ศัพทานุกรมอำนาจนิยม (ตอนต้น)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ศัพทานุกรมอำนาจนิยม (ตอนต้น)

 

อัตตาธิปัตย์ (autocrat), จอมเผด็จอำนาจ (despot), จอมเผด็จการ (dictator) และ ทรราช (tyrant) ต่างกันตรงไหนอย่างไร?

แล้ว คณาธิปัตย์ (oligarch) มีอำนาจมากกว่า เศรษฐยาธิปัตย์ (plutocrat) หรือไฉน?

ศัพท์แสงหลักต่างๆ ที่ใช้เรียกผู้ปกครองและ/หรือการปกครองแบบอำนาจนิยมข้างต้นเหล่านี้บัญญัติขึ้นในภาษาละตินและกรีก แต่ใช่ว่ามันจะตกทอดมาแต่ยุคโบราณของตะวันตกทั้งหมดไม่ และในกรณีที่มันตกทอดมา ก็พบว่านิยามความหมายของมันบางทีก็เปลี่ยนไปอย่างลึกซึ้งในวิถีประวัติศาสตร์

ผมขอเรียบเรียงเล่าสู่กันฟังไปตามลำดับดังนี้:-

อัตตาธิปัตย์ปีเตอร์มหาราชแห่งรัสเซีย, จอมเผด็จอำนาจแทเมอเลนผู้พิชิตจักรวรรดิเอเชียกลาง, จอมเผด็จการจูเลียส ซีซาร์ แห่งสาธารณรัฐโรมัน

อัตตาธิปัตย์ (จากคำศัพท์กรีกว่า autocrat?s) : ในสมัยตะวันตกโบราณ ไม่มีศัพท์ตัวนี้ในรูปที่เป็นคำนาม

แต่มันถูกดึงมาจากคำวิเศษณ์ว่า autocrat?s หมายถึงคุณสมบัติของผู้มีอำนาจเหนือตัวเองและมีอำนาจโดยตัวเองด้วย

เราพบเห็นคำนี้ในภาษาฝรั่งเศสนับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เพื่อบ่งบอกถึงผู้เป็นนายโดยสิทธิ์ขาดสัมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียในสมัญญาว่า “อัตตาธิปัตย์แห่งดินแดนรัสเซียทั้งปวง”

เมื่อขยายความโดยนัยออกไป อัตตาธิปัตย์ก็หมายถึงบุคคลผู้ได้อำนาจของตนมาจากลำพังตัวเองเท่านั้นนั่นเอง

เช่น อัตตาธิปัตย์ปีเตอร์มหาราชแห่งรัสเซีย (ค.ศ.1672-1725, https://theartssociety.org/arts-news-features/peter-great-and-his-radical-reforms) เป็นต้น

ทรราชลูเชียส คอร์นีเลียส โซลา แห่งสาธารณรัฐโรมัน & ทรราชพิซิสเทรทุสแห่งกรุงเอเธนส์

จอมเผด็จอำนาจ (จากคำศัพท์กรีกว่า despot?s) : หมายถึงเจ้าบ้าน

นับแต่ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาลเป็นต้นมา คำนี้ยังหมายถึงเจ้าเมืองได้ด้วย

มันเป็นคำที่ทาสใช้เรียกขานนายของตน แต่ก็เป็นคำที่บรรดานักประวัติศาสตร์และนักปราชญ์ตะวันตกสมัยโบราณใช้เรียกหาองค์อธิปัตย์สัมบูรณาญาสิทธิ์ในตัวแบบโลกตะวันออกด้วย

เช่น จอมเผด็จอำนาจแทเมอเลนผู้พิชิตจักรวรรดิเอเชียกลาง (ค.ศ.1336-1405, https://www.lrb.co.uk/the-paper/v27/n10/robert-irwin/quite-a-gentleman) เป็นต้น

 

จอมเผด็จการ (จากคำศัพท์ละตินว่า dictator) : หมายถึงเจ้าหน้าที่ทางการของสาธารณรัฐโรมันผู้ได้รับแต่งตั้งโดยคณะกงสุล (ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของสาธารณรัฐโรมัน) ตามคำแนะนำของสภาซีเนต (หรือวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง สมาชิกส่วนใหญ่เป็นขุนนางและต่อมามีสามัญชนเข้าร่วมบ้าง) เพื่อรับมือเหตุฉุกเฉินเฉพาะหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพิธีกรรม (เป็นประธานดำเนินพิธีการหนึ่งๆ) เรื่องการเมือง (ทำให้ความปั่นป่วนวุ่นวายภายในสงบลง) หรือเรื่องการทหาร (รบพุ่งกับศัตรู)

จอมเผด็จการรวมศูนย์อำนาจทั้งหมดไว้กับตัวเองเหนือเจ้าหน้าที่ทั้งปวงของสาธารณรัฐโรมันรวมทั้งคณะกงสุลด้วย

อย่างไรก็ตาม อำนาจของจอมเผด็จการในสาธารณรัฐโรมันยังถูกกำกับควบคุมอยู่ และตัวจอมเผด็จการก็ต้องพร้อมรับผิดด้วย กล่าวคือ สภาซีเนตยังมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลจอมเผด็จการอยู่บ้าง คณะผู้พิทักษ์สิทธิของสามัญชนก็มีสิทธิวีโต้การกระทำของจอมเผด็จการ และประชาชนทั่วไปก็ยังคงมีสิทธิอุทธรณ์การกระทำดังกล่าว

ที่สำคัญมีข้อกำหนดให้การรับมอบอำนาจของจอมเผด็จการนั้นมิอาจเกินเลยเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติภารกิจซึ่งตนได้รับแต่งตั้งให้มาจัดการรับมือ และไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็จะต้องไม่นานเกินหกเดือน ทั้งนี้ เพื่อชี้นำกำกับการใช้อำนาจของจอมเผด็จการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับมอบหมายอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ จอมเผด็จการก็ยังอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้หลังวาระการครองตำแหน่งจอมเผด็จการของตนสิ้นสุดลง

เช่น จอมเผด็จการจูเลียส ซีซาร์ แห่งสาธารณรัฐโรมัน (100-44 ก่อนคริสตกาล, https://www.bbc.co.uk/history/historic_figures/caesar_julius.shtml) เป็นต้น

 

ในสมัยตะวันตกโบราณนั้น ทรราช (tyrant) แตกต่างจาก จอมเผด็จการ (dictator) แนวคิดเรื่อง ระบอบทรราช (tyrannie) มาจากการวินิจฉัยประเมินคุณค่าการใช้อำนาจเด็ดขาดของจอมเผด็จการไปในทางลบ ขณะที่คำว่า ระบอบเผด็จการ (dictature) โดยตัวมันเองหมายถึงแค่สถาบันการปกครองที่มีจอมเผด็จการกุมอำนาจรวมศูนย์เด็ดขาดสูงสุด

เช่น ทรราชลูเชียส คอร์นีเลียส โซลา แห่งสาธารณรัฐโรมัน (138-78 ก่อนคริสตกาล, https://www.worldhistory.org/sulla/) ผู้ใช้อำนาจเด็ดขาดในมือฆ่าฟันพวกที่เขาเห็นว่าเป็นศัตรูทั้งภายนอกและภายในสาธารณรัฐโรมันเองจำนวนนับไม่ถ้วนอย่างไร้ขีดจำกัดจนเลือดเนืองนองศพเต็มเมือง และนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกและโรมันเองเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นทรราช (https://academic.oup.com/edinburgh-scholarship-online/book/19252/chapter-abstract/177761312?redirectedFrom=fulltext˚)

ในแง่ประวัติคำ ทรราช (มาจากคำศัพท์กรีกว่า turannos) หมายถึงผู้เป็นใหญ่ทางการเมืองในนครรัฐกรีกซึ่งอาศัยการสนับสนุนจากประชาชนเข้ายึดอำนาจและสถาปนาอำนาจหน้าที่ส่วนตัวขึ้นมา

การผงาดขึ้นมาของทรราชจึงท้าทายฐานะอำนาจของพวกคณาธิปัตย์เดิมซึ่งอิงอาศัยบรรดาตระกูลใหญ่ทั้งหลาย

ระบอบทรราชเริ่มปรากฏขึ้นราวศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาลในดินแดนกรีก ทรราชผู้ขึ้นชื่อลือชาที่สุดในวงวรรณกรรมได้แก่ เอดิพัส ผู้ยึดอำนาจในนครธีบส์หลังกระทำปิตุฆาตปลงพระชนม์กษัตริย์เลออสพระราชบิดาของตนโดยไม่รู้ว่าเป็นใคร อันเป็นที่มาของชื่อละครโศกนาฏกรรมแต่งโดยโซโฟคลีส (นักแต่งละครโศกนาฏกรรมชาวกรีกโบราณลือชื่อ, 497/496-406/405 ก่อนคริสตกาล) เรื่อง ทรราชเอดิพัส หรือที่มักแปลกันว่า กษัตริย์เอดิพัส (Oedipus Tyrannos หรือ Oedipus Rex ดูคำแปลบทละครเรื่องนี้พากย์อังกฤษที่ https://www.gutenberg.org/files/27673/27673-h/27673-h.htm)

คำว่าทรราชเริ่มมีนัยเชิงลบในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานของเพลโต (นักปรัชญากรีกโบราณแห่งกรุงเอเธนส์, 428/427 หรือ 424/423 – 348 ก่อนคริสตกาล, ผู้เปรียบเปรยความคิดจิตใจของทรราชว่าละม้ายเหมือนหมาป่าในนครรัฐ ดู https://ndpr.nd.edu/reviews/a-wolf-in-the-city-tyranny-and-the-tyrant-in-platos-republic/) และลงเอยโดยที่ทรราช (tyrant) กลายเป็นคำพ้องกันกับเจ้าผู้เลวร้าย

ระบอบทรราชอันยิ่งใหญ่ของเอเธนส์ได้แก่การปกครองของ ทรราชพิซิสเทรทุส ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ 560 ปีก่อนคริสตกาล (https://fr.vikidia.org/wiki/Pisistrate) ระบอบดังกล่าวได้ทิ้งอนุสรณ์ที่แตกต่างตัดกันไว้ในความคิดจิตใจของชาวเอเธนส์ ทั้งนี้เพราะถึงแม้ทรราชพิซิสเทรทุสจะอาศัยแรงสนับสนุนของประชาชนชาวเอเธนส์เพื่อเข้ายึดอำนาจ และวางตนเป็นผู้พิทักษ์คนยากไร้ แต่ทว่าก็เพราะความเลวร้ายของระบอบทรราชเยี่ยงนี้เองที่ปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยไว้ในความคิดจิตใจชาวเอเธนส์เพื่อต่อต้านมัน

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)