ลายอย่าง – ลายนอกอย่าง (1)

ญาดา อารัมภีร

‘ลายอย่าง’ และ ‘ลายนอกอย่าง’ หมายถึง ผ้าที่นิยมใช้กันมากสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้ง 2 คำนี้มีอยู่ทั่วไปในวรรณคดีสมัยเดียวกัน เช่น อิเหนา สังข์ทอง ลักษณวงศ์ พระอภัยมณี และนิราศเดือน ฯลฯ

ในบทละครรำเรื่อง “อิเหนา” ตอนที่ท้าวหมันหยากับท้าวประมอตันทูลลากลับเมือง สี่กษัตริย์วงศ์อสัญแดหวาได้มอบแพรผ้าภูษาทรงมากมายตอบแทนน้ำใจที่ ‘มาช่วยการวิวาห์ครั้งนี้ จงกลับไปบุรีอย่ามีภัย’

“ชาวคลังข้างในขนมากอง ผ้ายกครุยกรองของดีดี

ลายวิลาศชาติสุหรัดจัดออกมา มีทั้งผ้าลายอย่างต่างสี

ขนมามากมายหลายกุลี ทั้งแพรสีต่างต่างอย่างเมืองบน”

อาจารย์ศุภร บุนนาค อธิบายคำว่า ‘ลายอย่าง’ ไว้ในหนังสือ “สมบัติกวี ชุดอิเหนา” ว่า

“ผ้าลายอย่างต่างสีนั้น คำว่า ‘ลายอย่าง’ เป็นคำติดกันไม่ใช่ว่า ผ้าลายอย่างต่างสี ‘อย่าง’ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ชนิด แต่หมายความตัวอย่างหรือตามตัวอย่าง คือ ผ้าชนิดที่มีลวดลายสีสันตามแบบตัวอย่างที่เขียนขึ้นในเมืองไทยแล้วส่งออกไปทำในอินเดีย นับเป็นผ้าที่มีราคาเพราะทั้งดอกทั้งเนื้อและสีสันงามพร้อมได้ลักษณะ บางผืนงามราวกับผ้ายก แม้จะเก่าแสนเก่า ความงามก็ยังเด่นเห็นได้ชัด”

คนที่นุ่งผ้าลายอย่างนอกจากเป็นชนชั้นสูง ยังมั่งมีเงินทองเพราะผ้ามีราคาแพง ดังที่วรรณคดีเรื่อง “อิเหนา” บรรยายถึงการแต่งกายของโอรสกษัตริย์เมืองใหญ่ เช่น อิเหนา สุหรานากง กะหรัดตะปาตี และโอรสระตู (เจ้าเมืองน้อย) อาทิ สังคามาระตา รวมทั้งระตูจรกา และล่าสำ

“ต่างองค์ชำระสระสนาน สุคนธารปนทองผ่องใส

หอมหวนอวลอบตระหลบไป สอดใส่สนับเพลาเชิงงอน

ภูษาทรงลายอย่างต่างสีกัน น้ำเงินตองท้องพันม่วงอ่อน”

 

เนื่องจากเป็นผ้ามีระดับ บอกฐานะของผู้สวมใส่ ผู้หญิงบางคนจึงอยากใช้การแต่งงานเลื่อนฐานะทางสังคมของตนเอง ดังที่ “นิราศเดือน” บรรยายว่า

“ลางสตรีปรารถนาหาขุนนาง

มีเงินทองบ่าวไพร่เครื่องใช้สอย จะนั่งลอยนวลสบายนุ่งลายอย่าง

เมื่อตัวเองไม่มีผ้าลายอย่าง แต่อยากนุ่งให้ดูดีมีสง่าราศีก็ต้องไปขอยืมคนที่มี ซึ่งเขาไม่ได้ให้ฟรีๆ มีข้อแลกเปลี่ยน ดังที่นิทานคำกลอนเรื่อง “ลักษณวงศ์” เล่าถึง ‘นางสนมแต่งตัวตามเสด็จ ไม่ทันเสร็จสรรพวิ่งอยู่สลอน’ ว่า

“บ้างไปยืมลายอย่างของนางเพื่อน ถ้าถ้วนเดือนจึ่งจะคิดค่าเช่าให้”

ผ้าชนิดนี้มีขาย มีเงินมากพอก็ซื้อได้ ก่อนนายพรานจะพาพราหมณ์เกสรถวายตัว เดินผ่านตลาดท้ายสนม ดังที่วรรณคดีเรื่องเดียวกันเล่าว่า

“ทั้งสองนายมาถึงท้ายสนม ชวนกันชมสินค้าตามหน้าถัง

มีร้านรายขายผ้าจนหน้าวัง เจ้าแขกนั่งอยู่กับเมียฝีปากบาง

เห็นเจ้าพราหมณ์ร้องเรียกออกเพรียกแซ่ มาดูแพรข้าขายลายสล้าง

ถึงไม่ซื้อก็มานั่งกินหมากพลาง ผ้าลายอย่างถ้าเจ้านุ่งก็สมตัว”

 

ผู้ที่เคยมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับ ‘ผ้าลายอย่าง’ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดังที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงถ่ายทอดพระดำรัสชี้แจงถึงผ้าเมืองสุหรัดไว้ในหนังสือ “บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ” เล่ม 1 ว่า

“เมื่อหม่อมฉันไปอินเดียใน พ.ศ.๒๔๓๔ รัฐบาลกะโปรแกรมให้หม่อมฉันไปเมืองสุหรัดด้วย เพราะเขาว่าเปนที่ทำผ้าลายส่งมาเมืองไทยปีละหลายล้านรูปีย์ ไปดูไม่เห็นมีโรงจักรกลอันใด ทำตามบ้านราษฎร และผู้หญิงกับเด็กๆ ทำแทบทั้งนั้น ใช้ผ้าขาวซึ่งสั่งมาแต่ประเทศอังกฤษ เอามาตัดให้ได้ขนาด ซักน้ำให้หมดแป้ง หรือให้เนื้อแน่นก่อน แล้ววางขึงบนพื้นเรือน เอาหมึกทาแผ่นไม้แม่ลายขนาดสักเท่าฝ่ามือ พิมพ์ลงกับผืนผ้าต่อๆ ไปจนเต็มผืน แล้วจึงเอาไปย้อมเปนสี ถ้าจะให้มีดอกเปนสีอื่นก็แต้มเมื่อย้อมแล้ว เมื่อเสร็จกระบวรพิมพ์ เอาเบี้ยขัดชักเงา การเหล่านี้ทำด้วยมือตามบ้านราษฎรทั้งนั้น พ่อค้าเปนแต่ซื้อผ้าขาวมาจ่ายและรับผ้าลายไปตีตรามัดเข้ากุลีส่งมาขาย เรื่องผ้าลายดูจะถือเปนหลักได้ว่า (ก) ทำส่งมาจากอินเดียตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ (ข) เรียกชื่อตามเมืองที่ทำ คำที่เรียกว่า ‘ผ้าลายอย่าง หมายความว่า ไทยให้ลายไปทำ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ศาสตราจารย์วิบูลย์ ลี้สุวรรณ ได้สรุปพระดำรัสข้างต้นโดยย่อไว้ใน “พจนานุกรมผ้าและเครื่องถักทอ” ดังนี้

“ลายอย่าง คือ ลายที่ช่างไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์ออกแบบแล้วส่งไปให้ช่างทอผ้าในประเทศอินเดียพิมพ์ลงบนผ้า เพื่อนำเข้ามาใช้ในราชสำนักสยามโดยใช้ผ้าขาวที่ซักจนหมดแป้งแล้ววางขึงให้ตึง ใช้หมึกทาบนแม่พิมพ์กดลงบนผ้าต่อๆ กันไปจนเต็มผืนแล้วย้อมสี หากต้องการให้มีสีอื่นๆ ก็แต้มลงไปหลังจากย้อมแล้ว จากนั้นใช้เบี้ยขัดชักเงาให้เป็นมัน”

ฉบับนี้ ‘ลายอย่าง’ ฉบับหน้า ‘ลายนอกอย่าง’ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร