กวนไปให้ขุ่น คนเติมเต็มบาท น้ำมันไม่เต็มลิตร

อาทิตย์ที่แล้วมีคลิปเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย เป็นภาพที่ผู้บริโภครายหนึ่งทดสอบการเติมน้ำมันที่ปั๊ม ปตท.แห่งหนึ่ง จำนวน 5 ลิตร แต่ได้น้ำมัน “ไม่เต็มลิตร” ฝ่ายสื่อสารองค์กรของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ก็ออกหนังสือชี้แจงในทันที

เนื้อความของฝ่ายสื่อสารองค์กรสรุปได้ว่า ลูกค้ารายนั้นไปเติมน้ำมันที่ปั๊ม ปตท.แห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรี 1,000 บาท แล้วรู้สึกว่าเกจ์วัดน้ำมันขึ้นไม่เป็นปกติ จึงขอให้ทางปั๊มน้ำมันตรวจสอบ พร้อมกับถ่ายคลิปการทดสอบ 2 ครั้งเอาไว้คือ เมื่อบีบจ่ายน้ำมันจำนวน 5 ลิตร ทุกครั้งจะได้น้ำมันที่ขาดหายไปประมาณ 25-30 มิลลิลิตร ซึ่งพนักงานหน้าลานแจ้งว่าเป็นไปตามเกณฑ์ใน “คู่มือการตรวจสอบและให้คำรับรองมาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง” ของสำนักงานชั่ง ตวง วัด ที่กำหนดให้มี “อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด” หรือค่าความคลาดเคลื่อน

ฟังคำชี้แจงจากฝ่ายสื่อสารองค์กรของ ปตท.แล้วประชาชนเข้าใจยาก และยากที่จะทำใจกับปริมาณน้ำมันที่หายไป ทั้งที่จ่ายเงินเต็ม!

ในทันทีเช่นเดียวกัน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไม่นิ่งเฉย ออกมา “สวน” ทันทีว่า

“ถึงแม้จะมีกฎกระทรวงพาณิชย์อนุญาตไว้ว่า เป็นกรณีเผื่อเหลือเผื่อขาด แต่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องการตรวจวัดตามกฎกระทรวง ถึงอย่างไรปั๊มก็ควรต้องจ่ายน้ำมันชดเชยให้ผู้ใช้บริการเต็มตามจำนวนลิตรที่ชำระเงินไป”

นี่คือบรรยากาศที่ดีของสังคมเสรีประชาธิปไตย ที่นักการเมืองแคร์ต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชน จะไม่ชินชาหรือ “หน้าหนา” เหมือนนักการเมืองที่มาจากรัฐประหาร

งานนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกโรงทันทีทั้งๆ ที่ไม่ใช่ “เจ้าภาพ”

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ที่คุมหน่วยงาน “ชั่ง ตวง วัด” ควรเด้งรับ ด้วยท่าทีเอาการเอางาน

แต่ในขณะที่ “พีระพันธุ์” ใช้ตรรกะได้ใจชาวบ้าน ตรรกะของ “ภูมิธรรม เวชยชัย” เจ้ากระทรวงพาณิชย์กลับตรงกันข้าม!

“พีระพันธุ์” ว่าประชาชนชำระเงินจ่ายค่าน้ำมันไปเต็มตามจำนวนลิตร ไม่ได้ชำระแบบ “เผื่อเหลือเผื่อขาด” แล้วทำไมถึงได้ปริมาณมาแบบ “เผื่อเหลือเผื่อขาด”

ทั้งๆ ที่คำว่า “เผื่อเหลือ” อาจจะไม่มีอยู่จริง

ถ้ามีแต่ “เผื่อขาด” จะว่าอย่างไร!?

ปั๊มน้ำมันจึงควรต้องจ่ายน้ำมันชดเชยให้ผู้ใช้บริการ “เต็มตามจำนวนลิตร” ที่ชำระเงินไป

เจ้ากระทรวงพาณิชย์กลับเห็นว่า เรื่องเกี่ยวพันกับ 2 กระทรวง คือพลังงานกับพาณิชย์ แต่พาณิชย์เป็น “ปลายน้ำ”

ตั้งใจจะบอกว่า กระทรวงพลังงาน เป็น “ต้นน้ำ” เรื่องอะไรก็ไม่แจ้งให้ชัด

แต่ที่สุดก็ยอมรับว่า เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ในการควบคุมราคา ดูความถูกต้อง ดูปั๊มน้ำมัน ซึ่งเข้าไปดำเนินการเรื่องมาตรการ “เผื่อขาดเผื่อเกิน 1 เปอร์เซ็นต์” ที่เป็นมาตรฐานสากลของโลก

ที่ “พีระพันธุ์” พูดนั้น เป็นทุกข์ของชาวบ้าน

ส่วนที่กระทรวงพาณิชย์พยายามจะอธิบาย เป็น “ระดับโลก”

ใครจะบรรเทาทุกข์ “น้ำมันไม่เต็มลิตร”!

กระทรวงพาณิชย์ผู้มีหน้าที่ เคยคิดหรือไม่ว่า ถ้าจัดให้ “หน่วยงานกลาง” ลงมือพิสูจน์กันด้วยกระบวนการวิจัย อาจจะพบกับความจริงที่คาดคิดไม่ถึง

ที่เรียกกันว่า “เผื่อขาดเผื่อเกิน 1%” ตามมาตรฐานสากลของโลกนั้น อาจถึงขั้นต้องเติมเลขศูนย์ กลายเป็น 10-20% ก็เป็นได้

 

ปัญหา “น้ำมันไม่เต็มลิตร” มีมานานแล้ว แต่รัฐไม่เคยใส่ใจ และผู้บริโภคก็ไม่เคยลุกขึ้นสู้!

ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำกองทัพทำรัฐประหาร ลบล้างคำว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” สิ้น ทุกอย่างก็อยู่ในมือ “คสช.”

เขียนกติกาเอง บริหารเอง ตัดสินชี้ขาดเอง เบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งด้านบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ส่งพวกพ้องบริวารนายทหารใหญ่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันนั่งควบคุมสั่งการกระทรวงอะไรก็ได้ หัวหน้า คสช.มี “ม.44” เป็นอำนาจพิเศษล้นฟ้า ออกคำสั่งเป็นกฎหมายนับร้อยฉบับ จำกัดสิทธิเสรีภาพ ครอบงำแทรกแซงการแต่งตั้งกรรมการในองค์กรอิสระและแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ

แต่ไม่เคยมีสักครั้งที่ “หัวหน้า คสช.” จะใช้อำนาจ “ม.44” ช่วยสะสางปัญหา “น้ำมันไม่เต็มลิตร” เพื่อประชาชน นับเป็นยุคที่ผู้ปกครองชนชั้นสูง ผู้ประกอบการอภิมหาเศรษฐีและเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีฤทธิ์ต้อง “มาก่อน” เสมอ

เพิ่งจะคราวนี้ที่นักการเมืองเป็นตัวของตัวเอง

“พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่ “ควบคุมราคา” และไม่มีหน้าที่ควบคุมความถูกต้องสมบูรณ์หรือชำรุดของ “หัวจ่ายน้ำมัน” กล้าที่จะออกมายืนยันด้วยตรรกะว่า

“ประชาชนชำระเงินค่าน้ำมันเต็มตามจำนวนลิตร ไม่ได้ชำระแบบเผื่อเหลือเผื่อขาด ปั๊มน้ำมันจะชดเชยให้กับผู้ใช้บริการที่ชำระเต็มตามจำนวนบาทอย่างไร”

 

ไม่มีเสียงตอบรับเพราะกระทรวงพาณิชย์อยู่ในหลุมหลบภัยชื่อว่า “มาตรฐานสากลของโลก”

แต่ถ้าหากอ้างถึง “มาตรฐานของโลก” ก็จะมีคำถาม!

“หัวจ่ายน้ำมัน” ที่ใช้กันอยู่ตามสเตชั่นของปั๊มน้ำมันทุกยี่ห้อนั้น มีคุณภาพได้ “มาตรฐานโลก” หรือไม่

ถ้าเช่นนั้นแล้ว ทำไมหน่วยชั่ง ตวง วัด จึงออกสติ๊กเกอร์ที่มีคำว่า “เต็มลิตร” ให้กับ “ปั๊มน้ำมัน” บางแห่งเอาไปติดที่ตู้จ่ายน้ำมัน

ปั๊มน้ำมันส่วนใหญ่ไม่มีสติ๊กเกอร์ “เต็มลิตร” นั่นคือเส้นแบ่งที่จะบอกว่า “ไม่เต็มลิตร”!

สติ๊กเกอร์ “เต็มลิตร” ที่ออกโดยหน่วยชั่ง ตวง วัด กระทรวงพาณิชย์นั้น จะต้อง “ซื้อ” หรือ “ได้มาฟรี”

ถ้า “ได้มาฟรี” ทำไมกระทรวงพาณิชย์ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงกับ “ความถูกต้องของหัวจ่ายน้ำมัน” จึงไม่บังคับให้ผู้ประกอบการทุกรายตรวจสอบ ทดสอบหัวจ่ายน้ำมันให้มีมาตรฐานเดียวกัน

ทำให้ทุกสเตชั่นมีสติ๊กเกอร์ “เต็มลิตร” ของกองชั่ง ตวง วัด กระทรวงพาณิชย์ รับรองทั่วหน้ากัน แล้วจัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบเป็นระยะ

ไม่ใช่มีปัญหาที รัฐมนตรีก็ออกมาทำท่าปรามผู้ประกอบการกันทีว่า “ถ้าหัวจ่ายเอารัดเอาเปรียบ จะจัดการเด็ดขาด”

ล่วงผ่านมาเป็นสิบปี เคยมีสัก 1 ครั้งหรือไม่ที่ “จัดการเด็ดขาด”!?!!!