ใช้ ‘ชามพลาสติก’ เวฟอาหาร เสี่ยงรับสาร Phthalates

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

ผู้เขียนอยู่ในยุคที่บ้านเราเห่อ “เตาไมโครเวฟ” ใหม่ๆ จำได้ว่า การอุ่นกับข้าว หรือที่เรียกว่า “เวฟอาหาร” ต้องใช้ “ภาชนะแก้ว” หรือ “เซรามิก”

และก็ไม่ใช่ว่าจะเป็น “ภาชนะแก้ว” หรือ “เซรามิก” ทุกชนิด หรือ “อะไรก็ได้” ต้องดูที่พื้นผิวไม่มีลวดลายโลหะ หรือสีเคลือบที่อาจเป็นอันตราย

มาในช่วงหลังๆ เกิดความประหลาดใจมาก ที่มีการใช้ “ชามพลาสติก” เวฟอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในร้านสะดวกซื้อต่างๆ ที่ใช้อย่างแพร่หลาย

ไม่เพียงร้านสะดวกซื้อ ความนิยมใช้ “ชามพลาสติก” เวฟอาหาร แพร่หลายไปในอาคารบ้านเรือนต่างๆ ซึ่งผู้เขียนเฝ้ามองมานานว่า “น่ากลัวมาก”

ล่าสุด ผู้เขียนไม่ใช่คนเดียวที่คิดเช่นนั้น เพราะมีการวิจัยเกี่ยวกับอันตรายจากการใช้ “ภาชนะพลาสติก” ในการอุ่นอาหารด้วย “เตาไมโครเวฟ”

 

ดร. Juming Tang นักวิชาการด้านวิศวกรรมอาหาร จากมหาวิทยาลัย Washington ระบุว่า มีงานวิจัยอันตรายของภาชนะพลาสติกที่ใช้ใส่อาหาร

“มีการศึกษาภาชนะพลาสติกที่ใช้ใส่อาหารกว่า 400 ชิ้น พบว่าส่วนใหญ่มีการรั่วไหลของสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนในร่างกาย” ดร. Juming Tang บอก

พลาสติกหลายชนิด ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการใช้กับไมโครเวฟ เพราะมีส่วนผสมของ Polymer เพื่อให้อ่อนนุ่ม และยืดหยุ่น ที่อาจละลายออกมา

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นอกจากละลาย ยังอาจซึมออกมาระหว่างกระบวนการของไมโครเวฟ ถ้ามีอุณหภูมิเกิน 100 องศาเซลเซียส” ดร. Juming Tang กล่าว

Phthalates เป็นหนึ่งในสารที่พบบ่อยมากที่สุดในการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก มักพบในกล่องพลาสติกใส่อาหาร พลาสติกห่ออาหาร และขวดน้ำพลาสติก

Phthalates เป็นสารที่พบได้ทั่วไป แม้กระทั่งในของเล่นเด็ก และโลชั่นทาผิว แม้ที่ผ่านมา ยังไม่ชัดเจนว่า Phthalates ส่งผลเสียหายมากแค่ไหน

เพราะสาร Phthalates อาจส่งผลรบกวนระบบฮอร์โมน และระบบเผาผลาญของร่างกาย นอกจากนี้ ยังอาจเพิ่มความดันโลหิต และภาวะดื้ออินซูลินในเด็ก

เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะ Metabolic Syndrome หรือระบบการเผาผลาญทำงานผิดปกติ เช่น โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้ การได้รับสาร Phthalates ยังอาจส่งผลต่อภาวะมีบุตรยาก โรคหอบหืด และสมาธิสั้น หรือ ADHD (Attention Deficit Hyperactivity Disorder)

โดยผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า การนำพลาสติกที่มี Phthalates ไปเข้าไมโครเวฟ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการสัมผัสกับสารดังกล่าว

 

เช่นเดียวกับ ศาสตราจารย์ ดร. Leonardo Trasande นักวิชาการด้านเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชากร จาก NYU School of Medicine ที่ได้ออกมาเตือนว่า Phthalates อาจจะไปรบกวนฮอร์โมนไทรอยด์ของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีความสำคัญมากต่อพัฒนาการสมองของเด็กทารก

เช่นเดียวกับความเห็นของศาสตราจารย์ ดร. Rolf Halden ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบชีวภาพเพื่อวิศวกรรมสุขภาพสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัย Arizona

“การเวฟอาหารด้วยภาชนะพลาสติก โอกาสสัมผัสสารเคมีอาจเกิดขึ้นได้กระทั่งกับพลาสติกส่วนที่ไม่ได้สัมผัสกับอาหารโดยตรง เช่น บริเวณฝาปิด”

เพราะไอน้ำจะระเหยขึ้นมาจากอาหาร แล้วไปเกาะกลั่นตัวที่ด้านใต้ของฝาปิด จะทำให้หยดน้ำพาสารเคมีที่ฝาปิดลงไปปนเปื้อนในอาหารของคุณ

วิธีดีที่สุดที่จะช่วยลดความเสี่ยงก็คือ ควรหันกลับไปใช้ภาชนะชนิดอื่นที่ปลอดภัยสำหรับไมโครเวฟแทนพลาสติก เช่น แก้ว หรือเซรามิก

โดยถ้าจำเป็นต้องใช้ภาชนะพลาสติก “เวฟอาหาร” ควรหลีกเลี่ยงภาชนะพลาสติกที่เสียรูปทรง ภาชนะที่เก่า และภาชนะที่มีรอยรั่ว

เพราะมีแนวโน้มที่จะปล่อยสารเคมีออกมาได้มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ตรวจสอบ “สัญลักษณ์รีไซเคิลสากล” ของภาชนะพลาสติกอยู่เสมอ

โดยให้สังเกตที่ก้นภาชนะพลาสติก โดยภาชนะที่มีหมายเลข 3 และตัวอักษร V หรือ PVC จะเป็นภาชนะพลาสติกประเภทที่มีสาร Phthalates

 

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากงานวิจัยในอดีต ถือว่า “เตาไมโครเวฟ” เป็นเครื่องใช้ในครัวที่มีความปลอดภัยสำหรับใช้อุ่นอาหารมาอย่างยาวนาน

ทั้งนี้ ยังมีข้อแม้บางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เชี่ยวชาญกังวลเกี่ยวกับการใช้ “ชามพลาสติก” ในการอุ่นอาหารด้วย “เตาไมโครเวฟ”

ซึ่งการทำเช่นนี้ อาจจะสามารถไปรบกวนฮอร์โมนของผู้บริโภค และจะส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพของผู้บริโภคต่อไปในภายภาคหน้าได้

อย่างไรก็ตาม “องค์การอนามัยโลก” หรือ World Health Organization (WHO) ได้เคยระบุว่า ควรมีการใช้ “เตาไมโครเวฟ” อย่างถูกวิธี

WHO ชี้ว่า แม้รังสีจาก “เตาไมโครเวฟ” ไม่มีอะไรอันตราย แต่ยังมีข้อกังวลอื่นที่ยังไม่ชัดเจน เช่น กรณีการใช้ “เตาไมโครเวฟ” ปรุงอาหาร

จะทำให้สูญเสียสารอาหารหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หรือ “เวฟอาหาร” ด้วย “ชามพลาสติก” จะทำให้เกิดการรบกวนฮอร์โมนหรือไม่

ทั้งนี้เนื่องเพราะมีงานวิจัยที่ระบุว่า การ “เวฟอาหาร” อาจทำให้พืชผักบางประเภทสูญเสียสารอาหารบางส่วนไปจากกระบวนการ “ไมโครเวฟ”

เช่น มีการพบว่า ไมโครเวฟทำให้สูญเสีย Flavonoids ซึ่งเป็นสารประกอบในในบร็อกเคอลี่ ที่ช่วยเรื่องยับยั้งการอักเสบ มากถึง 97% เลยทีเดียว

 

สอดคล้องกับความเห็นของ ดร. Xianli Wu นักวิทยาศาสตร์แห่งศูนย์วิจัยโภชนาการมนุษย์ Beltsville กรมการเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกาที่ชี้ว่า ยังไม่มีข้อสรุปว่าการนำผักเข้าเวฟ จะสูญเสียสารอาหารมากกว่าวิธีปรุงอาหารแบบอื่นๆ หรือไม่ เพราะอาหารแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน

“แม้ว่าโดยทั่วไป การใช้ไมโครเวฟจะเป็นวิธีที่ดีกว่า แต่เวลาเวฟที่เหมาะสม จะแตกต่างกันตามชนิดของพืชผัก” ดร. Xianli Wu กล่าว และว่า

เมื่อพิจารณาวิธีการปรุงอาหารในครัวเรือน การใช้ไมโครเวฟก็ถือเป็นหนทางที่ดีกว่าวิธีอื่นอย่างน้อยก็กับพืชผักหลายชนิด แต่อาจไม่เหมาะกับพืชผักทุกประเภท

“เมื่อเปรียบเทียบการต้ม การนึ่ง และการใช้ไมโครเวฟกับพืชผักต่างๆ แล้ว สรุปได้ว่าไมโครเวฟมีประสิทธิภาพในการรักษาสารอาหาร” ดร. Xianli Wu สรุป

เช่นเดียวกับงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งระบุว่า ระยะเวลาการปรุงอาหารด้วยไมโครเวฟที่สั้นลง จะไม่ทำลายสารอาหาร แถมยังเพิ่มปริมาณของ Flavonoids อีกด้วย

“ภายใต้เงื่อนไขการปรุงอาหารที่กล่าวมา การใช้ไมโครเวฟดูเหมาะสมกว่าการนึ่ง หากคำนึกถึงการรักษา Flavonoids” ดร. Xianli Wu กล่าว และว่า

การอุ่นอาหารด้วย “เตาไมโครเวฟ” โดยใส่น้ำมากเกินไป ในระดับที่เทียบเท่ากับการต้ม ก็ไม่ทำให้ปริมาณของ Flavonoids ลดลงเช่นกัน ดร. Xianli Wu ทิ้งท้าย

ทั้งนี้ รังสีจากไมโครเวฟไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ เพราะไมโครเวฟใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ต่ำ ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่ใช้ในหลอดไฟและวิทยุ

เพราะเมื่อเริ่ม “กระบวนการเวฟ” อาหารจะดูดซับคลื่นไมโครเวฟ ทำให้โมเลกุลน้ำในอาหารสั่นสะเทือน ก่อให้เกิดแรงเสียดทานที่จะทำให้อาหารนั้นร้อน

 

ดร. Juming Tang นักวิชาการด้านวิศวกรรมอาหาร จากมหาวิทยาลัย Washington กลับมาคุยกับเราในประเด็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในไมโครเวฟ

เตาไมโครเวฟจะผลิตคลื่นความถี่ค่อนข้างต่ำ และถูกกักอยู่ภายในไมโครเวฟ และหากมีการรั่วไหลออกมาก็ไม่เป็นอันตราย” ดร. Juming Tang กล่าว และว่า

“แน่นอนว่า ไมโครเวฟเป็นส่วนหนึ่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เราสัมผัสทุกวัน เวลาอบขนมปัง คุณก็สัมผัสกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอยู่แล้วเป็นทุนเดิม”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลังงานอินฟราเรดจากองค์ประกอบความร้อนของเตาอบ เพราะแม้จะไม่ทำอาหาร แต่คนเราก็ยังแลกเปลี่ยนคลื่นรังสีซึ่งกันและกัน

“ถ้าคุณกินพืชผักผลไม้ที่ปลูกขึ้นกลางแสงแดดได้ คุณก็ไม่ต้องกังวลใดๆ เกี่ยวกับการอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟ” ดร. Juming Tang กล่าว และว่า

“เตาไมโครเวฟ” ไม่ได้ใช้รังสีไอออไนซ์ นั่นก็แปลว่า มันไม่มีพลังงานพอที่จะแยกอิเล็กตรอนออกจากอะตอม ต่างจากรังสีเอ็กซเรย์ ดร. Juming Tang สรุป