สมบัติ ‘อาม่า’ – เงิน ‘รัฐบาล’ แบ่ง (แจก) อย่างไรให้เป็น ‘ธรรม’

ธงทอง จันทรางศุ

เดือนเมษายนที่กำลังจะผ่านพ้นไป ดินฟ้าอากาศเมืองไทยของเรารุ่มร้อนแบบถึงใจพระเดชพระคุณมาก

บ้านไหนมีกำลังพอจะติดแอร์และจ่ายค่าไฟ เจ้าของบ้านก็พอเอาตัวรอดไปได้

แต่คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีกำลังพอเช่นนั้น ก็ต้องเอาน้ำลูบตัวและภาวนาให้ฤดูฝนซึ่งอยู่ไม่ไกลนักรีบเดินทางมาถึงเร็วหน่อย

ในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ นอกจากหยุดอยู่กับบ้านเพื่อรอคนมารดน้ำขอพร ตามวัยของตัวเองแล้ว

ผมได้จัดสรรเวลาให้ตัวเองได้ไปชมภาพยนตร์แบบไปดูหนังในโรงของจริงมาหนึ่งเรื่อง และทุกท่านคงเดาถูกว่าต้องเป็นหนังเรื่อง หลานม่า ที่มีคนพูดถึงและแนะนำกันมาหลายคนว่า เป็นหนังที่ควรไปดูเป็นอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง

ผมเป็นคนเชื่อคนง่ายอยู่แล้ว ในเมื่อคนบอกมาตั้งหลายปากขนาดนั้นแล้วจะนั่งนิ่งอยู่ได้อย่างไร เราก็ต้องไปเสียเงินซื้อตั๋วสิครับ

ดูหนังจบแล้ว นอกจากเสียน้ำตาไปบ้างตามสมควรแก่กรณี ผมยังมีเรื่องมาคิดต่อและอยากจะชวนคุยต่อในที่นี้อีกสองสามเรื่องครับ

 

ข้อใหญ่ใจความคือ ผมสังเกตเห็นว่า ภูมิหลังและประสบการณ์ของผู้ชมแต่ละคน มีความสำคัญอยู่ไม่น้อยที่จะทำให้ผู้ชมรายนั้นสามารถซึมซับหรือมีอารมณ์อ่อนไหวไปกับภาพยนตร์ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

พูดกันอย่างตรงไปตรงมา ถ้าผู้ชมคนไหนเกิดและเติบโตมาในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน แต่ความเป็นจีนยังเข้มข้นมาอยู่มาก ได้เห็นแนวปฏิบัติที่ลูกหญิงมีความสำคัญน้อยกว่าลูกชาย

การแบ่งมรดกหรือทรัพย์สมบัติของพ่อแม่จะตกได้แก่ลูกชายคนโตทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ขณะที่ลูกสาวที่แต่งงานออกไปนอกครัวเรือนแล้วเปลี่ยนฐานะเป็นคนนอก

เมื่อมาดูหนังเรื่องอาม่าแล้วหลายคนคงอดไม่ได้ที่จะนึกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นหรือเคยเกิดขึ้นในครอบครัวของตัวเอง

คืนวันที่ผมไปดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว พอกลับถึงบ้านผมก็เขียนข้อความพรรณนาความรู้สึกในใจลงในไลน์กลุ่มของตัวเองและเพื่อน

เฉพาะประเด็นเรื่องความแตกต่างระหว่างลูกหญิงกับลูกชายในครอบครัวจีนนี้ เพื่อนของผมคนหนึ่งเขียนแสดงความเห็นตอบกลับมาว่า

“ผมแต่งงานกับลูกคนจีน เข้าไปอยู่กับครอบครัวจีน เห็นความแตกต่างมาสี่สิบปีกว่าแล้ว ช่วยกันดูแลแม่ยายจนถึงที่สุด คงไม่ต้องไปดูหนังเรื่องนี้ก็ได้”

เขาบอกด้วยว่า เรื่องที่ผมเล่าความโดยย่อจากเรื่องหลานม่านั้น เขาได้พบมาแล้วทุกอย่าง

เพื่อนอีกคนหนึ่งเลยเข้ามาแถมท้ายว่า “พระเอกตัวจริงที่แสดงมากว่า 40 ปีอยู่ตรงนี้นี่เอง”

บิวกิ้นก็บิวกิ้นเถิด แพ้เพื่อนผมราบคาบเลย

 

ชีวิตจริงของ “อาม่า” หลายคน ที่ไม่จำกัดเฉพาะตัวละครในหนังเรื่องนี้ ผมคิดว่าคงมีความย้อนแย้งอยู่ในใจน่าดู

ในแง่มุมหนึ่งก็เป็นเรื่องของการรักษาขนบธรรมเนียมของความเป็นจีนที่สืบทอดกันมาหลายชั่วคนหรือหลายพันปีที่ให้ความสำคัญกับการสืบแซ่สกุลเป็นที่สุด

การมีลูกชายจึงมีความสำคัญยิ่งยวด เพราะเป็นหน้าเป็นตาของครอบครัวและมีหน้าที่ต้องมาทำพิธีเซ่นไหว้ตามวาระประเพณีต่างๆ

ในยุคสมัยหนึ่งที่ประเทศจีนจำกัดจำนวนการมีลูก พ่อแม่บางคนถึงขนาดต้องทำลายชีวิตของลูกสาวเพื่อเก็บโควต้าการมีลูกชายไว้ใช้ประโยชน์ จำนวนลูกทั้งหมดในครอบครัวจะได้ไม่เกินกว่าที่รัฐบาลอนุญาต

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วอาม่าทั้งหลายก็ต้องยกสมบัติทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดของครอบครัวให้กับลูกชาย ซึ่งจะเป็นผู้ธำรงวงศ์สกุลต่อไป

นั่นเป็นหลักการข้างฝ่ายที่ต้องยึดถือไว้ให้มั่นคง

 

แต่ในชีวิตความเป็นจริงนั้นมีความซับซ้อนเพิ่มเติมเข้ามาอย่างหนึ่ง คือเมื่ออาม่ามีอายุมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บย่อมเข้ามาเบียดเบียนเป็นธรรมดา วันหนึ่งอาจจะไม่อยู่ในฐานะที่ช่วยเหลือตัวเองได้แม้กระทั่งในกิจวัตรประจำวัน เวลานั้นอาม่าต้องการให้มีคนดูแลใกล้ชิด

ใกล้ชิดจนถึงขนาดต้องอาบน้ำอาบท่าเช็ดเนื้อเช็ดตัว หรือต้องทำความสะอาดในเวลาที่มีการขับถ่ายตามปกติของความเป็นมนุษย์

ระหว่างลูกสะใภ้ผู้เป็นเมียของลูกชายคนใหญ่ กับลูกสาวที่เป็นผู้สืบเลือดเนื้อเชื้อไขมาจากตัวตนของอาม่าเอง ถ้าผมเป็นอาม่าผมจะเลือกใครดีล่ะครับ ให้เป็นคนช่วยมาช่วยดูแลผมในช่วงสุดท้ายของชีวิต

ถามกันให้เจ็บปวดต่อไปว่า เวลาจะสิ้นลมหายใจ อยากจะอยู่ในอ้อมกอดของลูกสาวหรือลูกสะใภ้ดีครับ

ผมว่าอาม่าส่วนใหญ่คงลงคะแนนเลือกเอาข้างฝ่ายลูกสาวให้มาทำหน้าที่นี้เป็นแน่

ย้อนแย้งไหมเล่าครับ สมบัติยกให้ลูกชาย แต่ร่างกายที่กำลังจะสิ้นสภาพยกให้ลูกสาว

 

คิดอย่างนี้แล้วจะเห็นได้ว่า ความเป็นอาม่านั้นไม่ง่ายเลย

เฉพาะอาม่าที่เป็นตัวละครในหนังเรื่องหลานม่า เธอยังโชคดีที่มีคำตอบให้กับชีวิตได้อย่างที่คนดูเช่นผมรู้สึกว่าเธอฉลาดไม่เลวเลยทีเดียว เพราะอาม่าคนนี้สามารถแบ่งสันปันส่วนความรักความห่วงใยให้กับคนทั้งหลายได้ทั่วถึงในรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

และเช่นเดียวกันกับเรื่องของทรัพย์สมบัติที่ถึงแม้จะมีไม่มาก แต่อาม่าก็ต้องคิดให้รอบคอบเหมือนกันว่าจะยกชิ้นใดให้ใครและด้วยเหตุผลอะไร

ผมเขียนไลน์บอกเพื่อนๆ และนำข้อความลงโพสต์ใน Facebook คืนวันนั้นว่า

“บางสถานการณ์ การหารยาวหรือหารเท่า อาจไม่ใช่ความยุติธรรมที่แท้ก็เป็นได้”

ผมจะไม่เล่าอะไรละเอียดมากไปกว่านี้ เพราะประเดี๋ยวหลายคนจะดูหนังไม่สนุกเสียเปล่าๆ

 

เรื่องหารยาวหรือหารเท่านี้ ไม่ได้เป็นปัญหาของอาม่าคนเดียว หากแต่เป็นปัญหาของคนสอนวิชากฎหมายหรือแม้กระทั่งปัญหาของคนที่บริหารประเทศด้วย

ตัวอย่างในทางวิชากฎหมายก็เช่น คนสองคนทำผิดกฎหมายมาตราเดียวกัน ด้วยลักษณะรูปเรื่องที่คล้ายกัน ศาลจำเป็นต้องลงโทษเหมือนกันเป๊ะหรือไม่

หรือต้องคำนึงถึงตัวแปรอย่างอื่นซึ่งเป็นองค์ประกอบของความเป็นธรรมที่แท้ด้วย เช่น อายุ การศึกษาอบรม ประวัติว่าเคยกระทำความผิดมาก่อนหรือไม่ โอกาสที่จะกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี ฯลฯ

และหลายคนก็อดนินทาไม่ได้ว่า “ตัวแปร” ที่ว่านี้ จะหมายความรวมถึงเส้นสาย ความเป็นคนใหญ่คนโต หรือการจ่ายเงินจ่ายทองด้วยไหม

 

อีกตัวอย่างก็เช่น รัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในอดีต รัฐบาลปัจจุบัน หรือรัฐบาลอนาคต คิดจะแจกสตางค์ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลใดและด้วยวิธีใดก็ตาม

ถ้ามองดูแบบผิวเผิน ความเป็นธรรมน่าจะเกิดขึ้นต่อเมื่อประชาชนทุกคนได้รับเงินแจกเท่ากัน แต่รัฐบาลไหนที่คิดอย่างนั้นคงถูกคนด่าอุตลุด เพราะเศรษฐีทั้งหลายในระดับเจ้าสัวย่อมไม่อยากได้เงินพันเงินหมื่นจากรัฐบาลแน่ แล้วรัฐบาลจะเอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้างทำไม

พอตัดสินใจว่าจะไม่แจกทุกคนแบบทั่วถึงเช่นนั้น จะแจกเฉพาะคนที่มีรายได้น้อยหรือรายได้ปานกลาง คราวนี้โจทย์ก็ยากไปอีกแบบหนึ่งว่า เราจะขีดเส้นแบ่งกันที่ตรงไหน ว่าแค่ไหนจึงจะจนและจนเพียงพอหรือสมควรที่จะได้รับเงินแจก

นอกจากนั้น ยังมีคำถามอื่นอีกมากที่สามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างหนทาง เป็นต้นว่า คนชราอายุเกินกว่า 60 ปีบริบูรณ์แล้วน่าจะได้เงินแจกจำนวนนี้มากกว่าคนที่ยังอยู่ในวัยที่สามารถทำงานขยันขันแข็ง หรือไม่และอย่างไร

แล้วคนพิการล่ะ?

ลงท้ายแล้ว ผมเชื่อว่าคนจำนวนมากก็คิดว่าการแจกแบบหารยาวหารเท่า แทนที่จะสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น กลับเกิดผลตรงกันข้ามคือเกิดความไม่เป็นธรรมต่างหาก

ถ้ารัฐบาลไหนคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรดีในเรื่องทำนองนี้ ลองปรึกษาอาม่าดูไหมครับ

เผื่อจะได้ความคิดเก๋ไก๋มาทำงานบ้าง