ปิดฉาก COP 28 อย่างมัวๆ

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ปิดฉากลงไปแล้ว การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 (COP 28) ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ผลสรุปการประชุมออกมานั้นมีทั้งเสียงตอบรับจากตัวแทนชาติต่างๆ เกือบ 200 ประเทศ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน และไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มที่ต้องการให้ประกาศสิ้นสุดยุค “เชื้อเพลิงฟอสซิล”

ก่อนการประชุม COP 28 ซึ่งเป็นเวทีแก้ปัญหาโลกร้อน มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่าเจ้าภาพแต่งตั้งสุลต่าน อัล-จาเบอร์ เป็นประธานการประชุมไม่น่าจะเหมาะสม เพราะ “อัล-จาเบอร์” เป็นซีอีโอบริษัทแอดน็อก (ADNOC) ผู้ผลิตน้ำมันแห่งชาติอาบูดาบี ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ยักษ์ใหญ่วงการน้ำมันโลก และเป็นที่รู้กันว่าน้ำมันก็คือหนึ่งในตัวการสำคัญทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

แต่เจ้าภาพไม่สนเสียงนกเสียงกาเพราะเชื่อมั่นในตัว “อัล-จาเบอร์” มีคุณสมบัติเหมาะเป็นคนเก่ง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีล้ำยุค และอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี

 

ต้นเดือนธันวาคม ระหว่างการประชุม “อัล-จาเบอร์” ให้สัมภาษณ์พิเศษกับหนังสือพิมพ์อินดีเพนเดนต์ของอังกฤษ พูดถึงการยุติใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

“ไม่มีผลทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่พิสูจน์ว่าหากเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแล้วจะสามารถควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้”

อัล-จาเบอร์ แสดงความเห็นพร้อมกับย้อนถามสื่อว่า มีหลักฐานอะไรที่บอกว่าถ้าเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแล้วจะเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืน เว้นเสียแต่ว่าต้องการให้ชาวโลกหวนกลับสู่อดีตยุคอยู่ถ้ำ

ความเห็นของประธาน COP 28 ก่อให้เกิดเสียงโต้แย้งจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเห็นว่า การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะเป็นหนทางแก้ปัญหาโลกร้อนที่เห็นผลชัดเจนที่สุด

Al Jaber / ผู้สร้าง: THAIER AL-SUDANI / เครดิต: REUTERS

สําหรับฝ่ายไทย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงในที่ประชุม COP 28 ถึงความมุ่งมั่นลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ภายในปี 2573 และเร่งผลักดันพระราชบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมกับจัดทำแผนการปรับตัวรับมือกับภาวะโลกร้อน

พล.ต.อ.พัชรวาท บอกว่า ไทยสนับสนุนแนวทางที่ให้ประเทศพัฒนาแล้วระดมเงินแสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี 2568 เพื่อนำมาผลักดันและรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศกำลังพัฒนา

ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีจึงคาดหวังได้เห็นความชัดเจนของกองทุนสำหรับการสูญเสียและความเสียหายนี้ในการประชุม COP 28 และหวังว่า การร่วมมือกันในระดับโลกจะนำไปสู่เส้นทางการลดอุณหภูมิโลก 1.5 องศาเซลเซียส ตามเป้าหมายของความตกลงกรุงปารีสให้สำเร็จ

“ขอย้ำเตือนว่า ทุกประเทศต้องร่วมมือกันให้เต็มที่ เพราะโลกส่งสัญญาณแล้วว่าอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงเวลาแล้วที่จะต้องลงมือทำ เพื่อให้ลูกหลานมีโลกอาศัยอยู่ต่อไป” พล.ต.อ.พัชรวาทกล่าวบนเวที

 

ตามข้อตกลงของนานาชาติในการประชุม COP 21 ที่กรุงปารีส เมื่อปี 2558 มีหมุดหมายสำคัญให้ทุกประเทศคุมเข้มอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรมโดยให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 43 ภายในปี 2573 และอีกร้อยละ 60 ภายในปี 2578 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

แต่เวลาผ่านมา 8 ปี พิสูจน์ให้เห็นว่าข้อตกลงปารีสล้มเหลวไม่เป็นท่า ดูได้จากตัวเลขปริมาณการปล่อยก๊าซพิษทั้งมีเทน คาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฯลฯ จากทุกประเทศทั่วโลกไม่ได้คุมและลดลงอย่างที่ตกลงกันไว้

ปี 2559 ทั่วโลกปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลก 52,820 ล้านตัน ปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 53,410 ล้านตัน

ก่อนเชื้อโควิดระบาดในปี 2562 ปริมาณก๊าซพิษถูกปล่อยออกมา 54,820 ล้านตัน ปี 2563 ขณะที่เชื้อโควิดกำลังระบาดอย่างหนัก ชาวโลกหยุดกิจกรรม อยู่แต่ในบ้าน ปริมาณก๊าซพิษลดลงเพียงแค่เล็กน้อยอยู่ที่ 52,590 ล้านตัน

ปี 2564 เชื้อโควิดเริ่มซาลง ผู้คนคลายความหวาดกลัว การเดินทาง การผลิตมีมากขึ้น เศรษฐกิจโลกกระเตื้อง ปริมาณการปล่อยก๊าซพิษก็พุ่งเป็น 54,590 ล้านตัน เฉพาะจีนประเทศเดียวปล่อยก๊าซพิษมากถึง 13,710 ล้านตัน รองลงมา สหรัฐ 5,930 ล้านตัน

มาปี 2565 เชื้อโควิดลดระดับความรุนแรง ชาวโลกเร่งทำกิจกรรมเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม เป็นผลให้การปล่อยก๊าซพิษไต่ระดับสูงขึ้นเทียบกับปี 2564 มากขึ้น 0.9 เปอร์เซ็นต์

 

ปีนี้ ปริมาณปล่อยก๊าซพิษเทียบกับปี 2565 เพิ่มขึ้น 1.1% เฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยออกมาถึง 36,800 ล้านตัน และอุณหภูมิโลกขยับขึ้นไปอยู่ที่ 1.2 องศาเซลเซียส

องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือนาซา ระบุว่าก๊าซพิษที่ชาวโลกปล่อยออกมาในปัจจุบันยังคงสามารถผนึกแน่นอยู่ในชั้นบรรยากาศได้ถึง 300-1,000 ปี

ปริมาณก๊าซพิษที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกดังกล่าวนี้ แสดงว่าแม้ทุกประเทศตระหนักถึงมหันตภัยที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ได้เกิดปรากฏการณ์พายุเพิ่มพลังเกรี้ยวกราดรุนแรง คลื่นความร้อนที่ถาโถมใส่ในทุกมุมโลก หรือเกิดภัยแล้ง น้ำท่วมหนักหนาสากรรจ์ขนาดไหน

ถึงกระนั้นก็ยังเลือกทางเดินมรณะเช่นเดิม ก็คือการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป

 

ในการประชุม COP 28 ที่ดูไบ บรรดาตัวแทนประเทศเข้าร่วมประชุมจึงทำได้แค่ออกถ้อยแถลงด้วยสรุปการประชุมคำหรูๆ ว่า “ให้ช่วงเวลานี้เป็นการเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในลักษณะที่ยุติธรรม เป็นระเบียบและเสมอภาค มุ่งมั่นที่จะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้ได้ภายในปี 2593”

ถ้อยแถลงนี้ไม่มีคำอธิบายว่าการเปลี่ยนผ่านที่ยุติธรรม เสมอภาคนั้นหมายถึงอะไร?

ในถ้อยแถลงยังเรียกร้องให้ทุกประเทศช่วยกันเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นเป็น 3 เท่าของปัจจุบัน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานสะอาดให้มากเป็น 2 เท่าตัวภายในปี 2573 รวมถึงเห็นชอบให้ตั้งกองทุนพิเศษสำหรับประเทศยากจนที่ได้รับความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีประเทศร่ำรวยควักเงินช่วยเหลือแล้ว 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 24,500 ล้านบาท

ถือว่าเป็นตัวเลขการช่วยเหลือเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความสูญเสียที่เกิดจากภาวะโลกร้อนในขณะนี้

การประชุม COP 28 ครั้งนี้ บางฝ่ายเห็นว่า เป็นก้าวสำคัญของการนำไปสู่จุดสิ้นสุดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่หลายฝ่ายเห็นว่าเป็นแค่เวทีโชว์ของกลุ่มทุนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิส ดังนั้น ผลสรุปที่ออกมายังมัวๆ ซัวๆ ไม่มีอะไรชัดเจนกับการแก้ปัญหาโลกร้อน

คาดกันว่าในการประชุม COP 29 เดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน คงจะมีผลลัพธ์ไม่ต่างกับ COP 28 เท่าใด เพราะอาเซอร์ไบจานเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซของโลก •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]