นักบุญแห่งอินเดีย : อธิบายขยายความ (จบ)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

หากจะกล่าวถึงอิทธิพลของนักบุญในอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักบุญในขบวนการภักตินั้น นับเป็นสิ่งที่ยากเป็นอย่างยิ่งและมีหลากหลายมิติ

บรรดานักบุญผู้มีสถานภาพเป็นนักปรัชญาและเจ้าสำนัก เช่น ศังกราจารย์ รามานุชาจารย์ วัลลภาจารย์ ฯลฯ ได้ทำให้หลักปรัชญาอันลึกซึ้งกระจายไปสู่ผู้คนทั่วๆ ไป ผ่านการนำเสนอของนักคิดร่วมสมัยหรือถูกย่อยแปรรูปโดยนักบุญกวีอื่นๆ อีกชั้นหนึ่ง

คำสอนเรื่องอไทฺวตะ อันหมายถึงความไม่เป็นสอง คือปรัชญาที่ศังกราจารย์เสนอว่าพรหมันหรือสิ่งสูงสุดกับเนื้อแท้ของมนุษย์และสรรพสิ่งมิได้แยกออกจากกัน ทว่า เป็นหนึ่งเดียวมาตั้งแต่ต้น แต่หากคำอธิบายโดยตรรกะและตำราภาษาสันสกฤตอันสูงส่งคงยากที่ชาวบ้านธรรมดาจะเข้าถึงได้

นักบุญแห่งยุคกลางจำนวนมากได้เสนอคำสอนนี้ใหม่ โดยเฉพาะในสาย “นิรคุณะ” คือสายที่เน้นสภาวะไร้รูปและเหนือกว่าคุณสมบัติใดๆ ของพระเจ้า แปรเปลี่ยนให้อยู่ในรูปกวีนิพนธ์ เช่น ชนาพาอีผู้มักกล่าวว่าพระเจ้ากับตนเองเป็นหนึ่งเดียวกัน

หรือกพีร์ผู้ที่ยืนยันว่าพระเจ้าที่แท้นั้นพ้นไปจากนามเรียกขานอันจำกัดด้วยศาสนาของมนุษย์

 

เราอาจกล่าวไปยิ่งกว่านั้นว่า อิทธิพลจากแนวคิดของศังกราจารย์ได้ก่อรูปศาสนาฮินดูใหม่ขึ้นมา แนวคิดว่าเทพเจ้าต่างๆ ล้วนมาจากแหล่งเดียวกันหรือมีเบื้องหลังเป็นพระเจ้าองค์เดียวกลายเป็นแนวคิดซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เพราะสามารถโอบอุ้มเอาความแตกต่างหลากหลายในผืนปฐพีอินเดียอันไพศาลเอาไว้ได้

ด้วยเหตุนี้ บรรดา “สมาช” หรือสมาคมทางศาสนาต่างๆ ซึ่งผุดพรายขึ้นในยุคเรียกร้องเอกราชจึงรับเอาแนวคิดนี้มาเป็นคำสอนหลักของตน บรรดานักปรัชญาสมัยหลังต่างยกย่องแนวคิดนี้เป็นอย่างสูงว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดแนวคิดทางปรัชญาของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็น ดร.ราธกฤษณัน ศรีอรพินโท สวามีวิเวกานันทะ เป็นต้น

อีกทั้งตำแหน่งของนักบุญเจ้าสำนักเหล่านี้ ได้กลายเป็นสถานะสำคัญทางสังคมที่ทรงอิทธิพลยิ่ง ผู้สืบทอดตำแหน่ง “อาจารยะ” ทั้งหลายคือผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าหลายครั้งก็นำมาสู่ความขัดแย้งและการแก่งแย่งเพื่อขึ้นสู่บัลลังก์ทอง

ทำให้ความหมายของตำแหน่งเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องการเมืองภายในของบรรดานักบวชที่สกปรกไม่ต่างจากฆราวาสหรืออาจยิ่งกว่าด้วยซ้ำ

 

ส่วนนักบุญในสาย “สคุณ” หรือที่เน้นพระเจ้าผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติต่างๆ ก็ได้เผยแผ่ความคิดของตนออกไปอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกัน กวีนิพนธ์เกี่ยวกับพระเจ้าได้เข้าไปสู่วิถีชีวิตของชาวบ้าน ประเพณีและเทศกาลจำนวนมากเกิดขึ้นจากตำนานชีวิตและบทเพลงของนักบุญเหล่านี้ เช่น ติรุปปาไว และติรุเวมปาไว

บรรดาเทวาลัยหลายแห่งยังคงสืบทอดระเบียบการปฏิบัติซึ่งเหล่านักบุญวางไว้ให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอินเดียภาคใต้ ซึ่งเรายังคงพบเห็นได้ในปัจจุบัน

การเกิดขึ้นของนิกายใหม่ๆ เช่น รามนามี ผู้นำเอาพระนามแห่งองค์รามมาสักไว้รอบร่างกายของตน แม้จะถูกมองจากสังคมภายนอกว่าเป็นพวกอวรรณะ แต่การมีพระนามของพระเจ้าตลอดไปทั้งตัวคือการสร้างความหมายใหม่ของตัวตน ผ่านแนวคิดเรื่องพระนามนั่นเอง

นอกจากบรรดานักบุญผู้เป็นปราชญ์อันสูงส่งแล้ว ดูเหมือนว่านักบุญในขบวนการภักติซึ่งเป็นคนธรรมดาจากพื้นเพอันหลากหลายได้เข้าไปอยู่ใกล้ชิดหัวใจของชาวบ้านมากกว่า เพราะพวกเขาเหล่านั้นมิได้แตกต่างจากตนเอง

นักบุญทั้งหลายได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์แห่งความทุกข์-สุข การถูกกดขี่และเหยียดหยาม ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ที่ชาวบ้านต้องเผชิญอยู่ทุกวัน กระนั้นก็ยังคงเป็นตัวอย่างแห่งความไม่ย่อท้อต่อชีวิต โดยอาศัยความศรัทธาภักดีต่อพระเจ้าและความรักต่อผู้คน

ทั้งยังชี้ให้เห็นว่า พระเจ้ามิใช่สมบัติเฉพาะแต่ของพราหมณ์หรือนักบวช แต่เป็นสมบัติแห่งสาวกผู้ภักดี ผิว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม

บทกวีของเหล่านักบุญแทรกซึมลงไปในทุกๆ เม็ดเหงื่อจากงานหนักในท้องทุ่ง ในเสียงอ่อนโยนของมารดายามกล่อมลูก ในเสียงแหบพร่าของวณิพกคนจร ในปราสาทราชวังและข้างถนน

เพลงของนักบุญอาจช่วยปลุกใจให้ฮึกเหิม ให้เริงร่าเผชิญอุปสรรคขวากหนาม กวีของนักบุญส่งแรงให้มหาตมะคานธีเดินเท้าหลายร้อยกิโลเมตรไปถึงชายทะเลเพื่อทำเกลือต่อต้านอังกฤษ เสียงก้องบทกวี “ไวษณวะ ชนโต” ของนักบุญนรสีเมห์ตากลายเป็นเงาตามตัวของคานธีไปทุกหนแห่ง

ขณะที่บทกวีของกพีร์อาจอยู่ในใจของอัมเบดการ์ ผู้ยืนหยัดต่อต้านระบบวรรณะอย่างแข็งขัน และยังอยู่ในใจของดาลิต คนอวรรณะผู้ยังคงต่อสู้แม้ในทุกวันนี้

 

ถึงจะเคยถูกพราหมณ์ต่อต้าน เพราะนักบุญแห่งยุคกลางต่างพากันสอนให้คนเข้าถึงพระเจ้าอย่างง่ายๆ เพียงแค่เอ่ยพระนามโดยมิต้องมีความรู้ทางพิธีกรรมหรือตำรา แต่ในปัจจุบัน เทวาลัยทั้งหลายโดยเฉพาะในภาคเหนือ ต่างรับเอาประเพณีและหลักคิดของการเชิดชูพระนามไปไว้เป็นส่วนหนึ่งของตนไปแล้ว

กิจกรรมในเทวาลัยจึงมิใช่เพียงการบูชาและประกอบพิธีกรรมตามขนบโดยพราหมณ์อีกต่อไป แต่ได้นำเอาการขับร้องสรรเสริญ การท่องพระนาม การเทศสอนถกธรรมและการฟ้อนรำเข้าไปเป็นส่วนประกอบอันสำคัญยิ่งแห่ง “สัตสังฆ์” หรือการชุมนุมสัตบุรุษ ซึ่งเป็นกิจกรรมทางสังคมในสมัยกลางของอินเดียนั่นเอง

หากท่านเดินทางไปยังเทวาลัยของชาวอินเดียเหนือในวันที่มีการชุมนุมสัตสังฆ์ สิ่งแรกที่จะได้ยินคือเสียงทุ้มรัวของกลอง ฉิ่ง ประกอบกับเสียงร้องก้องกังวานจากผู้คนจำนวนมาก บางครั้งดูเหมือนคนเหล่านี้กำลังอยู่ในภวังค์ บ้างก็ปรบมือและหลับตาพริ้ม โยกตัวไปตามเสียงดนตรี บางครั้งเราอาจเห็นน้ำตาที่รินไหลอยู่ข้างแก้มของชายชรา ผู้ได้ลืมตนเองไปในท่วงทำนองของความรักนั้นจนหมดสิ้น

กระแสธารของกาลเวลาทำให้ทุกสิ่งถูกลืมเลือน ดุจสายน้ำที่ค่อยๆ เซาะตลิ่งให้หายไป หากแต่บทกวีของนักบุญและเรื่องเล่าชีวิตของท่านกลับถูกเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีกผ่านสิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยี แผ่นเสียง เทป ซีดีและสื่ออื่นๆ ได้ช่วยบันทึกสิ่งเหล่านั้นไว้ และทำให้ง่ายขึ้นที่จะปลุกความทรงจำขึ้นมาตามแต่ความประสงค์

ศิลปะสมัยใหม่ที่เรียกว่าภาพยนตร์ได้ทำหน้าที่แทนนาฏกะหรือละครร้องรำตามประสาชาวบ้าน ชีวิตนักบุญจึงยังคงสดใหม่อยู่เสมอผ่านธุรกิจบันเทิงเหล่านี้

แม้ท่านอาจไม่ใช่สินค้าที่ดีนักในโลกทุนนิยม แต่อินเดียรักบทเพลงจากวัดวาอารามไม่น้อยไปกว่าจากภาพยนตร์และจากวงดนตรีเอกเทศ บทเพลงกวีของนักบุญจึงยังไม่เคยเงียบเสียง และน่าจะไม่มีวันเงียบลงด้วย

ส่วนบรรดานักบุญร่วมสมัยได้นำเอาสารจากประสบการณ์ชีวิตไปแบ่งปันให้ชาวโลก แบ่งปันประสบการณ์สูงสุดที่มนุษย์จะมีหรือไปถึงได้ให้กับผู้คนจากอีกวัฒนธรรม

ความรุ่มรวยแห่งปัญญาของท่านและเรื่องเล่าปากต่อปากได้เชื้อเชิญให้เหล่านักแสวงหาชาวตะวันตกพากันมุ่งสู่แดนภารตะด้วยความหวัง แม้ประเด็นของการต่อต้านทางสังคมจะเจือจางไปเพราะความเปลี่ยนแปลงของสังคมเองก็ตาม แต่ความเป็นสากลได้ถูกเน้นย้ำมากขึ้นผ่านอิสรภาพที่ท่านเหล่านั้นค้นพบ และเชื่อว่าทุกๆ คนจะสามารถพบกับประสบการณ์เดียวกันได้ด้วย

 

เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเข้าใจศาสนาฮินดูอย่างถ่องแท้โดยไม่สัมพันธ์กับเรื่องราวของนักบุญเหล่านี้ แม้ศาสนาฮินดูจะเชื่อในพระเจ้าและเทวตำนานทั้งหลายอาจมีสีสันฉูดฉาดน่าหลงใหลกว่า แต่ศาสนาเป็นเรื่องของคน เป็นเรื่องของสังคมมนุษย์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

ทุกศาสนามีพลวัตไม่หยุดนิ่ง ศาสนาฮินดูเปลี่ยนแปลงครั้งแล้วครั้งเล่าก็ด้วยพลังของมนุษย์นี่เอง การต่อต้านหรือการปฏิรูปคำสอนล้วนเกิดขึ้นจากความไม่เห็นด้วยต่อหลักการหรือข้อเชื่อบางอย่างที่เร่อร่าล้าสมัย หรือกดขี่ผู้คนจนหลังหัก

มิติของความเป็นมนุษย์ในศาสนาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง น่าเสียดายที่ศาสนาฮินดูในสังคมไทยหรือกล่าวอีกอย่างว่าที่ปรากฏแก่คนไทยได้ละเลยมิตินี้ เพราะมุ่งไปสู่ด้านของความวิเศษมหัศจรรย์ผ่านเทพเจ้าหรือพิธีกรรมเท่านั้น อาจเพราะศาสนาได้ถูกใช้เพื่อเป้าหมายบางอย่างในทางการปกครองมาอย่างยาวนาน จนต้องละมิติเหล่านี้เสีย

ในท้ายนี้ ขอขอบพระคุณท่านผู้อ่านที่ประกอบด้วยขันติธรรม ยอมปล่อยให้ซีรีส์บทความอันยืดยาวด้วยความเอาแต่ใจของผู้เขียนนี้ดำเนินมาจนถึงที่สุด

หวังว่าสิ่งที่ได้เสนอไปจักเป็นประโยชน์แก่ท่าน

ไม่มากก็น้อย •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง