‘ซินโครตรอน’-ตำรวจ พฐ. โมเดลการสืบสวนอนาคต เส้นผมไม้ตายปิดเกมลุงพล

งเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน

ในที่สุด เส้นผม คือ หมัดเด็ดน็อกลุงพล นายไชย์พล วิภา จากคดีของน้องชมพู่ เด็กหญิงวัย 3 ขวบที่เสียชีวิตปริศนา ไปพบบนภูเหล็กไฟ เมื่อ 14 พฤษภาคม 2563 ได้สำเร็จ

พยานหลักฐานเรื่องนี้ไม่เคยเปิดที่ใดมาก่อนตลอด 3 ปีกว่า เพิ่งรู้กันในศาลพิพากษาเมื่อ 20 ธันวาคม 2566

ถือเป็นไม้ตายปิดเกมลุงพล จำคุก 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 317 วรรคแรก ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 10 ปี และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร จำคุก 10 ปี

คำพิพากษาที่เป็นไฮไลต์ ภายหลังเจ้าพนักงานตำรวจตั้งข้อสงสัยลุงพลน่าจะเป็นคนร้าย เนื่องจากเชื่อว่าคนที่พาน้องชมพู่ไป ต้องเป็นญาติหรือบุคคลใกล้ชิดในหมู่บ้านที่รู้จักกันดี เนื่องจากผู้ตายจะร้องไห้หากถูกคนแปลกหน้าอุ้ม

ตำรวจสืบสวนวางกรอบกลุ่มบุคคลดังกล่าว 14 คนที่เข้าถึงน้องชมพู่ได้ แบ่งเป็นญาติ 12 คน และบุคคลใกล้ชิด 2 คน

พบว่า 13 คน มีหลักฐานยืนยันตำแหน่งอ้างอิงจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ชัดเจน

ยกเว้นลุงพลไม่สามารถยืนยันหลักฐานที่อยู่ได้แน่ชัดในเวลาที่ผู้ตายหายตัวไป จึงนำมาสู่การค้นรถต้องสงสัย ซึ่งมีการค้นกันหลายคัน

โดยลุงพลเป็นหนึ่งในนั้นด้วย

 

ผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ประกอบกับคำเบิกความของพยานผู้เชี่ยวชาญปรากฏว่าเส้นผม 1 เส้นที่ตกอยู่ในรถยนต์จำเลยที่ 1 มีลักษณะรอยตัดจากภาพถ่ายด้านข้างเหมือนกัน ภาพตัดขวางไปในทิศทางเดียวกัน และมุมการตัดใกล้เคียงกัน คือน่าจะไม่เกิน 3 องศาตรงกับเส้นผมผู้ตาย 2 เส้น ซึ่งตรวจเก็บได้จากบริเวณที่พบศพ

เส้นผมทั้ง 3 เส้นถูกตัดในคราวเดียวกันด้วยวัตถุของแข็งมีคมชนิดเดียวกัน เชื่อว่าลุงพลเป็นผู้ใช้ของแข็งมีคมตัดเส้นผมผู้ตาย

แต่ด้วยเหตุที่เส้นผมมีขนาดเล็กมาก ไม่สังเกตว่ามีเส้นผมผู้ตายเส้นหนึ่งตกอยู่ในรถยนต์ของตนด้วย

จึงเป็นหลักฐานมัดลุงพล

 

เบื้องหลังจนมาสู่คำพิพากษานั้น ทีมทำงานฝีมือดีที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ขณะเป็นรอง ผบ.ตร.ได้ระดมมาทำคดีนี้ นำ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.ณัฐนนท์ ประชุม รอง ผบช.ภ.4 พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร ผบก.พฐ. พล.ต.ต.ชัชชัย วงค์สุนะ ผบก.ภ.จว.มุกดาหาร พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม รอง ผบก.ป.บช.ก. พ.ต.ท.พูนสุข เตชะประเสริฐพร รอง ผกก.สส.1 บก.สส.ภ.1 (ยศและตำแหน่งปัจจุบัน) รวมทั้งทีมงานสถาบันนิติเวช และสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน (สพฐ.)

ปรากฏว่า พล.ต.ต.ธีรเดช อยู่ในทีมนี้ด้วยได้เล่าให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ฟังถึงเครื่องมือเรียกว่า “ซินโครตรอน” ที่ศาสตราจารย์ญี่ปุ่นเคยรู้จักให้ความรู้ไว้

ต่อมาทราบว่า กลุ่มบริษัทซอร์เทค ประเทศญี่ปุ่น บริจาคเครื่องซินโครตอน ราคาประมาณ 8,000 ล้านบาทมาให้อยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เริ่มใช้ปี 2541

จึงได้ส่งเส้นผมขยายด้วยเครื่องมือนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้วัตถุพยานหลักฐานถูกทำลาย แล้วส่งภาพให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน

 

แต่ระหว่างที่ภาพเส้นผมขยายด้วยแสงซินโครตรอนจะมาถึง เจ้าหน้าที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน (สพฐ.) นำทีมโดย พ.ต.ต.ซาตินา พลเยี่ยม นวท.(สบ.) เริ่มทำการทดลองด้วยการตัดผมตัวเอง แล้วการใช้ของมีคมทุกชนิดตัดเส้นผม แล้วค่อยแยกเป็นมีคมด้านเดียว และมีคม 2 ด้าน จนพบว่ารอยตัดแตกต่างกัน แล้วใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด หรือ SEM เพื่อส่องเทียบจับคู่

ทั้งนี้ ได้รับโจทย์จากทีมทำคดี 2 ข้อคือ เส้นผมถูกตัดด้วยเครื่องมือประเภทใด และถูกตัดจากครั้งเดียวกันหรือไม่ พ.ต.ต.ซาตินาต้องทำการทดลองไปเรื่อยๆ โดยการตัดผมเองจนได้รับคำตอบว่า ถูกตัดด้วยของมีคม แล้วถูกตัดในครั้งเดียวกัน เป็นเส้นผมของคนคนเดียวกัน

จากนั้นเจ้าหน้าที่ สพฐ.นำผลจากการศึกษามาใช้กับพยานหลักฐานคดีน้องชมพู่

ถือเป็นงานยาก ต้องทดลองตามหลักวิทยาศาสตร์ อ้างอิงจากหลักวิชาการจนออกมาเป็นงานวิจัยการพิสูจน์หลักฐานจากเส้นผมที่ถูกตัดเพื่อใช้ในงานนิติวิทยาศาสตร์ครั้งแรกของโลก และมีการเผยแพร่งานวิจัยนี้ลงวารสารนิติเวชที่อเมริกา

 

หลังคำพิพากษา พล.ต.อ.สุวัฒน์บอกว่า “รางวัลชีวิตของน้องๆ นักสืบทุกคน”

ขณะที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. กล่าวชื่นชมเจ้าหน้าที่และรู้สึกพอใจผลการปฏิบัติงานในคดีนี้

ซึ่งคดีดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ เป็นการทำงานที่ยากมาก เนื่องจากคดีนี้ไม่มีพยานหลักฐานในอากาศ ไม่มีประจักษ์พยานใดๆ

แต่เจ้าหน้าที่โดยเฉพาะฝ่ายสืบสวนได้พยายามสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด โดยเฉพาะหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ คือเส้นผมของน้องชมพู่ที่ถูกตัด และพยานบุคคลที่ให้การมาตั้งแต่ต้น และไม่เคยกลับคำให้การเลย ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้สำนวนมีความแน่นหนาในระดับหนึ่ง จนทำให้ศาลเชื่อและมีคำพิพากษาดังกล่าวได้

ผบ.ตร.ระบุถึงมาตรฐานการทำงานของพนักงานสอบสวนในคดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่ว่า จะต้องยกคดีของลุงพลนี้เป็นโมเดลในการปรับปรุงพัฒนางานสืบสวนในอนาคต ทั้งการวิเคราะห์พฤติกรรมศาสตร์ของคนร้าย และการสืบสวนแบบดั้งเดิม

ซึ่งได้แจ้งกับที่ประชุมของ บก.สส. บช.น.แล้วว่าให้ฝึกนักสืบรุ่นใหม่ๆ ให้สามารถสืบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งประจักษ์พยานและพยานแวดล้อมด้วยวิธีแบบดั้งเดิม ยกระดับให้มีความเป็นสากลและมืออาชีพมากขึ้น

บทสรุป คดีอาจไม่จำเป็นจะต้องมีประจักษ์พยานเสมอไป แต่มีพยานแวดล้อมและนิติวิทยาศาสตร์หนักแน่นอธิบายเหตุการณ์ได้มีความสมเหตุสมผลน่าเชื่อถือ

จนยกเป็นโมเดลการสืบสวนในอนาคต ทำให้ศาลลงโทษจำเลยในที่สุด