อวยพร ‘ความทุกข์’ | หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ตอนทำหนังสือ “ให้ความสุขตามหาเรา” ที่ตั้งใจทำเป็น “ของขวัญปีใหม่”

บทแรกของหนังสือ คือ บทสุดท้ายที่ผมเขียน

ผมตั้งใจเล่าเรื่องที่มาของหนังสือเล่มนี้

และ “ความหมาย” ของคำว่า “ความสุข”

เรื่อง “ที่มา” ของชื่อหนังสือนั้น ผมคิดไว้ตั้งแต่ก่อนจะลงมือทำหนังสือ

เป็นการเล่าเรื่อง “ลุงดำ น้ำหยด”

เขาทำโรงแรมเกาะช้าง พาราไดซ์ รีสอร์ทที่เกาะช้าง และอยากให้มี “ผีเสื้อ” เป็นสัตว์เลี้ยงประจำโรงแรม

ลุงดำคิดว่าฝรั่งต่างชาติต้องชอบแน่ๆ

แต่เขาไม่รู้จักวิธีการเพาะผีเสื้อ

รู้เพียงว่า “ผีเสื้อ” ชอบอะไร

จากประสบการณ์การทำสวนผลไม้มาทั้งชีวิต ลุงดำรู้ว่า “ผีเสื้อ” ชอบ “ดอกเข็ม”

โรงแรมแห่งนี้จึงปลูกต้นเข็มเต็มไปหมด

พอ “ดอกเข็ม” บานสะพรั่ง

“ผีเสื้อ” จากป่าก็โบยบินเข้ามาในโรงแรม

โรงแรมนี้จึงเหมือนมี “ผีเสื้อ” เป็นเพื่อน

ผมนึกถึง “ความสุข”

เราชอบหาลายแทงเพื่อค้นหา “ความสุข”

แต่หาเท่าไรก็หาไม่เจอ

เพราะ “ความสุข” ก็เหมือนกับ “ผีเสื้อ”

ยิ่งไขว่คว้า ยิ่งหาไม่เจอ

ต้องปลูก “ดอกไม้” ในใจ

แล้ว “ผีเสื้อ” แห่งความสุขจะบินมาหา

 

ที่มาของชื่อหนังสือได้แล้ว

ขาดแต่ “ความหมาย” ของคำว่า “ความสุข”

คิดไว้บ้างในใจ แต่รู้สึกว่ายังไม่สุกงอม

ผมเริ่มต้นการค้นหาจาก “หลวงพ่อ” ที่ผมเคารพรัก

หลวงพ่อ “กูเกิล”

เริ่มต้นจากนักปรัชญาดังๆ ของโลก

แต่ดูแล้วไม่ชอบ

ผมนึกถึงท่านพุทธทาสภิกขุ

ท่านเป็นพระชาวบ้านที่อธิบายเรื่องราวที่ยุ่งยากได้อย่างเรียบง่าย เข้าใจง่าย

อย่างเช่น การทำงาน คือ การปฏิบัติธรรม

ไม่มีงานไหนต่ำ ถ้าทำด้วยใจสูง ฯลฯ

หรืออย่างเรื่อง “ยารักษาโรค”

ท่านบอกว่า “ยารักษาโรค” เป็น “ยาพิษ” อย่างหนึ่ง

เพราะถ้ากินมากไปก็อาจจะตายได้

ดังนั้น “ยารักษาโรค” จึงเป็น “ยาพิษ” ที่เราใช้มันอย่างถูกต้องพอดี

ธรรมะของท่านไม่เคยแยกแยะอะไรออกจากกันอย่างสิ้นเชิง

พอมาถึงเรื่องที่ผมอยากรู้

“ความหมาย” ของคำว่า “ความสุข”

ท่านก็อธิบายแบบเดียวกัน

ท่านพุทธทาสบอกว่า “ความสุข คือ ความทุกข์ ที่พอดีสำหรับทน”

เป็นการบอกให้ทุกคนสบายใจว่าเราต้องมี “ความทุกข์” เป็นสมบัติประจำกาย

เพียงแต่เราจะลดระดับ “ความทุกข์” ลงมาได้แค่ไหน

ถ้ายังเกินกว่าความอดทนของเรา

เราจะ “ทุกข์”

แต่ถ้าทำให้ “ความทุกข์” ลดน้ำหนักลงให้อยู่ในจุดที่เราทนได้

เราจะมี “ความสุข”

อ่านจบ กราบเบญจางคประดิษฐ์เลยครับ

 

ผมนึกถึง “ความหมาย” ของ “หยิน-หยาง”

รูปที่เราเห็นเป็นประจำ คือ รูปวงกลมที่มี “สีดำ” ครึ่งหนึ่ง

และมี “สีขาว “อีกครึ่งหนึ่ง

แต่ไม่ได้แบ่งครึ่งแบบตรงๆ

หากมีความรู้สึกเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนอยู่ในภาพนี้ด้วย

“หยิน-หยาง” เป็นสัญลักษณ์ประจำลัทธิเต๋า หมายถึง อำนาจที่มีบทบาทต่อกันของจักรวาล

เป็นตัวแทนของพลังจักรวาล

ผมชอบคำอธิบายที่ว่า “หยิน-หยาง” คือ พลังตรงกันข้าม แต่เชื่อมโยงและอยู่ด้วยกัน

“ดำ-ขาว” ไม่ได้แยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง

“ดำ” คือ “ขาว” น้อย

“ขาว” คือ “ดำ” น้อย

ไม่มีอะไรบริสุทธิ์ผุดผ่อง

ทุกอย่างต้องอยู่ร่วมกัน แม้จะตรงข้ามกัน

คนเราต้องมีทั้ง “หยิน-หยาง” และต้องหาความสมดุลให้เจอ

คล้ายๆ กับคำอธิบายเรื่อง “ความสุข” ของท่านพุทธทาส

ท่านไม่ได้แยก “ความสุข” ออกจาก “ความทุกข์”

“ความสุข คือ ความทุกข์ ที่พอดีสำหรับทน”

เหมือนให้ทุกคนยอมรับว่า “ความทุกข์” เป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนเรา

ปัจจัยที่นำมาสู่ “ความสุข” ขึ้นอยู่กับ 2 อย่าง

1. “ความทุกข์” ของเรามากน้อยแค่ไหน

และ 2. “ความอดทน” ของเรา

ถ้าเขียนเป็นสมการคณิตศาสตร์

“ความสุข = ความอดทน – ความทุกข์”

ดังนั้น “ความทุกข์” ในเรื่องเดียวกัน ขนาดเท่ากัน

บางคนไม่รู้สึกอะไร

ในขณะที่บางคนจะรู้สึกทุกข์มาก

เพราะคนเรามีความอดทนในแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน

ตัวอย่างง่ายๆ คือ ถ้าเราโดนหัวหน้าบ่น หรือโวยวายแบบเดียวกัน

เพื่อนคนหนึ่งอาจทนไม่ได้

แต่เราทนได้

เราจะไม่ทุกข์

ในขณะที่เพื่อนเราจะทุกข์ เพราะคิดวนเวียนแต่เรื่องคำบ่นของหัวหน้า

เขามีความอดทนต่อเรื่องนี้ต่ำกว่าเรา

ในมุมกลับกัน ถ้าเป็นหนี้ 1 ล้านบาท

เราอาจทุกข์มาก เพราะเป็นหัวหน้าครอบครัว มีภรรยาและลูก มีภาระต่างๆ มากมาย

แต่อีกคนหนึ่งโสด ครอบครัวฐานะดี

ความรู้สึกต่อหนี้ 1 ล้านบาทจะแตกต่างกัน

เราจะทุกข์

แต่เพื่อนจะเฉยๆ

ดังนั้น ถ้าเรามี “ความอดทน” ที่เพียงพอจะรอรับ “ความทุกข์” ที่เกิดขึ้น

เราก็จะไม่รู้สึก “ทุกข์”

และนั่นคือ “ความสุข”

ปีใหม่ที่จะถึงนี้ ผมคงขอใช้คำของท่านพุทธทาสอ้างอิงในการอวยพรปีใหม่

“ความสุข คือ ความทุกข์ ที่พอดีสำหรับทน”

ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีความทุกข์น้อยๆ

และมีความอดทนมากๆ

เพราะทุกข์น้อย คือ สุขมาก

อดทนมากก็สุขง่าย

ขอให้มีความสุขจนคนอิจฉานะครับ •