‘จีพีเอส’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เสือโคร่ง - เทคนิคหนึ่งที่ใช้อย่างได้ผลของเสือโคร่ง คือ ซุ่มรอคอย ลายบนตัวที่เข้ากับสภาพรอบๆ ช่วยได้มาก

ถึงวันนี้ดูเหมือนว่า จีพีเอส คล้ายจะเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายคน เราใช้จีพีเอสในชีวิตประจำวัน พึ่งพาเครื่องมือนี้ในการเดินทาง ไม่ว่าจะไปไหน ใกล้หรือไกล

ว่าตามจริง ในการทำงานในป่า รวมทั้งการศึกษาเรื่องราวสัตว์ป่า จีพีเอสเป็นเครื่องมือพื้นฐาน ซึ่งคนในป่าใช้มาเนิ่นนาน

เราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า และเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยให้เราทำความรู้จักกับเหล่าสัตว์ป่าได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

แต่อีกนั่นแหละ ในป่าที่ห่างไกล เทคโนโลยีจะใช้ได้หรือไม่ บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ

อีกทั้งเราก็รู้ดีว่า บางครั้งในบางสิ่ง

จำเป็นต้องใช้อย่างอื่นร่วมด้วย เพื่อการเห็นอย่างแท้จริง…

 

สภาพป่าในช่วงกลางๆ ปีนั้น เป็นเวลาที่สายฝนหวนกลับคืนมา อุณหภูมิกลางวันและกลางคืนแตกต่างกันอย่างมาก ขณะช่วงบ่าย บางวันอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ตอนเช้ามืด เราสัมผัสได้กับอากาศเย็นๆ

ในบางคืนที่ปราศจากเมฆฝนท้องฟ้ามืดถูกแต่งแต้มด้วย ดาวระยิบระยับทั่วทั้งผืนป่า กลายเป็นสีเขียวชอุ่ม ไม้พื้นล่างรกทึบ เวลาเช้าถึงเที่ยง ท้องฟ้าสีครามเข้ม แต่พอล่วงเข้าเวลาบ่าย กลุ่มเมฆดำเริ่มเคลื่อนผ่าน สายลมพัดแรง ในไม่ช้า สายฝนจะเริ่มโปรยและตกไปอย่างนั้นจนถึงเย็น จากนั้น แนวทิวเขาจะมีสายหมอกลอยระเรี่ย

กลางๆ ปี หากขึ้นไปบนสันเขามองไปยังป่าทึบเบื้องล่าง จะมีสีม่วงแทรกอยู่ในความเขียวขจี เป็นช่วงเวลาซึ่งต้นตะแบกทุกต้นพร้อมใจกันออกดอก

เวลาที่ลมพัดแรง กลีบดอกตะแบกร่วงหล่นเต็มพื้น

เดินไปตามด่าน บางครั้งราวกับว่า กำลังเดินไปบนเส้นทางที่โปรยด้วยกลีบดอกไม้…

 

ครั้งที่อยู่ ในสถานีวิจัยสัตว์ป่า กลางๆ ปีมักเป็นเวลาที่เราไม่ได้ออกไปค้างแรมในป่าสักเท่าใด ส่วนใหญ่เป็นการทำงานแบบเช้าไปเย็นกลับ บางวันฝนตกตลอดบ่าย การเดินทางล่าช้า อาจถึงสถานีตอนค่ำๆ

ทีมวางกล้องดักถ่ายภาพเพื่อสำรวจประชากรเสือโคร่งทั่วผืนป่าด้านตะวันตก เสร็จงานประจำปีของพวกเขาแล้ว ทีมวางแปลงสำรวจประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม อันเป็นเหยื่อของเสือ ก็เสร็จงานเช่นกัน ทุกคนคร่ำเคร่งกับการรวบรวมข้อมูล กระนั้นก็เถอะ พลังงานไฟฟ้าโซลาร์เซล ที่คอมพิวเตอร์ต้องพึ่งพา มักไม่เป็นใจ มีแสงแดดเพียงครึ่งวัน พลังงานไม่พอเพียง

ข้อดีของมันคือ ทำให้คนได้พักสายตาบ้าง

นี่ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ทุกคนชอบหรอก แต่ข้อมูลจากภาคสนามก็จำเป็นต้องรวบรวมและวิเคราะห์

“ไม่สนุกเหมือนเดินป่าเลยครับ” หลายคนบ่น

ที่จริง การอยู่ในสถานีนับว่าสะดวกสบาย อยู่ในสำนักงานและบ้านพักที่คุ้มกันฝน ไม่ใช่ใต้ผ้ายางที่น้ำรั่วซึม แต่ดูเหมือนว่า หลายคนกลับไม่ปรารถนา

 

ผมอยู่ในทีมผู้ช่วยนักวิจัย พวกเขาออกจากสถานีเพื่อไปตรวจสอบตำแหน่งที่เสืออยู่ ปลอกคอที่มีเครื่องส่งวิทยุ บอกตำแหน่งของมันที่จอคอมพิวเตอร์ การหยุดอยู่กับที่ในตำแหน่งเดิมหลายวันของเสือตัวใดตัวหนึ่งนั้น หมายถึง เสือล่าเหยื่อได้

เพราะโดยปกติ เสือจะเดินตรวจตราอาณาเขตของมันตลอด

การเดินเข้าไปหาตำแหน่งที่เสืออยู่ไม่ยุ่งยาก รู้พิกัด เราใช้จีพีเอสนำพาไป

จีพีเอสช่วยให้ถึงจุดหมายโดยไม่พลัดหลงจากเส้นทาง

แต่สิ่งที่จีพีเอสช่วยไม่ได้เลย คือ ความเหนื่อยล้าที่เราเลี่ยงไม่พ้น…

บนความเมื่อยล้า เรามีสีม่วงของดอกตะแบกปลอบใจ

เสือโคร่ง – เทคนิคหนึ่งที่ใช้อย่างได้ผลของเสือโคร่ง คือ ซุ่มรอคอย ลายบนตัวที่เข้ากับสภาพรอบๆ ช่วยได้มาก

หลายวันที่เราออกจากสถานีตั้งแต่เช้า เดินป่าตลอดวัน กลับถึงสถานนีในตอนค่ำ โดยไม่พบร่องรอย ข้อมูลแจ้งว่า เสืออยู่ในตำแหน่งเดิม แต่เราไม่พบอะไร

หากมันมีเหยื่อที่ล่าได้อยู่ในบริเวณนั้น เสือจะแสดงสัญลักษณ์ อย่างรอยข่วนต้นไม้ รอยตะกุยดิน รวมทั้งสเปรย์หรือฉี่ไว้แถวๆ ต้นไม้

หลายวันเราอยู่กับความพยายาม

“ดาวเทียมเพี้ยนแล้วมั้งครับ” ใครสักคนพูดขึ้น

หลังค้นหาอย่างละเอียด เรารู้ว่า พึ่งพาเทคโนโลยี มีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดเสมอ

 

วันนั้น ฝนตกตั้งแต่เช้า และขาดเม็ดไปในตอนเที่ยง

ราวบ่ายสามโมง ผมอยู่บนสันเขาที่ระดับความสูงจากพื้น 350 เมตร

หุบเขาเบื้องล่างเป็นป่าทึบ ถัดจากหุบเป็นแนวเขาที่มีสายหมอกลอยระเรี่ย

สีม่วงของดอกตะแบกแทรกอยู่ในความเขียวชอุ่ม เหงื่อชุ่มโชก สายลมเย็นพัดสดชื่น

ทิวทัศน์เบื้องล่าง คือความสวยงาม ช่วงเวลาเช่นนี้ ผมพบความจริงง่ายๆ หากไม่เดินขึ้นภูเขา ภาพเหล่านี้ก็มองไม่เห็น

หากไม่ยอมเหนื่อยล้า อาจไม่เห็นความสวยงามที่อยู่รอบๆ ตัว

 

เทคโนโลยีช่วยในการทำงานได้มาก จีพีเอสช่วยให้ถึงจุดหมายได้โดยไม่พลัดหลง

เมื่อถึงจุดหมายแล้ว หากจะให้เห็นความสวยงามรอบๆ จำเป็นต้องวาง ละสายตาจาก “จีพีเอส”

และมองสิ่งเหล่านั้นด้วยสายตาของตัวเอง •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ