2567 การเมืองจะเข้มขึ้น

เท่าที่สดับตรับฟัง มีความเชื่อกันว่าการเมืองในปีนี้ 2567 จะแรง หรืออย่างน้อยเข้มข้นขึ้นในมุมของการเรียกร้องและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

ประเมินกันว่าเหตุการณ์ที่การแสดงออกทางการเมืองไม่คึกคักในปีนี้ผ่าน เหตุใหญ่อยู่กับอาการเซ็งจากที่ “ประชาชน” ตัดสินใจเลือกแล้วที่จะเปลี่ยนขั้วอำนาจ แต่ที่สุดก้าวข้ามระบบและกลไกที่ดีไซน์ไว้ไม่ไหว “อำนาจประชาชน” พ่ายแพ้ต่อระบบที่ออกแบบไว้อย่างเข้มแข็ง ด้วยเงื่อนไขบางประการที่ทำให้ “พรรคเพื่อไทย” เลือกที่จะเล่นบทไม่แตกหัก

และเมื่อ “เพื่อไทย” เล่นบทนั้นโดยพยายามจะเสนอแนวคิดให้เห็นความจำเป็นของ “การค่อยเป็นค่อยไป” เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะมีส่วนในอำนาจได้บ้าง ไม่เป็นการหักด้ามพร้าด้วยเข่าที่รังแต่ละเจ็บ ด้วยมองไม่เห็นหนทางที่จะหักด่านระบบและกลไกที่ออกแบบและสถาปนาไว้ในโครงสร้างที่สืบทอดอำนาจมา 9 ปี

การให้เวลาเพื่อไทยพิสูจน์ว่าสามารถทำงานได้ภายใต้แนวคิดนั้น จึงทำให้การกดดันอยู่ในความสงบ

เมื่อกอปรกับความสมใจของนักการเมือง และมวลชนฟาก “อำนาจนิยม” ที่ได้เห็นอาการระเนนระนาดถอยร่นไม่เป็นขบวนของพรรคการเมืองฟากประชาชน

และ “พรรคก้าวไกล” ที่ถูกบีบหนักแม้กระทั่งต้อง “จำนนอยู่ในบทพรรคฝ่ายค้าน” ยังไม่วายถูกกดอัดให้อยู่ในสภาพร่อแร่ คาดเดาไม่ได้ว่าจะรอดหรือไม่

ทำให้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ในสภาพนิ่ง อยู่ในเสียงถอนหายใจ มากกว่าที่จะแสดงออก

นั่นเป็นเรื่องที่ผ่านมา แต่สำหรับปีนี้ อย่างที่บอกคือ มีความเชื่อกันว่าจะไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว

 

ผลสำรวจ “นิด้าโพล” ล่าสุดเรื่อง “เหนื่อยหน่ายกับอะไรบ้างในปี 2566”

ในคำถาม “มีความสุขหรือไม่ในปี 2566 ที่ผ่านมา” ร้อยละ 42.75 ค่อนข้างมีความสุข เพราะได้อยู่ร่วมกันกับคนในครอบครัว มีงานทำ ไม่มีโรค และไม่มีหนี้สิน

รองลงมา ร้อยละ 27.86 ไม่ค่อยมีความสุข เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ข้าวของราคาแพง ค่าครองชีพสูง รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และเบื่อความวุ่นวายทางการเมือง

ร้อยละ 18.63 ระบุว่า มีความสุขมาก เพราะมีงานทำ สุขภาพแข็งแรง ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากลูกหลานและคนในครอบครัว ขณะที่บางส่วนระบุว่า เศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองดีขึ้น

ร้อยละ 10.69 ไม่มีความสุขเลย เพราะเศรษฐกิจไม่ดี รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ไม่มีงานทำ มีหนี้สินเพิ่มขึ้น ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ข้าวของราคาแพง ค่าครองชีพสูง ขณะที่บางส่วนระบุว่า มีปัญหาสุขภาพ

และร้อยละ 0.07 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

และเมื่อถามถึง “สิ่งที่เหนื่อยหน่าย ในปี 2566 ที่ผ่านมา” ร้อยละ 58.63 ปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อรายได้และชีวิตความเป็นอยู่

รองลงมา ร้อยละ 25.42 ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองทั้งในและนอกสภา

ร้อยละ 23.13 ปัญหาภัยไซเบอร์ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การแฮ็กข้อมูล เป็นต้น

ร้อยละ 20.76 ปัญหาราคาพลังงาน, ร้อยละ 20.23 ปัญหาสุขภาพ โรคระบาด, ร้อยละ 19.54 ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด, ร้อยละ 16.03 ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร, ร้อยละ 13.89 ปัญหาอาชญากรรม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน, ร้อยละ 11.91 ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยทางธรรมชาติ, ร้อยละ 10.61 ปัญหาความขัดแย้งในสังคม, ร้อยละ 9.85 ไม่เหนื่อยหน่ายกับอะไรเลย, ร้อยละ 9.62 ปัญหาการคอร์รัปชั่นในทุกระดับ, ร้อยละ 7.56 ปัญหาการจราจร, ร้อยละ 5.65 ปัญหากระบวนการยุติธรรม, ร้อยละ 5.19 ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมในระบบราชการ, ร้อยละ 4.58 ปัญหาสงคราม ความขัดแย้งในต่างประเทศ

และร้อยละ 0.92 ระบุอื่นๆ ได้แก่ ปัญหาการทำงาน ปัญหาครอบครัว และปัญหาความรัก

 

จากผลสำรวจนี้จะเห็นได้ว่า ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนนั้น ความสุขอยู่ที่การจัดการตัวเองให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ขณะที่ความทุกข์และความน่าเหนื่อยหน่ายอยู่ที่การบริหารจัดการของผู้ต้องรับผิดชอบควบคุมอำนาจรัฐ

ความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้ ไปในทางเดียวกับที่นักวิเคราะห์ทั้งหลายประเมินว่า “พรรคก้าวไกล” ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน ถึงเวลาต้องทำงานตรวจสอบ และกระตุ้นให้รัฐบาลเห็นปัญหาของประชาชน ด้วย “ก้าวไกล” ไม่มีหนทางอื่นที่จะทำให้ยืนอยู่บนเวทีการเมืองได้ นอกเสียจากการทำงานให้ประชาชนยอมรับ

และต้องเป็นการยอมรับในอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ยึดถือการสร้างความสุขระยะยาวให้ประชาชนเป็นวิธีการ ไม่ใช่การสร้างระบบอุปถัมภ์ขึ้นมาครอบด้วยบุญคุณ หรือการซื้อคะแนนในช่วงหาเสียง

เชื่อกันว่าการสร้างความเชื่อมั่นในศรัทธาประชาชน จะทำให้ “ก้าวไกล” จำเป็นต้องลงมือ ลงแรงทำให้การตรวจสอบทางการเมืองเข้มขึ้นในปีหน้า