เวียนเทียน – เดินเทียน

"เวียนเทียนรอบอุโบสถ" จิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระไตรปิฎกวัดบวรนิเวศวิหาร

แต่เดิมคำว่า ‘เวียนเทียน’ และ ‘เดินเทียน’ มีความหมายต่างกัน

‘เวียนเทียน’ คือ นั่งหรือยืนเป็นวงกลมแล้วส่งแว่นที่จุดเทียนติดไว้ต่อๆ กันไป ตัวคนอยู่กับที่ ส่วนเทียนเคลื่อนที่ไป

ส่วน ‘เดินเทียน’ คือ คนถือดอกไม้ธูปเทียนเดินเวียนขวาสิ่งที่เคารพบูชา ทั้งคนทั้งเทียนเคลื่อนที่ไปพร้อมๆ กัน

เช่น พุทธศาสนิกชนเดินเทียนรอบพระอุโบสถวันวิสาขบูชา ดังที่ “โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส” พรรณนาถึงการเดินเทียนในวันดังกล่าวว่า

“ธรรมยุติทำยิ่งล้ำ หลากหลาย

เทียนรุ่งทั้งเทียนราย สว่างแผ้ว

เดินเทียนพวกหญิงชาย แน่นเนื่อง กันนา

ฟังเทศน์ธรรมเจื้อยแจ้ว จวบแจ้งราตรี”

นี่คือการเดินเทียนตามประเพณีไทยเป็นพุทธบูชาในวันสำคัญทางพุทธศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคล

 

ส่วน ‘เวียนเทียน’ ที่บันทึกไว้ในวรรณคดีไทยคือ การสมโภชทำขวัญบุคคลเพื่อให้เกิดสิริมงคล ผู้ที่ได้รับการฉลองหรือสมโภชจะนั่งอยู่ตรงกลาง ล้อมวงด้วยญาติมิตร ผู้ทำพิธีจะจุดเทียนที่แว่นเทียนแล้วยื่นออกไปข้างหน้าเล็กน้อย ใช้มือขวาโบกควันมงคลไปยังผู้ที่รับการสมโภช หลังจากคนแรกโบกควันเสร็จก็ส่งแว่นเทียนให้คนถัดไปทางซ้ายมือ ทำเช่นนี้ต่อๆ กันไปจนครบรอบ

แว่น แว่นเทียน หรือแว่นเวียนเทียน คือ แว่นสำหรับใช้ติดเทียนทำขวัญ ทำด้วยเงิน ทอง หรือทองเหลือง รูปแบนๆ มีปลายแหลมเหมือนใบโพสำหรับติดเทียน มีด้ามถือ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน)

สมัยอยุธยามีการเวียนเทียนในพิธีทำขวัญ ดังที่บทละครครั้งกรุงเก่าเรื่อง “สังข์ทอง” มีข้อความว่าท้าวสามนต์และนางสุมณฑา พ่อตาแม่ยายของพระสังข์ จัดพิธีดังกล่าวให้ลูกเขยและลูกสาว

“ได้ฤกษ์ ท้าวไทให้เบิกบายศรี

เอาเทียนมาจุดอัคคี สาวศรีรับแว่นมาฯ

เวียนเอยเวียนเทียน ให้เวียนแต่ซ้ายมาขวา

รับส่งต่อกันเป็นหลั่นมา เสภามโหรีมี่ไป

ครั้นถ้วนเจ็ดรอบตามจำเนียร ดับเทียนแล้วโบกควันให้

เอาจันทน์จุณเจิมเฉลิมไร อวยชัยให้พรพระลูกยาฯ”

 

พิธีทำขวัญมีทั้งงานหลวงงานราษฎร์ เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ย่าทองประศรีทำขวัญพลายงามหลานชาย ดังนี้

“ขวัญมาหาย่าเถิดอย่าเพลิดเพลิน จงเจริญร้อยปีอย่ามีภัย

แล้วจุดเทียนเวียนวงส่งให้บ่าว มันโห่กราวเกรียวลั่นสนั่นไหว

คอยรับเทียนเวียนส่งเป็นวงไป แล้วดับไฟโบกควันในทันที”

บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” ตอนพิธีโสกันต์ (โกนจุก) สียะตรา น้องชายนางบุษบา ท้าวดาหาก็ ‘กุมกรโอรสยศไกร พาไปท้องพระโรงรูจี’

“ให้อะหนะนั่งเหนือบัลลังก์รัตน์ ภายใต้เศวตฉัตรเฉลิมศรี

พร้อมพระวงศ์พงศาเสนี ต่างถวายอัญชลีพร้อมกัน

ได้ฤกษ์ พระโหรให้เบิกบายศรีขวัญ

ลั่นฆ้องเข้าเป็นสำคัญ สังข์แตรแซ่สนั่นโกลา

ตำมะหงงคลานเข้าไปจุดเทียน ติดแว่นแล้วเวียนไปเบื้องขวา

เวียนวงส่งรับอันดับมา รอบมหามณฑลพิธี”

ขณะเวียนเทียนมีบรรเลงดนตรีตีฆ้องชัย

“โห่สนั่นครั่นครึกกึกก้อง เสียงระนาดพาทย์ฆ้องอึงมี่

ฝ่ายพวกขับไม้มโหรี ก็บรรสานดีดสีมี่ไป

ครั้นครบเจ็ดรอบตามตำรับ จึงดับเทียนโบกควันให้

เอาจุณเจิมพักตร์พระดนัย แซ่ซ้องอวยชัยพร้อมกัน”

การเวียนเทียนในพิธีอภิเษกอิเหนาและราชบุตรราชธิดาสี่พระนครก็ไม่ต่างจากพิธีโสกันต์สียะตรา

“นั่งเหนือแท่นสุวรรณบัลลังก์รัตน์ ภายใต้เศวตฉัตรเฉิดฉัน

ทั้งสี่องค์นั่งเรียงเคียงกัน อนงค์นางที่จัดสรรมานั่งล้อม

ตำมะหงงตรงเข้าไปจุดเทียน ติดแว่นวิเชียรเจิมจันทน์หอม

เสนากิดาหยันพรั่งพร้อม นั่งล้อมรอบองค์พระทรงธรรม์

ตำมะหงงส่งต่อตามลำดับ เวียนวงส่งรับเป็นหลั่นหลั่น

มโหรีดีดสีขึ้นพร้อมกัน เสียงสนั่นบันลือฆ้องกลอง

ครั้นครบเสร็จเจ็ดรอบตามตำรับ ตำมะหงงประจงจับทีละสอง

มาปักลงไว้ในขันทอง ใบพลูรองดับอัคคีแล้วคลี่คลาย

จึงโบกควันจันทน์เจิมเฉลิมพักตร์ เอาช้อนตักมะพร้าวอ่อนป้อนถวาย

จำเริญศรีอย่าให้มีอันตราย ข้าศึกแพ้พ่ายไปทุกทิศ”

จะเห็นได้ว่า ‘เวียนเทียน’ ในการสมโภช บรรดาผู้คนจะนั่งอยู่กับที่ แล้วส่งเทียนเวียนไปรอบๆ วง

ปัจจุบันไม่ใช้คำว่า ‘เดินเทียน’ แล้ว ใช้แต่คำว่า ‘เวียนเทียน’ หรือ ‘เดินเวียนเทียน’ ซึ่งมีความหมายได้ทั้งสองอย่าง คือคนอยู่กับที่ ส่วนเทียนเวียนไป และคนเดินไปพร้อมกับเทียนเวียนรอบสิ่งที่เคารพ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร