ความหมายที่หายไป จากอนุสาวรีย์ป๋วย-ปรีดี (จบ)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ความหมายที่หายไป

จากอนุสาวรีย์ป๋วย-ปรีดี (จบ)

 

ในวาระ 100 ปีชาตกาล อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อ พ.ศ.2559 ท่านได้รับการยกย่องจากองค์การ UNESCO ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์

ซึ่งในเวลาต่อมา ม.ธรรมศาสตร์ ได้ทำการสร้าง “อุทยานการเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี” ณ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์นั้น

พร้อมทั้งสร้างอนุสาวรีย์ อ.ปรีดี พนมยงค์ และ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตั้งอยู่หน้าอาคารอุทยานการเรียนรู้ฯ เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณูปการของบุคคลทั้งสองที่มีต่อสังคมไทย

อนุสาวรีย์ชิ้นนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นรูปแบบใหม่ของการสร้างอนุสาวรีย์รูปบุคคลของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างที่ติดดินปราศจากแท่นฐานรองรับในขนาดเท่าตัวคนจริง เพื่อไม่ให้อนุสาวรีย์ดูยิ่งใหญ่และกดข่มผู้ชม ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดที่ใหม่ อย่างน้อยก็ในสังคมไทยซึ่งยังนิยมปั้นอนุสาวรีย์รูปบุคคลที่ต้องการยกย่องให้มีขนาดใหญ่มากๆ

(ในความเป็นจริง อนุสาวรีย์นี้ใหญ่กว่าตัวคนจริงราว 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นไปด้วยเหตุผลในเชิงเทคนิคการปั้นที่ต้องการแก้ปัญหา “อากาศกิน” ของการปั้นอนุสาวรีย์กลางแจ้งที่จะถูกสภาพแวดล้อมลวงตาให้อนุสาวรีย์มีขนาดเล็กกว่าของจริงเสมอ ดังนั้น ประติมากรเลยแก้ปัญหาด้วยการปั้นให้ใหญ่กว่าขนาดจริงที่ต้องการเล็กน้อย)

นอกจากนี้ ท่าทางของอนุสาวรีย์ก็ดูไม่เป็นทางการมากนัก เข้าถึงง่าย ตำแหน่งที่ตั้งก็มิได้ตั้งอยู่ในแนวแกนกลางของผังและตัวอาคาร ซึ่งทั้งหมดได้ทำให้ตัวอนุสาวรีย์ไม่มีกลิ่นอายของความศักดิ์สิทธิ์

เป็นอนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงคนธรรมดาที่สร้างประโยชน์ให้แก่สังคม มิใช่เทพเทวดาที่ต้องยกมือกราบไหว้ หรือสามารถบรรดาพรวิเศษได้แต่อย่างใด

อนุสาวรีย์ อ.ป๋วย และ อ.ปรีดี ณ อุทยานการเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี
ที่มาภาพ : เพจ สวนป๋วย PUEY Park for the People

แม้ผมจะเห็นคล้อยตาม แต่ส่วนตัวกลับรู้สึกว่า อนุสาวรีย์ชิ้นนี้ถูกออกแบบขึ้นโดยปราศจากความหมายที่สำคัญบางอย่างไป

อนุสาวรีย์ถูกออกแบบขึ้นจากต้นแบบที่เป็นภาพถ่ายคู่กันของบุคคลทั้งสองที่กำลังนั่งอยู่บนม้านั่งหน้าหอพัก Beit Hall ของ Imperial College กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในงานประชุมสามัคคีสมาคม เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2520 ซึ่งภาพต้นแบบนี้ถ่ายโดย คุณจริย์วัฒน์ สันตะบุตร

นับตั้งแต่ภาพถ่ายนี้ถูกเผยแพร่ ก็ได้กลายมาเป็นหนึ่งในภาพสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สร้างความรู้สึกสะเทือนใจให้กับผู้ดู โดยเฉพาะในหมู่ลูกศิษย์ของทั้งสองท่าน และผู้ที่สมาทานอุดมการณ์ประชาธิปไตย สาเหตุหลักคงเป็นเพราะภาพดังกล่าวถูกถ่ายขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ซึ่งเป็นสาเหตุให้ อ.ป๋วย ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศไม่นาน

คำพูดด้านล่างคือความรู้สึกที่มีต่อภาพนี้ของ คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เมื่อคราวแสดงปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งผมคิดว่าสะท้อนความหมายที่ชัดเจนที่สุด และสอดคล้องกับความรู้สึกของคนเป็นจำนวนมาก

“…ภาพถ่ายภาพหนึ่ง เมื่อเห็นครั้งใดก็ให้รู้สึกสะเทือนใจและอดคิดไปถึงเรื่องราวที่ผ่านมาไม่ได้ ภาพที่ว่านี้เป็นภาพ “อาจารย์ป๋วย” กับ “อาจารย์ปรีดี” นั่งกันอยู่เงียบๆ บนม้านั่งเหงาๆ…ไม่มีใครทราบว่าทั้งสองกำลังคิดอะไร คนหนึ่งเป็นอาจารย์ คนหนึ่งเป็นศิษย์ ทั้งศิษย์และอาจารย์ต่างก็มีความใฝ่ฝันแสนงาม หวังอยากเห็นแผ่นดินบ้านเกิดมีความสุขสมบูรณ์ มีเสรีภาพ มีประชาธิปไตย มีความงอกงามทางความคิดสร้างสรรค์ ทั้งอาจารย์และศิษย์ที่นั่งอยู่ด้วยกันบนม้านั่งเหงาๆ ตัวนี้ ดูแล้วก็เหมือนเป็นครึ่งหนึ่งของกันและกัน มีอุดมคติและอุดมการณ์ตรงกันที่ต้องการสร้างดุลยภาพและภราดรภาพให้กับ “บ้านเกิดเมืองนอน” ของตน แต่แล้วในที่สุดกลับต้องไปตายในบ้านเมืองของคนอื่น…”

ภาพถ่าย อ.ป๋วย และ อ.ปรีดี เมื่อ พ.ศ.2520 ที่เป็นต้นแบบของการสร้างอนุสาวรีย์

หลังจากอนุสาวรีย์สร้างเสร็จ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นท่านหนึ่งที่ออกมาชื่นชมอย่างมากผ่านบทความชื่อ “ภาษาของอนุสาวรีย์” เมื่อปี พ.ศ.2563 โดยได้มีการตีความความหมายของอนุสาวรีย์นี้เอาไว้น่าสนใจว่า เป็นอนุสาวรีย์ของ “คนล้มเหลว” สองคนที่นั่งอยู่ในสวนป๋วย

อ.นิธิ ขยายความคำนิยามดังกล่าวเอาไว้ว่า

“…ใน พ.ศ.2520 ทั้งสองท่านถูก ‘ขับ’ ออกจากประเทศไทยไปแล้วทั้งคู่ ความผิดของทั้งสองท่านคือพยายามเปลี่ยนประเทศไทยให้ประชาชนได้สิทธิ์ได้เสียงสมกับความเป็นเจ้าของประเทศชาติ แม้ความพยายามนั้นกระทำไปโดยหลีกเลี่ยงความรุนแรงและความขัดแย้งสักเพียงไร ก็ไม่ประสบความสำเร็จ…เตือนให้เรารู้ว่า แม้แต่การประนีประนอมโดยไม่ให้เสียหลักการ ก็เป็นไปไม่ได้เสียแล้วในชีวิตทางการเมืองของไทย อนาคตจึงค่อนข้างมืดมน ทั้งแก่บุคคลสาธารณะที่มีหลักการ และแก่สังคมโดยรวม…”

แม้ อ.นิธิ จะใช้คำว่าอนุสาวรีย์ของคนล้มเหลวสองคน แต่ อ.นิธิ กลับตีความนัยยะแฝงไปในเชิงบวก (ซึ่งผมไม่เห็นด้วย) โดยกล่าวว่า

“…ภาพถ่าย ให้ความรู้สึกนึกคิดดังกล่าวได้ชัดเจนกว่ารูปปั้นของอนุสาวรีย์ เพราะในรูปถ่ายอาจารย์ป๋วยไม่ได้มองท่านปรีดี (ด้วยความเคารพชื่นชมดังรูปปั้น) แต่มองเหม่อลงพื้นในความครุ่นคิด แขนที่ทอดลงเหนือเก้าอี้และตักตามสบาย ไม่ได้สะท้อนความ ‘สำรวม’ ใดๆ ในขณะที่ท่านปรีดีมองไปข้างหน้าด้วยใบหน้าเอิบอิ่ม อย่างคนที่ในวัยขนาดนั้นและในประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาเช่นนั้น ย่อมรู้ตัวดีว่าได้ทำหน้าที่ของตนต่อบ้านเมืองอย่างสมบูรณ์แล้ว ภาพของคนสองวัยที่นั่งอยู่ด้วยกันนั้น จึงบอกผู้ชมด้วยว่า ‘mission incomplete’ หรือ ‘งานยังไม่เสร็จ’ ใครควรทำอะไรได้ก็พึงทำต่อไป มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เสนอรูปแบบใหม่ของอนุสาวรีย์ไทย นั่นคือเป็นเครื่องอนุสรณ์ถึงอุดมคติ ไม่ใช่ถึงบุคคลอันเป็นที่เคารพนับถือ…”

นัยยะทางความหมายในลักษณะ “mission incomplete” ที่ชี้ชวนให้ผู้คนสานต่อภารกิจต่อไปนั้น ผมไม่เห็นด้วยนักว่าอนุสาวรีย์ชิ้นนี้จะสามารถสื่อสารความหมายไปในทิศทางดังกล่าวได้อย่างไร

ในทัศนะผม ภาพถ่ายของทั้งสองท่านที่ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2520 ภายใต้เงื่อนไขหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 (และอนุสาวรีย์ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2563 จากภาพถ่ายดังกล่าว) คือภาพสะท้อนที่ชัดแจ้งว่าหลักการนามธรรมที่บุคคลทั้งสองยึดถือและพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในสังคมไทยนั้น สุดท้ายแล้วมันล้มเหลว

การเลือกภาพนี้มาทำเป็นอนุสาวรีย์ จึงเป็นการเลือกที่จะสร้าง “ห้วงขณะเวลา” (moment) ของ “คนล้มเหลวสองคน” (ตามคำของ อ.นิธิ) โดยไม่ตั้งใจ ยิ่งหากเรามองไปที่อารมณ์ของภาพและอนุสาวรีย์ที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นสายตาที่มองเหม่อ ภาษากาย ตลอดจนอายุอานามของปรีดีที่ล่วงเข้าวัยชรา ฯลฯ ทั้งหมดชี้ชวนให้เรามองเห็นความหมายไปในทิศทางดังกล่าว

หากผมสามารถเลือกภาพต้นแบบแทนได้ ผมจะเลือกภาพของบุคคลทั้งสองใน “ห้วงขณะเวลา” ที่ประสบความสำเร็จ หน้าตาที่มุ่งมั่น มองไปข้างหน้า ช่วงวัยที่หนุ่มฉกรรจ์มากกว่านี้ซึ่งเป็นช่วงที่ทั้งสองประสบความสำเร็จและสามารถนำหลักการนามธรรมที่ยิ่งใหญ่มาสู่สังคมไทยได้ ไม่ว่าจะเป็น ประชาธิปไตย ความเสมอภาค เสรีภาพ รักษาเอกราชของชาติผ่านภารกิจเสรีไทย ฯลฯ (แม้ว่าจะเป็นในช่วงระยะเวลาอันสั้นก็ตาม)

ซึ่งภาพถ่ายในลักษณะที่ผมว่ามาของทั้งสองท่านมีอยู่ไม่น้อยเลย

 

หลายคนอาจแย้งว่า เราไม่มีภาพถ่ายของทั้งสองท่านที่ถ่ายคู่กันที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวที่จะนำมาเป็นต้นแบบได้ ประเด็นนี้ เราต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับว่า อนุสาวรีย์ไม่ใช่ภาพถ่ายที่ทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์ อนุสาวรีย์ต้องนำพาผู้ชมไปไกลกว่านั้น ต้องนำพาเราไปสู่อุดมการณ์ของบุคคลนั้นๆ ที่ควรยกย่อง จดจำ และสานต่อ ซึ่งการจะสื่ออะไรที่เป็นนามธรรมเช่นนี้ จำเป็นต้องมีการสร้างองค์ประกอบบางอย่างขึ้นใหม่ใส่ลงไปในอนุสาวรีย์ มากกว่าปั้นอย่างเถรตรงตามภาพถ่าย

(ควรกล่าวไว้ด้วยว่า อนุสาวรีย์ อ.ป๋วย และ อ.ปรีดี ที่ถูกสร้างขึ้นก็มิได้ปั้นตามภาพถ่ายต้นฉบับอย่างเถรตรงนะครับ ลักษณะของ อ.ป๋วย ที่อนุสาวรีย์จะหันหน้ามองมายัง อ.ปรีดี ในขณะที่ภาพถ่ายมิได้มองมาแบบนี้ ซึ่งทั้งหมดเป็นความตั้งใจที่จะปรับแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับแนวความคิดของประติมากร)

ดังนั้น หากพิจารณาตามแนวทางนี้ แม้อนุสาวรีย์ อ.ป๋วย และ อ.ปรีดี ณ “อุทยานการเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี” จะเป็นการเปิดรูปแบบใหม่ที่น่าชื่นชมของอนุสาวรีย์รูปบุคคลในสังคมไทยที่ปราศจากกลิ่นอายของความศักดิ์สิทธิ์

แต่ในเชิงนัยยะทางความหมายแล้ว อนุสาวรีย์ชิ้นนี้กลับไม่สามารถสื่อสารหลักการนามธรรมหรืออุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ของทั้งสองท่านออกมาได้เลย

เป็นได้แค่เพียงอนุสาวรีย์คนชราสองคน (ที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ และขอพรให้สอบผ่านไม่ได้แล้ว) นั่งสนทนาปรับทุกข์กันในสวนเท่านั้น