จากทะเลแดง ถึงไต้หวัน | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

วันเสาร์ที่ 13 มกราคม เป็นอีกวันที่ต้องติดตามข่าวต่างประเทศอย่างใจจดใจจ่อ แม้วันนี้เป็น “วันเด็ก” ในสังคมไทย เช้านี้หลายครอบครัวเตรียมพาลูกๆ ไปเท่ียวงานวันเด็ก แต่ต้องไม่ลืมว่า วันนี้เป็นวันที่ 99 ของสงครามกาซ่า การโจมตีทางอากาศอย่างหนักของอิสราเอลยังคงดำเนินต่อไป

ขณะเดียวกันในวันที่ 13 นี้ ปัญหาที่ทะเลแดงเริ่มทำท่าขยายตัว พร้อมกับการโจมตีทางอากาศครั้งที่ 2 ของสหรัฐต่อเป้าหมายของกลุ่มฮูติในเยเมน ซึ่งเกิดในช่วงเช้าของวันเสาร์นี้ และในเสาร์นี้เช่นเดียวกัน การเลือกตั้งเกิดขึ้นในไต้หวัน

สถานการณ์การรบจากทะเลแดง ถึงผลของการเลือกตั้งไต้หวันนั้น คาดได้เลยว่า จะมีผลกระทบกับการเมืองระหว่างประเทศในระดับโลก และในระดับภูมิภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ในบริบทของปัญหาความมั่นคงในทะเลแดงนั้น คาดเดาได้ไม่ยากว่าหลังจากการถูกโจมตีแล้ว กลุ่มฮูติจะเปิดการเคลื่อนไหวใหญ่ด้วยการชุมนุมต่อต้านอเมริกัน ด้วยการระดมมวลชนจำนวนมาก พร้อมกับตะโกนว่า “อเมริกาจงพินาศ อิสราเอลจงพินาศ” (หรือในภาษาอังกฤษคือ “death to America, death to Israel”) ไม่ใช่อะไรที่เกินความคาดหมายแต่อย่างใด

เช่นเดียวกับที่เราคาดเดาได้ไม่ยากตั้งแต่ต้นว่า จากการเปิดการโจมตีเรือขนส่งพาณิชย์ในทะเลแดงของกลุ่มฮูตินั้น เป็นดังการ “ยั่วให้โกรธ” และจะเสมือนเป็นการบังคับให้สหรัฐต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อเป้าหมายทางบกของกลุ่มอย่างแน่นอน เพราะการตรวจจับและระบุพิกัดจุดยิงจรวด และจุดปล่อยโดรนโจมตีนั้น ไม่ใช่เรื่องยากที่จะติดตามแต่อย่างใด

ในที่สุด การโจมตีทางอากาศระลอกแรกของกองกำลังอังกฤษ-อเมริกัน ก็เกิดขึ้นในวันที่ 12 ที่ผ่านมา ว่าที่จริงแล้ว หลายฝ่ายก็คาดคะเนว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น เพราะการโจมตีเรือสินค้าพลเรือนในทะเลแดงเริ่มหนักขึ้น และไม่ใช่เพียงการโจมตีด้วยโดรนเท่านั้น หากแต่ยังยกระดับการโจมตีด้วย “ขีปนาวุธระยะใกล้” ดังปรากฏในรายงานของวันศุกร์ช่วงบ่ายที่ผ่านมาว่า เรือสินค้าที่มีพิกัดห่างจากเอเดน 90 ไมล์ทะเลทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธแบบนี้ จรวดตกห่างจากเรือในระยะเพียง 400-500 เมตรเท่านั้น แต่โชคดีที่เรือไม่เสียหาย และไม่มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตในกรณีนี้

แล้วการโจมตีทางอากาศระลอก 2 ก็เริ่มขึ้นอีกในเช้าวันเสาร์ … รายงานสถานการณ์ในทะเลแดงของสื่อระหว่างประเทศดูจะทำให้เสาร์นี้ เป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ต้องคอยตามข่าว เพราะในด้านหนึ่งปัญหาความมั่นคงในทะเลแดงจะถูกผูกโยงเข้ากับปัญหาสงครามกาซาหรือไม่ และปัญหาทะเลแดงจะเป็นปัจจัยต่อการขยายบทบาทของอิหร่านในความขัดแย้งนี้เพียงใด ในอีกด้านหนึ่ง ปัญหานี้จะทำให้สงครามกลางเมืองในเยเมนที่สงบมา 9 ปีแล้ว จะถูกปลุกคืนชีพขึ้นมาใหม่อีกหรือไม่?

ในอีกฟากฝั่งของโลก เช้าของวันเสาร์ที่ 13 นี้ สื่อระหว่างประเทศทุกช่องเตรียมรายงานถึงการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในไต้หวัน การเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้บ่ายวันเสาร์เป็นเวลาที่ต้องเริ่มติดตามเรื่องไต้หวัน แม้จะไม่มี “exit polls” ให้เห็น เพราะกฎหมายไต้หวันไม่อนุญาตให้ทำ

ในบริบทของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจใหญ่ การเลือกตั้งไต้หวันครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของชาวไต้หวันเท่านั้นแล้ว หากแต่เป็นหนึ่งใน “การเลือกตั้งของการเมืองโลก” สำหรับปี 2567 ด้วย เนื่องจากผลการเลือกตั้ง จะมีนัยสำคัญที่ไม่ใช่เพียงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนเท่านั้น หากยังจะส่งผลอย่างมากต่อปัญหาความมั่นคงในช่องแคบไต้หวันและการเมืองโลก เพราะ “พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า” (DPP) ซึ่งเป็นรัฐบาลมาแล้ว 2 สมัยนั้น เป็นพรรคที่รัฐบาลปักกิ่งตราหน้าว่าเป็น “พรรคกบฏแบ่งแยกดินแดน” และผู้นำอย่างไล่ชิงเต๋อถูกปักกิ่งเรียกว่าเป็น “ตัวยุ่ง” เพราะมีท่าทีในแบบ “ไม่ประนีประนอม” ต่อการใช้อำนาจของจีน

ในช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันเสาร์ที่ 13 รายงานของสื่อเริ่มส่งสัญญาณว่า “พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า” นำด้วยคะแนนเสียงราวร้อยละ 40 และพอตกเย็น สื่อเริ่มรายงานถึงชัยชนะของพรรคนี้ และเป็นชัยชนะที่พรรคสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นเทอมที่ 3 ต่อเนื่องอย่างไม่น่าเชื่อ ส่วน “พรรคก๊กมินตั๋ง” (KMT) มาเป็นลำดับที่ 2 และ “พรรคประชาชนไต้หวัน” (TPP) มาเป็นลำดับที่ 3 ซึ่งการเป็นรัฐบาลในรอบที่ 3 ของพรรครัฐบาลในครั้งนี้ ย่อมทำให้ปักกิ่งจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อไต้หวันมากขึ้นในอนาคต และผลการเลือกตั้งทำให้เกิดคำถามทันทีว่า ปัญหา “วิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวัน” ดังที่เราเคยเห็นมาแล้วในตอนกลางปี 2565 จะเกิดในเร็วๆ นี้อีกหรือไม่

อย่างน้อยเราคงต้องยอมรับว่า ชัยชนะของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของไต้หวันนั้น สะท้อนถึงชัยชนะของอารมณ์ความรู้สึกของชาวไต้หวันอย่างมาก ที่ไม่ตอบรับกับข้อเสนอในการ “รวมชาติ” ตามที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเสนอ ชาวไต้หวันส่วนนี้เห็นถึงความสำคัญของประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ หรือในอีกมุมหนึ่ง พวกเขาไม่ต้องการเดินไปสู่การเป็น “ฮ่องกงที่ 2” ที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของจีน ไม่ใช่ฮ่องกงตามคำสัญญาของจีนที่จะเป็น “หนึ่งประเทศ สองระบบ” อีกทั้ง การกระชับมาตรการด้านความมั่นคงในการควบคุมฮ่องกง ไม่เป็นภาพที่ชวนให้ชาวไต้หวันมาอยู่ร่วมกับจีนแต่อย่างใด

คำกล่าวของไล่ชิงเต๋อ ประธานาธิบดีคนใหม่ของใหม่ ที่ว่า ผลการเลือกตั้งนี้คือ “ชัยชนะของประชาคมประชาธิปไตย” ทั่วโลก และการลงเสียงของชาวไต้หวันประสบความสำเร็จในการขัดขวางการแทรกแซงจาก “ภายนอก” (น่าจะหมายถึงการแทรกแซงของจีน) … แน่นอนว่า คำกล่าวเช่นนี้เป็นสิ่งที่เสียดแทงใจผู้นำจีนแผ่นดินใหญ่อย่างยิ่ง และเท่ากับสะท้อนว่าจีน “แพ้เลือกตั้ง” ที่ไต้หวัน เนื่องจากพรรคที่จีนอยากให้ชนะนั้น แพ้ทั้ง 2 พรรค ซึ่งน่าสนใจว่ารัฐบาลปักกิ่งจะ “เล่นเกม” อย่างไรกับรัฐบาลใหม่ของไต้หวัน

บทความนี้เขียนจบในวันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม ซึ่งเป็นวาระครบรอบ “100 วัน” ของสงครามกาซา และอีกไม่นานในเดือนกุมภาพันธ์ สงครามยูเครนจะครบ 2 ปีเต็ม และเดินสู่ปีที่ 3 ขณะที่ปัญหาความมั่นคงในทะเลแดง และทะเลไต้หวัน ดูจะเริ่ม “ร้อน” มากขึ้น ไม่ต่างจากปัญหาสงครามกลางเมืองในเมียนมา ที่ “ร้อน” ไม่หยุด ซึ่งสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ เกิดในช่วงแค่ครึ่งเดือนแรกของปีใหม่เท่านั้นเอง

ดังนั้น ทั้งหมดนี้บอกแก่เราอย่างเดียวว่า 2567 ไม่ใช่ “ปีมังกรทอง” แต่เป็น “ปีมังกรไฟ” ที่รัฐบาลไทยจะต้องคิดและใส่ใจกับประเด็นปัญหาในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น จะพาไทยหนีออกไปจาก “จอเรดาร์” ของการเมืองโลกในแบบรัฐบาลชุดก่อนไม่ได้แล้ว … ใครก็ได้ช่วยปลุกรัฐบาลกรุงเทพฯ ให้ตื่นหน่อยเถอะครับ !