‘พระมหาพิชัยมงกุฎจำลอง’ แสดงสิทธิธรรมการปกครองสยามของรัชกาลที่ 4 ให้แก่ชาติเจ้าอาณานิคม

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
A picture of Napoleon III, Emperor of France receiving the Siam ambassadors in the ballroom at the Palace of Fontainebleu, France.

“มงกุฎ” คือเครื่องสวมศีรษะ โดยเฉพาะพระเศียรของพระเจ้าแผ่นดิน แต่จะหมายถึงเครื่องสวมศีรษะของคนอื่นก็ได้ ดังที่บางทีจะสวมใส่เป็นสัญลักษณ์ของการเป็นผู้ชนะ เช่น มงกุฎนางงาม เป็นต้น

ดังนั้น มงกุฎจึงไม่ได้มีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น และศิราภรณ์ หรือเครื่องสูงที่ใช้สวมเข้ากับศีรษะนั้น ก็ไม่ได้เรียกว่า มงกุฎ ไปเสียหมด ซึ่งก็หมายรวมถึงเครื่องสวมหัวที่ประดับอยู่บนพระเศียรของพระเจ้าแผ่นดิน ที่มีอยู่มากมายหลายชนิดด้วย

เรื่องนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยถวายความเห็นถึงประเภทและที่มาของ “ศิราภรณ์” ชนิดต่างๆ แก่สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ไว้ในจดหมายโต้ตอบระหว่างทั้งสองพระองค์ที่ได้รับการรวบรวมและจัดพิมพ์ภายหลังในชื่อ “สาส์นสมเด็จ” ว่า

“เครื่องสวมพระเศียร พระราชามหากษัตริย์ ดูมีแต่ 3 ชนิดๆ 1 คือ มงกฎ อันเกิดแต่กรอบหน้า ชนิด 1 คือ ชฎา อันเกิดแต่ผ้าโพก ชนิด 1 มาลา อันเกิดแต่หมวก ทำชนิดใดให้ผิดกันกี่อย่างก็หาคำคุณศัพท์ต่อเพิ่มเข้าเรียกเป็นชื่อต่างกัน”

ดังนั้น อย่างน้อยที่สุดในความเข้าใจของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะ “เจ้า” อย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ “มงกุฎ” ไม่ได้มีเพียงแบบเดียวแน่

 

แรกเริ่มทีเดียวชนพื้นเมืองอุษาคเนย์มีการประดับประดาศีรษะด้วยดอกไม้สด (ซึ่งก็คงประดับเฉพาะในงานพิธี) หลักฐานยังมีอยู่ในกลุ่มหมู่เกาะอย่าง บาหลี เป็นต้น แถมยังมีชื่อ “พระมาลาสุกหร่ำ” อยู่ในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งเป็นส่วนที่เก่าที่สุดส่วนหนึ่งใน “กฎหมายตราสามดวง” ซึ่งเชื่อกันว่า ตราขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา

ส่วนคำว่า “พระมาลาสุกหร่ำ” สมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ ก็เคยอธิบายไว้ในสาส์นสมเด็จเช่นกันด้วยว่า มีการประดับพระมาลาด้วยดอกไม้สดนี่แหละครับ

เมื่อชาวอุษาคเนย์รับเอาวัฒนธรรมศาสนาพุทธ-พราหมณ์ จากชมพูทวีป และลังกาทวีป เข้ามาสวมเป็นหน้าฉากให้ศาสนาผีพื้นเมือง ก็เลยเอาเครื่องแต่งกายของผีพุทธ ผีพราหมณ์เข้ามาด้วย มงกุฎนั่นก็ใช่

ข้อมูลในพระไตรปิฎกทำให้เรารู้ว่า “มงกุฎ” ของพระเจ้าปเสนทิโกศล ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงพุทธกาล เป็นเพียง “ผ้าโพกขาวทอง” ผืนเดียวเท่านั้น

และจากนั้น คือนับตั้งแต่สมัยพุทธกาลเป็นต้นมา ผ้าขาวทองที่ใช้โพกหัวพระราชาในอินเดียก็แต่งโน่นเสริมนี่เสียจนไม่เหลือรูปของผ้า

 

ดังนั้น เมื่ออุษาคเนย์รับมงกุฎพวกพุทธ และพราหมณ์เข้ามาเมื่อหลัง พ.ศ.1000 มงกุฎก็กลายรูปไปมากแล้ว ซ้ำยังประดับเพิ่มตามความนิยมในพื้นถิ่น อย่างเอาดอกไม้สดมาเพิ่มเสริมความวิจิตร “พระมาลาสุกหร่ำ” ที่ว่านี่ก็คงจะทำนองเดียวกัน

จนที่สุดแล้วการประดับมงกุฎเพิ่มเติมก็เลิกไป ดังที่ เจ้าฟ้านริศฯ ได้เคยอธิบายไว้ในสาส์นสมเด็จเช่นกันว่า

“แล้วดอกไม้สดก็เลิกไปจนลืม คงใช้แต่ดอกไม้ทอง ภายหลังซ้ำเอาเพชรนิลจินดาเข้ากับดอกไม้ทองอีกด้วย จึงได้พาหลงไปไกล รูปทรงแห่งมงกุฎนั้นต่างพวกต่างนึกทำตามชอบใจ แต่ก็คงอยู่ในพวกผ้าโพกกับดอกไม้ทองทั้งนั้น ผ้าโพกนั้นโพกลำบาก จึงเปลี่ยนแปลงทำเสียเป็นหมวกประดับดอกไม้ทอง ตกลงเป็นเครื่องสำหรับครอบหัว”

ถ้าพิจารณาจากกฎมณเฑียรบาล จะพบรายชื่อของ “มงกุฎ” และ “พระมาลา” อยู่หลายชนิด เราจึงอนุมานได้ว่า ประเภทของศิราภรณ์ หรือเครื่องสวมพระเศียรเหล่านี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้งานเฉพาะในแต่ละพิธีกรรม (และคงไม่มีพระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาพระองค์ไหนทรงชฎา แต่งตัวเป็นลิเกทั้งวันเหมือนหนังจักรๆ วงศ์ๆ ในโทรทัศน์ไทย)

สรุปได้ว่า ในระยะแรกนั้น “พิธีกรรม” จึงเป็นตัวเร่งให้เกิดพัฒนาการของรูปแบบ “มงกุฎ” “พระมาลา” และ “ชฎา” จนหลากหลาย (รูปแบบของเครื่องสวมพระเศียรเหล่านี้ยังวิวัฒนาการผ่านปัจจัยอื่นๆ อย่างเช่น การมหรสพ ในชั้นหลังอีกด้วย)

 

ในบรดามงกุฎ และเครื่องสวมศีรษะมากมายหลายชนิด ที่ใช้พิธีกรรมต่างๆ ของไทยนั้น ชนิดที่สำคัญที่สุดเรียกว่า “พระมหาพิชัยมงกุฎ” ซึ่งก็เกิดขึ้นเพราะพิธีกรรม ไม่ต่างอะไรไปจากมงกุฎประเภทอื่น ซ้ำพิธีกรรมที่ว่ายังเป็นพิธีกรรมที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งอีกด้วย

พิธีกรรมที่ว่าก็คือ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จขึ้นครองราชย์ตามโบราณราชประเพณีของสยาม จะต้องผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสียก่อน จึงจะถือว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยสมบูรณ์

ขั้นตอนสำคัญตอนหนึ่งในพระราชพิธีนี้ก็คือการเสด็จประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้พระนพปฎลเศวตฉัตร (ประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ภายในพระบรมมหาราชวัง)

จากนั้นพราหมณ์จะร่ายเวทสรรเสริญศิวาลัยไกรลาส แล้วค่อยถวายเครื่องราชูปโภคที่เป็นสัญลักษณ์เฉพาะพระมหากษัตริย์ชุดต่างๆ จากนั้นจึงถือว่าผู้รับมอบเครื่องราชูปโภคเหล่านี้เถลิงถวัลย์บัลลังก์เสด็จขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยสมบูรณ์

ในบรรดาเครื่องราชูปโภคหลายๆ ชุดดังกล่าว ชุดที่สำคัญที่สุด ซึ่งพ่อพราหมณ์จะจัดถวายให้แก่ผู้ที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านจากบุคคลธรรมดาไปเป็นพระเจ้แผ่นดินก็คือ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งมีพระมหาพิชัยมงกุฎ ประกอบอยู่เป็นหนึ่งในนั้นด้วย

พูดง่ายๆ ว่า “พระมหาพิชัยมงกุฎ” คือมงกุฎที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็น “พระเจ้าแผ่นดิน” ของสยามนั่นเอง

 

เรื่องของพระเจ้าปเสนทิโกศล ในพระไตรปิฎกที่ผมอ้างไว้ข้างต้น มีความอีกตอนหนึ่งว่า เมื่อพระองค์เสด็จออกไปทำศึกสงครามได้มอบ ผ้าโพกขาวทอง (ซึ่งก็คือมงกุฎของพระองค์) ให้กับเสนาบดีที่ชื่อ วิฑูฑภะ เพื่อให้เสนาบดีชื่อเรียกยากคนนี้ขึ้นครองราชย์แทน หมายความว่ามงกุฎเป็นสัญลักษณ์แสดงถึง ความเป็นพระมหากษัตริย์มาเนิ่นนานแล้ว

พระมหาพิชัยมงกุฎก็ไม่ต่างกันหรอกนะครับ ซ้ำยังเป็นสิ่งที่ตอกย้ำถึงสถานภาพความเป็นพระเจ้าแผ่นดินยิ่งกว่าผ้าโพกขาวทองของพระเจ้าปเสนทิโกศลเสียอีก เพราะได้ผ่านวิวัฒนาการมาจนมีสัญลักษณ์หน้าที่เชิงพิธีกรรม ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นกษัตริย์โดยชอบธรรมเป็นการเฉพาะ ในขณะที่มงกุฎหรือศิราภรณ์ประเภทอื่นนั้น มีหน้าที่การใช้งานเฉพาะที่ผิดแผกแตกต่างกันออกไป

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ รัชกาลที่ 4 เคยโปรดให้จำลองพระมหาพิชัยมงกุฎขึ้น 2 องค์ โดย “พระมหาพิชัยมงกุฎจำลอง” เพื่อพระราชทานให้แก่ พระราชินีนาถวิกตอเรีย แห่งอังกฤษ และพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส

(เฉพาะพระมหาพิชัยมงกุฎจำลององค์ที่ถูกส่งมอบให้กับพระเจ้านโปเลียนที่ 3 นั้น เคยจัดแสดงอยู่ที่ห้องพิพิธภัณฑ์จีน ในพระราชวังฟองเตนโบล ประเทศฝรั่งเศส แต่ได้ถูกโจรกรรมไปพร้อมกับข้าวของที่รัชกาลที่ 4 พระราชทานให้แก่ฝรั่งเศสพร้อมในคราวเดียวกันนั้นเองอีก 5 ชิ้น เมื่อ พ.ศ.2558)

 

พระมหาพิชัยมงกุฎจำลองทั้งสององค์นี้ สูงราว 51 เซนติเมตร ในขณะที่พระมาพิชัยมงกุฎสูง 66 เซนติเมตร หนัก 7.3 กิโลกรัม

พระมหาพิชัยมงกุฎจำลองทั้งสององค์ทำขึ้นจากทองคำแท้ ประดับอัญมณี ประกอบด้วย เพชร 233 เม็ด ทับทิม 2,298 เม็ด มรกต 46 เม็ด และไข่มุกอีก 9 เม็ด ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นของที่สูงด้วยมูลค่า แม้จะเป็นแค่ของจำลองก็ตาม

แต่คุณค่าที่สำคัญมากยิ่งกว่าก็คือนัยยะที่ซ่อนอยู่ในการจำลองมงกุฎ อันเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจการปกครองแผ่นดินสยาม ให้แก่ผู้ปกครองของชาติมหาอำนาจ ในโลกยุคที่เต็มไปด้วยการล่าอาณานิคม

เพราะการที่รัชกาลที่ 4 หรือที่พวกฝรั่งเรียกว่า “คิงมงกุฎ” (King Mongkut) ทรงเลือกที่จะจำลองพระมหาพิชัยมงกุฎ ส่งมอบให้แก่ควีนวิกตอเรีย และพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ซึ่งมีอำนาจครอบคลุมกว่าครึ่งโลกในรัชสมัยของพวกพระองค์ ย่อมมีนัยยะนอกเหนือจากจะแสดงสัมพันธไมตรี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระนามาภิไธยของคิงมงกุฎเองแล้ว

ยังเป็นการพยายามผูกโยงเครือข่ายความเป็นขัตติยะระหว่างกัน ทั้งที่รูปแบบของสถาบัน ความหมาย และความเป็นกษัตริย์ในโลกของพวกเจ้าอาณานิคมนั้น มีความแตกต่างจากความเป็นพระเจ้าแผ่นดินในโลกตะวันออก โดยเฉพาะสยามเป็นอย่างมาก

ดังนั้น สิ่งที่รัชกาลที่ 4 โปรดให้จำลองจึงไม่ได้มีเพียงแค่พระมหาพิชัยมงกุฎ สององค์เท่านั้น แต่ยังทรงจำลองเอาสถานะกษัตริย์แบบสยามไปฉาบทับไว้บนสถานะ และสถาบันกษัตริย์ของเจ้าอาณานิคมในโลกตะวันตกไปพร้อมกันด้วย •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ