ผลประโยชน์จีนในเมียนมา หยุดยิง (ชั่วคราว)

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
(Photo by Noel CELIS / AFP)

เป็นเรื่องเข้าใจได้ที่รัฐบาลจีนเป็นตัวกลางเจรจาหยุดยิงระหว่างกลุ่ม 3 พันธมิตรกลุ่มชาติพันธุ์เมียนมากับรัฐบาลทหารเมียนมาในรัฐฉานตอนเหนือ เมียนมาที่อยู่ติดกับมณฑลยูนนาน มณฑลตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมที่กลุ่มชาติพันธุ์ในบริเวณนี้ล้มตายหรือต้องลี้ภัยสงคราม

ด้วยเหตุผลการทำลายล้างศูนย์อาชญากรรมออนไลน์ที่มีทั้งบ่อนการพนัน บ่อนออนไลน์ ค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ ฟอกเงิน ลวงเงินข้ามชาติ

ด้วยเหตุผลที่ทางการจีนต้องการทำลายล้างศูนย์เหล่านี้ที่มีเป้าหมายคือ เหยื่อชาวจีน

ด้วยเหตุผลที่ทางการจีนต้องการเปิดเส้นทางการค้าชายแดนอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งหมดนี้เป็นผลประโยชน์ของจีนที่เข้าใจได้

แต่ผลประโยชน์จีนบริเวณชายแดนตะวันตกเฉียงใต้สลับซับซ้อนและมีมากกว่าสิ่งที่กล่าวมา เราควรทำความเข้าใจ

12 มกราคม 2024 ข้อตกลงไฮ้เนี่ยง (The Haigeng Agreement) เพื่อให้มีการหยุดยิงในเมียนมา แต่ใช้ได้เพียงวันเดียวก็มีการปะทะกันในบางพื้นที่ทางตอนเหนือของเมียนมา2

แล้วมีแถลงการณ์ออกมาจากกลุ่มพันธมิตร 3 ฝ่าย คือ Three Brother Alliance ประกอบด้วย Myanmar National Democratic Alliance Army-MNDAA, the Aragan Army และ Ta’ang National Liberation Army ที่รัฐบาลเมียนมาถือว่าเป็นกลุ่มกบฏเปิดออกมา

โดยกล่าวหาว่าทหารเมียนมาได้ทำการโจมตีในหลายพื้นที่

บริเวณที่ใหญ่ที่สุดอยู่ใกล้ Kyaukme เมืองเล็กๆ แต่อยู่ระหว่างถนนมัณฑะเลย์-ลาเชียว (Mandalay-Lashio Road) บริเวณภูเขาใกล้พรมแดนตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งมีเส้นทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศ และมีการลงทุนของจีนด้านโครงสร้างพื้นฐานไม่กี่ปีมานี้

แถลงการณ์มีข้อมูลเพิ่มว่า การปะทะยังมีอยู่โดยทหารเมียนมา รวมทั้งการโจมตีทางอากาศ 16 ครั้ง มีประจักษ์พยานการโจมตีทางอากาศหมู่บ้านในรัฐฉาน แถลงการณ์อ้าง ทหารเมียนมาล้มเหลวในการหยุดยิงหลังจากมีความพยายาม 3 ครั้ง โดยมีจีนเป็น “ตัวกลาง”

แถลงการณ์เห็นว่าจากวันที่มีข้อตกลงไฮ้เนี่ยง จนถึงวันนี้ ฝ่ายเรายอมทำตาม ฝ่ายเราอดทนและแสดงการยับยั้งไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในสนามรบ

 

ผลประโยชน์จีนในเส้นทางการค้า

มีการวิเคราะห์ว่าผลประโยชน์ขั้นต้นของจีนในการพูดคุยสันติภาพ อยู่ที่ความปรารถนาเปิดเส้นทางการค้าอีกครั้งระหว่างเมียนมากับมณฑลยูนนาน จีน

ในทัศนะจีน การจัดการเมืองต่างๆ บนเส้นทางการค้าระหว่างจีนกับเมืองตอนใน เช่น มัณฑะเลย์ กับเมืองลาเชียว ของเมียนมา เป็นแนวเดียวกันกับเมืองเล่าก์กาย (Laukkai) สามารถเปิดเป็นเส้นทางการค้าได้

เล่าก์กาย เมืองชายแดนมีบ่อนพนัน ซ่องโสเภณี และอาชญากรรมทางไซเบอร์ ถูกยึดโดยพันธมิตร 3 ฝ่าย เมื่อ 5 มกราคมที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จใน ยุทธการ 1027 ที่เริ่มมาตั้งแต่ตุลาคม 2023 ตอนนี้พันธมิตร 3 ฝ่ายสถาปนารัฐบาลปกครองตัวเองพิเศษ

จีนยังพยายามพัฒนาเมืองลาเชียว เมืองนี้คือเมืองใหญ่ที่สุดของรัฐฉานตอนเหนือและตั้งอยู่ปลายทางถนนพม่า (Burma Road) บริเวณสำคัญทางประวัติศาสตร์เชื่อมเมืองลาเชียวกับมณฑลยูนนานของจีน แล้วยังเป็นฐานทัพใหญ่ ซึ่งเป็นเป้าหมายโจมตีและยึดของพันธมิตร 3 ฝ่ายด้วย

เหตุผลหลัก ที่พันธมิตร 3 ฝ่ายตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลเมียนมา เป็นความหวังของพวกเขาแสดงการประนีประนอมเพื่อยึดเมืองลาเชียว อันจะนำไปสู่การขยายการต่อสู้และสร้างความสับสนอลหม่านในภูมิภาค

จีนหวังสูงสุดว่าทหารเมียนมาจะถอนตัวออกจากบางส่วนของบริเวณนี้และจะทำให้พันธมิตร 3 ฝ่ายหยุดการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อล้มล้างเผด็จการทหาร แล้วเน้นทำงานร่วมกับทหารเมียนมาเพื่อสร้างเสถียรภาพ โดยเฉพาะให้กับโครงการของจีน

ความน่าสนใจคือ ทหารเมียนมาไม่ต้องการยุติการควบคุมและยกเลิกการดำรงอยู่ของตนในตอนเหนือของรัฐฉาน โดยต้องการยึดพื้นที่และรักษาบทบาทของตนเอาไว้ต่อไป

จีนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในบริเวณนี้ เช่น Upper Yeywa Hydroelectric Dam ในแม่น้ำ Shweli ซึ่งยังไม่เสร็จสมบูรณ์นับตั้งแต่ก่อนรัฐบาลทหารเมียนมายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนในปี 2015 รัฐบาลเมียนมาปัจจุบันเริ่มโครงการนี้อีกครั้ง

 

จีนเล่นทั้ง 2 ข้าง

จีนกำลังช่วยทั้ง 2 ฝ่าย จีนช่วยพันธมิตร 3 ฝ่ายเพื่อความก้าวหน้าบางประการให้ใกล้เป้าหมายทางการเมืองของตน

แต่ก็ช่วยทหารเมียนมาด้วยในการกดดันพันธมิตร 3 ฝ่ายในบางครั้ง

ปัจจุบัน จีนอยู่ทางตอนเหนือของเมียนมา จีนชื่นชอบพันธมิตร 3 ฝ่ายที่ควบคุมดินแดนต่างๆ บริเวณชายแดนจีน-เมียนมา

อย่างไรก็ตาม จีนยังคงทำธุรกิจกับทหารเมียนมา เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกที่รัฐยะไข่ (Rakkaine) ติดกับบังกลาเทศ คือโครงการ จ้าวผิว (Kyaukphyu) รัฐบาลทหารเมียนมาได้ประโยชน์จากจีน

นโยบายกว้างๆ ของจีนคือ เปิดรับกับทุกฝ่าย เหมือนในกรณีซูดาน รัฐบาลจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้ง 2 ฝ่ายในความขัดแย้ง พวกเขาสามารถโน้มน้าวทั้ง 2 ฝ่ายให้หยุดยิง จีนจัดการกลุ่มต่างๆ ในทุกประเทศ

กรณีเมียนมา จีนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับรัฐบาลทหารเมียนมาที่กำลังมีอำนาจ แล้วยังเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ในเมียนมา เพื่อตอบสนองเป้าหมายของจีนเอง

 

จากลงโทษรุนแรงศูนย์อาชญากรรมไซเบอร์
สู่ความมั่นคงพลังงาน

จีนยังคาดหวังให้เกิดเสถียรภาพในภูมิภาค สามารถผลักดันการต่อสู้กับศูนย์อาชญากรรมไซเบอร์ที่แพร่หลายทั่วเขตโกกั้ง (Kokang) ที่มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่คนจีน ด้วยความสำเร็จของยุทธการ 1027 ปักกิ่งเห็นโอกาสทำงานร่วมกับพันธมิตร 3 ฝ่ายกวาดล้างศูนย์อาชญากรรมไซเบอร์

ในแง่จีน จีนพอใจพอสมควรในการควบคุมภูมิภาคโดยพันธมิตร 3 ฝ่าย จีนมีเป้าหมายเปิดจุดการค้าอีกครั้ง และแสดงความพอใจที่ภูมิภาคฉานตอนเหนืออยู่ในมือของ MNDAA หนึ่งในพันธมิตร 3 ฝ่าย

จีนยอมรับความจริงว่าแก๊งอาชญากรรมไซเบอร์ได้รับการคุ้มครองจากทหารเมียนมา สร้างความยุ่งยากให้กับจีนในการยับยั้งกลุ่มแก๊งที่มีเป้าหมายที่เหยื่อคนจีน ทหารเมียนมาอ้างว่าเคยทำงานร่วมกับรัฐบาลจีนเพื่อทำลายกิจการออนไลน์ผิดกฎหมาย

ผลประโยชน์ของจีนในภูมิภาคต้องใหญ่มากกว่าแค่สกัดกั้นกิจกรรมอาชญากรรม ผลประโยชน์ใหญ่มากที่นี่คือ ความมั่นคงพลังงานจีน เพราะจีนมีแหล่งเดียวในการส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อส่งก๊าซไปจีน จากโครงการท่อก๊าซธรรมชาติจีน-เมียนมาตอนนี้ส่งก๊าซธรรมชาติไป 4 เมืองในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของจีน คือ มณฑลยูนนาน และได้สร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติให้มณฑลนี้อย่างสำคัญ

นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมจีนกำลังผลักดันให้พันธมิตร 3 ฝ่ายแยกตัวออกจากงานปฏิวัติประเทศ ล้มล้างรัฐบาลทหารเมียนมา แต่ทำงานร่วมกับทหารเมียนมา

 

สรุป

ความปลอดภัยของคนจีนในภูมิภาคทั่วชายแดนเมียนมา-จีน ไม่สามารถประกันด้วยข้อตกลงหยุดยิงกับทหารเมียนมา

ความไร้ความสามารถของทหารจัดการกลุ่มแก๊งในรัฐฉานตอนเกิดสงครามกลางเมืองชี้ว่า แม้ไม่มีสงครามกลางเมือง ภูมิภาคนี้ก็ก่อการคุกคามต่อจีนอยู่ดี3

ในเมียนมา จีนเล่นกับทั้ง 2 ฝ่ายทั้งรัฐบาลเมียนมาและฝ่ายกบฏ พันธมิตร 3 ฝ่าย แต่รัฐบาลทหารเมียนมาตอนนี้ตอบสนองผลประโยชน์จีนที่ใหญ่มากกว่า คือ ความมั่นคงพลังงานจีน

 


1 ‘การหยุดยิง’ มีการเจรจาที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประกาศให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิงทันที อ้างจาก Laura Zhou, “China brokers Myanmar ceasefire” South China Morning Post, 12 January 2024.

2 สายตรงสุทธิชัย หยุ่น FM 96.5 23 มกราคม 2024 17.30 น.

3 Tharaphi Than, “China’s influence on Myanmar insurgents only goes so far” Asia Times, 23 January 2024.