันเกิด 3 ปีของคณะรัฐประหาร

 

พลวัตสงคราม

นับจากปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ของกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย หรือที่รู้จักในชื่อของ “ปฏิบัติการ 1027” ที่เกิดขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม ของปีที่ผ่านมานั้น เห็นได้ชัดถึงการถอยร่นทางทหารของกองทัพเมียนมาอย่างชัดเจน หรืออาจกล่าวได้ว่าสัญลักษณ์ของการฉลองวาระครบรอบ 3 ปีรัฐประหาร คือภาพของกองทัพเมียนมาที่พ่ายแพ้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศ และการพ่ายแพ้เช่นนี้ จึงเป็นดัง “โดมิโนเมียนมา” ที่เห็นถึงการล้มตามกันของกองกำลังของฝ่ายรัฐบาลในเมืองต่างๆ

การถอยร่นในทางทหารของฝ่ายรัฐบาลอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ กำลังสร้าง “รูปการณ์ใหม่” ของการเมืองเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการสู้รบในอดีตนั้น กองทัพรัฐบาลไม่เคยตกอยู่ในสภาวะที่ต้องถอยร่นเช่นที่ปรากฏให้เห็นในสื่อ และต้องยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นนี้ กำลังส่งผลต่อ “ยุทธศาสตร์ทหาร” ของคู่ขัดแย้งอย่างชัดเจน ทั้งยังสร้าง “ผลกระทบทางยุทธศาสตร์” ต่อการจัดระเบียบทางการเมืองในอนาคตอีกด้วย

การถอยของกองทัพรัฐบาลเกิดในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งก็สอดรับกับปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายชาวจีน หรือที่เรียกกันว่า “จีนเทา” ซึ่งสร้างความมั่งคั่งด้วยการก่ออาชญากรรมค้ามนุษย์และธุรกิจผิดกฎหมาย โดยเฉพาะ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ที่กลายเป็นอาชญากรรมของการหลอกลวงที่เกิดขึ้นขนาดใหญ่ทั้งในจีน ไทย และหลายประเทศในภูมิภาค อันทำให้รัฐบาลจีนต้องตัดสินใจสนับสนุนกองกำลังของชนกลุ่มน้อยให้เปิดปฏิบัติการทางทหารต่อแก๊งอาชญากรรมเหล่านี้

การตัดสินใจของจีนเช่นนี้ในอีกด้านหนึ่งมีความชัดเจนว่า รัฐบาลทหารเมียนมาน่าจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอย่างมาก (ว่าที่จริงควรต้องใช้คำว่า “อย่างมหาศาล”) จากกลุ่มดังกล่าว อันทำให้กองทัพไม่มีท่าทีที่จะช่วยในการกวาดล้างการก่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

ว่าที่จริงเป็นที่รับรู้กันว่า พื้นที่นี้คือแหล่งผลประโยชน์ใหญ่ของกลุ่มอาชญากรจีนและผู้นำทหารเมียนมาทั้งในเรื่องของยาเสพติด การค้ามนุษย์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดังที่กล่าวแล้ว

อีกทั้งเราอาจต้องยอมรับความจริงว่า ดินแดนแถบนี้เป็นพื้นที่อาชญากรรมขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างที่เราคาดไม่ถึง และเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มอาชญากร

 

การสนับสนุนของจีนในการจัดการกับกลุ่มผิดกฎหมาย ทำให้เราเห็นปฏิบัติการทางทหารของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ภาคเหนือของเมียนมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งหลังจากเทศกาลปีใหม่แล้ว หลายเมืองที่เคยอยู่ในความควบคุมของฝ่ายรัฐบาลทหารมีสภาพ “เมืองแตก” และตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

ความพ่ายแพ้ของกองทัพเมียนมาเกิดขึ้นเช่นนี้ เป็นสัญญาณว่า แม้กองทัพรัฐบาลจะยังไม่ถึงขั้น “พ่ายแพ้ใหญ่” ทันที หรือยังไม่เกิดปรากฏการณ์ “กรุงแตก” แต่การถอยร่นที่เกิดนั้น ทำให้เกิดการ “หนีทหาร” หรือเกิดการ “ยอมแพ้” ก่อนที่การรบจะเริ่ม เพราะทหารหลายนายไม่ต้องการรบ เนื่องจากเป็นการต่อสู้กันเองของชาวเมียนมาไม่ใช่สงครามกับชนกลุ่มน้อยเช่นในอดีต

ความเพลี่ยงพล้ำที่เกิดไม่หยุด ย่อมทำให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมีความได้เปรียบทั้งในทางการเมืองและการทหาร และมีขวัญกำลังใจในการสู้รบมากขึ้น อันนำไปสู่ “เปลี่ยนถ่าย” อำนาจการปกครองในหลายพื้นที่ และกำลังรบของกองทัพรัฐบาลในหลายพื้นที่มีอาการเสียขวัญ และไม่อยากรบ ต้องยอมรับว่า กองกำลังติดอาวุธของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในยามนี้มี “จิตใจรุกรบ” เป็นอย่างยิ่ง

ภาพที่เกิดเช่นนี้ บ่งชี้ให้เห็นถึง “พลวัตสงคราม” ที่มีความพลิกผันอย่างมากแล้ว เพราะแต่เดิมเราแทบไม่เคยเห็นถึงการเพลี่ยงพล้ำในทางทหารของกองทัพฝ่ายรัฐบาลในรูปแบบเช่นนี้มาก่อน แต่กระนั้น ความหวังที่จะเห็นชัยชนะอย่างรวดเร็วของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล อาจจะไม่เป็นไปอย่างที่คิด แต่ขณะเดียวกันผลของสงครามก็ทำลายสังคมเมียนมาอย่างขนานใหญ่ อันอาจนำไปสู่ “วิกฤตมนุษยธรรม” ที่เป็นผลจากปัญหาการหลั่งไหลของผู้อพยพหนีภัยสงคราม อันเป็นผลจากการที่ 2 ใน 3 ของประเทศกลายเป็นพื้นที่ความขัดแย้ง หรือโดยนัยคือเป็นพื้นที่สนามรบ และพื้นที่ความขัดแย้งนี้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้นด้วยในปี 2024

ดังนั้น จึงอาจกล่าวในภาพรวมได้ว่า พลวัตสงครามคือ ชัยชนะของกองทัพฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารที่เกิดอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน หรือในอีกด้านการฉลองวาระครบรอบ 3 ปีของการรัฐประหารนั้น กลับกลายเป็นภาพการถดถอยของกองทัพของฝ่ายรัฐบาล และในอีกด้านก็คือ ภาพแห่งชัยชนะของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล…

งานฉลองรัฐประหารของนายพลมินอ่องลายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ดูจะไม่ใช่ “สุขสันต์วันเกิด” สำหรับอนาคตของรัฐบาลทหารอย่างแน่นอน

 

บทบาทไทย

ในภาวะที่สงครามกลางเมืองยังไม่เดินไปถึงจุดของ “การรบแตกหัก” นั้น สงครามเช่นนี้จะสร้างความเสียหายต่อชีวิตผู้คน และนำไปสู่ “วิกฤตมนุษยธรรม” อย่างแน่นอน ขณะเดียวกันการแสวงหาทางออกด้วยการสร้าง “ข้อตกลงสันติภาพเมียนมา” ก็ดูจะยังอยู่ห่างไกล เพราะปัญหาสงครามและสันติภาพในเมียนมานั้น มีความซับซ้อน และความยุ่งยากในตัวเอง ทั้งจากปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ บทบาทของรัฐมหาอำนาจ และตัวแสดงภายนอก และที่สำคัญคือความเห็นร่วมกันของทุกฝ่ายในสังคมเมียนมาต่อการสร้าง “สมาพันธรัฐประชาธิปไตย” (the federal democratic union) ที่เป็นความฝันของทุกฝ่าย (ผู้สนใจอาจดูรายละเอียดล่าสุดได้ในแถลงการณ์ร่วมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร, 31 มกราคม 2024)… ทำอย่างไรที่ “ความฝันร่วมกัน” ของการสร้างระบอบสมาพันธรัฐจะดำรงอยู่อย่างเข้มแข็ง

สภาวะความเปลี่ยนแปลงของ “พลวัตสงคราม” เช่นนี้ย่อมเป็นความท้าทายโดยตรงต่อการกำหนดนโยบายของอาเซียนและของไทย ซึ่งรัฐบาลไทยที่ผ่านมามักจะแสดงบทบาทเป็น “เด็กเกเร” ในอาเซียน เช่น การจัดประชุมที่พัทยาที่มีทิศทางสนับสนุนรัฐบาลทหาร หรือดำเนินนโยบายด้วย “สายสัมพันธ์รัฐประหาร” ที่จะไม่ทิ้ง “เพื่อนนักรัฐประหารไว้ข้างหลัง”

นโยบายเช่นนี้ทำให้รัฐบาลไทยกลายเป็น “ผู้สนับสนุนรัฐประหาร” ในสายตาของโลกไปโดยปริยาย และกลายเป็น “ปัจจัยลบ” ต่อสถานะของประเทศในเวทีสากล

ดังนั้น เพื่อสร้าง “ภาพลักษณ์ใหม่” ของไทย รัฐบาลเลือกตั้งอาจต้องคิดมากกว่าเรื่องของการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม

โดยเฉพาะควรให้ความสนใจในการติดต่อกับ “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” หรือ “รัฐบาล NUG” ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้าน ไม่ใช่เชื่ออย่างเดียวว่ารัฐบาลทหารจะอยู่ในอำนาจได้ตลอดไปตราบจน “ชั่วฟ้าดินสลาย” เพราะจนบัดนี้ รัฐบาลกรุงเทพฯ ยังไม่กล้าแสดงท่าทีในเชิงบวกกับรัฐบาลของฝ่ายต่อต้าน

 

ในอีกทางหนึ่ง รัฐบาลควรแสดงบทบาทของตัวเองในฐานะ “รัฐเพื่อนบ้าน” ที่ต้องการเห็นการสิ้นสุดของสงคราม ด้วยการเสนอตัวเพื่อทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เกิดการประชุม เช่นที่ไทยได้เคยทำและประสบความสำเร็จมาแล้วในการจัดประชุม “เขมร 3 ฝ่าย” ที่กรุงเทพฯ ในช่วงปลายสงครามเย็น

แต่การจะทำเช่นนี้ได้ อาจต้องเริ่มต้นด้วยการตั้ง “ผู้แทนพิเศษ” หรือ “special envoy” อันมีนัยถึงการสร้าง “เวที 1.5” (Track 1.5) ที่ไม่ใช้ข้าราชการประจำ ไม่ใช้คนมีตำแหน่งทางการในรัฐบาล แต่จะใช้ “คนนอก” ที่มีเครดิตในสากลเข้ามาช่วย “เดินเกม” ให้กับรัฐบาลไทย

หรือแม้กระทั่ง รัฐบาลอาจสนับสนุนให้ใช้ “องค์กรรัฐสภา” เช่น คณะกรรมาธิการต่างประเทศ เป็นเครื่องมือในการนี้ และรัฐบาลต้องไม่คิดที่ “หวงงาน” โดยเชื่อว่ารัฐบาลทำได้ทุกอย่าง และถ้าให้คนอื่นทำแล้ว รัฐบาลจะ “ไม่ได้หน้า”… อย่าให้การ “คิดเล็กคิดน้อย” บดบังโอกาสของประเทศไทย

ขณะเดียวกันรัฐบาลจะต้องเลิกคิดที่จะใช้นโยบาย “การทหารนำการทูต” แม้ผู้นำทหารไทยจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้นำทหารเมียนมาแต่การแสดงออกถึงความใกล้ชิดในเวทีสาธารณะของผู้นำทหาร 2 ฝ่าย ไม่น่าจะเป็นประโยชน์กับไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน การเดินทางเยือนเนปิดอว์ของผู้นำทหารไทยเช่นที่ปรากฏเป็นข่าวแล้วนั้น ต้องถือเป็นเรื่อง “ไม่บังควรทางการทูต” อย่างยิ่ง เท่ากับเป็นการแสดงออกถึงการสนับสนุนรัฐบาลทหารอย่างไม่เปลี่ยนใจ ทำให้รัฐบาลฝ่ายต่อต้านระแวงไทยไม่จบ

ในอีกทางคือผู้นำกองทัพจะต้องไม่ดำเนิน “นโยบายอย่างเป็นอิสระ” (รวมทั้งนโยบายแบบคิดเอาเอง) ในความสัมพันธ์ไทย-เมียนมาและที่สำคัญ ผู้นำกองทัพ “ควรต้องตระหนัก” ให้มากถึงความละเอียดอ่อนของปัญหาทางการทูตและการต่างประเทศ ที่ไม่ใช่เป็นเรื่องในแบบ “หัวข้อสั่งการ” ของผู้นำทหารในทางยุทธการ

หรือคิดว่าเรื่องนี้เป็นเสมือน “งานธุรการทหาร” ที่ทำกันในสำนักงานของผู้บังคับบัญชาระดับสูง ต้องตระหนักว่าฝ่ายเสธ.ที่เดินกันไปมาเต็มห้องนั้น ไม่เคยมีประสบการณ์กับงานด้านต่างประเทศในระดับนโยบาย

 

ได้เวลาทิ้งนโยบายเก่าที่ล้าหลังแล้ว!

ในวาระฉลองครบรอบ 3 ปีรัฐประหาร ซึ่งกำลังเป็นช่วง “ขาลง” ของรัฐบาลทหาร ประกอบกับการกำเนิดของรัฐบาลเลือกตั้งกรุงเทพฯ ไทยจึงน่าจะใช้โอกาสนี้ในการปรับนโยบายต่างประเทศ โดยจะไม่ยึดติดอยู่กับรัฐบาลทหารเนปิดอว์ในแบบ “คู่แฝดรัฐประหาร”…

หมดเวลาของนโยบายต่างประเทศไทยที่ล้าหลังของผู้นำรัฐประหารแล้ว และถึงเวลาของการปรับทิศทางการต่างประเทศไทยใหม่เพื่อรองรับต่อพลวัตสงครามที่กำลังทำให้เกิด “โดมิโนเมียนมา”!