ครูใหญ่ ‘สดใส พันธุมโกมล’

วัชระ แวววุฒินันท์
ขอบคุณภาพจากหอภาพยนตร์ Thai Film Archive

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องที่น่าชื่นชมยินดีอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง

นั่นก็คือ อ.สดใส พันธุมโกมล “ครูใหญ่” ของลูกศิษย์ลูกหาทั่วฟ้าเมืองไทย ได้รับเกียรติจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ให้เป็นผู้ประทับรอยมือ เป็นดวงดาวที่ 200 ที่โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา หอภาพยนตร์ ศาลายา

ในวันนี้มีลูกศิษย์และผู้ที่รักเคารพครูใหญ่ได้เดินทางไปร่วมงานไม่น้อยเลย บางคนร่วมแสดงบนเวที

และได้เป็นสักขีพยานในโอกาสอันยิ่งใหญ่นี้

 

หากจะเอ่ยถึงเรื่องราวของครูใหญ่ในอดีต ก็ชวนให้ตื่นตะลึงว่า หญิงไทยตัวเล็กๆ คนนี้ได้ทำอะไรไว้มากมายในต่างประเทศ ซึ่งเมื่อ 70 ปีก่อนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ที่หญิงชาวเอเชียคนหนึ่งจะได้รับการยอมรับจากคนตะวันตกมากมายเช่นนี้

คำว่า “ละคร” ได้ผูกติดกับครูใหญ่มาตั้งแต่เรียนมัธยมจนมาถึงวันนี้ที่อายุ 90 ปีแล้ว ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้น ถ้าชีวิตเหมือนดั่งละคร ครูใหญ่ก็ได้บอกว่า

“ชีวิตมันเข้าล็อกมาอย่างนี้”

บทความนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์ที่ผมได้เคยเล่นละครที่ครูกำกับฯ ร่วมกับข้อมูลต่างๆ ที่พบเจอ โดยเฉพาะจากบทสัมภาษณ์ครูในนิตยสาร aday เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เป็นการสัมภาษณ์โดยลูกศิษย์สองคนคือ ครูแอ๋ว-อรชุมา ยุทธวงศ์ และ จิก-ประภาส ชลศรานนท์

 

ครูฉายแววของการเป็นนักแสดงตั้งแต่เรียนอยู่ที่มาแตร์เดอี ทุกปีครูจะได้แสดงนำในละครของโรงเรียนเสมอ แล้วชีวิตก็ล็อกต่อให้ได้สอบเข้าเรียนที่จุฬาฯ ในคณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษ ด้วยความโดดเด่นของครู จึงได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนน้องใหม่ในการทำหน้าที่เอ็นเตอร์เทนต์ในวันรับน้อง รวมทั้งได้เข้าไปเป็นสมาชิกของวงดนตรีของมหาวิทยาลัย วง CU Band

ตอนอยู่ปี 4 ครูได้รับเลือกให้เป็นนายกชุมนุมดนตรี ต้องรับผิดชอบจัดการแสดงของวงอยู่เสมอ รวมทั้งได้สร้างสรรค์การแสดงใหม่ๆ ขึ้นเป็นครั้งแรกในเวลานั้น เช่น การร้องประสานเสียง และ การทำมิวสิคัล ประกอบเพลงเชียร์ CU Polka ที่ครูแต่งขึ้น

เมื่อจบการศึกษาที่คณะอักษรฯ ครูได้ทุนฟลูไบรต์เพื่อเรียนต่อปริญญาโทในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาให้ทุนสำหรับเรียนต่อด้านภาษาอังกฤษตามที่ครูจบมา แค่อาจารย์ที่รักเคารพท่านหนึ่งบอกว่า

“สดใสเรียนอย่างอื่นไม่ได้ ต้องเรียนการละครอย่างเดียว”

แต่ถ้าเปลี่ยนไปเรียนด้านละครที่นั่น ครูต้องเรียนหลักสูตรทั้ง 4 ปีให้ได้ใน 1 ปี ซึ่งหนักหนามาก ครูนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับพ่อ ซึ่งก็ได้บอกกับครูว่า

“ไปเรียนอะไรที่เรารัก ถึงไม่ได้ปริญญากลับมาก็ยังดีกว่าไปเรียนวิชาที่เราไม่ได้รักจริงเพื่อเอาปริญญา การเรียนไม่ใช่แค่การเอาปริญญา ไปเรียนที่ชอบดีกว่า”

 

ในที่สุดครูก็ได้ไปเรียนด้านการละครที่ชื่นชอบ โดยเข้าเรียนที่ University of North Carolina (Chapel Hill)

ตลอด 1 ปีที่เรียน ครูได้มีโอกาสแสดงละครเวทีในละครที่โรงเรียนจัดแสดงทั้ง 4 เรื่อง การแสดงของครูเป็นที่ถูกตาต้องใจของแมวมองที่มาชม ชวนให้ไปออกรายการทอล์กโชว์ชื่อ Tonight Show ของ Jack Paar ผลจากการออกรายการนั้น ทำให้ครูได้มีโอกาสอัดแผ่นเสียงกับ Liberty Records ในชื่อว่า Sondi Sodsai

ครูหัวหน้าภาควิชาบอกกับครูว่า ที่ Chapel Hill เล็กเกินไปสำหรับครูแล้ว แนะนำให้ไปเรียนต่อที่ UCLA ซึ่งจะได้ฝึกงานที่ฮอลลีวู้ดด้วย

ใน 1 ปีที่ UCLA งานชิ้นสุดท้ายที่ต้องทำคือทำละครเวทีจากบทประพันธ์ที่เขียนขึ้นเอง ครูได้เขียนและทำเรื่อง Yankee, Don’t Go Home ซึ่งได้รับคำชมเชยอย่างมาก และได้รับรางวัลในหลายๆ สาขา รวมทั้งตัวครูเองที่แสดงนำก็ได้รับรางวัล Best Actress จากเรื่องนี้

ไม่เท่านั้น จากผลงานอันยอดเยี่ยมของครู ทำให้ครูได้รับรางวัล Oren Stein Memorial Award ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดด้านการละครของสถาบัน กรรมการคือเหล่าอาจารย์ที่ลงคะแนนโหวต ซึ่งต้องเป็นเอกฉันท์เท่านั้นจึงจะได้รับรางวัล ครูจึงนับว่าเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลอันเป็นเกียรติยิ่งนี้

 

เหมือนดวงดาวที่เจิดจรัสและเปล่งแสงเจิดจ้าออกไป บริษัท Twenty Century Fox ยื่นสัญญามาให้ครูเซ็นเพื่อเป็นนักแสดงในสังกัด 7 ปี

แต่พ่อของครูซึ่งตอนนั้นเดินทางมาเยี่ยมครูพอดีไม่ยินยอม ครูจำต้องปฏิเสธ แต่ตัวแทนบอกว่าควรไปปฏิเสธด้วยตนเองที่บริษัท เรื่องราวตอนนี้เหมือนหนังเลย คือ ครูต้องแอบออกจากบ้านไม่ให้พ่อรู้ โดยสวมกางเกงเก่าๆ เสื้อตัวใหญ่ๆ ใส่รองเท้าแตะ หอบถุงดำเหมือนจะไปทิ้งขยะนอกบ้าน แล้วแอบเปลี่ยนรองเท้าที่ใส่มาในถุงดำ หนีขึ้นรถของตัวแทนพุ่งไปที่บริษัทฟอกซ์

ที่นั่นกับหญิงสาวชุดไปทิ้งขยะ ต้องเข้าในห้องประชุมใหญ่พบกับกรรมการทั้งหมดของบริษัท ซึ่งโชคดีที่พวกเขาเข้าใจในเหตุผลการปฏิเสธของครู พร้อมยื่นข้อเสนอใหม่ให้มา โดยเปลี่ยนเป็นการให้ทุนเพื่อร่ำเรียนด้านการแสดงแทนการจ่ายค่าจ้าง ซึ่งสุดท้ายพ่อของครูก็ยินยอม แต่มีข้อแม้ว่าให้เวลาแค่ 2 ปีเท่านั้น

2 ปีที่ว่า นอกจากจะได้แสดงและอัดแผ่นเสียงแล้ว ยังอัดแน่นไปด้วยวิชาความรู้และประสบการณ์ที่ครูได้รับจากคนทำอาชีพจริงๆ มาสอนให้ทั้งในด้านละคร ภาพยนตร์ และโทรทัศน์ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อตอบความต้องการของการเป็น “ครู” ที่ครูตั้งใจ

ครูบอกว่าปรารถนาจะเป็นครู มากกว่าเป็นนักแสดง

 

โชคดีที่ครูคิดเช่นนั้น ทำให้ประเทศไทยได้มีหลักสูตรการละครในแบบสากลขึ้นมาเพื่อการเรียนรู้ และพัฒนาคน โดยครูได้เขียนหลักสูตรสำหรับภาควิชาศิลปการละคร ที่คณะอักษรศาสตร์ และเมื่อขออนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยสำเร็จ อาชีพการเป็นครูละครที่ครูตั้งใจก็ได้เริ่มต้นในปี 2507

แม้ต่อมาเมื่อครูเกษียณการทำงานที่จุฬาฯ แล้ว ก็ยังมาเป็นครูให้กับคนทำงานและนักแสดงของไทยทีวีสีช่อง 3 สร้างผลงานละคร และนักแสดง ตลอดจนทีมงานที่เป็นมืออาชีพให้กับวงการไม่น้อยเลย

แม้บัดนี้ความเป็น “ครู” ของ อ.สดใส พันธุมโกมล ก็ยังเต็มเปี่ยมอยู่ไม่เสื่อมคลาย

 

ย้อนไปตอนที่ครูเป็นหัวหน้าภาควิชาศิลปการละครอยู่นั้น ในปี 2522 ผมและพรรคพวกที่คณะสถาปัตย์หลายคน ได้มีโอกาสร่วมงานกับครูในละครเอพิกเรื่อง “คนดีที่เสฉวน”

ผมได้เห็น “พลัง” ในการทำงานของครูอย่างใกล้ชิด ครูจะมีวิธีการสอนและการกำกับฯ ที่สนุกและเปิดกว้าง ภาพที่ชินตาคือ ภาพของครูกระโดดขึ้นลงระหว่างเก้าอี้คนดูกับเวที เพื่อสอนเรา บอกเราถึงเรื่องการแสดง ครูทำอย่างนี้โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

ครูได้บอกว่า การแสดงไม่ใช่แค่การท่องบทและจำบทได้ แต่ต้องรู้สึกกับมัน ถ้าไม่รู้สึกก็แสดงไม่ได้

การจะรู้สึกได้นั้น คือ เราต้องปล่อยวางความเป็นตัวตนของเราออกไป และเข้าไปสวม “ชีวิต” ของตัวละครนั้น เพื่อที่จะรู้ว่าตัวละครนั้นเป็นใคร มีที่มาที่ไปอย่างไร มีจุดประสงค์อะไรในชีวิต มีเหตุผลอะไรในการกระทำนั้นๆ

สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เราเข้าไปเป็นคนคนนั้นได้ ครูบอกว่าคือ “การสังเกต”

“ชีวิตเราต้องสังเกตตลอดเวลานะ คือ รับชีวิตเข้ามา โดยที่มองให้เห็น ฟังให้ได้ยินตลอดเวลา”

เมื่อเราสังเกต เราก็จะเห็น ได้ยิน และรู้สึกถึงความเป็นคนๆ นั้น และเราก็จะเข้าใจคนอื่นๆ ได้

 

สิ่งสำคัญที่ลูกศิษย์การละครของครูได้ติดตัวมาคือ “การเข้าใจชีวิตผู้อื่น” ซึ่งเป็นทักษะที่วิเศษในเวลาต่อมา ทำให้เราสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างราบรื่น สอนให้เราไม่ตัดสินใคร และมีใจเปิดกว้าง

เพราะใจที่เปิดกว้างนี้ ทำให้ครูมองเห็นความเป็น “มนุษย์” ในตัวคน

“ครูเชื่อในความเป็นมนุษย์ เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีดีในตัว เขาพัฒนาได้ถ้าเขามีโอกาส ถ้าเรามีความรู้อะไรเพียงน้อยนิดที่จะให้เขาได้ เรารีบให้ เพราะฉะนั้น ครูมีอะไร ครูให้หมด”

และเพราะครูให้หมดนี่เอง ทำให้พวกผมและเพื่อนที่ได้มีโอกาสทำงานกับครู ได้เรียนรู้สิ่งดีๆ ที่ไม่ใช่แต่เพียงทักษะในการแสดง แต่เป็นวิธีคิดในการใช้ชีวิตด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของ “ตัวตน” ที่แม้ครูจะประสบความสำเร็จแค่ไหน แต่ครูก็ไม่เคยยกตัวเองเลยสักน้อย และให้เครดิตคนอื่นเสมอ

เมื่อมีคำถามว่า คิดว่าครูมีอิทธิพลกับคนในวงการมากน้อยแค่ไหน ครูตอบว่า

“สำคัญคือ เราไม่ได้คิดว่าเรามีอิทธิพล ใครส่งความรักให้เรามา เราก็ส่งให้เขา มันเป็นอะไรที่ทำให้โลกนี้อยู่ได้ ไม่ใช่คนหนึ่งคนใดจะมานั่งคิดว่าตัวเองมีอิทธิพลกับคนอื่นแต่เพียงผู้เดียว”

หากไม่ใช้คำว่า “มีอิทธิพล” กับครู ก็เปลี่ยนเป็นคำว่า “มีความรัก” แทน

เพราะครูให้ความรักกับคนรอบตัว ให้กับทุกคนอย่างไม่ต้องการสิ่งตอบแทน และสิ่งที่ลูกศิษย์และคนรอบข้างตอบแทนให้กับครูก็คือ “ความรัก” เช่นกัน งานประทับรอยมือวันนั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างดี เห็นได้จากดวงตาและรอยยิ้มที่ยังสดใสสมชื่อของครู แม้วัยจะล่วง 90 ปีแล้วก็ตาม

เพราะนี่เป็นสิ่งที่ชีวิตได้ล็อคมาให้ครู

ครูใหญ่ “สดใส พันธุมโกมล” •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์