ทวารวดี มีชาวสยาม

ชาวสยามไม่ใช่คนไทย เพราะเป็นลูกผสม “ร้อยพ่อพันแม่” จากหลายชาติพันธุ์ แต่พูดภาษาไท-ไต เป็นภาษากลาง ครั้นนานไปเมื่อมีอำนาจทางเศรษฐกิจ-การเมือง ก็เรียกตนเองว่าไทย หรือคนไทย

จากหลักฐานรอบด้าน พบว่าชาวสยามกระจายอยู่ทั่วโซเมีย (บริเวณที่สูงของจีนตอนใต้ จนถึงภาคกลางของไทย) ตั้งแต่สมัยการค้าระยะไกลทางทะเล (สุวรรณภูมิ) สืบเนื่องถึงสมัยการค้าโลก หรือทวารวดี

ดร.ธิดา สาระยา (อดีตอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) อธิบายหลักฐานกี่ยวกับชาวสยามสมัยทวารวดี ไว้ในหนังสือ (ศรี) ทวารวดี ประวัติศาสตร์ยุคต้นของสยามประเทศ (สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2532) จะขอคัดบางตอนมาปรับใหม่ให้อ่านสะดวก ดังต่อไปนี้

หนังสือ : (ศรี) ทวารวดี ประวัติศาสตร์ยุคต้นของสยามประเทศ (สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2532), ผู้เขียน : ดร.ธิดา สาระยา

ชาวสยามในทวารวดี

เซียม, เสียม-เสียน, สยาม ตามการสอบค้นคำของจิตร ภูมิศักดิ์ อยู่ในบริเวณตั้งแต่พุกามตอนใต้ถึงจามปา ทางฝ่ายข้างบนตั้งแต่ยูนนาน พุกามตอนเหนือ ตลอดไปถึงเวียดนามเหนือและเขตแคว้นของพวกเจิ้นละ

ในอาณาบริเวณนี้คำที่มอญโบราณใช้เรียกคนไตตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6 (พุทธศตวรรษที่ 12) คือคำ สามฺ-สำ (ซาม) สาม-สำ (ซาม) และเสม-เสํ (เซม) จารึกพม่าโบราณเรียก สฺยม-สฺยํ คล้ายคลึงกับคำเขมรโบราณว่า สฺยำ (เซียม) และจามโบราณว่า สฺยามฺ แต่รูปที่เคร่งครัดในภาษาจามมีเพียงคำเดียวคือ สฺยำ

นอกจากว่าชนชาติเพื่อนบ้านจะเรียกชื่อคนไตด้วยคำว่าสยามแล้ว คำว่าไตก็ดี เสียมก็ดี ยังปรากฏในจารึกพิมาย จารึกเจิ้นละ (ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7) และจารึกจามปาอีกด้วย

ข้อเสนอของจิตร มิได้วางอยู่บนพื้นฐานของการศึกษาภาษาเพียงอย่างเดียว แต่สร้างสัมพันธภาพระหว่างคำเรียกชนชาติ กับพัฒนาการทางสังคมและการผลิตของชนชาตินั้นๆ ด้วย ทำให้เห็นว่าเส้นทางการกระจายและความคุ้นเคยคลุกคลีของคำเรียกชื่อชนชาติที่เกิดขึ้น อาจมีตัวแปรเบี่ยงเบนทิศทางจนยากแก่การกำหนดทั้งระยะเวลาและขอบข่ายที่แน่นอน เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจการค้า ซึ่งอาจส่งอิทธิพลข้ามพรมแดนของเชื้อชาติ ชนชาติ อำนาจรัฐ การเลือกรับ ผลักดันและปฏิเสธวัฒนธรรมทางรูปแบบของชุมชนมนุษย์

กระนั้นก็ดี กล่าวได้ว่าร่องรอยของพวกไตหรือพวกสยามแผ่อยู่ในขอบข่ายที่กว้างขวางมาก

พวกไตเข้าสู่คาบสมุทรอินโดจีนเมื่อใด เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมากในวงวิชาการ

จริงอยู่เอกสารจีนกล่าวถึงคนหลายกลุ่มที่เรียกชื่อต่างกันและนักภาษาเชื่อว่าหมายถึงพวกไต ได้แก่ ส่าน, ส้าน, ถาน, ตาน เรื่องราวของคนอื่นอีกหลายกลุ่ม เช่น อายหลาว ว่าเป็นพวกไต

จิตร ภูมิศักดิ์ ยืนยันว่าพวกไตหรือเสียม แสดงร่องรอยในเขตอินโดจีนตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 แล้ว แสดงว่าตั้งแต่สมัยทวารวดีมาแล้ว ที่พวกไตเข้ามาเป็นพลเมืองส่วนหนึ่งของภูมิภาคอินโดจีนตามหลักฐานที่ปรากฏ

ร่องรอยพวกไตหรือพวกสามคงกระจายตัวอยู่ทั่วไปในดินแดนที่เกิดเป็นบ้านเมืองสมัยทวารวดีสอดคล้องกับภาวการณ์ขณะนั้นที่พวกไต, เซียม, สาม เป็นทาสอยู่ตามศาสนสถานของรัฐรอบลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่นที่รัฐเจิ้นละ และจามปา เป็นต้น

จารึกกษัตริย์ภววรมัน สมัยก่อนนครหลวง ค.ศ.639 กล่าวถึงการอุทิศที่นาถวายเป็นกัลปนาแก่ศาสนสถาน ผู้ถวายชื่อ โปญฺ สฺยำ (สฺยำ คือเสียม)

จารึกเขมรที่เทวสถานตระพังไพรเมืองสมบูร ค.ศ.683 มีรายชื่อทาสที่ถวายไว้เป็นข้าพระบำเรอพระศิวลึงค์ คนหนึ่งเป็นหญิงชื่อ สฺยำ (เสียม) จารึกว่า กุสยำ 1 โกน 1

ปโตเลมีกล่าวถึงสามรัฐ? (SAMARADE) ซึ่งอาจหมายถึงรัฐของพวกสามคือ สยาม

เอกสารตำนานไทยซึ่งเขียนสมัยหลัง เรียกภาคเหนือแถบบริเวณอาณาจักรหริภุญชัยด้วยคำที่สื่อความหมายถึงท้องถิ่นของชาวสาม และสยาม คือ สามเทสะ หรือสยาม เทสะ ตั้งแต่ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 6-7 แล้วขณะที่จารึกภาษามอญบริเวณนี้อายุเก่าสุดประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 11-12 และหลักฐานทางโบราณคดีแม้ยังไม่ลงตัวเกี่ยวกับความเก่าแก่ของหริภุญชัยแต่สามารถยืนยันว่าศิลปะทวารวดีแผ่ไปถึงที่นั่น

จริงอยู่จดหมายเหตุจีนเรียกเมืองสำคัญในสยามประเทศหลายชื่อต่างยุคต่างสมัยกัน แต่ชื่อเหล่านั้นคือชื่อศูนย์กลางทางการเมือง ยากที่จะบอกได้ด้วยว่าชาวสามหรือชาวสยามอยู่หนาแน่นที่ใดเป็นพิเศษ ในบางกรณีสามเทสะอาจมีความหมายตายตัวตรงบริเวณใดบริเวณหนึ่งโดยเฉพาะ

บุคคลปูนปั้น ในวัฒนธรรมทวารวดี มีชาวสยามปะปนอยู่ด้วย (ซ้าย) พบที่วัดพระประโทณฯ อ.เมือง จ.นครปฐม (ขวา) พบที่ทุ่งเศรษฐี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายว่า …เมื่อตำนานต่างๆ ของไทยเรียกภาคเหนือว่า สามเทสะและภาคใต้ว่า ลวรัฐ มาตั้งแต่ พ.ศ.1200 (สำหรับลวรัฐนั้นมีมาก่อนหน้านั้น) ก็ทำให้ต้องคิดว่า คำว่า สามเทสะ นั้นเห็นจะใช้เป็นชื่อทั่วไป ที่ได้ใช้กันมาตั้งแต่ พ.ศ.1200 หรืออาจก่อนหน้านั้นแล้ว คือมีความหมายเพียงท้องถิ่นของชาวสามไม่เจาะจงลงไปว่าศูนย์กลางจะอยู่ที่ใด

เป็นที่น่าสังเกตว่าจดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์จิน (ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 12) บันทึกว่าประเทศเซียนกับหลอหู (คือสามเทสะกับลวรัฐ) เดิมเป็นประเทศฟูนาน (หรือฝูหนาน) อยู่ทางทิศตะวันตกของหลินอี้ ส่วนประเทศฟูนานอยู่ตรงอ่าวไทย เรื่องนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ แย้งว่าจดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์สุ้งก่อนหน้านี้ เรียกอาณาบริเวณข้างเหนือลวรัฐว่าเฉิงเหลียง หรือเฉลี่ยง เพราะฉะนั้นประเทศเซียนหรือสามเทสะตามเนื้อความของเอกสารจีนที่อ้างนั้นก็ต้องไม่อยู่ทางเหนือ บริเวณนั้นมีชื่ออื่นเรียกอยู่แล้ว คำอธิบายของจิตร สรุปได้ 2 ประการ คือ

สามเทสะเป็นชื่อทั่วไปหมายถึงท้องถิ่นของชาวสาม และศูนย์กลางของสามเทสะไม่เจาะจงว่าเป็นที่ใด เลื่อนที่ได้จากเหนือลงใต้จนถึงกรุงศรีอยุธยา

แม้ยังไม่อาจหาข้อยุติได้จากคำอธิบายนี้ อย่างน้อยก็ยังกล่าวได้ว่าท้องถิ่นของชาวสามมีอาณาบริเวณกว้างขวางมาแต่อดีต ประกอบกับเหตุผลที่ว่าคำว่าสามเป็นคำเรียกไตในภาษามอญโบราณ แสดงว่าพวกที่ใช้ภาษามอญโบราณรู้จักพวกไตเป็นอย่างดี จึงสันนิษฐานได้ว่าพวกไตน่าจะอยู่บริเวณรัฐทวารวดีและใกล้เคียงมาก่อนแล้ว

นั่นก็คือบริเวณสยามโบราณนี้คือถิ่นที่อยู่ของพวกสามนอกเหนือจากชนกลุ่มอื่น

จากบรรดาความรู้ทั้งหมดก็อนุมานได้ว่าพวกสยามหรือพวกไตปะปนอยู่กับประชากรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคตะวันตกตั้งแต่สมัยทวารวดีแล้ว ถ้าไม่เช่นนั้นก็คงไม่เป็นที่รู้จักจนจีนจดบันทึกไว้เป็นคำเรียกว่า “เสียน” หรือ “เซียน” อันมีความหมายย้อนไปไกลถึงชื่อชนชาติไตที่เรียกในภาษามอญโบราณว่า สาม (ซาม) เสม (เซม)

ภายหลังนักปราชญ์ฝ่ายบาลีจึงเรียกคำสยามเทียบจากคำว่า สาม ร่องรอยการเรียกชื่อชนชาติไต-สยาม นี้จึงปะปนอยู่ในภาษาของชนชาติต่างๆ รวมทั้งภาษามอญโบราณและเขมรโบราณ อันคนที่ใช้ภาษาทั้งสองนี้ต่างอยู่ใกล้ชิดติดพันกัน

สภาวการณ์ของประวัติศาสตร์เช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่ามีคนหลายเผ่าพันธุ์ปะปนกันอยู่ในแดนทวารวดี ฉะนั้นชาวทวารวดีจึงเป็นชนชาติผสม ประกอบด้วยมอญ-ไต-สาม-สยาม เป็นหลัก นอกเหนือจากชาวต่างประเทศอื่น อาทิ จีน อินเดีย ซึ่งเข้ามาในวงจรแห่งการติดต่อทางด้านเศรษฐกิจการค้าและวัฒนธรรม ดังแผ่นอิฐพบ ณ นครปฐมแผ่นหนึ่ง สลักใบหน้าของชาวต่างประเทศ บ้างว่าใบหน้าของชาวอิหร่านหรือเปอร์เซีย •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ